ธุรกิจพอดีคำ : “ปลูก วันพรุ่งนี้”

มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาในวงการวิทยาศาสตร์ ว่า

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพ ชื่อก้องโลก ที่ผู้คนยอมรับว่าเขาเป็นอัจฉริยะ

บนโต๊ะทำงานของชายผู้นี้ปรากฏรูปภาพของ “นักวิทยาศาสตร์” อีกคนหนึ่งผู้เป็นแรงบันดาลใจและแบบอย่างให้กับ “ไอน์สไตน์”

คนคนนั้นคือ “ไมเคิล ฟาราเดย์”

ใครที่สนใจเรียน “ฟิสิกส์” เมื่อสมัย ม.ปลาย น่าจะคุ้นๆ ชื่อนี้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย

หลายคนจำว่าเขาคือคนประดิษฐ์หลอดไฟดวงแรกของโลก

ก็ขอบอกตรงนี้ว่า ไม่ใช่นะครับ

คนที่ประดิษฐ์หลอดไฟดวงแรกชื่อ “โทมัส อัลวา เอดิสัน” ครับ

อีกนิดเดียว เกือบถูกละ หลายคนชอบจำสลับกัน

เพราะว่า ไมเคิล ฟาราเดย์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ปฏิวัติวงการ “ไฟฟ้า”

ลองนึกภาพว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว มีคนมาบอกคุณว่า

ถ้าคุณมีแม่เหล็กอยู่หนึ่งก้อน และมีลวดทองแดงเก่าๆ สัก 3-4 เส้น

คุณจะสามารถสร้าง “กระแสไฟฟ้า” ให้เกิดขึ้นเอาไว้ใช้ได้เอง

คุณคงจะคิดว่า “เล่นกล” เป็นแน่

ที่จริงแล้วมันคือทฤษฎีชื่อดังก้องโลกเรื่องการ “เหนี่ยวกับแม่เหล็กไฟฟ้า” ของ ไมเคิล ฟาราเดย์

ปัจจุบันทฤษฎีนี้ก็ยังนำมาใช้ในการ “ผลิตกระแสไฟฟ้า” ให้คนทั่วโลก

ถ่านหินที่ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิง ไปต้มน้ำให้เกิดไอน้ำ นำไปปั่นกังหัน ผลิตกระแสไฟฟ้า

กังหันลม ที่เมื่อมีลมมาผลักให้หมุน ก็เคลื่อนตัดสนามแม่เหล็ก ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า

เหล่านี้ ล้วนใช้วิธีการของ “ไมเคิล ฟาราเดย์” ทั้งสิ้น

หากแต่ว่า ก่อนทฤษฎี “แม่เหล็กไฟฟ้า” นี้จะได้รับการยอมรับนั้น ก็ไม่ใช่ง่ายๆ

มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่ง ไมเคิล ฟาราเดย์ ได้มีโอกาสเข้าพบนายกฯ ของประเทศอังกฤษ

เขาอธิบายทฤษฎีของเขาให้นายกฯ ท่านนี้ฟัง

แล้วนายกฯ ทำสีหน้าดูถูก แล้วตอบกลับมาว่า

“แล้วมันจะเอาไปทำประโยชน์อะไรได้”

ไมเคิล ฟาราเดย์ นิ่งเงียบ คิดอยู่ครู่หนึ่ง

แล้วตอบกลับไปว่า…

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสจัดงานสัมมนาขึ้นครั้งหนึ่ง

มีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำกว่า 200 คนเข้าร่วมรับฟัง

พวกเขาไม่ได้มาฟังผมกันหรอกครับ แต่เป็น “แขกรับเชิญ” พิเศษของเราต่างหาก

เขามีชื่อว่า “ไมค์ เพ็ง (Mike Peng)” ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทออกแบบนวัตกรรมระดับโลกชื่อว่า “ไอดีโอ (IDEO)”

หลายๆ ท่านได้ยินชื่อ “ไอดีโอ” แล้ว แน่นอนต้องนึกถึง “คอนโดฯ” ตามรถไฟฟ้า

อันนี้คนละไอดีโอกันนะครับ

“เดวิด เคลลี่ (David Kelly) ผู้ก่อตั้งของบริษัทไอดีโอ ที่ผมกล่าวถึงนี้ เป็นคนคนเดียวกับที่ก่อตั้ง Stanford d.school ต้นตำรับกระบวนการออกแบบนวัตกรรมชื่อว่า Design Thinking ที่หลายๆ องค์กรไทยกำลังนำมาใช้กันอยู่

ไอดีโอ เป็นบริษัทที่ใช้ Design Thinking ในการช่วยองค์กรต่างๆ ในการสร้าง “นวัตกรรม” ให้เกิดขึ้น

“เม้าส์” ตัวแรกของโลกที่เราใช้กันบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็เกิดขึ้นจากการที่ “เดวิด เคลลี่” ทำงานร่วมกับ “สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs)” ของบริษัท Apple ร่วมกันสร้างขึ้นมานั่นเอง

สรุปคือ “ไอดีโอไม่ใช่คอนโดฯ” นะครับ

ไมค์ เพ็ง พูดเอาไว้หลายเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสร้าง “นวัตกรรม” ในองค์กร

ตั้งแต่การมีคนที่หลากหลายสาขาวิชามาทำงานร่วมกัน

การเดินออกจากตึกออฟฟิศ เพื่อทำการทดลองร่วมกับ “ลูกค้า”

การให้อิสระคนหน้างานได้ตัดสินใจ

รวมถึงการฝึกฝนให้คนในองค์กรเป็นคนที่มี “ความคิดสร้างสรรค์” ไม่ยึดติดหรือตามหา “สูตรสำเร็จ”

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมและหลายคนรู้สึก “ชอบใจ” มากๆ คือเรื่องการ “ปลูก (cultivate)” ครับ

ไมค์เล่าว่า องค์กรส่วนใหญ่ต้องสร้างความสมดุลระหว่างการทำสองอย่าง

หนึ่งคือ ปรับปรุงวันนี้ (Optimize Today)

สองคือ “ปลูก” วันพรุ่งนี้ (Cultivate Tomorrow)

องค์กรส่วนใหญ่ทำ “หนึ่ง” เยอะ แต่ทำ “สอง” น้อยเกินไป

ด้วยเหตุผลง่ายๆ ครับ

หนึ่ง มันเห็นผลเร็ว เอาไปโชว์ได้เร็ว

ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัท สำนักข่าว ก็ต่างอยากได้เรื่องราวตื่นเต้นของวันนี้

ผู้บริหารองค์กรจึงมักพุ่งเป้าไปกับการทำอะไรที่ได้ “ผลลัพธ์” ชัดเจน เช่น การปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่วันนี้ให้ดีขึ้น

หากแต่ว่า “อนาคต” ขององค์กร ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องทำ

นั่นคือ การ “ปลูก” วันพรุ่งนี้

เอ๊ะ ทำไมถึงใช้คำแปลกๆ

เขาไม่ได้บอกว่า “สร้าง (build)” วันพรุ่งนี้นะครับ

เขาใช้คำว่า “ปลูก (cultivate)”

ไมค์อธิบายว่า เขาจงใจใช้คำว่า “ปลูก”

เพราะการทำอะไรใหม่ๆ ที่ต่างจากเดิม เหมือนกับ “ปลูกต้นไม้”

เมื่อคุณลงเมล็ดพันธุ์ไปแล้ว คุณต้องรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ดูแล ประคบประหงม

จากเมล็ด กลายเป็นต้นกล้า กลายเป็นต้นไม้ ออกดอก และออกผล ให้เก็บเกี่ยว

“ต้นกล้า” นั้น วันแรกมันจะยังอ่อนแอ ไร้ประโยชน์ต่อผู้คน

แต่หน้าที่ของ “ผู้นำ” ก็คือ รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยต่อไป ด้วยความ “หวัง” ว่ามันจะโตขึ้น จนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในสักวัน

“นวัตกรรม” ไม่มีการทำชั่วข้ามคืน

ผู้บริหารองค์กร เวลาให้ลูกน้องสร้างอะไรใหม่ๆ มักจะถามหาสิ่งที่เรียกว่า “ควิก-วิน (Quick Win)”

คือ “ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว” ในช่วงแรก

ซึ่งในแง่หนึ่ง เพื่อสร้างการยอมรับถึง “วิธีการทำงานแบบใหม่”

แต่อีกแง่ ก็บ่งบอกถึงความ “ใจร้อน” ต้องการเห็นผลลัพธ์รวดเร็ว

คำว่า “ปลูก” วันพรุ่งนี้ เป็นการบอกว่า “ไม่มีของใหม่ที่จะได้มาชั่วข้ามคืน” ได้

หากเรารดน้ำ ใส่ปุ๋ย ให้กับ “ต้นกล้า” อย่างดีแล้ว

ปลูกต้นไม้ไว้หลายๆ ต้นสักหน่อย เพื่อบริหารความเสี่ยง ว่าบางต้นมันอาจจะไม่โตอย่างที่เราคิด

ก็อาจจะเป็น “กลยุทธ์” หนึ่งในการสร้าง “นวัตกรรม” ขององค์กรยุคใหม่ได้

“ทฤษฎีของคุณ มันจะมีประโยชน์อะไรล่ะ” นายกฯ ถาม

ไมเคิล ฟาราเดย์ นิ่งไปพักหนึ่ง แล้วตอบกลับไปอย่างสุขุม ว่า

“แล้วเด็กทารกล่ะ มีประโยชน์อะไร”

นายกฯ อึ้งไป ยังไม่ทันได้ตอบ

ไมเคิล ฟาราเดย์ พูดต่อ “ถ้าประเทศเลี้ยงดูเด็กทารกเป็นอย่างดี ดูแลให้การศึกษาพวกเขา วันหนึ่งเขาก็จะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มาจ่ายภาษีให้กับคุณไง…

“…ทฤษฎีของผมก็เช่นกัน”