การเมืองโลก วันเวลาและแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ด้วยเราก้าวย่างเดือนที่ 9 แห่งปีแล้ว เห็นทีเราควรมองความเปลี่ยนแปลงที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ อย่างน้อยเพื่อเตรียมแผนงานและเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นบ้าง

ผมชอบความคิดของ Adam Boulton ที่กล่าวว่า1 “…เราไม่สามารถพยากรณ์อาการตกใจสุดขีดซึ่งมีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์ในอนาคตได้ แต่การมุ่งไปข้างหน้าเพื่อปีหน้า มันสะท้อนบทเรียนสำคัญในอดีต…”

Adam Boulton อ้างตัวอย่างน่าสนใจ เช่น ไม่มีใครคาดการณ์ถึงการก่อการร้าย 9/11 ที่สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.2001 แล้วต่อมาสร้างภาระแก่ผู้นำอย่างโทนี่ แบลร์ ของสหราชอาณาจักร และจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐอเมริกา

ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายสงสัยว่ารัสเซียจะไปต่ออย่างไรในการโจมตียูเครนอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ไม่มีรัฐมนตรีกระทรวงคลังคนไหนและตลาดทำนายต้นทุนแห่งวิกฤตการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดจากการโจมตีทางทหารแล้วกระทบต่อทุกๆ คน

หลังจากนั้น เขาก็เลือกประเด็นสำคัญบางประเด็นที่จะก่อสิ่งที่ไม่คาดการณ์มาก่อนได้หรือไม่

 

การเมืองของการเลือกตั้งและผู้นำ

นับจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเกิดขึ้น ในภาพรวมสงครามครั้งนี้ทำให้เศรษฐกิจของเกือบทุกประเทศมีต้นทุนแพงขึ้น เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง แต่ภาวะเศรษฐกิจผันผวนมีการผ่อนคลายลง

เมื่อเราดูบรรดานักการเมืองที่เป็นผู้นำของกลุ่ม G 7 อาจกล่าวได้ว่า ยังไม่มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการสิ้นสุดของรัฐบาลปัจจุบัน แม้จะมีการเลือกตั้งในฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรพร้อมกันในปี 2023

เราจะเห็นได้ว่า ในปีหน้านี้พรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านหลักแข่งขันกันเพื่อวางบทบาทให้พรรคของตนสามารถเอาชนะและชิงชัยทางการเมืองได้

มกราคม 2023 การแข่งขันจะเกิดขึ้นชิงชัยตำแหน่งในทำเนียบขาว ดังนั้น จึงมีการวางแผนจากทั้ง โจ ไบเดน และจากโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะอายุ 82 ปี และหมดบทบาททางการเมืองในสมัยที่ 2 ส่วนโจ ไบเดน จะมีอายุ 86 ปี

ที่สหราชอาณาจักร หลังจากประเทศมีนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคอนุรักษนิยมถึง 3 คน ริชี ซูนัก (Rishi Sunuk) รู้สึกมั่นคงในงานของเขาจนกระทั่งถึงวันเลือกตั้ง ทั้งนี้ สิ่งที่ท้าทายมากของสหราชอาณาจักรคือ การเมืองของการต่อสู้เรื่องการถอนตัวออกจาก Brexit แล้วยังมีปัญหาครบรอบ 25 ปีของข้อตกลงระหว่างสหราชอาณาจักรกับไอร์แลนด์เหนือ ดังนั้น บทบาทของรัฐบาลของซูนักจัดการอย่างไรในความสัมพันธ์สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป

ในขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพิ่งฉลองรากของชาวไอริสของเขาและเพิ่งแต่งตั้ง Joseph Kennedy iii เป็นผู้แทนพิเศษสหรัฐอเมริกาในไอร์แลนด์เหนือ

โจ ไบเดน ก็ได้ต้อนรับฉลองการเดินทางมาเยือนอย่างเป็นทางการฝรั่งเศสจากประธานาธิบดี Macron แห่งฝรั่งเศส

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีซูนักก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีในการเยือนทำเนียบขาว

การต้อนรับและเฉลิมฉลองอย่างใหญ่โตของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสแสดงความสัมพันธ์ใกล้ชิดของชาติชั้นนำในกลุ่ม G 7 ในเวลาเดียวกันยังสะท้อนถึงความต่อเนื่องที่ผู้นำของประเทศสำคัญทั้ง 3 จะยังคงเป็นผู้นำของประเทศต่อไปแม้มีการเลือกตั้งในไม่ช้า

ในเวลาเดียวกัน มกราคม ค.ศ.2023 สหภาพยุโรปมีการเฉลิมฉลองในวาระ 60 ปีฝรั่งเศสและเยอรมนีที่ลงนามสนธิสัญญาเอลิเซ (Elysee) ที่เป็นแกนหลักในการผลักดันสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปทำงานลงลึกต่อเนื่องหลังจากประเทศโครเอเชีย เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แล้วโครเอเชียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงิน Euro Zone และใช้วีซ่าในระบบ Schegen

 

ผู้นำคนเดิมกับความตึงเครียด

แม้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แล้วยังเบาใจได้มากกว่าจะยังมีความต่อเนื่องทางนโยบายจากผู้นำคนเดิมของชาติสมาชิก G 7

แต่ความตึงเครียดก็เกิดขึ้นทั่วคาบสมุทรบัลคาน (Balkan) ได้แก่ความตึงเครียดทางการเมืองและการเผชิญหน้าระหว่างโคโซโว (Kosovo) กับเซอร์เบีย (Serbia)

ในขณะที่การเมืองในตุรกีมีแนวโน้มของระบอบอำนาจนิยมมากขึ้นของนายกรัฐมนตรี Recep Tayyip Erdogan

เขาขะมักเขม้นต่อกรกับการก่อตัวใหม่ของฝ่ายต่อต้านเขา

โดยผู้นำตุรกีต้องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังจากเป็นมาแล้ว 20 ปี

 

ความตึงเครียดทางการเมืองน้อย
แต่ใครจะรู้ถึงหายนะทางเศรษฐกิจ

กรอบวิเคราะห์วันเวลาและแนวโน้มที่อาจไม่ก่อความตึงเครียดทางการเมืองมากนักของนักคิดคนสำคัญน่าสนใจไม่น้อย แต่ก็ไม่ควรเบาใจ ความจริงแล้ว ต้นทุนราคาแพงของสงคราม ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นชนิดเร่งตัวรวดเร็ว ได้บอกอะไรที่สำคัญแก่โลกไม่น้อย

ไม่ควรมองข้ามหายนะทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นแล้วจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ด้วยเหตุกรกฎาคม 2023 ที่รัสเซียประกาศยกเลิกการเข้าร่วมข้อตกลง Black Sea Grain Initiative ที่สหประชาชาติและตุรกีอนุญาตให้การส่งออกสินค้าเกษตรในทะเลดำหลังจากเรือรัสเซียบล็อกเส้นทางทางทะเลหลักหลังรัสเซียรุกรานยูเครน2

ข้อตกลงนี้อนุญาตส่งออกอาหารและปุ๋ยจากยูเครนและรัสเซีย อันมีผลช่วยลดราคาสินค้าของโลกตั้งแต่ ค.ศ.2022 ข้อตกลงมีความสำคัญมาก ด้วยเมล็ดพันธุ์ที่ลำเลียงผ่านทะเลดำมีบทบาทหลักในการสนับสนุนการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมเร่งด่วนในขณะนั้นให้กับ 6 ประเทศในแอฟริกาและเอเชีย

หากมีการม้วนกลับข้อตกลงนี้ภายใน 1 ปี โลกจะตกอยู่ในความล่อแหลมของวิกฤตการณ์อาหารโลก เนื่องจากปัจจัยทางโครงสร้างการผลิตอาหารโลกและยังขยายไปด้วยภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกือบ 10% ของประชากรโลกเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร (Food Insecurity) อย่างแท้จริง3

นอกจากนี้ จากการผลักดันขององค์การสหประชาชาติ ตาม Humanitarian Food Corridor, April 2022 ได้อนุญาตส่งออกเมล็ดพันธุ์และเมล็ดทานตะวันจากยูเครนได้ มีการผ่อนปรนการแซงก์ชั่นปุ๋ยรัสเซีย

ครั้นเมื่อข้อตกลง Black Sea Grain Initiative ล่มเพราะรัสเซียขอถอนตัว ราคา Wheat future 4% ไม่เพียงแค่ข้าวสาลีมีราคาผันผวนรุนแรงเพราะส่งออกทางทะเลดำไม่ได้แล้ว

พืชไร่ชนิดอื่นๆ ก็ประสบปัญหาด้านผลผลิต การขนส่ง อันมีผลต่อราคาถีบตัวสูงขึ้น พืชไร่ชนิดอื่นๆ ยังประสบปัญหาเนื่องจากขาดปุ๋ย เช่น แอมโมเนีย ไม่ใช่แค่การได้รับอาหารเท่านั้น ปัญหาอาจบานปลายไปที่การมีอาหาร (หรือไม่มีอาหารด้วย) ยังมีผลต่อไปอีกมาก เช่น การขาดแคลนเงินสด และมีหนี้ที่จัดการไม่ได้ ทั้งนี้ เป็นปัญหาต่อทั้งประเทศกำลังพัฒนา (developing economies) และประเทศรายได้ปานกลาง (middle income)

แน่นอน ประเทศที่ยากจนที่สุดจะกระทบหนักที่สุด เกือบทุกประเทศนำเข้าข้าวสาลีในเอเชียและแอฟริกา แล้วเรายังควรกังวลกับประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วด้วย เพราะราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นสามารถนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่า ไนจีเรียเพิ่งประกาศภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากปัญหาราคาอาหาร ในขณะที่ประเทศก็เกิดปัญหาการเมืองภายในคือ การรัฐประหารแย่งชิงอำนาจ

เท่ากับว่า การขาดแคลนอาหาร การรัฐประหาร และความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์คือ การแย่งชิงบทบาททางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียในแอฟริกาตะวันตก สัมพันธ์ระหว่างกันกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เอาพืชไร่ ปุ๋ย ข้าวสาลีเป็นตัวประกันด้วย

 

ย้อนพินิจอาเซียน

เมื่อต้องประเมินใหม่สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลต่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมแม้ว่าผู้นำ G 7 จะยังคงเป็น คนหน้าเดิม แม้ผู้นำคนเดิมของฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรยังอยู่ในตำแหน่งในปี 2024 วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ พลังงาน อาหารเกิดขึ้นและขยายตัวในทุกประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจ

ส่วนอาเซียนมีทั้งคล้ายและแตกต่าง

มีการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ล้วนมีอะไรคล้ายกันคือ เกือบทุกประเทศยังคงได้ผู้นำหน้าเดิม หรือมาจากพรรคการเมืองเดิม ที่ล้วนอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม

มีต่างไปบ้างคือ อินโดนีเซีย ผู้นำพลเรือนก้าวสู่สมัยที่ 2 ด้วยคะแนนนิยมแนวประชานิยม ท่ามกลางการปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจังของผู้นำทหาร

สิงคโปร์ การสืบทอดอำนาจของทายาททางการเมืองชัดเจนและดูมั่นคง

ส่วนกัมพูชาเพิ่มผ่านการเลือกตั้งก้าวสู่ระบบครอบครัว ในยุค digitalization คนรุ่นใหม่ล้วนเป็นลูกหลานที่หน้าตาหล่อ หนุ่มสาว แต่มีคำเตือนว่า อาจอำนาจนิยมยิ่งกว่าพ่อของพวกเขาเสียอีก

ส่วนไทยแม้เรากำลังจะมี รัฐบาลร้อยชื่อ แต่ทั้งหมดกลับเป็น คนหน้าเดิม การเมืองคือละคร คนหน้าเดิมกับอำนาจนิยมกำลังเผชิญวิกฤตการณ์จากปัญหาเศรษฐกิจจีนที่ซุกซ่อนปัญหาเอาไว้ลึกมากกว่าปัญหาสังคมสูงวัย ความด้อยประสิทธิภาพของรัฐและปัญหาคอร์รัปชั่

เศรษฐกิจตกต่ำ น้ำมันแพง ค่าเงินตก นักลงทุนต่างชาติหนี เมืองร้าง ไฟดับ คำเหล่านี้ดังก้องที่เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม

คำเหล่านี้ดังก้องเช่นกันที่ไทย แต่พยายามกลบเอาไว้ด้วยวิกฤตชาติบ้าง วิกฤตรัฐธรรมนูญบ้าง

คนหน้าเดิมชนะเลือกตั้งในยุโรป อเมริกาเหนือ กำลังเจอหายนะทางเศรษฐกิจและสังคม ที่อาเซียนก็เช่นกัน รวมทั้งไทยด้วย


1Adam Boulton, “World Politics and Power-the dates and trends that will help shape 2023” Sky News 1 January 2023

2“Beacon on the Black Sea” United Nation 27 July 2023

3John Denton, “Why the Black Sea Grain Initiative must be restored” Iowy Institution, 29 July 2023, : 1.