ศัลยา ประชาชาติ : 2560 มหกรรม “เสี่ย” ซื้อ “สื่อ” เดิมพัน…ต่อลมหายใจทีวีดิจิตอล ใครจะเป็น (เหยื่อ) รายต่อไป

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 สำหรับธุรกิจทีวีดิจิตอล ขณะที่สถานการณ์การแข่งขันยังคงเพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อยๆ แต่ในแง่รายได้ของทีวีดิจิตอลทั้ง 22 ช่อง กลับไม่ดีเหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์

ในทางกลับกัน หลายๆ ช่องต่างประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก

ย้อนไปปลายปี 2556 ห้วงเวลาที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลทีวีดิจิตอล ทำให้กลุ่มทุนใหญ่ในธุรกิจสื่อ เช่น บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7) อสมท (ช่อง 9) เนชั่น บีอีซี-มัลติมีเดีย (ช่อง 3) ไทยรัฐ เดลินิวส์ เข้ามาเป็นผู้บริหารทีวีดิจิตอลกันถ้วนหน้า

ทว่าห้วงเวลาของความหวานชื่นมีแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น

พร้อมกับบทสรุปที่ว่า ประสบการณ์บนธุรกิจสื่อ ไม่ได้การันตีว่าจะทำให้ทีวีดิจิตอลประสบความสำเร็จ เริ่มจาก “เจ๊ติ๋ม-พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” เจ้าแม่นิตยสารบันเทิงทีวีพูล ที่ยอมยกธงขาวไปก่อนใครตั้งแต่ปีแรก พร้อมกับหนี้สินจากการขาดทุนถึง 1,900 ล้านบาท

 

ความเพลี่ยงพล้ำของ “ทุนสื่อ” ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ มหกรรม “เสี่ย” ไล่ฮุบ “สื่อ” (ทีวี)

เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2559 บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ในเครือไทยเบฟเวอเรจ เข้าซื้อหุ้น 47.62% หรือคิดเป็น 850 ล้านบาท จากบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของอมรินทร์ทีวี

จากนั้นไม่นาน บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด กลุ่มบริษัทในเครือปราสาททองโอสถ ก็ได้เข้ามาถือหุ้น 50% หรือคิดเป็นมูลค่า 1,905 ล้านบาท จากบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรสN จำกัด เจ้าของช่องวัน 31 ทั้งๆ ที่มีช่องพีพีทีวีอยู่แล้ว

สดๆ ร้อนๆ คือบริษัท อเดลฟอส จำกัด ที่มี “ฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากบริษัท จีเอ็มเอ็มเทรดดิ้ง จำกัด เจ้าของช่องจีเอ็มเอ็ม 25 จำนวน 1,000 ล้านบาท

ซึ่ง “พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” ผู้บริหารใหญ่จีเอ็มเอ็ม มีเดียฯ ชี้แจงว่า การขายหุ้นช่องวัน และจีเอ็มเอ็ม 25 เป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ธุรกิจทีวีดิจิตอลและช่วยลดภาระหนี้ให้แก่บริษัท อีกทั้งยังทำให้มีทุนมากพอในการผลิตคอนเทนต์ใหม่ๆ เพื่อสร้างช่องให้ติดตลาด

อีกนัยหนึ่งก็คือ ทางรอดในการต่อลมหายใจให้แก่ทีวีดิจิตอลนั่นเอง

 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนตลอดเวลานั้น ดูจะมีแค่เพียงช่อง 7 และเวิร์คพอยท์ ที่ถือว่าลอยลำ เช่นเดียวกับช่องโมโน 29 และช่อง 8 ปัจจัยหลักมาจากการวางแคแร็กเตอร์ช่องชัดเจน

เจ้าตลาดฟรีทีวี ช่อง 7 ก็ยึดพื้นที่ที่แข็งแรง นั่นคือ ละครหลังข่าว ทิ้งเบอร์ 2 อย่างช่อง 3 ให้วิ่งวุ่นกับการรื้อโครงสร้างใหญ่ ดึงมืออาชีพเข้ามานั่งบริหารแบบฟ^ลทีม เพราะมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะฟื้นรายได้ให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง

ขณะที่เวิร์คพอยท์ชูจุดแข็งรายการวาไรตี้ เกมโชว์ อีกทั้งแก้เกมคนดูหายไปดูออนไลน์ด้วยการออกอากาศรายการสดทั้งช่องทีวีและออนไลน์ควบคู่กันไป เพิ่มฐานผู้ชมอีกแรง ส่วนโมโน 29 ชัดเจนว่าจับกลุ่มคอหนังและซีรี่ส์แบบจัดเต็ม ยึดใจคนดูไว้แน่น ด้านช่อง 8 เจาะกลุ่มแมสด้วยละครรสแซบ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้หลายช่องอยู่ในวังวนเดิมๆ คือ รายได้น้อยกว่ารายจ่าย

กลายเป็นช่วงหัวเลี้ยวตัวต่อที่บางช่องกำลังตัดสินใจว่า จะเดินต่อ หรือจะหยุด

 

หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน การสร้างช่องทีวีให้ติดตลาด อาจไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เพราะตัวแปรหลายๆ อย่างเปลี่ยน โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ติดมือถือมากกว่าติดทีวี และเลือกดูเฉพาะรายการที่สนใจ

เมื่อคนดูลดลง ขณะที่ช่องฟรีทีวีเพิ่มจำนวนขึ้น ตลาดทีวีจึงตกอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลาย คนดูน้อยแต่ช่องมีมาก ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมาไม่เติบโต สินค้าตัดงบฯ โฆษณา ทำให้งบฯ โฆษณาสื่อทีวีลดลงจาก 60,000 ล้านบาท เหลือเพียง 50,000 กว่าล้านบาท

ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ สิ้นปี 2559 ระบุว่า ช่อง 7 เอชดี มีผลกำไร 1,567 ล้านบาท ส่วนช่อง 3 เพิ่งรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ผ่านมาว่ากำไรขั้นต้น 427 ล้านบาท ลดลงถึง 48.1% และเวิร์คพอยท์ มีรายได้ 1,035 ล้านบาท เติบโตขึ้น 44% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ลึกลงไปในรายละเอียด ไทยรัฐทีวีขาดทุน 928 ล้านบาท อมรินทร์ทีวี 846 ล้านบาท และพีพีทีวีขาดทุนมากที่สุดถึง 1,996 ล้านบาท

ส่วนสปริงนิวส์ แม้โพซิชั่นนิ่งจะชัดเจนว่าเป็นช่องข่าว แต่ก็ยังไม่พุ่งทะยาน ผลประกอบการยังเป็นตัวแดงเช่นเดียวกับรายอื่นๆ อีกทั้งปัญหาจากการเข้าไปเทกโอเวอร์ “เนชั่น” กลายเป็นเรื่องเตี้ยอุ้มค่อม เพราะทีวีดิจิตอลของเนชั่นทั้ง 2 ช่องก็มีสภาพไม่ได้แตกต่างกันนัก

สำคัญที่สุดผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฟาก ยังหาโซลูชั่นการบริหารจัดการที่ลงตัวกันไม่ได้

ฟากช่องที่อยู่ท้ายๆ ตารางเรตติ้ง อย่าง วอยซ์ทีวี เผชิญปัญหาใหญ่ เพราะรายได้จากโฆษณาไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ อีกทั้งภาพลักษณ์ที่ถูกมองว่าเป็นสื่อการเมือง รวมถึงนายใหญ่เจ้าของทุนก็ดูเหมือนจะไม่ต้องการใส่เงินทุนก้อนใหม่แล้ว เนื่องจากขาดทุนมาต่อเนื่อง

 

วงการธุรกิจทีวีดิจิตอลวิเคราะห์ว่า ปีหน้าคงจะได้เห็นการเข้าซื้อหุ้น เทกโอเวอร์ หรือการล้มหายตายจากของช่องทีวีดิจิตอลเช่นเดิม เพราะสถานการณ์การแข่งขันรุนแรง แต่เม็ดเงินโฆษณาไม่ได้โต โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 50,000-60,000 ล้านบาท ขณะที่มีช่องมากถึง 22 ช่อง ซึ่งเม็ดเงินโฆษณาหลักๆ จะเทไปให้ช่องที่มีเรตติ้ง 5 อันดับแรก

ช่อง 7, ช่อง 3, เวิร์คพอยท์, โมโน 29, ช่อง 8 (อาร์เอส)

สถานการณ์ทีวีดิจิตอลวันนี้ จึงแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ขาดทุน และกำไร แต่ฝ่ายที่ขาดทุนจะอยู่อย่างไร ถ้าทุนไม่หนาพอ ขณะที่ต้นทุนก็สูงขึ้นจากทุกทาง ทั้งค่าโครงข่าย ค่าผลิตรายการ ซึ่งสวนทางกับรายได้

หากช่องที่มีเรตติ้งน้อยๆ ยังแก้สถานการณ์ไม่ได้ ยังหาแคแร็กเตอร์ช่องไม่ได้ หากลุ่มคนดูไม่เจอ ก็ต้องอยู่ในภาวะที่เหนื่อยต่อไป และการหาผู้เข้ามาร่วมทุนก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องนับถอยหลังไปเรื่อยๆ พร้อมตัวเลขขาดทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

คำถามก็คือ…ช่องไหนจะเป็นรายต่อไป