ฉัตรสุมาลย์ : ตามรอยเท้าของพระถังซำจั๋งในซีอาน

สมัยที่เรียนหนังสือนั้น เราจะพบว่าเมืองหลวงฉางอันมีความสำคัญมาก ปัจจุบันฉางอันมีชื่อว่าซีอานค่ะ

เข้ามาจากเมืองไทยเราแวะเปลี่ยนเครื่องที่เมืองกวางโจว แล้วบินโดยสายการบินภายในประเทศเข้ามาที่ซีอาน

เราใช้สายการบิน China Southern ค่ะ

ผู้ที่ประกอบการการบินก็ต้องมีความสนใจช่วยพัฒนาชาติบ้านเมืองด้วย ปีที่ผ่านมา สายการบินนี้ เข้าไปในท้องถิ่นที่ห่างไกล และสนับสนุนโครงการซื้อลาให้ชาวบ้านไป 4 ล้านหยวน

น่าสนใจนะคะ ลาแต่ละตัวเมื่อโตเต็มที่มีราคา 7,000 ถึง 8,000 หยวน ลาเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บ กินง่าย ไม่จู้จี้ ดูแลง่ายกว่าแกะ แต่ละปี ลาจะตกลูก 1-2 ตัว หากชาวบ้านที่ยากจน โดยเฉพาะในมณฑลที่ห่างไกล เช่น ซินเจียง หากชาวบ้านให้ความสนใจก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านที่ดี

เรียกว่าสายการบินก็ต้องมีโครงการที่จะช่วยรัฐพัฒนาท้องถิ่นด้วย

 

ขอโทษค่ะออกนอกเรื่องไป ทีนี้เล่าถึงความสำคัญของซีอานหน่อยนะคะ ซีอานเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นเมืองหลวงของมณฑลสานซี มีความหมายว่าความสงบสุขทางตะวันตก

ในอดีตซีอานเป็นเมืองหลวง ถึง 13 ราชวงศ์ รวมทั้งราชวงศ์ใหญ่ๆ เช่น โจว ซิน ฮั่น และถัง จึงเป็นอู่อารยธรรมเก่าแก่ ในแถบลุ่มน้ำหวงเหอ มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

ซีอานมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 3,100 ปี เดิมชื่อ ฉางฮัน แปลว่า ความสงบสุขนิรันดร์ เป็นเมืองที่เจริญและใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน และเป็น 1 ใน 10 ของเมืองที่ใหญ่ที่สุดด้วย

ในช่วงราชวงศ์สุ่ย ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ต้าซิง แต่พอมาถึงสมัยราชวงศ์ถัง ค.ศ.618 ก็กลับมาใช้ชื่อฉางอันอีก

มณฑลอื่นในจีนบางแห่ง แห้งแล้ง บางแห่งหนาวเย็นมาก แต่ภูมิอากาศของซีอานอบอุ่น มีฝนตกมาก มีปริมาณฝนเทียบได้กับภูมิภาคด้านใต้ของจีน นี้เป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงมีประชากรค่อนข้างมาก

เมื่อค้นพบสุสานหุ่นทหารโบราณในซีอาน ใน ค.ศ.1974 องค์การสหประชาชาติจึงจัดเป็นมรดกโลกด้วย

 

เมืองซีอานที่ปรากฏในปัจจุบัน เป็นเมืองที่สร้างมาราว 600 ปีก่อนราชวงศ์หมิง โดยในช่วง 300 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันตัวเมืองมีพื้นที่ 129 ตารางกิโลเมตร เมื่อเปรียบกับเมืองฉางอันในสมัยราชวงศ์ถังแล้ว ซีอานมีพื้นที่ใหญ่กว่าถึง ร้อยละ 50 และมีจำนวนประชากร 1.5 ล้านคนโดยประมาณ

จุดแรกที่คณะทัวร์ของเราไปเยี่ยมในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 5 พฤศจิกายน คือ วัดเจดีย์ห่านป่าใหญ่

วัดเจดีย์ห่านป่าใหญ่อยู่ทางตอนใต้ในเมืองซีอาน ป่าเป็นคำขยายห่านค่ะ คือห่านป่า ส่วนใหญ่นั้นขยายคำว่า เจดีย์

ที่ทัวร์ต้องพาเราไปดูที่วัดนี้ก่อนเพื่อนเพราะมีความผูกพันกับพระถังซำจั๋ง ชื่อพระถังซำจั๋งอาจจะทำให้สับสน เมื่อตอนบวชที่ใช้ฉายาพระว่า ฉวนซัง หรือเหี้ยนจัง แต่เมื่อเดินทางรอนแรมไปประเทศอินเดีย นำเอาพระไตรปิฎกกลับมาสำเร็จ จึงได้รับพระราชทานนามว่า พระถังซำจั๋ง แปลว่า ติปิฏกาจารย์แห่งราชวงศ์ถัง

ในตอนที่ท่านเดินทางไปอินเดียนั้น ท่านประสบความยากลำบากนานัปประการ ที่จุดนี้ ท่านหมดแรงจนล้มลง แต่ก่อนที่จะหมดสติไปนั้น ท่านได้ยินเสียงแว่วเป็นเสียงร้องของห่านป่า เมื่อท่านฟื้นขึ้นมาท่านจึงมีแรงที่จะเดินต่อไป

โดยความเข้าใจว่า หากมีห่านป่า ก็ย่อมแสดงว่าแถวนั้นต้องมีแหล่งน้ำ

 

หลังจากที่ท่านได้กลับมาจากประเทศอินเดียแล้ว เมื่อท่านกลับมาที่นี่อีก และได้ทูลขอจักรพรรดิถังเกาจง ให้สร้างพระเจดีย์เป็นที่ระลึกถึงห่านป่าที่ส่งเสียงร้องช่วยชีวิตท่านไว้

จึงเรียกว่าเจดีย์ห่านป่า สร้างใน ค.ศ.654 เป็นวัดที่ท่านพำนักเพื่อทำงานแปลพระไตรปิฎกที่หอบหิ้วกลับมาจากอินเดียด้วย

พระนางบูเช็กเทียน จักรพรรดินี ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ต่อเติมสร้างเจดีย์ให้สูงขึ้นอีก 5 ชั้น แต่ต่อมาถูกฟ้าผ่าเหลือเพียง 7 ชั้น นำไปสู่ความเชื่อว่า ฟ้าอนุญาตเพียง 7 ชั้น และเป็นที่นิยมที่จะสร้างเจดีย์ 7 ชั้นในสมัยต่อมา

ที่ฐานพระเจดีย์ มีห้องลับเป็นที่เก็บอัฐิธาตุของพระถังซำจั๋งด้วย

 

ของเดิมเหลือเพียงพระเจดีย์เท่านั้น ต่อมาในช่วงสิบกว่าปีมานี้ รัฐบาลจีนมีนโยบายสนับสนุนสิ่งก่อสร้างทีมีคุณค่าทางประวติศาสตร์ จึงสร้างพระวิหารด้านหลัง และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องราวของพระถังซำจั๋งที่มีคุณูปการต่อทั้งพุทธศาสนาและประเทศอินเดีย

ผลประโยชน์ได้รับโดยตรง คือกลายเป็นแหล่งอนุรักษ์วัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยว นำเงินตรากลับคืนสู่ประเทศจีนโดยปริยาย นี้เป็นวิธีคิดของรัฐบาล

ความจริงเมื่อหลวงจีนฉวนซังเดินทางกลับมาถึงประเทศจีน ได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิองค์ใหม่ จักรพรรดิต้องการทราบว่า ในการเดินทางไปดินแดนทางตะวันตกนั้น สมณะฉวนซังได้เห็นอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อการนำกลับมาพัฒนาประเทศจีนได้บ้าง

เรื่องที่ได้ไปพบเห็นนั้นมากมายเกินกว่าที่จะทูลพระเจ้าถังเกาจงทางวาจาได้ สมณะฉวนซัง ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระถังซำจั๋ง จึงเลือกที่จะเขียนเป็นบันทึกการเดินทางไปตะวันตก

เมื่อถวายพระจักรพรรดิไปแล้ว จึงมีขุนนางที่เขียนให้ใหม่ให้น่าอ่าน โดยผูกเป็นนิยายเรื่องไซอิ๋ว

มีตัวประกอบเป็น หงอคง เจ้าปัญญา ซัวเจ๋ง ผีน้ำ และตือโป๊ยก่าย เป็นสัญลักษณ์ แห่งความโลภ โกรธ หลงที่มีอยู่ในใจของเราทุกคน

 

เรื่องไซอิ๋ว กลายเป็นวรรณคดีที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ผู้คนรู้จักพระถังซำจั๋งดีขึ้น ตลอดจนตื่นเต้นกับการเดินทางที่มีสานุศิษย์เป็นตัวประกอบ ทำให้เรื่องราวสนุกน่าสนใจ น่าตามลุ้นมากขึ้น เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดศิลปะทั้งภาพวาด และภาพยนตร์ที่เกิดจากเรื่องการการเดินทางของพระถังซำจั๋ง ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 6

คณะของเราแวะรับประทานอาหารที่ภัตตาคารที่มีชื่อเสียงในเมืองซีอาน อาหารทุกมื้อจะสั่งมาหลากหลายเป็นชุด พอรับประทานไปถึงจานที่ห้าก็อิ่มวางช้อน วางตะเกียบแล้ว ปรากฏว่า ถ้าเป็นโต๊ะใหญ่ 8 คน บางมื้อจะมีอาหารมาถึง 10 อย่าง เรียกว่า ลูกทัวร์อ้วนกลับมาทุกคน

ขณะที่เราอยู่ที่ซีอานนี้ ต้องเล่าเรื่องของฉินซื่อฮวาง บางที่เราเคยได้ยินชื่อ จิ๋นซีฮ่องเต้ คือคนเดียวกัน ความยิ่งใหญ่ของฉินซื่อฮวางคือ เป็นผู้รวบรวมชนเผ่าต่าง 7 กลุ่มเข้าเป็นเอกภาพ ให้มีหนังสือ คือตัวเขียนเป็นภาษาจีนเหมือนกันหมด ส่วนการออกเสียงจะต่างกันไม่ว่ากัน

นี่คือการสร้างเอกภาพที่จะเป็นการรวมประเทศจีนเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน

 

เมื่อสร้างความเป็นเอกภาพ สร้างชาติได้แล้ว ฉินซื่อฮวางอยากรู้ว่า ความเป็นอยู่จริงๆ ของชาวบ้านทั่วไปเป็นอย่างไร หัวหน้าขันทีก็จัดให้พระเจ้าฉินซื่อฮวางเสด็จออกไปประพาสตลาด โดยที่ขันทีกำกับว่า ให้ชาวบ้านทำเส้นก๋วยเตี๋ยวใหญ่เป็นพิเศษไว้ถวายเป็นพระกระยาหารแก่พระองค์ท่าน เมื่อพระองค์ท่านเสด็จไป ก็ได้รับการถวายอาหารตามที่ขันทีได้เตี๊ยมไว้ล่วงหน้า พระองค์ท่านก็ถามว่า

เออ เส้นก๋วยเตี๋ยวนี้มันใหญ่นะ ถ้าจะซอยเป็นเส้นเล็กๆ ไม่ดีกว่าหรือ

ขันทีก็ทูลว่า ชาวบ้านไม่มีเวลา จึงประกอบอาหารแบบนี้ ฉินซื่อฮวางก็ชมว่าอร่อยดี

แต่ก๋วยเตี๋ยวแบบนี้ ชาวบ้านเขาเรียกว่าอะไรนะ

ขันทีไม่ทันตั้งตัว พอดีได้ยินเสียงน้ำหยดปิ๊งๆ ก็เลยทูลว่า ก๋วยเตี๋ยวนี้ชื่อ เปี้ยง เปี้ยง

ฉินซื่อฮวาง ถามต่อไปอีกว่า ไอ้เปี้ยง เปี้ยงนี้ มันเขียนอย่างไร

ขันทีก็เพ็ดทูลนึกตัวเขียนขึ้นมาเดี๋ยวนั้น มีหลังคาบ้าน และใต้หลังคานั้น มีพระจันทร์และอื่นๆ อยู่ด้วยมากเป็นพิเศษ คำว่าเปี้ยง เปี้ยง จึงเป็นอักษรจีนอักษรเดียวที่มีขีดถึง 64 ขีด ดูภาพประกอบนะคะ แสดงถึงความสามารถเอาตัวรอดของขันทีจริงๆ

อาหารกลางวันมื้อนั้นเราก็ได้กินเปี้ยง เปี้ยง เส้นใหญ่ หนา แข็ง ไม่อร่อยเท่าเส้นใหญ่บ้านเราที่มีความอ่อนนุ่มกว่ามาก

หลังจากอาหารกลางวันแล้ว หนังท้องตึงหนังตาหย่อนกันทุกคน แต่เวลาออกไปนอกรถ ความหนาวจะช่วยให้เราตื่นตัว ตอนบ่ายเราไปชมสุสานฉินซื่อฮวาง หรือจิ๋นซีฮ่องเต้ ติดตามนะคะ

จุดต่อไปที่คณะเราไปชม คือ สุสานหุ่นทหารและม้าศึกของฉินซื่อฮวาง