วรรณยุกต์ในภาษาไทยถิ่นและภาษาท้องถิ่น

วรรณยุกต์ในภาษาไทยถิ่นและภาษาท้องถิ่น (๑)

ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเห็นว่าการกำหนดเสียงที่แน่นอนเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่า “เครื่องหมายผันเสียงอักษร อาจจะใช้ไม่ได้ทั้งแผ่นดินไทย เพราะว่าต่างถิ่นไปเสียงก็แปร่งไป”

แต่ก็ทรงเชื่อว่า เมื่อการศึกษาแพร่หลายไปทั่วประเทศ “ในไม่ช้าก็จะพูดจะเขียนเหมือนกันหมด”

ข้อความว่า “เครื่องหมายผันเสียงอักษร อาจจะใช้ไม่ได้ทั้งแผ่นดินไทย เพราะว่าต่างถิ่นไปเสียงก็แปร่งไป” นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการกำหนดรูปเขียนคำภาษาถิ่นที่มีเสียงวรรณยุกต์ต่างจากภาษาที่สอนกันในโรงเรียน

ในขณะที่ตำราภาษาไทยสอนภาษามาตรฐานที่มีเสียงวรรณยุกต์ต่างกันเพียง ๕ เสียง แต่ภาษาไทยถิ่นต่างๆ อาจจะมีเสียงวรรณยุกต์ต่างกันถึง ๖-๗ เสียงก็ได้ ในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องหมายที่ใช้กำกับเสียงดังกล่าว

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การพยายามเทียบเสียงในภาษาไทยถิ่นกับภาษาไทยมาตรฐาน แล้วอนุโลมใช้รูปวรรณยุกต์ที่มีอยู่ ซึ่งก็ไม่ตรง ดังที่คอลัมน์ “มองไทยใหม่” ได้เคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ ในเรื่อง “วรรณยุกต์กับภาษาถิ่นและคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ”

จึงจะขอนำบางตอนมากล่าวถึงเพื่อการอ้างอิงดังนี้

เอื้อ มณีรัตน์ ซึ่งเขียนเรื่อง “ถอดอักษรล้านนาเป็นอักษรไทย” ลงในศิลปวัฒนธรรม เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๑ ได้อธิบายไว้ว่า

พยัญชนะที่อยู่ในหมวดอักษรกลาง ๔ ตัว คือ ก จ ต ป ภาษาล้านนาจัดอยู่ในหมวดอักษรสูง ซึ่งมีพื้นเสียงเป็นวรรณยุกต์จัตวา อ่านว่า ก๋ะ จ๋ะ ต๋ะ ป๋ะ ดังนั้น คำว่า กลาง จึงออกเสียงว่า ก๋าง คำว่า ใจ ออกเสียงว่า ใจ๋ คำว่า ตาม ออกเสียงว่า ต๋าม คำว่า เป็น ออกเสียงว่า เป๋น ฯลฯ

พยัญชนะที่อยู่ในหมวดอักษรต่ำ คือ ค ข ท พ ๔ ตัวนี้ ล้านนาออกเสียงเป็นวรรณยุกต์ตรี อ่านว่า ก๊ะ จ๊ะ ต๊ะ ป๊ะ เมื่อเขียนตามเสียง คำว่า คู่ ช่าง ท่อง เพื่อน จึงเขียนเป็น กู้ จ้าง ต้อง เปื้อน ซึ่งจะไปพ้องรูปกับคำที่ออกเสียงวรรณยุกต์เบญจมา ซึ่งมีระดับเสียงอยู่ระหว่างวรรณยุกต์โทและวรรณยุกต์ตรี

คำว่า ช่าง ถ้าจะให้มีความหมายตรงกับภาษาไทยกลาง ล้านนาจะออกเสียงว่า จ้าง (วรรณยุกต์โท) แต่ถ้าจะให้แปลว่า จ้าง (แรงงาน) จะต้องออกเสียงให้สูงกว่านั้น แต่ต้องไม่สูงเท่ากับวรรณยุกต์ตรี จึงจะมีความหมายต่างจากคำว่า ช่าง

จะเห็นได้ว่าระดับเสียงวรรณยุกต์ที่ภาษาล้านนามีแต่ภาษาไทยมาตรฐานไม่มีก็คือ ระดับเสียงที่อยู่ระหว่างวรรณยุกต์โทและวรรณยุกต์ตรี ซึ่ง เอื้อ มณีรัตน์ เรียกว่า “วรรณยุกต์เบญจมา” แต่ไม่ปรากฏเครื่องหมายกำกับ

ปัญหาของการปริวรรตหรือการถอดจากอักษรล้านนามาเป็นอักษรไทยจะทำอย่างไร จะถอดตามเสียงอ่าน หรือจะถอดตรงตามตัวอักษร

หากจะถอดตามเสียงอ่านในภาษาล้านนาก็จะมีอุปสรรคใหญ่ตรงที่ไม่สามารถจะเขียนได้ตรง เพราะภาษาไทยมาตรฐานไม่มีเครื่องหมายใดที่ใช้ระบุระดับเสียงที่อยู่ระหว่างวรรณยุกต์โทและวรรณยุกต์ตรี

เอื้อ มณีรัตน์ ให้ความเห็นว่า ถ้าเราต้องการถ่ายทอดอักษรล้านนามาเป็นอักษรไทย ก็ควรใช้อักษรไทยเท่าที่มีอยู่ ไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์ตัวอักษรใหม่ขึ้นมาอีก เพียงแต่เขียนคำอธิบายไว้ว่าพยัญชนะตัวไหนออกเสียงอย่างไรเท่านั้นก็พอ ให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านที่จะต้องศึกษาวิธีออกเสียงภาษาล้านนาให้ถูกต้องเอาเอง

แต่ถึงแม้จะออกเสียงไม่ตรงนัก ก็ยังพอเข้าใจได้บ้าง เพราะศัพท์ที่ตรงกันมีมาก ส่วนศัพท์ที่ไม่มีในภาษากลางนั้นจำเป็นต้องถามจากเจ้าของภาษาหรือเปิดพจนานุกรมดู ไม่มีภาษาอะไรในโลกนี้ที่ออกเสียงได้ตรงกับเสียงพูดจริงๆ

แม้แต่ภาษาล้านนาก็ไม่สามารถเขียนคำที่ออกเสียงว่า เอ๋อ (แปลว่า ปัญญาอ่อน) ได้ ทั้งๆ ที่เป็นภาษาของตนเอง

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เอื้อ มณีรัตน์ เห็นว่าควรจะถอดออกมาตรงๆ ตามตัวเขียน ไม่ต้องเขียนตามเสียง

เช่น ข้อความบางตอนในคร่าวซอเรื่อง บัวระวงศ์หงส์อำมาตย์ ไม่ควรเขียนว่า “หน่อเจ้าตังสอง แข็งใจ๋สอดดั้น เตียวก๋างดงดำป่าไม้”

แต่ควรเขียนว่า “หน่อเจ้าทังสอง แข็งใจสอดดั้น เทียวกลางดงดำป่าไม้”