นิ้วกลม : หลากหลายเรื่องเล่าเราจะรักกันยังไง

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1
จินตนาการไปถึงยุคบรรพบุรุษอันไกลโพ้น ในสมัยที่มนุษย์ยังอยู่กันเป็นชนเผ่า ตกดึกต้องเผชิญกับความมืด บางฤดูก็ต้องตัวสั่นไปกับฟ้าแลบ ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง บางปีฝนตกหนัก บางปีก็น้ำแล้ง สัตว์ร้ายมากมายรายล้อม ชีวิตแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน น่ากลัว และคาดเดาไม่ได้

ในยุคนั้น สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่กับความไม่แน่นอนเหล่านั้นได้ก็คือ ‘เรื่องเล่า’
และแน่นอนว่า เมื่อมีเรื่องเล่าก็ต้องมีนักเล่าเรื่อง

นักเล่าเรื่องในยุคแรกคือคนสำคัญประจำเผ่า ประจำหมู่บ้าน ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพยาดา ฟ้าดิน หรือสามารถสื่อสารกับภูตผีปิศาจได้ นักเล่าเรื่องเหล่านี้อาจเป็นพ่อมดหมอผี คนเฒ่าคนแก่ คนทรงเจ้า ผู้หยั่งรู้ หรือชื่ออื่นๆ ตามแต่จะเรียก แต่หน้าที่ของพวกเขาคล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ ให้คำอธิบายต่อสรรพสิ่งอันไม่แน่นอนที่รายล้อมชีวิตผู้คนอยู่

จากสิ่งที่อธิบายไม่ได้ เมื่อถูกทำให้เข้าได้ผ่านเรื่องเล่าของเทวดา นางฟ้า เทพเจ้า ภูตผี วิญญาณ เจ้าป่าเจ้าเขา ก็ช่วยทำให้ผู้คนกังวลน้อยลง อย่างน้อยพวกเขายังสามารถ ‘เจรจา’ กับสิ่งยิ่งใหญ่ที่พวกเขามองไม่เห็นได้ด้วยวิธีการต่างๆ บ้างเต้นระบำรำฟ้อนเพื่อคารวะบูชา บ้างก็ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ

สังคมเล็กๆ แห่งนั้นจึงหมุนวนอยู่รอบเรื่องเล่าหลักที่ทุกคนรับรู้ร่วมกัน เข้าใจตรงกัน รวมทั้งสืบสานกันเป็นทอดๆ สั่งลูกสอนหลานกันไปเรื่อยๆ แม้ผู้คนล้มหายตายจากไป แต่เรื่องเล่าหรือตำนานเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ กระทั่งหลายเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชน

เรื่องเล่าไม่ได้จบเพียงเป็นแค่เรื่องเล่า แต่เรื่องเล่าที่ถูกตอกย้ำบ่อยเข้าก็จะกลายเป็นวิถีชีวิต เกิดเป็นกิจกรรมที่ทำซ้ำจนเป็นประเพณี และงอกงามแตกหน่อออกมาเป็นวัฒนธรรมต่างๆ นานาเต็มไปหมด

เทพเจ้าที่ประดับตามสถาปัตยกรรม วรรณกรรมที่เล่าตำนานเหล่านั้น เพลงที่ร้องเพื่อสรรเสริญทวยเทพ เสื้อผ้า เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ ลายตกแต่ง ท่าร่ายรำ ชื่อสถานที่ต่างๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากตำนานที่เล่าขานกันมา และเมื่อวัฒนธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นมันก็ช่วยสนับสนุนและสานต่อให้ตำนานนั้นๆ แข็งแกร่งและอยู่ยงคงกระพันสืบต่อไป
ชีวิตของสังคมตั้งแต่ชนเผ่าไล่เลยมาถึงในยุคกลางล้วนมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เรื่องเล่าหลัก ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ กรีก โรมัน และศาสนาต่างๆ

นอกจากเรื่องเล่าจะช่วยคลายกังวลให้ผู้คน ทำให้รู้สึกว่าสามารถทำความเข้าใจความแปรปรวนต่างๆ ในโลกนี้ได้ สามารถจัดการกับความไม่แน่นอนได้แล้ว เรื่องเล่ายังช่วยให้เกิดความกลมเกลียว ความสามัคคี และความเป็นเอกภาพในชุมชนอีกด้วย

เมื่อผู้คนใช้ชีวิตหมุนวนอยู่รอบเรื่องเล่าเดียวกัน พวกเขาย่อมรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คล้ายๆ อยู่ใต้หลังคาบ้านเดียวกัน มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เดียวกันช่วยปกปักรักษา

กระทั่งกลุ่มคนที่มีเรื่องเล่าต่างกันต้องมาปะทะกัน เมื่อนั้นเองที่แต่ละฝ่ายจะต้องปกป้อง ‘ความจริง’ ที่ตนเชื่อถือศรัทธา จึงต้องรบราและทำสงครามกัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อความอยู่รอด แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะว่าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถรวมกันหรืออยู่ร่วมกันได้ เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คนละองค์

2
นอกจากจะช่วยอธิบายสิ่งที่ไม่สามารถทำความเข้าใจแล้ว เรื่องเล่ายังทำหน้าที่สร้าง ‘อุดมคติ’ บางอย่างขึ้นมาให้ผู้คนใฝ่หาร่วมกัน ภาพตัวแทนความดีงามของเทวดานางฟ้า บรรยากาศอันวิจิตรบริสุทธิ์ของสรวงสรรค์ หรือการลงทัณฑ์คนชั่วในนรกโลกีย์ ล้วนแล้วแต่สร้างภาพอุดมคติให้ผู้คนในสังคมได้เฝ้าฝันถึงร่วมกันว่า ‘โลกแห่งความดีงาม’ มีหน้าตาอย่างไร รวมทั้งยังสั่งสอนและแนะวิธีเพื่อไปให้ถึงความดีงามนั้น

สังคมที่มีเรื่องเล่าหลักเดียวกันจึงมีอุดมคติเดียวกันด้วย การตัดสินผิด-ถูก ดี-ชั่ว ในสังคมจึงชัดเจน เพราะมีเกณฑ์การตัดสินเดียวกัน

ผมนึกถึงโลกยุคนั้นขึ้นมาระหว่างที่กำลังไถนิ้วไปมาบนหน้าจอมือถือ ที่คอยสลับเปิดแอพทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ และอื่นๆ อีกเต็มไปหมด

ใช่ครับ ผมกำลังคิดในใจว่าทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอยู่รอบ ‘เรื่องเล่า’ แบบไหน และเรื่องอะไรบ้าง คำถามสำคัญก็คือ แต่ละคนกำลังใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องเล่าเดียวกันหรือเปล่า หรือทุกคนต่างมีเรื่องเล่าของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป

แม้จะอยู่ในสังคมเดียวกัน แม้จะเดินเบียดไหล่กันอยู่ในพื้นที่ทางกายภาพใกล้ๆ กัน แต่พื้นที่ทางความคิด รสนิยม อุดมคติ และความเชื่อ อาจห่างและต่างกันราวกับคนละโลก

เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้พังทลาย ‘เรื่องเล่าหลัก’ ที่เรามีร่วมกันไปหมดแล้ว ไม่มีลำโพงหลักที่ทุกคนจะได้รับรู้เรื่องราวจากลำโพงนั้นเพียงลำโพงเดียวอีกต่อไป ไม่มีหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ไม่มีค่ายเพลงดัง ไม่มีนักเล่าข่าวที่ทุกคนต้องตื่นเช้ามาฟัง ไม่มีคลื่นวิทยุที่ทุกคนเงี่ยหูฟังกันทั้งประเทศ หรือกระทั่งไม่มีละครหลังข่าวที่ทุกคนจะต้องเกาะติดขอบจอพร้อมกันทั้งสังคม

เราตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตกับ ‘เรื่องเล่า’ ในแต่ละวันที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หนึ่งคนก็หนึ่งแบบ

จึงไม่แปลกที่เราจะหลงไปเจอคลิปบางคลิป นักร้องบางวง หรือผู้ดำเนินรายการออนไลน์บางคน ที่มียอดรับชมในยูทูปเป็นร้อยล้านวิว แต่เราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของเขามาก่อน

แต่สิ่งที่พวกเขากำลังสื่อสารออกไปนี่เองที่เป็น ‘เรื่องเล่า’ สำหรับคนกลุ่มใหญ่ซึ่งห่างไกลจากตัวเราออกไป ในขณะเดียวกัน เราเองก็มี ‘เรื่องเล่า’ ที่ห่างไกลจากตัวพวกเขาเช่นกัน จึงไม่แปลกที่เราจะมีวัฒนธรรมคนละอย่างราวกับอยู่กันคนละสังคม

สิ่งที่น่าสนใจและแตกต่างไปจากสังคมโบราณก็คือ ในสังคมโบราณ คนที่มีความเชื่อและเรื่องเล่าหลักแตกต่างกันย่อมใช้ชีวิตห่างไกลกัน คนละชุมชน แน่นอนว่าเมื่อมาเจอกันก็อาจมีการปะทะและสู้รบกัน แต่ย่อมไม่สับสนอลหม่านเหมือนคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน บ้านติดกัน ขึ้นรถเมล์คันเดียวกัน รถไฟฟ้าขบวนเดียวกันแต่ดันมีเรื่องเล่าคนละเรื่อง เพราะเราต้องเผชิญหน้ากันทุกวัน

โดยกายภาพเราอยู่ใกล้กันมาก แต่ในเชิงความคิดที่เรามองไม่เห็นกันและกัน เราค่อยๆ ห่างจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ เรารู้จักสิ่งเดียวกันน้อยลงเรื่อยๆ เราชื่นชอบสิ่งเดียวกันน้อยลงเรื่อยๆ เรายำเกรงสิ่งเดียวกันน้อยลงเรื่อยๆ เราประกอบพิธีกรรมประเพณีเดียวกันน้อยลงเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกแปลกหน้าต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวติดกัน แต่ใจห่าง

เราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า เต็มไปด้วยความไม่ไว้ใจ ไม่รู้ว่าไอ้คนนี้คิดยังไง ไม่รู้ว่าไอ้คนนั้นมีเรื่องเล่าแบบไหนเป็นศูนย์กลางชีวิตเขา

3
ไม่ใช่เรื่องเศร้า หรือเรื่องน่าตกอกตกใจอะไร เหตุการณ์เช่นนี้หมุนไปตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมมนุษย์ ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างเร็วจี๋ทุกวี่วัน

คำถามก็คือ หากไม่ใช่ ‘เรื่องเล่าหลัก’ เราจะหาสิ่งใดมารองรับความหลากหลายของสังคมที่มีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้

การพูดถึงความสามัคคี ความรัก และความเป็นหนึ่งเดียวกันในความหมายว่ามีความเหมือนกันเป็นเนื้อเดียว ยังสามารถ ‘ทำงาน’ ได้ดีอยู่เหมือนในอดีตหรือไม่

ท่ามกลางความระแวงและกังวล ท่ามกลางความไม่แน่นอน และคาดเดาไม่ได้ มันช่างคล้ายกันเหลือเกินกับภาวะที่มนุษย์ยุคโบราณไม่อาจทำความเข้าใจความผันผวนของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ในช่วงเวลาเช่นนี้จึงเกิด ‘นักเล่าเรื่อง’ ขึ้น เพื่อสร้างภาพบางอย่างขึ้นมาเพื่อจัดการกับสิ่งที่ยากจะเข้าใจ เมื่อกุม ‘เรื่องเล่า’ เอาไว้ได้ อำนาจก็อยู่ในกำมือ และสังคมก็จะหมุนไปตามเรื่องเล่านั้น

วันนี้มีเรื่องเล่ามากมายที่นักเล่าเรื่องทั้งหลายพยายามเล่าให้สังคมฟัง เรื่องคอร์รัปชั่น เรื่องประชาธิปไตย เรื่องความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เรื่องสิทธิเสรีภาพ รวมถึงเรื่องจิปาถะอีกสารพัดในชีวิต

แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้วที่จะสร้าง ‘เรื่องเล่าหลัก’ ที่ทุกคนในสังคมจะหันมาฟังกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ง่ายเหมือนการเรียกทุกคนในชนเผ่ามานั่งล้อมวงเพื่อเล่าตำนาน ไม่ง่ายเหมือนการชักชวนให้ทุกคนเข้าโบสถ์วิหารเพื่อประกอบพิธีกรรม ไม่ง่ายเหมือนที่คนทั้งหมู่บ้านมามุมดูโทรทัศน์เครื่องแรก

เราจะอยู่กันอย่างไรในโลกที่ไม่มี ‘เรื่องเล่าหลัก’

โลกใบนั้นน่ากังวลเสียยิ่งกว่าการไม่รู้ว่าฟ้าจะผ่าลงมาเมื่อไหร่หรือเปล่านะ