‘ซิกา’ ในสิงคโปร์ สัญญาณเตือนสู่เอเชีย

AFP PHOTO / FABRICE COFFRINI

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยไข้เหลืองของประเทศอูกันดา พบ “ไวรัสซิกา” เป็นครั้งแรกในลิงที่ประเทศอูกันดา ทวีปแอฟริกา เมื่อปี 1947 ก่อนจะพบการติดเชื้อในมนุษย์ครั้งแรกในปี 1952

เชื้อไวรัสดังกล่าวถูกตั้งชื่อว่า “ซิกา” ตามชื่อ “ป่าซิกา” ถิ่นอาศัยของลิงที่พบเชื้อ

ในช่วงแรก เชื้อไวรัสซิกา เชื้อที่มียุงลายเป็นพาหะเช่นเดียวกับไข้เลือดออกและไข้เหลือง ไม่ได้รับความสนใจมากนักเนื่องจากอาการป่วยเป็นเพียงอาการไข้ ผื่นคันเพียงเล็กน้อย และมีการพบผู้ติดเชื้อจำนวนน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบแอฟริกาและเอเชีย โดยเฉพาะหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงประเทศไทยด้วย

โดยนับตั้งแต่ค้นพบเชื้อจนถึงปี 2007 มีรายงานยืนยันผู้ติดเชื้อเพียง 14 ราย

A group of pregnant women wait to be attended at the maternity of the Guatemalan Social Security Institute (IGSS) in Guatemala City on January 26, 2016. Guatemala increased the monitoring of pregnant women because of the risk of infection by Zika virus. The Zika virus, a mosquito-borne disease suspected of causing serious birth defects, is expected to spread to all countries in the Americas except Canada and Chile, the World Health Organization said. / AFP PHOTO / JOHAN ORDONEZ
 AFP PHOTO / JOHAN ORDONEZ

หลังจากนั้นเชื้อไวรัสซิกาพบการระบาดนอกพื้นที่แอฟริกาและเอเชียเป็นครั้งแรกในปี 2007 ในประเทศไมโครนิเซีย ก่อนที่จะแพร่ต่อไปยังเฟรนช์โพลินีเซีย เกาะดินแดนของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิก อีสเตอร์ไอซ์แลนด์ ของชิลี หมู่เกาะคุก ของนิวซีแลนด์ รวมไปถึงประเทศนิวคาลิโดเนีย อาณานิคมพิเศษของประเทศฝรั่งเศส ในช่วงระหว่างปี 2013 ถึง 2014

ซึ่งก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีนัยสำคัญนัก

การระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่ประเทศบราซิล และอีกกว่า 70 ประเทศ เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2015 มีประชาชนกว่า 1.5 ล้านคนติดเชื้อ ส่งผลให้ประเทศอเมริกาใต้แห่งนี้ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

ยิ่งกว่านั้นยังพบเด็กกว่า 1,600 คนที่เกิดมามีความผิดปกติด้วยอาการศีรษะและสมองเล็กกว่าปกติ และยังพบความเชื่อมโยงการติดเชื้อไวรัสซิกากับโรคทางระบบประสาทรุนแรงอย่าง “กิลแลง บาร์เร” รวมถึงพบความเชื่อมโยงเกี่ยวกับการทำลายเซลล์สมองในผู้สูงอายุด้วย

หลังยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในบราซิลเริ่มลดลง ก็เกิดการระบาดขึ้นในประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา

เพียงสัปดาห์เดียวนับตั้งแต่มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสซิการายแรก ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศเล็กๆ ที่ได้ชื่อว่ามีมาตรฐานด้านสาธารณสุขสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 250 รายไปแล้ว

เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความห่วงกังวลถึงสัญญาณเตือนบางอย่างที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วภูมิภาคเอเชีย อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างโรคซาร์ส ไข้หวัด 2009 หรือโรคเมอร์ส ก่อนหน้านี้

A researcher looks at Aedes aegypti mosquitoes kept in a container at a lab of the Institute of Biomedical Sciences of the Sao Paulo University, on January 8, 2016 in Sao Paulo, Brazil. Researchers at the Pasteur Institute in Dakar, Senegal are  in Brazil to train local researchers to combat Zika virus epidemic.  AFP PHOTO / NELSON ALMEIDA / AFP PHOTO / NELSON ALMEIDA
AFP PHOTO / NELSON ALMEIDA

ผลการวิจัยโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแลนคาสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ตีพิมพ์ในวารสารแลงเซตอินเฟกเชียสดิซีส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่า ประชากรโลกราว 2,600 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลก ที่อาศัยอยู่ในแอฟริกา เอเชีย และแปซิฟิก มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสซิกา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคศีรษะเล็กในเด็ก และโรคอันเกี่ยวเนื่องกับระบบประสาทนี้ได้

ขณะที่รายงานจาก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (อีซีดีซี) ของสหรัฐระบุว่า สิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศเดียวที่พบไวรัสซิกาเท่านั้น แต่ยังพบผู้ติดเชื้อในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงไทยด้วยในช่วงเวลาเดียวกัน

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเพราะอะไรจึงเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกาในสิงคโปร์ขึ้น แต่กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์แถลงเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาระบุว่า เชื้อไวรัสซิกาที่ระบาดนั้นวิวัฒนาการมาจากเชื้อไวรัสซิกาที่เคยระบาดในเอเชียก่อนหน้านี้ และไม่ได้เป็นเชื้อไวรัสซิกาที่มาจากพื้นที่ระบาดในอเมริกาใต้แต่อย่างใด

ทว่า คำถามสำคัญก็คือ “ไวรัสซิกา” จะระบาดลุกลามไปมากกว่านี้หรือไม่?

นายแพทย์เอง ออง อุย รองผู้อำนวยการโครงการโรคติดต่ออุบัติใหม่ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยดุ๊ก-มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่า สภาพเมืองและจำนวนประชากรของประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้นมีเงื่อนไขที่สมบูรณ์แบบ สำหรับการขยายพันธุ์ของยุงลาย พาหะของโรคระบาดอันตรายหลายโรคที่รวมไปถึงเชื้อไวรัสซิกาด้วย

“ในเอเชีย มีเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรระหว่าง 5 ถึง 10 ล้านคน ยุงลายขยายพันธุ์ในสภาพแวดล้อมเมืองที่หนาแน่นแบบนี้” เอง ออง อุย ระบุ และว่า “เมื่อมีจำนวนมนุษย์และจำนวนยุงหนาแน่น นั่นเป็นสูตรสำเร็จที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของทั้งไข้เลือดออก และไวรัสซิกา”

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่าสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกเป็นอย่างดี ในปี 2015 สิงโปร์ ทุ่มงบประมาณถึง 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,500 ล้านบาท เพื่อทำงานวิจัย ป้องกันและให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก รวมไปถึงมาตรการต่างๆ อย่างการสนับสนุนให้ประชาชนใช้อุปกรณ์กันยุง รวมไปถึงประชาสัมพันธ์วิธีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างเข้มข้น ทว่า นั่นดูเหมือนจะไม่ได้ผลในเวลานี้

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ที่ระบุด้วยว่า จากการสำรวจความสามารถในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค โดยพิจารณาจากความสามารถในการรับผู้ป่วย จำนวนคนที่เดินทางเข้าออกพื้นที่ระบาด จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อาจติดเชื้อ พบว่า ประเทศอย่างอินเดีย จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไนจีเรีย เวียดนาม บังกลาเทศ เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของไวรัสซิกาสูงที่สุด

งานวิจัยดังกล่าว นอกจากจะเป็นสัญญาณเตือนสำหรับประเทศเหล่านี้ให้เตรียมความพร้อมป้องกันการระบาด และใช้ทรัพยากรทางสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว

ยังเป็นสัญญาณเตือนไปยังประชาคมโลกด้วยว่า “ไวรัสซิกา” ซึ่งกำลังจะลงหลักปักฐานในเอเชียเป็นปัญหาใหญ่มากกว่าที่คิด

A pregnant woman holds a mosquito net in Cali on February 10, 2016. The  Colombian Health Ministry began delivering mosquito nets for free to pregnant women to prevent the infection by Zika virus, vectored by the Aedes aegypti mosquito. The World Health Organization on Tuesday urged caution about linking the Zika virus with a rare nerve disorder called Guillain-Barre which health officials in Colombia have blamed for three deaths.  AFP PHOTO / LUIS ROBAYO / AFP PHOTO / LUIS ROBAYO
AFP PHOTO / LUIS ROBAYO