อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : MUSEUM OF KIRATI การตีความ ‘ข้างหลังภาพ’ ในมิติร่วมสมัย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ถ้าเอ่ยถึงชื่อ “ข้างหลังภาพ” หลายคนน่าจะพอทราบว่ามันเป็นนวนิยายชิ้นสำคัญของ ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์

ที่ตีพิมพ์ในปี 2480 เล่าเรื่องราวของนพพร เด็กหนุ่มรุ่นใหม่ที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น กับหม่อมราชวงศ์กีรติ สตรีสูงศักดิ์ที่เขามีโอกาสได้รับใช้ดูแลระหว่างที่เธอพำนักในญี่ปุ่นกับเจ้าคุณอธิการบดีผู้เป็นสามี จนเกิดเป็นความรักต้องห้ามระหว่างวัยและชนชั้นอันตราตรึงที่จบลงอย่างน่าสะเทือนใจ

นวนิยายเล่มนี้ได้รับการยกย่องในความงดงามเชิงวรรณศิลป์และความลึกซึ้งตราตรึงใจ

มันถูกตีพิมพ์ซ้ำถึง 39 ครั้ง และถูกนำไปดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์, ภาพยนตร์ รวมถึงละครเวทีและละครเพลง

แต่ในคราวนี้ นับเป็นครั้งแรกที่นวนิยายเรื่องนี้ถูกนำไปตีความใหม่ในรูปแบบของงานศิลปะร่วมสมัย

ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า

MUSEUM OF KIRATI

นิทรรศการเดี่ยวโดยศิลปินหนุ่มชาวกรุงเทพฯ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ที่นำเสนอผลงานศิลปะสื่อผสมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่จำลองความทรงจำถึงหม่อมราชวงศ์กีรติ ผ่านผลงานภาพเคลื่อนไหว จิตรกรรม, ประติมากรรม และสื่อผสม

โดยได้แรงบันดาลใจมาจากนวนิยายข้างหลังภาพ นั่นเอง

เดิมที จุฬญาณนนท์เล่าเรื่องราวข้างหลังภาพ ในแบบฉบับของตนเองครั้งแรก ในนิทรรศการกลุ่ม MEDIA/ART KITCHEN AOMORI : The Politics of Humor and Play ที่ศูนย์ศิลปะร่วมสมัย อาโอโมริ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างเป็นศิลปินในพำนักที่นั่นในปี 2557

ในปีต่อมา เขาแสดงผลงานศิลปะชุดนี้ต่อเนื่องในนิทรรศการเดี่ยว Behind the Painting ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ)

ก่อนจะพัฒนาแนวคิดมาเป็นนิทรรศการ MUSEUM OF KIRATI ในครั้งนี้

“งานชุดนี้เริ่มมาจากความสนใจนวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของความรักอย่างเดียว ด้วยความที่ผมได้อ่านบทวิเคราะห์ของนักวิชาการหลายคน ที่พูดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองที่ศรีบูรพาเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2480 ว่าจริงๆ นวนิยายเรื่องนี้มันเป็นนวนิยายร่วมสมัยในยุคนั้น เพราะมันพูดถึงบรรยากาศบ้านเมืองที่เปลี่ยนไปในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475

ฉากหน้าของมันอาจดูเป็นเรื่องของความรักระหว่างวัยและสถานะที่แตกต่างกัน แต่จริงๆ แล้วมีคนตีความว่า คุณหญิงกีรติคือตัวแทนของชนชั้นนำที่กำลังจะหมดอำนาจและล้มหายตายจากไป ในขณะที่นพพรคือคนรุ่นใหม่ผู้มาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตยที่กำลังจะก้าวขึ้นมามีอำนาจต่อไป

ซึ่งผมคิดว่าพอล่วงมาถึงในยุคปัจจุบันมันยังมีประเด็นบางอย่างที่ร่วมสมัยอยู่ ก็เลยใช้นวนิยาย ข้างหลังภาพ เป็นเหมือนฐานของสปริงบอร์ดที่ส่งเราไปสู่ประเด็นอื่นๆ โดยใช้ตัวละครกีรติเป็นตัวละครเอก จนได้ออกมาเป็น MUSEUM OF KIRATI (พิพิธภัณฑ์ของกีรติ) และทำออกมาเหมือนกับว่านพพรเป็นคนสร้างพิพิธภัณฑ์นี้เพื่ออุทิศให้แก่กีรติ ให้เป็นเหมือนอนุสรณ์ของความรัก และตัวนพพรเองก็เป็นเหมือนตัวแทนของชนชั้นกลางที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจแทนชนชั้นนำในยุคหลัง 2475

แต่ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าชนชั้นนำกับชนชั้นกลางจะไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกันแล้ว หากแต่สามารถอยู่ร่วมและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันได้ เพราะฉะนั้น นพพรและกีรติอาจมีโอกาสที่จะอยู่ร่วมกันได้ในปัจจุบัน แม้ทั้งสองจะมาจากภูมิหลังทางชนชั้นที่แตกต่างกัน”

จุฬญาณนนท์เปลี่ยนพื้นที่ของหอศิลป์ให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำ โดยจัดแสดงผลงานศิลปะเป็นสองส่วน

ส่วนแรกเป็นนิทรรศการแบบชั่วคราว (Temporary exhibition) ที่ประกอบด้วยภาพวาดสีน้ำบนกระดาษโชจิ (กระดาษที่ใช้ปิดกรอบประตูบานเลื่อนในบ้านญี่ปุ่น) จำนวน 13 ภาพ

ด้วยความที่กระดาษมีความกึ่งโปร่งแสง เมื่อติดตั้งในกล่องไฟจึงทำให้ภาพวาดเรืองแสงจนดูคล้ายกับตู้ไฟโปสเตอร์หนังที่เราเห็นในโรงภาพยนตร์ จัดวางคู่กับภาพยนตร์สั้น Behind the Painting (ที่เคยแสดงที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 2558) โดยภาพวาดทั้งหมดคัดลอกมาจากฉากในหนังสั้นดังกล่าว รวมทั้งยังไปปรากฏอยู่ในหนังอีกด้วย

แต่สิ่งที่น่าสนใจและทำให้การตีความนวนิยาย ข้างหลังภาพในนิทรรศการนี้แปลกแตกต่างไปจากการตีความในรูปแบบอื่นๆ เป็นอย่างมากก็คือ ตัวศิลปินอย่างจุฬญาณนนท์นั้นลงทุนสวมบทบาทเป็นตัวละครเอกทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงอย่างหม่อมราชวงศ์กีรติ และนพพร ด้วยตัวเอง ทั้งในภาพยนตร์ ภาพวาด ภาพถ่าย และงานศิลปะอื่นๆ

อีกทั้งฉากและรายละเอียดหลายอย่างในภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ก็ถูกปรับให้มีความเป็นร่วมสมัยเข้ากับยุค พ.ศ.2560 ของเราอีกด้วย

“ผมคิดว่าการที่ในสังคมปัจจุบัน บทบาทของตัวละครที่นพพรกับกีรติเป็นภาพแทน ไม่ได้แยกขาดออกจากกันแล้ว ผมก็เลยเอาตัวเองไปเป็นสื่อเพื่อส่งสารบางอย่างออกมา เหมือนกับในร่างของนพพรก็มีกีรติอยู่ และในร่างของกีรติก็มีนพพรอยู่ เพราะอย่างที่บอกว่า ในปัจจุบันชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง สามารถอยู่ร่วมและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันได้

บทสนทนาในหนังเรื่องนี้ผมเอามาจากหนังข้างหลังภาพ ฉบับของคุณเชิด ทรงศรี (นำแสดงโดย ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ และ คาร่า พลสิทธิ์) ซึ่งคุณเชิดก็ดัดแปลงมาจากนวนิยายอีกที แต่เราเปลี่ยนบริบทบางอย่างให้มีความเป็นร่วมสมัยขึ้น

เช่น จากที่นพพรเขียนจดหมายหาคุณหญิงกีรติ เราก็เปลี่ยนเป็นให้เขียนอีเมลแทน ซึ่งผมคิดว่า ช่องว่างและความแตกต่างระหว่างยุคสมัยตรงนี้ มันทำให้เห็นพัฒนาการของยุคสมัยที่ศรีบูรพาเขียนนิยายเรื่องนี้ในปี 2479-2480 กับยุคปัจจุบัน ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง”

ส่วนที่สองเป็นการจัดแสดงแบบถาวร (Permanent exhibition) ที่ประกอบด้วย “ภาพที่มีชีวิต” ของหม่อมราชวงศ์กีรติในวัยเยาว์หลากอิริยาบถ

(ใครนึกไม่ออกว่า ภาพที่มีชีวิตเป็นยังไง ลองนึกถึงภาพถ่ายและภาพวาดที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้เองราวกับเวทมนตร์ในหนังชุด Harry Potter ก็แล้วกัน แต่ศิลปินไม่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนัง Harry Potter นะเออ บอกเอาไว้ก่อน!)

ในผลงานชุดนี้ ภาพวาดและภาพถ่ายสไตล์ย้อนยุคที่ดูเหมือนจะพ้นยุคพ้นสมัย กลับกลายมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง ด้วยอุปกรณ์สร้างภาพเคลื่อนไหวอันทันสมัยในยุคปัจจุบัน

“ด้วยความที่ผมใช้วิดีโอทำงานเยอะ ผมมองว่างานวิดีโอเป็นภาพที่มีชีวิต มันไม่ใช่ภาพนิ่งของคนที่ตายจากไป หากแต่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และด้วยความที่เป็นวิดีโอแบบลูป (เล่นต่อเนื่องวนซ้ำแบบไม่รู้จบ) เลยทำให้เหมือนกับว่า ภาพเหล่านี้ดูไร้กาลเวลาและกลายเป็นนิรันดร์”

นอกจากงานที่เคยแสดงมาก่อนแล้ว ยังมีผลงานศิลปะชิ้นใหม่ในชุดนี้ที่ทำขึ้นมาแสดงในนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ อาทิ หนังสืออนุสรณ์กีรติ (KIRATI MEMORIAL) ที่มีเรื่องราวที่แต่งต่อเนื่องจากนวนิยาย ข้างหลังภาพ ในรูปแบบของจดหมายไว้อาลัยถึงคุณหญิงกีรติ จากคนรอบกายเธออย่างบิดา, มิตรสหาย และคนรักต่างวัยของเธออย่างนพพรอีกด้วย

นอกจากนั้น ยังมีผลงานในรูปแบบของเข็มกลัดภาพเหมือน และรูปปั้นบรอนซ์ของคุณหญิงกีรติ

โดยในวันเปิดนิทรรศการ จุฬญาณนนท์ก็ได้นิมนต์พระสงฆ์จริงๆ มาทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ของกีรติ แถมพระท่านยังทำการเจิมรูปปั้นคุณหญิงกีรติให้เสียด้วย (นัยว่าเพื่อเพิ่มความขลัง)

ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ทำให้มีคนไปลือกันให้แซดในโลกโซเชียลว่า ถ้าใครมาบนบานกับรูปปั้นนี้ ก็จะทำให้ได้คนรักอายุน้อยกว่าตัวเองเป็นสิบปีเลยทีเดียว

ซึ่งอันที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขาอำกันขำๆ ในโชเซียลมีเดียแหละนะ แต่ถ้าใครเกิดไปทำ เผลอๆ มันอาจจะกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาก็ได้ ใครจะไปรู้เนอะ?

อย่างที่เขาพูดกันบ่อยๆ ว่า “เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย” อะไรเทือกนั้นนั่นแหละครับ ท่านผู้อ่าน!

นิทรรศการ MUSEUM OF KIRATI จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (ซอยสาทร 1) ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2560 – 21 มกราคม 2561 หอศิลป์เปิดทำการวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 13:00-19:00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ : +6683 087 2725 อีเมล : [email protected] เว็บไซต์ bangkokcitycity.com และเฟซบุ๊ก facebook.com/bangkokcitycity

ขอบคุณภาพจาก บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่