แก้ หรือ ร่างใหม่ ถูกใจประชาชน

ภาพจาก iLaw

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงด้านบวกและด้านลบมากมาย โดยเฉพาะวลีเด็ดของนักการเมืองใหญ่ที่กล่าวว่า “รัฐธรรมนูญนี้ร่างมาเพื่อเรา” ยิ่งทำให้เกิดข้อครหาว่า เป็นเครื่องมือสำหรับการสืบทอดอำนาจของคณะเผด็จการทหาร

ในขณะที่อีกฝ่ายที่สนับสนุนกลับเห็นข้อดีของรัฐธรรมนูญที่เชิดชูว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” และเป็นฉบับที่วางแนวทางอนาคตของประเทศในเรื่องประเด็นการปฏิรูปประเทศและการให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศในระยะยาว

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังถูกออกแบบมาให้แก้ไขได้ยากเป็นพิเศษ โดยในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญได้ระบุถึงขั้นตอนการลงมติในวาระที่หนึ่งว่านอกจากจะต้องได้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภาแล้ว ในจำนวนดังกล่าวยังต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาอีกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่อีกด้วย

ส่วนการลงมติในวาระที่สาม นอกจากกติกาแบบเดียวกับการลงมติในวาระที่หนึ่ง ยังเพิ่มเงื่อนไขต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่ไม่มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี หรือเป็นประธานสภา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคที่มีคุณสมบัติดังกล่าวรวมกันด้วย

ส่วนใน (8) ตอกย้ำความยากว่า หากเป็นการแก้หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็ต้องไปทำประชามติตามกฎหมายว่าการทำประชามติจึงจะสามารถทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ได้

 

การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
ยากกว่าแก้บางมาตราเพียงไร

การแก้บางมาตรา ถือว่ายากแล้ว การแก้เกี่ยวกับวิธีการแก้ นั้นยากกว่า เพราะต้องมีการทำประชามติ แต่การร่างใหม่ทั้งฉบับกลับยิ่งยากกว่านั้น

เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2564 ระบุเนื้อหาว่า

“หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่า เห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

สิ่งที่อยู่ในคำวินิจฉัย คือ ต้องมีการทำประชามติ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกถามประชาชนว่า เห็นสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และถามครั้งที่สอง เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จเพื่อสร้างฉันทานุมัติเห็นชอบกับสิ่งที่ร่างใหม่ทั้งฉบับ

แต่หากพิจารณาถึงกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องออกแบบให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง มีการกำหนดจำนวนและวิธีการได้มา รายละเอียดกระบวนการทำงานต่างๆ ก็จำเป็นต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่… พ.ศ. … เข้ามา โดยแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 256 เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา 3 วาระ และตามด้วยการออกเสียงประชามติอีกครั้งหนึ่ง

กลายเป็นต้องการทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง กว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่โดย ส.ส.ร.ทั้งฉบับ

 

จุดเริ่มต้นที่ประชามติครั้งที่ 1

การทำประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนว่าสมควรให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นจุดเริ่มต้นหากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

การให้มีการทำประชามติ ตามมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 อาจเริ่มได้ทั้งกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ความเห็นชอบให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายการหาเสียงของหลายพรรคการเมืองรวมถึงพรรคเพื่อไทยที่รับปากต่อประชาชนว่าจะเอาเรื่องนี้บรรจุเป็นวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก

ส่วนการริเริ่มในช่องทางที่สอง คือ การที่รัฐสภามีมติให้มีการทำประชามติ แต่ต้องเป็นการลงมติเห็นชอบทั้งสองสภา และต้องดำเนินการทีละสภา หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ก็ไม่สามารถส่งเป็นมติของรัฐสภามาที่คณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการทำประชามติได้

ในกรณีที่สองนี้ สภาผู้แทนราษฎร เคยมีมติ 328 : 0 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 แต่วุฒิสภาลงมติคว่ำญัตติดังกล่าวด้วยคะแนน 157 : 12 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 จึงทำให้ไม่สามารถส่งญัตติให้มีการทำประชามติไปถึงคณะรัฐมนตรีได้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2566 รัฐสภาชุดใหม่ โดยพรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติด่วนขอให้รัฐสภามีมติขอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดให้มีการทำประชามติซึ่งต้องรอการประชุมทีละสภาว่าจะสามารถผ่านไปได้อีกหรือไม่

สำหรับอีกช่องทางหนึ่ง คือ การรวบรวมชื่อประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ ส่งผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีมติให้มีการออกเสียงประชามติ ซึ่งในขณะนี้ก็ได้มีการรวบรวมชื่อประชาชน และคาดว่าจะใกล้ถึงเป้าหมายในไม่ช้า (อัพเดต 30 ส.ค. 66 ทาง iLaw สามารถรวบรวมรายชื่อได้มากกว่า 200,000 รายชื่อ)

จะเห็นได้ว่าความริเริ่มที่จะให้มีการออกเสียงประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้นมาจากทุกทาง เพียงแต่คณะรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้จะมีความเอาจริงเอาจังหรือรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชนในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่

 

กรอบเวลาในการดำเนินการ
ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร.

หลังจากการลงมติของคณะรัฐมนตรี การจัดให้มีการลงประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน และไม่เกิน 120 วัน ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพื่อให้มีเวลาที่พอสมควรในการรณรงค์ สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน รวมถึงเป็นระยะเวลาเตรียมการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ดังนั้น หากประมาณการคร่าวๆ การลงประชามติครั้งที่ 1 น่าจะเกิดขึ้นได้ราวเดือนมกราคม พ.ศ.2567

จากนั้นเป็นกรอบเวลาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ในมาตรา 256 หมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้มีช่องของการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยกำหนดรายละเอียดจำนวน ส.ส.ร. คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม วิธีการได้มาต่างๆ เช่น จังหวัดละกี่คน และต้องมีสัดส่วนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการคัดเลือกของสภาหรือไม่ จำนวนเท่าไร และมีกรอบระยะเวลาในการร่างเท่าใด เป็นต้น

กระบวนการในเรื่องนี้ คาดว่าจะใช้เวลาผ่าน 3 วาระในระยะเวลาประมาณ 4 เดือน คือประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567

จากนั้นต้องมีการทำประชามติ ครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นการแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับวิธีการแก้ คาดว่าจะมีการประชามติได้ภายใน 4 เดือน คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2567 หลังจากนั้นจึงเป็นกระบวนการในการรับสมัครและเลือกตั้ง ส.ส.ร. อย่างน้อย 3 เดือน โดยคาดว่าจะได้ ส.ส.ร. เพื่อเริ่มต้นทำงาน ประมาณเดือนมกราคม พ.ศ.2568

หาก ส.ส.ร. ใช้เวลา 1 ปีในการร่างและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รัฐธรรมนูญน่าจะร่างเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ.2568 และมีการประชามติครั้งที่ 3 เพื่อรับหรือไม่รับได้ประมาณเดือนเมษายน พ.ศ.2569

หลังจากนั้นเป็นกระบวนการจัดทำกฎหมายลูก หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ประมาณ 10 ฉบับ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 8 เดือน ถึงสิ้นปี 2569 รวมเป็นเวลาทั้งหมดประมาณ 3 ปี 4 เดือน ใกล้หมดวาระของสภาผู้แทนราษฎรโดยสามารถเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ได้

ทั้งหมดนี้ ยังขึ้นอยู่กับความตั้งใจและความจริงใจของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะผู้เป็นรัฐบาล หากคิดเพียงแค่ว่ากติกาใดที่ตนได้เปรียบ ไม่ได้สนใจสร้างกติกาหลักที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ความสำเร็จที่ต้องการคงเกิดขึ้นได้ยาก