พิศณุ นิลกลัด : เห็นนางงาม คิดถึงนักสู้

พิศณุ นิลกลัด

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คนไทยพูดถึงประเทศแอฟริกาใต้กันเยอะ

หลังจาก เดมี่-ลีห์ เนล-ปีเตอร์ส สาวงามจากแอฟริกาใต้ คว้าตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส 2017

 

หากพูดถึงคนแอฟริกาใต้ บุคคลที่คนไทยและทั่วโลกคิดถึงทันที ก็คืออดีตประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2013 ขณะอายุ 95 ปี

สมัยที่ เนลสัน แมนเดลา เป็นประธานาธิบดี เป็นธรรมเนียมของสาวงามคนใหม่ที่ได้รับตำแหน่ง Miss South Africa จะได้รับเกียรติให้เข้าพบประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา

แม้ เดมี่-ลีห์ เนล-ปีเตอร์ส จะไม่มีโอกาสได้พบกับเนลสัน แมนเดลา แต่เธอก็มีความรู้สึกว่าแมนเดลาเป็นส่วนหนึ่งในการประกวด Miss Universe 2017 ของเธอ

โดยชุดประจำชาติที่เธอสวมเข้าประกวด ซึ่งตัดเป็นรูปดอกโพรเทีย (Protea) ดอกไม้ประจำชาติของแอฟริกาใต้ เธอได้เขียนคำกล่าวของเนลสัน แมนเดลา ไว้ที่ชุดประจำชาติ แต่เดมี่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าคำกล่าวนั้นคืออะไร

หนึ่งในคำกล่าวที่ซาบซึ้งตรึงใจคนทั่วโลกของอดีตประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา คือ…

“No one is born hating another person because of the color of his skin, or his background, or his religion. People must learn to hate, and if they can learn to hate, they can be taught to love, for love comes more naturally to the human heart than its opposite.”

แปลว่า

“ไม่มีใครเกิดมาแล้วเกลียดคนอื่นเพราะสีผิว, พื้นเพ หรือศาสนา คนเรียนรู้ที่จะเกลียด และถ้าสามารถเรียนรู้ที่จะเกลียดได้ก็สามารถได้รับการสอนที่จะรักได้เช่นกัน ความรักสามารถมาจากใจของมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่าความเกลียด”

คำกล่าวของแมนเดลานี้ อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้นำมาทวีตในทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม เพื่อบอกเป็นนัยถึงการไม่เห็นด้วยกับนโยบายและคำพูดของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มักจะส่อถึงการเหยียดผิว

ทวีตคำกล่าวของแมนเดลานี้ มีคนกดไลก์มากถึง 4.3 ล้านคน กลายเป็นทวีตที่มีคนกดไลก์มากที่สุดในประวัติศาสตร์

 

ในวงการกีฬา แมนเดลาเป็นฮีโร่ของนักกีฬามากมายทั่วโลก เพราะสมัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาใช้กีฬาสร้างความสามัคคีของคนในชาติ เชื่อมการแบ่งแยกสีผิวที่เป็นปัญหาหยั่งรากฝังลึกในสังคมแอฟริกาใต้มายาวนานกว่า 50 ปี รวมใจคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ โดยได้กล่าวว่า

“Sport has the power to change the world.”

กีฬามีพลังในการเปลี่ยนแปลงโลก

แล้ว คลิ้นต์ อีสต์วู้ด ดาราและผู้กำกับหนังรางวัลออสการ์ได้นำเรื่องการใช้กีฬารักบี้ของแมนเดลามาเป็นเครื่องรวมใจของคนผิวเข้มและผิวขาวในประเทศแอฟริกาใต้ สร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง อินวิคทัส (Invictus) ในปี 2009 โดย มอร์แกน ฟรีแมน ดาราดังเจ้าของรางวัลออสการ์รับบทเป็นประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา

แมนเดลาส่งเสริมให้คนผิวเข้มในแอฟริกาใต้หันมาเชียร์รักบี้ ซึ่งเป็นกีฬาของคนขาว เปลี่ยนความคิดของคนในประเทศเสียใหม่ ที่แต่ก่อนแบ่งแยกกันเลยว่าคนผิวเข้มไม่เล่นรักบี้และไม่ตามเชียร์ด้วย จะเล่นและเชียร์แต่ฟุตบอล

ส่วนคนขาวก็ไม่เล่นฟุตบอลและไม่เชียร์ฟุตบอล

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนผิวเข้มและผิวขาวในการเชียร์รักบี้ ช่วยให้แอฟริกาใต้ได้แชมป์ Rugby World Cup ปี 1995

 

ไม่เพียงแต่แอฟริกาใต้ที่มีความไม่เสมอภาคทางสีผิวในวงการกีฬา

ที่สหรัฐอเมริกาในอดีตก็มีกีฬาเมเจอร์ลีกประเภทหนึ่งที่แบ่งแยกลีกนักกีฬาผิวสีเข้มกับนักกีฬาผิวขาว ห้ามอยู่ทีมเดียวกัน หรือลงแข่งขันร่วมกัน

กีฬาเมเจอร์ลีกนั้นคือ เบสบอลลีก MLB หรือ Major League Baseball เบสบอล ลีก MLB เป็นลีกที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1869 โดยตอนนั้น ทางลีก MLB ออกกฎห้ามคนผิวเข้มเข้ามาเป็นนักเบสบอลในลีก แม้จะไม่มีการเขียนกฎเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าทีมเบสบอล MLB สมัยนั้น ไม่รับคนผิวเข้มร่วมทีม

แต่อนุโลมรับนักเบสบอลเชื้อสายละตินอเมริกา, อินเดียนแดง และเชื้อสายฮาวายให้เข้าร่วมทีมได้

ดังนั้น นักเบสบอลผิวเข้มจึงต้องตั้งลีกเบสบอลขึ้นเองชื่อนิโกร ลีก (Negro League) ในปี ค.ศ.1985 ซึ่งผู้เล่น กรรมการ ผู้ชมเป็นคนผิวเข้มล้วนๆ

ต่อมาในปี 1947 แจ๊กกี้ โรบินสัน (Jackie Robinson) ได้สร้างประวัติศาสตร์ เป็นนักเบสบอลผิวเข้มคนแรกที่ได้ลงแข่งขันกับทีมบรู๊กลิน ด๊อดเจอร์ส (Brooklyn Dodgers) ซึ่งผู้จัดการทีมในตอนนั้นที่รับแจ๊กกี้ โรบินสัน เข้าร่วมทีมบอกว่า เขาไม่สนใจทั้งสิ้นว่านักเบสบอลที่รับเข้าร่วมทีมจะผิวสีเหลือง สีดำ หรือสีลายดำสลับขาวแบบม้าลาย ถ้าสามารถช่วยเล่นให้ทีมประสบความสำเร็จและร่ำรวย เขาก็รับนักเบสบอลคนนั้นเข้าร่วมทีม

นับจากแจ๊กกี้ โรบินสัน เป็นต้นมา เบสบอลเมเจอร์ลีก MLB ก็ต้อนรับนักเบสบอลผิวสีเข้มให้เข้าร่วมทีม เลิกการแบ่งแยกสีผิวที่กินเวลามานานถึง 60 ปี