ข้ามขั้วสู่การเมืองเก่าที่ล้มละลาย? | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็เดินหน้าสู่การจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค 2 ลุงอย่างที่หลายคนประเมิน และถ้ารวมกับภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาที่ประกาศร่วมรัฐบาลเพื่อไทยไปแล้ว เราก็กำลังเดินหน้าสู่การมีรัฐบาลใหม่ที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่มาจากฝ่ายรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นเดียว ส.ส.ส่วนใหญ่ในรัฐบาล

แม้เพื่อไทยจะกระมิดกระเมี้ยนไม่ยอมแถลงแบบเป็นทางการว่ามีพรรคไหนร่วมรัฐบาล แต่การกระทำทุกอย่างของเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ ก็ทำให้คนทั้งประเทศรู้ว่าพรรคที่ร่วมตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย ได้แก่ ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ และพรรคเล็กไม่กี่พรรครวมกัน

ถึงเพื่อไทยจะอ้างว่าการโหวตนายกฯ ไม่เท่ากับการร่วมรัฐบาล แต่เพื่อไทยก็ประกาศว่าใครไม่โหวตนายกฯ ก็ไม่มีสิทธิร่วมรัฐบาลด้วย และด้วยคำแถลงของภูมิใจไทยกับรวมไทยสร้างชาติว่าเพื่อไทยแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีด้วยสูตร 9:1 ก็สะท้อนว่ารัฐบาลจะมี ส.ส. 315 คน เท่ากับทุกพรรคที่กล่าวรวมกัน

ด้วยการตั้งรัฐบาลที่ ส.ส.จากพรรคหนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในรัฐบาลเพื่อไทย 159 คน รัฐบาลเพื่อไทยจึงมีโอกาสมีรัฐมนตรีจากพรรคหนุน พล.อ.ประยุทธ์เกินครึ่ง และในอนาคตอาจมากขึ้นหากดึงประชาธิปัตย์กลุ่มที่สารภาพว่าบินไปพบคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ฮ่องกงจนพร้อมโหวตเพื่อไทยตั้งรัฐบาล

 

ถ้าเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลที่ทุกอย่างโปร่งใสจนเกิดคำว่า “รัฐบาลแห่งความฝัน” หรือ “หอมกลิ่นความเจริญ” การตั้งรัฐบาลรอบนี้มีลับลมคมใน ไม่ตรงไปตรงมา สร้างวาทกรรมว่าเลือกนายกฯ ไม่เท่ากับร่วมรัฐบาล และการทำทุกทางเพื่อไม่ให้ถูกโจมตีว่าตั้งรัฐบาลกับพรรครัฐบาลเดิม

พรรคเพื่อไทยอ้างว่าจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้เพื่อผ่าทางตันที่ประเทศไม่มีรัฐบาล แต่คำถามที่คนจำนวนมากถามกลับโดยเพื่อไทยไม่เคยตอบคือใครสร้างทางตัน เป็นทางตันที่เพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาลใช่หรือไม่ รวมทั้งรู้ได้อย่างไรว่าสูตรตั้งรัฐบาลแบบนี้จะไม่พาประเทศไปสู่ทางตันของจริงกว่าเดิม

ด้วยสูตรแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีด้วยอัตรา 9:1 รัฐมนตรีในรัฐบาลเพื่อไทยคงประกอบด้วย คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน, คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, คุณอนุทิน ชาญวีรกูล, คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ, คุณธรรมนัส พรหมเผ่า, คุณวราวุธ ศิลปอาชา, ฯลฯ จนอดีตรัฐมนตรียุคประยุทธ์เป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐบาลที่เห็นแล้วไม่มีทางสร้างความหวัง

หรือ “หอมกลิ่นความเจริญ” ได้เลย

 

กองเชียร์บางส่วนอาจดีใจที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล แต่คนจำนวนไม่น้อยเชียร์เพราะรักคุณทักษิณ และพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย แทบไม่มีใครบอกว่าวิธีตั้งรัฐบาลแบบนี้ดีเลิศ และยิ่งไม่ใช่เพราะรัฐบาลมีองค์ประกอบเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลในฝันของทุกคน

คนเสื้อแดงเคยเป็นผู้สนับสนุนของพรรคเพื่อไทย แต่ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้ คนเสื้อแดงที่แสดงความไม่พอใจพรรคก็มีเยอะถึงขั้นจะถูกคนเสื้อแดงด้วยกันต่อยหน้าพรรคเพื่อไทยแล้ว ซ้ำ ส.ส.และอดีต ส.ส.ที่วิจารณ์การตั้งรัฐบาลนี้ก็มีไม่น้อย ถึงจะมีคนกล้าพูดในที่สาธารณะอยู่ไม่กี่คนก็ตาม

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและคุณภูมิธรรม เวชยชัย ให้สัมภาษณ์และโพสต์หลายครั้งว่าเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลหนนี้แบบ “ยอมเสียต้นทุนทางการเมือง” และถึงแม้ทั้งคู่จะไม่อธิบายชัดๆ ว่าต้นทุนนี้คืออะไร คำตอบที่เดาได้ไม่ยากคือการถูกโจมตี ด้อยค่า ด่าทอ วิพากษ์ และตั้งคำถามแง่จุดยืนแบบไม่เคยมีมาเลย

เพื่อไทยแก้ปัญหา “เสียต้นทุนทางการเมือง” โดยสร้างวาทกรรมรัฐบาลข้ามขั้ว, รัฐบาลสลายขั้ว และรัฐบาลพิเศษ

แต่ไม่ว่าเพราะ “ต้นทุนทางการเมือง” ของเพื่อไทยต่ำเกินไป หรือเพราะความไม่น่าเชื่อถือของวาทกรรม แทบไม่มีผู้นำความคิดในสังคม (Key Opinion Leader) ขานรับคำอ้างนี้เลย

ตรงข้ามกับสถานการณ์สมัยคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกรัฐประหาร, การปราบคนเสื้อแดงปี 2553 และการล้มเลือกตั้งปี 2557 ที่นักวิชาการและผู้นำความคิดอยู่ข้างเพื่อไทยเยอะไปหมด

วันนี้จะหาคนสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทยที่รัฐมนตรีครึ่งหนึ่งมาจากรัฐบาลประยุทธ์ยากเหลือเกิน

 

ทางออกของพรรคเพื่อไทยเพื่อแก้ปัญหา “ต้นทุนทางการเมือง” คือการชูนโยบายเศรษฐกิจเพื่อกลบความไม่พอใจทางการเมือง แต่น่าสังเกตว่าคำขานรับที่สังคมมีต่อเพื่อไทยวันนี้น้อยกว่าสมัยเลือกตั้งปี 2562 และแม้แต่สมัยตั้งรัฐบาลปี 2554 อย่างเทียบไม่ได้จนกล่าวได้ว่าไม่มีแรงกระเพื่อมอะไรเลย

ในอดีตปัญหาใหญ่ที่สุดของพรรคเพื่อไทยคือการถูกรัฐประหารและอำนาจนอกระบบทำลาย

แต่ในปี 2566 ที่ผลเลือกตั้งออกมาว่าพรรคก้าวไกลได้เสียงโหวต 14.5 ล้าน ชนะยกจังหวัดแบบถล่มทลาย พรรคเพื่อไทยเผชิญปัญหาใหม่คือวิกฤตอัตลักษณ์ซึ่งในที่สุดลุกลามเป็นวิกฤตศรัทธาต่อพรรคเอง

“จุดแข็ง” ของพรรคเพื่อไทยก่อนปี 2566 คือเป็นพรรค “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่มีความสามารถด้าน “บริหารนโยบาย”

แต่ทันทีที่เพื่อไทยล้มเหลวในการเลือกตั้งปี 2566 จนมีผู้ลงคะแนนเพียง 10 ล้าน จากเดิมที่มีคนลงคะแนนราว 14-16 ล้าน พรรคเพื่อไทยเผชิญปัญหาใหญ่ว่าจะวางตัวเองอย่างไรดี

ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยชูความเป็นพรรคประชาธิปไตยจากการเป็นพรรคอันดับ 1 มากกว่าที่จะเน้นความชัดเจนทางจุดยืน คนจำนวนมากที่สนับสนุนเพื่อไทยจึงอ้างว่าเพื่อไทยไม่สุดโต่ง, เพื่อนเยอะ ฯลฯ ต่อให้เพื่อไทยจะถูกรัฐประหาร 2 รอบ และถูกยุบพรรคในเครือข่ายแล้วถึง 3 ครั้งก็ตาม

เมื่อพรรคก้าวไกลกำเนิดโดยมีความชัดเจนกว่าเรื่องจุดยืน พรรคเพื่อไทยก็เผชิญปัญหาว่าจะอ้างความเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่างไรมากขึ้นเรื่อยๆ และปัญหานี้ลุกลามยิ่งขึ้นทันทีที่พรรคชนะอันดับ 1 ไม่ใช่เพื่อไทย

แต่กลายเป็นก้าวไกลซึ่งเข้มข้นกว่าเพื่อไทยในแง่จุดยืนทางการเมือง

 

ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วกับพรรคร่วมรัฐบาลประยุทธ์ที่เพื่อไทยหาเสียงว่าไม่เอาด้วย เพื่อไทยสูญเสียความเป็นพรรคประชาธิปไตยโดยได้พันธมิตรใหม่อย่างพลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ และภูมิใจไทยซึ่งเป็นนั่งร้านเผด็จการ ขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญ และต้านการชุมนุมของประชาชน

ขณะที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยชูแคนดิเดตนายกฯ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม จนคนลงคะแนนเสียงเพื่อเปลี่ยนขั้วอำนาจถล่มทลาย เพื่อไทยกลับจัดตั้งรัฐบาลและ “ดีล” ให้คุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ โดยจับมือพรรคที่แพ้เลือกตั้งจากขั้วอำนาจเก่าแบบไม่คิดถึงความรู้สึกประชาชน

ภายใต้วิธีตั้งรัฐบาลที่เต็มไปด้วยการผิดคำพูดที่หาเสียงช่วงเลือกตั้ง ซ้ำระดับของการผิดคำพูดยังเป็น worst case scenario ที่พรรค 2 ลุงมีโอกาสมาหมด และรัฐบาลใหม่มีรัฐมนตรีครึ่งหนึ่งมาจากรัฐบาลเก่า ผลก็คือไม่มีทางที่รัฐบาลแบบนี้จะเป็นความหวังให้ประชาชนได้อย่างที่คาดคิดเลย

ไม่ใช่ความลับว่าเพื่อไทยเชื่อว่ารัฐบาลแบบนี้จะสำเร็จหากทำนโยบายดีๆ

แต่ปัญหาคือเพื่อไทยในปี 2566 จัดตั้งรัฐบาลด้วยอำนาจต่อรองที่ต่ำมาก ผลก็คือเพื่อไทยเสนออะไรก็ถูกพรรคร่วมปฏิเสธ การขอให้โหวตนายกฯ ก่อนดีลตำแหน่งรัฐมนตรีไม่สำเร็จ และจบด้วยพรรคร่วมขอดีลเก้าอี้ก่อนโหวต

ตรงข้ามกับในอดีตที่เพื่อไทยชนะอันดับ 1 ด้วย ส.ส.ท่วมท้นและมวลชนหนุนหลังทั้งแผ่นดิน เพื่อไทยในปี 2566 กำลังตั้งรัฐบาลโดยไม่ได้ชนะอันดับ 1, มวลชนไม่พอใจที่จับมือข้ามขั้ว และได้ ส.ส.ไม่ถึงครึ่งของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดที่ 315 เสียง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เพื่อไทยไม่เคยเจอมาก่อนเลย

 

จุดแข็งข้อเดียวที่เพื่อไทยยังมีอยู่คือ การบริหารนโยบาย แต่ต่อให้เพื่อไทยผลักดันนโยบายจนสำเร็จ โอกาสที่จะเอาชนะความไม่พอใจจากการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วก็ไม่ง่าย มวลชนที่ชัดเรื่องประชาธิปไตยอาจไม่พอใจต่อ ไม่ต้องพูดถึงโอกาสที่พรรคจะบริหารนโยบายไม่สำเร็จเพราะไม่มีอำนาจเต็ม

เมื่อพรรคเพื่อไทยให้ประชาชนได้รัฐบาลแบบเก่าๆ ของนักการเมืองหน้าเก่าๆ ในเวลาที่ประชาชนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกว่ารัฐบาลใหม่ไม่ใช่รัฐบาลของประชาชนก็มีโอกาสจะทวีความรุนแรงขึ้น

เช่นเดียวกับความไม่ยอมรับจนกลายเป็นความไม่เชื่อและไม่ไว้วางใจรัฐบาล

หวังว่ารัฐบาลใหม่จะไม่ล้มละลายด้านความน่าเชื่อถือจนเกิดปัญหาความไม่ยอมรับและความไม่ชอบธรรมทางการเมือง