กรมโลกร้อน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

รัฐบาลไทย จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “กรมโลกร้อน” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อยู่ในสังกัดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา

กรมโลกร้อน เดิมคือกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทาง ทส.เปลี่ยนชื่อและวางภารกิจใหม่เพราะเห็นว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกหรือปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ทั่วโลกต้องสร้างความร่วมมือในการปัญหานี้อย่างจริงจัง

คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เหตุผลในการตั้งกรมโลกร้อนด้วยการยกคำพูดของนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ที่บอกว่า อุณหภูมิของพื้นผิวโลกและอุณหภูมิของมหาสมุทรในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นสัญญาณเตือนว่า ยุคของภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้วและกำลังเข้าสู่ยุคภาวะโลกเดือด (Global Boiling)

“การตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้ประเทศไทยมีหน่วยงานรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยตรง” คุณวราวุธชี้แจง

สำหรับเป้าหมายของกรมโลกร้อน มุ่งเน้นการปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับทุกภาคส่วนและทุกระดับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

และเป็นการแสดงให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนเห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทย ในการกำหนดเป้าหมาย ลดก๊าซเรือนกระเจก มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutralligy) ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gases emissions) ภายในปี 2608

นั่นเป็นข่าวคราวความเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทยในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่มีการตั้งหน่วยงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ส่วนจะทำได้ตามเป้าหมายแค่ไหนก็ต้องตามดูกันต่อ

 

หันไปดูข่าวเรื่องราวของการต่อสู้ปกป้องสิทธิจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกลุ่มเด็กๆ ในรัฐมอนแทนา สหรัฐ กลายเป็นข่าวดังระดับโลกเพราะเป็นคดีแรกที่เด็กๆ ฟ้องแล้วมีการไต่สวนจนชนะคดี

คดีนี้เริ่มต้นเมื่อ 3 ปีก่อน เด็กๆ 16 คนในขณะนั้นมีอายุตั้งแต่ 2-22 ปี รวมตัวเป็นโจทก์ยื่นฟ้องรัฐมอนแทนา กล่าวหาว่า รัฐมอนแทนาสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

การกระทำของรัฐมอนแทนาถือเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่า รัฐและบุคคลควรจะทำนุบำรุงรักษาและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่สะอาดดีต่อสุขภาพกับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต

ในคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรัฐมอนแทนา ส่งผลทำให้ภัยแล้ง อากาศร้อนจัด ไฟป่า มลพิษในอากาศ พายุรุนแรง ธารน้ำแข็งละลายและสัตว์ป่าสูญพันธุ์

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบทางจิตใจของบรรดาเยาวชน

 

ฝ่ายโจทก์เชิญนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาให้ปากคำต่อศาลมอนแทนาชี้ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีผลต่ออากาศในรัฐมอนแทนา และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรัฐมอนแทนามีปริมาณสูงมาก มากกว่าประเทศไอร์แลนด์เสียด้วยซ้ำ

“มาร์ก จาค็อบสัน” ผู้อำนวยการโครงการพลังงานและชั้นบรรยากาศ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐ เปิดเผยข้อมูลต่อศาลว่า รัฐมอนแทนามีศักยภาพสูงมากในการผลิตพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากมีกระแสลมแรง หากนำกระแสลมมาใช้จะป้อนพลังงานทั่วรัฐมอนแทนนา แต่รัฐกลับไม่ให้ความสนใจกับพลังงานหมุนเวียน

ฝ่ายอัยการตัวแทนรัฐมอนแทนา โต้แย้งฝ่ายโจทก์ว่า ถึงแม้รัฐมอนแทนาจะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้ เนื่องจากประเทศอื่นๆ รัฐอื่นๆ ร่วมกันปล่อยก๊าซพิษที่มาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นของรัฐมอนแทนา ที่มีคุณแคธีย์ ซีลีย์ (Kathy Seeley) เป็นผู้พิพากษาในคดีนี้ เขียนคำพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีอากาศสะอาด

การที่รัฐมอนแทนาออกกฎหมายว่านโยบายสิ่งแวดล้อม กำหนดว่าห้ามหน่วยงานรัฐพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลังได้รับอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลถือว่าเป็นกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ

“การปล่อยมลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในรัฐมอนแทนา” ผู้พิพากษา “ซีลีย์” ระบุในคำพิพากษา

 

รัฐมอนแทนาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก ติดกับรัฐแอลเบอร์ตาของแคนาดา เป็นแหล่งเกษตรกรรม ปศุสัตว์ มีบ่อน้ำมัน แหล่งก๊าซและถ่านหิน ผลิตถ่านหินได้มากเป็นอันดับ 4 ของสหรัฐ ชาวเหมืองถ่านหินมีรายได้สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนงานในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ และรัฐมอนแทนามีรายได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิลแต่ละปีมูลค่ามหาศาล

คำพิพากษาในคดีนี้จึงมีผลต่อสังคมของรัฐมอนแทนาอย่างมาก กลุ่มเกษตรกรและผู้ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ต่างแสดงความยินดี แต่อีกกลุ่มที่อยู่ในอุตสาหกรรมถ่านหิน ก๊าซและน้ำมันพากันช็อก

คนงานเหมืองแร่ในเมืองโคลสตริป รู้สึกผิดหวังกับคำพิพากษา เพราะเห็นว่า ถ่านหินคือหัวใจของเมืองนี้ ถ้าไม่มีถ่านหิน ชาวเมืองก็อยู่ไม่ได้ ความยากจนจะมาเยือน และมองไม่เห็นทางออกจากคำพิพากษาครั้งนี้เลย

แต่เด็กๆ ที่เป็นฝ่ายโจทก์ฟ้องคดีกลับเห็นว่า เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของชาวมอนแทนา ของเยาวชนและสภาพภูมิอากาศของรัฐมอนแทนนา ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่ศาลตัดสินว่ารัฐละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเมินเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เยาวชนตกอยู่ในภาวะอันตราย

“ริกกิ เฮลด์” ตัวแทนฝ่ายโจทก์ บอกกับสื่อว่า มอนแทนามีภูมิประเทศสวยงามมาก มีทิวเขายาวเหยียด ทุ่งหญ้าเขียวขจีกว้างใหญ่ไพศาล ท้องฟ้าสีครามสดใส

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “เฮลด์” ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงทั้งพายุฝนฟ้าคะนอง ภัยแล้ง ไฟป่า ส่งผลกับฟาร์มวัวของครอบครัว และเรียนรู้อีกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ยังมีผลต่อหมีที่ขั้วโลก และธารน้ำแข็งละลาย

“เฮลด์” เข้าร่วมกับกลุ่มสนับสนุนด้านสภาพภูมิอากาศ ที่ชื่อ “Our Children’s Trust” เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร รัฐออริกอน ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐในนามของเยาวชน

ต้องดูกันว่าคำพิพากษาของ “ซีลีย์” จะเกิดผลกระทบต่อคดีอื่นๆ ที่กลุ่มเยาวชนทั้งในรัฐฮาวาย รัฐยูทาห์ รัฐอะแลสกา เยาวชนในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน โคลอมเบียและยูกันดา ฟ้องรัฐบาลในประเด็นเดียวกันหรือไม่แค่ไหน?

แต่โฆษกอัยการรัฐมอนแทนา เกิดอาการฉุนเฉียวในคำพิพากษาของ “ซีลีย์” ถึงขั้นวิจารณ์ว่า “เหลวไหลไร้สาระ” •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]