ประวัติศาสตร์สังคมซอยหวั่งหลีที่ถูกลืม (1) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ลานคอนกรีตขนาดใหญ่รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดยานนาวา ตั้งแต่ริมน้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเรือสาทรยาวมาจนถึงถนนเจริญกรุง (มองเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อยื่นอยู่บนสถานที่รถไฟฟ้าสะพานตากสิน) หลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่คงไม่ทราบว่า พื้นที่นี้เคยเป็นพื้นที่ชุมชนที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์สังคมและการค้าของชาวจีนในกรุงเทพฯ รู้จักกันดีในชื่อ “ซอยหวั่งหลี”

แต่ด้วยแนวคิดการพัฒนาที่ดินที่ไม่สนใจประวัติศาสตร์สังคม อีกทั้งยังขาดวิสัยทัศน์ที่ดีเพียงพอของวัดยานนาวา (ในฐานะเจ้าของพื้นที่) ทำให้ในราวปี พ.ศ.2548-2549 วัดได้ตัดสินใจยกเลิกสัญญาเช่าของชุมชน และรื้อตึกแถวทั้งหมดลงจนในปี พ.ศ.2550 เพื่อเปิดทางให้กับโมเดลการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจเต็มรูปแบบจากนายทุนได้เข้ามาเช่าที่แทน

อย่างไรก็ตาม ด้วยอุปสรรคมากมายที่จะไม่ขอกล่าวในรายละเอียด ทำให้การพัฒนาในช่วงเวลากว่า 16 ปีที่ผ่านมา ทำไม่สำเร็จจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

สิ่งที่ทำสำเร็จมีเพียงอย่างเดียวคือ การเทพื้นคอนกรีตขนาดใหญ่ทิ้งไว้ โดยบางช่วงเวลาก็ใช้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยในการเป็นที่จอดรถ

ภาพพื้นที่ที่เคยเป็นชุมชนซอยหวั่งหลี (พื้นที่ลานคอนกรีตด้านขวาของวัดยานนาวา)

ผมเองได้เคยเข้าไปมีส่วนร่วมเล็กๆ ในช่วงเวลาที่วัดตัดสินใจจะไล่รื้อชุมชน และมีโอกาสเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ของพื้นที่เอาไว้อยู่บ้าง ซึ่งทำให้มองเห็นแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากของพื้นที่

ทุกครั้งที่มีโอกาสขับรถผ่านก็อดเสียดายประวัติศาสตร์และความทรงจำมากมายที่ถูกทำให้หายไปพร้อมๆ กับการรื้อชุมชน และยิ่งหดหู่ขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้นๆ แต่สุดท้ายพื้นที่นี้ก็ไม่ได้ถูกนำไปพัฒนาอะไร

คงไม่เกินไปนักที่จะสรุปว่า การไล่รื้อชุมชนเมื่อ พ.ศ.2550 คือความล้มเหลว

แต่เมื่อเราไม่สามารถย้อนอดีตกลับไปได้ สิ่งที่ทำได้ก็คือ การคิดไปข้างหน้าว่าพื้นที่นี้ควรจะทำอะไรต่อไป

 

ต้องยอมรับนะครับว่า ตัวที่ดินมีศักยภาพในการพัฒนาสูงมาก ทั้งตั้งอยู่กลางเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดถนนเจริญกรุง และมีรถไฟฟ้าอยู่ใกล้เพียงแค่ไม่กี่ก้าวเดิน ซึ่งสามารถทำโครงการได้มากมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ส่วนตัวผมไม่มีไอเดียอะไรนะครับ แต่สิ่งที่อยากจะนำเสนอในเบื้องต้นก่อนก็คือ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และความทรงจำของชุมชนที่ผมเคยได้ศึกษาเอาไว้ เผื่อว่าจะมีหน่วยงานไหนสักหน่วยงานเห็นถึงความสำคัญและนำข้อมูลเล็กๆ ชิ้นนี้ไปคิดต่อยอดเป็นโครงการที่ดีๆ ในอนาคต

ตั้งแต่แรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ 1 มีแนวคิดสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้น ณ บริเวณที่เป็นชุมชนชาวจีนแต่เดิม พระองค์จึงโปรดให้ย้ายชุมชนชาวจีนมาอยู่บริเวณย่านสำเพ็งแทน

โดยต่อมา เมื่อมีการตัดถนนเจริญกรุงใน พ.ศ.2405 ชาวจีน (รวมถึงชาวต่างชาติอื่นๆ) ก็ได้ขยายชุมชน การค้า และย่านพักอาศัย ทอดยาวขยายตัวต่อเนื่องออกไปตามริมสองฟากฝั่งถนนเจริญกรุง ขนานไปตามลำน้ำเจ้าพระยา จนทำให้ย่านสำเพ็งและเจริญกรุงกลายเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ พื้นที่ระหว่างแม่น้ำกับถนนเจริญกรุง เต็มไปด้วยที่พักอาศัยชาวต่างชาติ ห้างร้าน โรงงาน โรงสี ท่าเรือ ฯลฯ

วัดยานนาวา เป็นวัดสำคัญหนึ่งที่ตั้งอยู่ในย่านนี้ โดยเป็นวัดโบราณมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง เดิมเรียกว่า “วัดคอกควาย”

ต่อมาในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี สถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “วัดคอกกระบือ”

พอล่วงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัด และสร้างพระอุโบสถใหม่

สมัยรัชกาลที่ 3 วัดคอกกระบือทรุดโทรมลง พระองค์จึงโปรดให้บูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2387 มีการสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่พร้อมกับพระเจดีย์ขึ้นเป็นประธานของวัด

ภาพท่าเรือเมล์จีน บริเวณชุมชนซอยหวั่งหลี สมัยที่ยังคึกคักไปด้วยผู้คนและการค้า ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือสำคัญที่ใช้ขนส่งสินค้าและเดินทางไปต่างประเทศ ในภาพเป็นบรรยากาศขณะรอเรือกำลังออกจากท่า สันนิษฐานว่าน่าจะถ่ายในช่วงประมาณปลายรัชกาลที่ 7 ถึงต้นรัชกาลที่ 8 (ภาพจากชาวบ้านในชุมชนซอยหวั่งหลี)

เจดีย์ของวัดยานนาวา มีแนวคิดในการสร้าวที่แปลกออกไปจากวัดอื่น โดยรัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่า การจะสร้างเป็นพระสถูปหรือพระปรางค์ก็มีอยู่ที่วัดอื่นมากอยู่แล้ว จึงทรงคิดต่อว่า แต่ก่อนมาเรือที่ใช้ไปมาค้าขายกับต่างประเทศใช้เรือสำเภาเป็นพื้น

แต่ในเวลานั้น (ในช่วงรัชกาลที่ 3) ได้เกิดต่อเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่งใช้กันมากขึ้นทุกที ซึ่งพระองค์ทรงพยากรณ์ว่า เรือสำเภาคงจะสูญไปในไม่ช้า ดังนั้น จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์ในวัดยานนาวาให้มีฐานเป็นสำเภาเท่าเรือสำเภาจริง เพื่อที่คนภายหน้าอยากจะเห็นสำเภาว่าเป็นอย่างไร จะได้มาดู

จากนั้นไม่นาน เพียงราว 30 ปีต่อมา ใน พ.ศ.2417 การค้าด้วยเรือสำเภาก็สิ้นสุดลงจริงๆ และถูกแทนที่ด้วยเรื่อกลไฟสมัยใหม่ โดยเรือสำเภาลำสุดท้ายมีชื่อว่า “บ้วนเฮง” ซึ่งเป็นเรือสำเภาของ “ตระกูลพิศาลบุตร” (อ้างถึงใน พรรณี บัวเล็ก, “สยาม” ในกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลง : ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5, หน้า 100)

ซึ่งทำให้พระเจดีย์รูปเรือสำเภาวัดยานนาวากลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่ระลึกของการค้าสำเภาสยามตามที่รักาลที่ 3 ตั้งใจไว้จริงๆ

 

นอกจากตัววัดยานนาวาจะเป็นสัญลักษณ์ที่ระลึกการค้าสำเภาจีนแล้ว พื้นที่โดยรอบของวัดก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด

ในปลายรัชกาลที่ 5 พื้นที่ตรงนี้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นท่าเรือที่สำคัญแห่งหนึ่ง รู้จักกันในชื่อว่า “ท่าเรือเมล์จีน” โดยที่พระครูพรหมจริยาจารย์ (ยิ้ม พุทธสโร) เจ้าอาวาสองค์ที่ 8 ได้ทำการย้ายกุฏิสงฆ์ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศวันตกเฉียงเหนือของวัดออกไป

และให้ “บริษัทเรือเมล์จีนสยามทุนจำกัด” เช่าพื้นที่ดังกล่าวทำเป็นท่าเรือเมล์ ใน พ.ศ.2453

การตั้งท่าเรือเริ่มขึ้นใน พ.ศ.2451 กลุ่มพ่อค้าชาวจีนได้รวมตัวกันจัดตั้งบริษัทเดินเรือขึ้นเอง ใช้ชื่อว่า “บริษัทเรือเมล์จีนสยามทุนจำกัด” (The Chino-Siam Steam Navigation Ltd) ซึ่งมีสาเหตุมาจาก ความเดือดร้อนจากการถูกผูกขาดธุรกิจการเดินเรือขนส่งสินค้าไปยังสิงค์โปร์โดยบริษัทสัญชาติเยอรมัน ชื่อ บริษัทเยอรมันลอยด์ (อ้างถึงในวิทยานิพนธ์ของ พจนา เหลืองอรุณ เรื่อง การเดินเรือพาณิชย์กับเศรษฐกิจไทย พ.ศ.2398-2468, หน้า 103)

จุดประสงค์ของบริษัทเรือเมล์คือ เพื่อรับเดินเรือขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ-สิงคโปร์-ฮ่องกง-ซัวเถา และไฮเค้า และเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวตะวันตกปิดประตูการค้าเหมือนอย่างในอดีต

ซึ่งท่าเรือสำคัญที่ใช้ในการเดินเรือของบริษัทเรือเมล์จีนสยามทุนจำกัดก็คือ ท่าเรือบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดยานนาวา

หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “ซอยหวั่งหลี”

 

ชาวบ้านเก่าแก่ในชุมชนเล่าว่า ท่าเรือแห่งนี้ดั้งเดิมมีชื่อว่า “ฮั่วเสียม” แปลว่า “สยามรุ่งเรือง” ต่อมาหลังจากที่มีการตั้งบริษัทเรือเมล์จีนสยามทุนจำกัดแล้ว ท่าเรือแห่งนี้จึงถูกเรียกว่า “ท่าเรือเมล์จีน” นอกจากนี้ยังเล่ากันสืบมาว่า คนจีนโพ้นทะเลเกือบทุกคนที่เดินทางอพยพมาจากเมืองจีนจะมาขึ้นที่ท่าเรือแห่งนี้

ผลประโยชน์จากการให้เช่าทำเป็นท่าเรือถูกนำมาสร้างเป็อาคารไม้ชั้นเดียว ยาวตั้งแต่ปากซอยถนนเจริญกรุง 52 ส่วนพื้นที่ระหว่างแถวอาคารไม้ยาวไปจนถึงท่าเรือเมล์จีนนั้น เป็นพื้นที่ป่าช้าของวัดยานนาวา ซึ่งต่อมา บริษัท เรือเมล์จีนสยามทุน จำกัด ได้สร้างศาลาการเปรียญและกุฏิสงฆ์ให้ทางวัด 3 หลังในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเป็นการตอบแทนวัดยานนาวาที่ได้ขอพระบรมราชานุญาตให้บริษัทสามารถเช่าที่ธรณีสงฆ์ได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทเรือเมล์ดำเนินกิจการต่อมาได้ไม่กี่ปีก็ประสบปัญหาการขาดทุนและในที่สุดก็ถูกขายให้กับบริษัทที่กวางตุ้ง และในปี พ.ศ.2456 ก็เลิกล้มกิจการท่าเรือเมล์ในที่สุด

ล่วงมาจน พ.ศ.2466 วัดยานนาวาได้ทำการสร้างเขื่อนหน้าวัด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วรื้อกุฏิสงฆ์ร่วมถึงศาลาการเปรียญลง ในคราวนี้เองวัดได้ให้ นายแยมปักเลือก (YAM PAK RUK) มาเช่าที่ท่าเรือเมล์จีนเดิมที่ร้างอยู่ มาทำเป็นท่าเรือเมล์ขนส่งสินค้า

เรื่องเล่าในชุมชนกล่าวว่า นายแยมปักเลือกได้นำเงินค่าเช่ามาทำการรื้ออาคารไม้ชั้นเดียวลง และสร้างเป็นตึกแถวก่ออิฐฉาบปูนสองชั้นให้เช่าแทน เมื่อประมาณ พ.ศ.2469-2470 ซึ่งตึกแถวชุดดังกล่าว ชุมชนเชื่อว่าคือตึกแถวที่ปรากฏอยู่มาจนถึง พ.ศ.2550 ก่อนที่จะถูกรื้อไปโดยวัดยานนาวา

อย่างไรก็ตาม จากแผนที่ พ.ศ.2475 แสดงให้เราเห็นว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 2470 นั้น ในที่ดินผืนนี้ยังไม่มีตึกแถวสองชั้นดังกล่าว เกือบทั้งหมดของสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่คืออาคารไม้

และปรากฏอาคารไม้ที่สำคัญหลังหนึ่งริมถนนเจริญกรุง คือ “โรงหนังฮ่องกง”