ปมปัญหาเรื่อง ‘กู่ม้า’ (1) ตกลงเป็นสุสานสัตว์ หรือพระเจดีย์?

โบราณสถานที่ถูกเรียกว่า “กู่ม้า” เป็นสถาปัตยกรรมที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด ไม่เพียงแต่บุคคลทั่วไปเท่านั้น แม้แต่แวดวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ก็กล่าวขวัญถึงกู่ม้ากันน้อยมาก น้อยกว่าโบราณสถานที่ถูกเรียกว่า “กู่ช้าง” หลายเท่า

ทั้งๆ ที่สองกู่นี้ตั้งอยู่เคียงข้างกัน ห่างไกลในระยะเพียงแค่ไม่กี่เมตร แต่ผู้คนทั่วไปกลับให้ความสำคัญต่อ “กู่ช้าง” เป็นอันดับแรก อาจเป็นเพราะกู่ช้างมีตำนานเรื่องเล่าที่ทรงพลังกว่า อีกทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมก็แปลกตา สามารถเทียบเคียงได้กับศิลปะพยู่โบราณในรัฐศรีเกษตร กู่ช้างจึงดึงดูดความสนใจไปเกือบทั้งหมด

น่าสนใจทีเดียวเมื่อเราเปิดอ่านหนังสือเกี่ยวกับการแบ่งกลุ่มรูปทรงเจดีย์เมืองเหนือ ทั้งของสมัยหริภุญไชยและสมัยล้านนา มักนิยมแบ่งแค่ว่ามีจำนวน 6 กลุ่มหลักๆ คือ 1.ทรงปราสาทซ้อนชั้นแบบพีระมิด 2.ทรงปราสาทยอดระฆัง 3.ทรงแปดเหลี่ยม 4.ทรงระฆัง 5.ทรงมอญม่านเงี้ยว (ฐานกว้าง ไม่มีองค์บัลลังก์) 6.ทรงพิเศษ แบบน้ำเต้าหรือถะจีน

และเมื่อลองเปิดไปดูหมวดเรื่องเจดีย์ทรงระฆัง ก็มักโฟกัสไปที่ 3 รูปแบบย่อย

กลุ่มแรก คือทรงระฆังโบราณที่เกี่ยวพันกับสุโขทัยรุ่นเก่า เช่น เจดีย์วัดสวนดอก วัดป่าแดง หรือบางองค์อาจจะเกี่ยวข้องกับพุกามด้วย ได้แก่ เจดีย์วัดอุโมงค์

กลุ่มที่สอง คือเจดีย์ทรงระฆังมาตรฐานล้านนาที่มีการเสริมฐานยกเก็จแทรกขึ้นมาให้สูงรองรับองค์ระฆัง เช่น พระธาตุหริภุญไชย พระธาตุลำปางหลวง

และกลุ่มสุดท้าย คือเจดีย์ทรงระฆังแบบเน้นฐานหลายเหลี่ยมซ้อนกันสูง เช่น พระธาตุช่อแฮ พระธาตุดอยสุเทพ

คำถามคือ นักวิชาการจัด “กู่ม้า” ไว้ในรูปแบบใด หากคำตอบคือ ก็อยู่ในหมวดทรงระฆังไงเล่า? สิ่งที่ต้องถามต่อคือ แล้วคิดว่าทรงระฆังแบบกู่ม้านั้น ก่อนหรือหลัง ทรงระฆังที่สวนดอก ป่าแดง อุโมงค์? ซึ่งประเด็นนี้เราจะวิเคราะห์กันในฉบับหน้า

นอกจากปัญหาเรื่องการ “ตกหล่น” หรือไม่อยู่ในทำเนียบรูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรมใดๆ แล้ว กู่ม้ายังมีปมปริศนาอีกหลายประเด็น อย่างน้อยก็ 3 ข้อดังนี้

1. การที่ถูกเรียกว่า “กู่ม้า” นั้น ตกลงข้างในบรรจุอะไรกันแน่? มีกระดูกสัตว์ ซึ่งเป็นม้าศึกม้าทรงของพระนางจามเทวีตั้งแต่สมัยอยู่ละโว้จริงไหม? หรือที่แท้แล้วสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ควรจัดให้เป็น “พระเจดีย์” องค์หนึ่ง และหากเป็นเจดีย์จริง ก็ควรเปลี่ยนชื่อเรียกให้ถูกต้อง ใช้คำว่า “กู่” ไม่เหมาะแล้ว?

2. หากสถูปองค์นี้หาใช่ “กู่ม้า” จริงแล้วไซร้ ในเมืองลำพูนควรมีสถูปที่น่าจะเป็น “กู่ม้า” (หมายถึงสุสานฝังศพม้าศึกม้าทรงของพระนางจามเทวีจริงๆ) ณ ซากโบราณสถานจุดใดจุดหนึ่งอีกด้วยหรือไม่?

3. สถูปองค์นี้ (ที่เรียกว่ากู่ม้า) ตกลงมีอายุเก่าถึงยุคหริภุญไชยหรือแค่ยุคล้านนากันแน่? รวมถึงคำถามที่ว่า กู่ม้าสร้างขึ้นพร้อมกู่ช้างหรือไม่?

ภาพถ่ายเก่าระหว่างการบูรณะกู่ม้าปี 2523-2525

ชื่อ “กู่ม้า” แต่ไม่พบกระดูกม้า

พบแต่พระพิมพ์-พระแก้วขาวใต้สถูป?

สมัยที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ยังเคยมีชื่อว่า “หน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่” เมื่อ 43 ปีที่ผ่านมา หรือ พ.ศ.2523 ตรงกับยุคนายจริญญา พึ่งแสง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และ “หนานหล้า” นายสมาน ชมภูเทพ เป็น ส.ส.จังหวัดลำพูน

ทั้งสองเป็นตัวตั้งตัวตีระดมทุนหาเงินมาทั้งจากภาครัฐและเอกชนได้จำนวนมากถึง 500,000 บาท (ห้าแสนในยุคสี่ทศวรรษก่อนถือว่ามากทีเดียว) เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณปฏิสังขรณ์ซากโบราณสถานอันปรักหักพังของกู่ช้างและกู่ม้าที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสำนักงานเทศบาลเมืองลำพูน

โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากนักโบราณคดีกรมศิลปากรเป็นอย่างดี ดำเนินการขุดแต่งศึกษาและบูรณะกู่ทั้งสองจนแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2525 รวมเวลา 2 ปีกว่า จนได้สภาพของกู่ช้าง-กู่ม้าที่มีโครงสร้างแข็งแรงและองค์ประกอบค่อนข้างสมบูรณ์ดังที่เราเห็นจวบปัจจุบัน

สิ่งที่นักโบราณคดีขุดพบเจอใต้ชั้นดินฐานกู่ม้ามีอะไรบ้าง ท่ามกลางความฝันของท่านผู้ว่าจริญญา ท่าน ส.ส.หนานหล้า และประชาชนชาวลำพูน หวังว่าจะต้องพบซากกระดูกม้า ตามคำบอกเล่าที่เป็นมุขปาฐะของชุมชนมาช้านาน ว่ากู่ร้างทั้งสองแห่งนี้คือสุสานสัตว์ ช้างทรง ม้าทรงของพระนางจามเทวี

ภาพถ่ายเก่าระหว่างการบูรณะกู่ม้าปี 2523-2525

กู่แรกเป็นทรงกระบอกลอมฟาง บรรจุสุสานช้างเผือกงาดำชื่อ “ปู้ก่ำงาเขียว” เคยสร้างวีรกรรมช่วยขับไล่กองทัพขุนหลวงวิลังคะที่คิดจะย่ำยีฝ่ายลำพูนจนพ่ายแพ้กลับไป

ส่วนอีกกู่ รูปแบบคนละทรงกัน เว้นแต่ก้อนอิฐขนาดใหญ่มหึมาสูสีกัน ตั้งอยู่ในแกนเดียวกัน เรียกกู่ม้า ชาวบ้านเชื่อว่าภายในบรรจุซากของม้าทรงม้าศึกชื่อ ม้าสินธพขจรเดช (อาชาขาวปลอด) ที่พระนางจามเทวีใช้เป็นพาหนะในการต่อสู้ป้องกันศึกเจ้าชายโกสัมพี สมัยพระนางยังประทับที่กรุงละโว้

เรื่องราวของช้างวิเศษนามปู้ก่ำงาเขียวมีปรากฏอยู่จริงในตำนานมูลศาสนาที่เขียนเมื่อ 500 ปีก่อน แต่ไม่ได้มีการระบุว่าเมื่อช้างล้ม (เสียชีวิต) ได้นำกระดูกไปบรรจุไว้ที่แห่งใด จะใช่ในกู่ช้างหรือไม่

ส่วนตำนานศึกโกสัมพีไม่มีการเขียนถึงเลยทั้งในมูลศาสนา ชินกาลมาลินี จามเทวีวงส์ หากปรากฏในตำนานฉบับเดียวคือ ฉบับฤๅษีแก้ว ที่คุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ เพิ่งค้นพบสมุดข่อย (พับสา) เล่มดังกล่าวในปี 2508 ในถ้ำแห่งหนึ่งบนดอยขุนตาน แล้วนำข้อมูลมาเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2511 ทำให้ชื่อของม้าสินธพขจรเดชเป็นที่รู้จักในสังคมท้องถิ่นลำพูนอย่างกว้างขวาง

ดังนั้น การเรียกชื่อ “กู่ม้า” นั้น ได้มีการบันทึกไว้ในเอกสารรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีกู่ช้าง-กู่ม้า ของหน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ ระหว่างปี 2523-2525 ว่า เป็นการเรียกขึ้นแบบลำลองตามความเชื่อของชาวบ้าน

ว่าในเมื่อองค์หนึ่งคือกู่ช้าง บรรจุซากช้างปู้ก่ำงาเขียว อีกองค์ที่อยู่เคียงคู่กันควรจะบรรจุสิ่งไรเล่า เหมาะแล้วหรือที่จะเป็นสถูปเจดีย์ทางพุทธศาสนา ควรเป็นสุสานสัตว์พาหนะของพระนางจามเทวีมากกว่ากระมัง

ประกอบกับกระแสช่วงที่นายสุทธวารีจัดพิมพ์หนังสือพระราชชีวประวัติพระนางจามเทวีออกเผยแพร่ในช่วงปี 2521-2525 เพื่อระดมทุนจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี ที่กาดหนองดอก อันเป็น Mega Project เพื่อจะได้เสร็จทันเฉลิมฉลองในวาระ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ปี 2525 กระแสความเชื่อเรื่องราวที่เขียนโดยนายสุทธวารีจึงฝังอยู่ในการรับรู้ของประชาชนชาวลำพูนอย่างฝังแน่นและแพร่สะพัดอย่างรวดเร็ว

จึงไม่มีใครปฏิเสธความเชื่อที่ว่า สถูปทรงระฆังที่ตั้งอยู่ข้างๆ กู่ช้าง ก็คือกู่ม้า

ครั้นเมื่อนักโบราณคดีได้นำหลักฐานที่ค้นพบหลักจากเสร็จโครงการขุดค้นขุดแต่งปรับฐาน เสริมความมั่นคงแข็งแรงให้แก่สถูปทั้งสองออกมาตีแผ่แล้ว กลับพบว่าสิ่งของที่บรรจุอยู่ใต้สถูป “กู่ม้า” ประกอบด้วยงานที่ทำเพื่ออุทิศให้พระพุทธศาสนาจำนวนมาก

ดิฉันขอนำเสนอโบราณวัตถุที่ได้จากกู่ม้า โดยจำแนกเป็น 8 กลุ่มพอสังเขปดังนี้

กลุ่มแรก ผางประทีป (ป๋างปะตี้ด ในภาษาล้านนา) หรือตะคันดินเผา แบ่งเป็นสองกลุ่มย่อย

ก. ผางประทีปขนาดใหญ่แบบหริภุญไชย จำนวนหลายสองชิ้น ใต้ฐานเขียง (ฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ชั้นล่างสุด) ซึ่งในทุกๆ แห่งที่มีการขุดค้นทางโบราณคดี ฐานชั้นล่างสุดมักพบผางประทีป เพราะเป็นชั้นลานประทักษิณ

ข. ผางประทีปสำริดจำนวนหนึ่ง มีขนาดเล็กกว่าตะคันดินเผากลุ่มแรก นักโบราณคดีไม่ได้พรรณนารายละเอียดหรือกำหนดอายุ อีกทั้งภาพประกอบในรายงานก็เป็นภาพถ่ายสำเนาจึงยากต่อการที่จะให้พันธงว่าเป็นสมัยหริภุญไชยหรือล้านนา?

กลุ่มที่สอง วัตถุประเภทเหล็ก โลหะ สำริด มีสี่กลุ่มย่อย

ก. เครื่องมือเหล็กคล้ายใบหอกขนาดใหญ่ มีกั่นยาว 20 ซ.ม. ใบหอกกว้าง 4.4 ซ.ม. จำนวน 1 ชิ้น

ข. ชิ้นส่วนแผ่นโลหะ (ทองจังโก?) ปิดทองคำเปลว เป็นรูปยาวๆ รีๆ คล้ายแง่งจำนวน 9 ชิ้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นส่วนประกอบของฉัตรยอดเจดีย์

ค. ส่วนประกอบของ “ขาช้างด้านหลังซ้าย” ทำด้วยโลหะผสมคล้ายสำริด

ง. เต้าปูนสำริด พร้อมฝาปิดทรงสูงจำนวน 1 ชุด

กลุ่มที่สาม พระพุทธรูปสำริด ใหญ่น้อยจำนวน 5-6 องค์ กับชิ้นส่วนฐานหน้ากระดานบัวหงายที่รองรับองค์พระพุทธรูปปางมารวิชัย บิ่นแตกหัก 2-3 ชิ้น เป็นพระพุทธรูปสมัยล้านนา แต่ไม่ใช่แบบที่เรียกว่า พระสิงห์ 1, 2, 3 ดูจากภาพคล้ายงานพุทธศิลป์หริภุญไชยที่คลี่คลายไปเป็นล้านนา

กลุ่มที่สี่ วัตถุมีค่า แผ่นทอง และเงินตรา แบ่งเป็น

ก. แผ่นทองคำตัดเป็นรูปใบโพธิ์สมัยล้านนา จำนวน 2 ชิ้น

ข. เงินตราประเภทเงินปลิงสมัยล้านนา เป็นแท่งโลหะผสมจำนวน 2 แท่ง

กลุ่มที่ห้า เครื่องปั้นดินเผา แบ่งเป็น 2 ยุค

ก. เครื่องปั้นดินเผาชนิดไม่เคลือบแบบหริภุญไชย เช่น พาน เศษชาม หม้อ ไห

ข. เครื่องถ้วยสมัยล้านนา มีทั้งแบบเคลือบน้ำตาลจากเตาสันกำแพง ทั้งเคลือบเซลาดอนแบบเตาศรีสัชนาไลย ทั้งเขียนลายใต้เคลือบแบบเตาเวียงกาหลง กระจายเกลื่อนจำนวนมาก

กลุ่มที่หก จารึกบนอิฐเผา ไม่ทราบว่าในความเป็นจริงพบทั้งหมดกี่ก้อน แต่จากรายงานของหน่วยศิลปาที่กร 4 เชียงใหม่ ระบุถึงอิฐก้อนใหญ่ขนาดมาตรฐานหริภุญไชย 30 x 20 x 10 ซ.ม. เพียงก้อนเดียวว่ามีตัวจารึกอักษรฝักขาม อ.ก่องแก้ว วีระประจักษ์ นักภาษาโบราณกรมศิลปากรอ่านได้ความว่า “ดินไถสามสี่ปี”

กลุ่มที่เจ็ด พระแก้วขาว-พระแก้วเขียว กลุ่มนี้มีทั้งผลึกหินควอตช์สีขาวขุ่นที่หนาเป็นก้อนๆ ยังไม่ได้แกะสลัก และแบบที่แกะสลักเสร็จแล้ว กลุ่มนี้มีพระแก้วขาวกับพระแก้วเขียวขนาดน้อยใหญ่รวม 4-5 องค์

กลุ่มที่แปด น่าจะเป็นกลุ่มสำคัญที่สุด เพราะเป็นกลุ่มของพระพิมพ์ดินเผาสมัยหริภุญไชย

ก. พระสามหอมเดี่ยว จำนวน 2 องค์ ฐานกว้าง 7.5 สูง 8.5 ซ.ม.

ข. แผงพระพิมพ์แบนๆ รูปเหวัชระ อันเป็นความเชื่อตามพุทธศาสนานิกายวัชรยาน 1 ชิ้น

สรุปปัญหาคือ การพบหลักฐานด้านโบราณวัตถุใต้ฐานกู่ม้า ซึ่งมีทั้งสมัยหริภุญไชยปะปนกับสมัยล้านนา และมีทั้งรูปเคารพในพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทปะปนกับมหายาน เราควรจะตีความภาพรวมทั้งหมดนี้ว่าอย่างไร

ยังจะยืนยันว่าเราสามารถอุทิศพระพุทธรูปและของมีค่าต่างๆ บรรจุไว้ในสุสานสัตว์ได้หรือไม่? •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ