รัฐธรรมนูญ 2511 กับ กูเป็นนิสิต นักศึกษา หนุ่มหน่ายคัมภีร์

บทความพิเศษ

 

รัฐธรรมนูญ 2511

กับ กูเป็นนิสิต นักศึกษา

หนุ่มหน่ายคัมภีร์

 

หากเดินตาม เกาะติด เส้นทางของ ทองปน บางระจัน จากท่ามหาราชมายังท่าพรานนกก็จะสัมผัสได้ในการเคลื่อนไหว

เป็นการเคลื่อนไหวผ่าน “แผงหนังสือ”

เริ่มจากคำถาม “วันนี้มีพ็อกเก็ตบุ๊กออกใหม่บ้างใหม่” เมื่อได้รับคำตอบก็นำไปสู่อีกคำถามหนึ่ง “ไลฟ์เล่มดวงจันทร์มาอีกหรือยัง”

กระบวนการของ ทองปน บางระจัน คือ กูหยิบ “สยามรัฐ” รายวันตามเคย 1 ฉบับ พับรวมกับ “เดลินิวส์” และ “ไทยรัฐ” สายตาเหลือบไปเห็น “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” อยู่แผงใน มองไปมองมานึกสนุก จึงซื้อหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับทั้งฉบับเช้าและบ่ายอ่านกันให้เปรมประชากรไปเลย

เงาสะท้อนจาก ทองปน บางระจัน จึงน่าสนใจ

 

รสนิยม การอ่าน

ของ นิสิต นักศึกษา

เป็นความน่าสนใจอันดำเนินไปตามผลการวิจัยของสำนักข่าวสารอเมริกัน (ยูซิส) ระบุถึงนิสัยในการใช้สื่อมวลชนของนักศึกษามหาวิทยาลัยในปี 2503

ปรากฏว่า

สื่อมวลชนที่นักศึกษาให้ความเชื่อถือมากที่สุดถึงร้อยละ 67 คือวิทยุ ส่วนหนังสือพิมพ์และนิตยสารมีเพียงร้อยละ 14 และ 13 ตามลำดับเท่านั้น

แสดงว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจในการให้ข่าวของหนังสือพิมพ์เท่าใดนัก

นี่ย่อมยกเว้น ทองปน บางระจัน

หนังสือพิมพ์และนิตยสารที่นักศึกษาอ่านมากที่สุด ร้อยละ 32 อ่านสยามรัฐ ร้อยละ 15 อ่านศรีสัปดาห์ ร้อยละ 12 อ่านชาวกรุง ร้อยละ 10 อ่านสตรีสาร

เด่นชัดว่า นักศึกษาให้ความเชื่อถือ “สยามรัฐ” เพียงฉบับเดียว

 

สยามรัฐ รายวัน

ทองปน บางระจัน

มองผ่าน ทองปน บางระจัน มองผ่านการดำเนินการทางการประพันธ์ในเส้นทางของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สัมผัสได้จากเรื่องสั้น “คนบาป” เมื่อปี 2508 ต่อเนื่องถึง 2509

สัมผัสได้จากการปรากฏขึ้นของ “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” และสัมผัสได้จากการปรากฏขึ้นของ “หนุ่มหน่ายคัมภีร์” ในปี 2512

นี่ย่อมสัมพันธ์กับการอ่าน “สยามรัฐ” รายวัน

นี่ย่อมสัมพันธ์กับการอ่าน “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” และติดตามการเคลื่อนไหวของ “เจ็ดสถาบัน”

นั่นมีจุดเริ่มต้นจากปี 2506 กับปี 2507

ความน่าสนใจอยู่ที่เป็นห้วงเวลาในตอนท้ายยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเริ่มต้นยุค จอมพลถนอม กิตติขจร

เกี่ยวพันและส่งผลสะเทือนอย่างไร

 

ยุค สฤษดิ์ ธนะรัชต์

ยุค ถนอม กิตติขจร

หากมิได้เป็นตอนปลายแห่งยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โอกาสของ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ย่อมไม่เกิด เพราะ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ล่วงไปในเดือนธันวาคม 2506

หากมิได้เป็นตอนต้นแห่งยุค จอมพลถนอม กิตตขจร โอกาสที่ “เจ็ดสถาบัน” จะเบียดแทรกเข้ามายากเป็นอย่างยิ่ง

สุจิตต์ วงษ์เทศ ติดตาม “ไท-สัปดาห์” ของ ลมูล อติพยัคฆ์ ย่อมรู้

บรรยากาศทางสังคมภายหลังการจากไปของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตามมาด้วยข่าวการเปิดโปง “วิมานสีชมพู” และมรดกมหาศาล

ที่สุด คือ การใช้มาตรา 17 ยึดทรัพย์

ในห้วงแห่ง “การเปลี่ยนผ่าน” จึงเป็นโอกาสที่ในแวดวงหนังสือพิมพ์รายวันมิได้มีแต่ “ไทยรัฐ” เท่านั้นที่ยึดครองตลาด

หากแต่ยังมีแนวหน้าแห่งยุค “เดลินิวส์”

แม้จะเป็นหนังสือพิมพ์เช้า เน้นข่าวอาชญากรรม แต่เรื่องของ “วิมานสีชมพู” เป็นทั้งความอื้อฉาวและเส้นสนกลใน “การเมือง”

อาจหาอ่านไม่ได้ใน “สยามรัฐ”

แต่เส้นทางการเมืองก็เริ่มเดินหน้าและเกิดกระแสกดดันให้มีการประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ” ในวันที่ 20 มิถุนายน 2511

“ปฏิกิริยา” ตามมาอย่างฉับพลันคือ “อะไร”

หากหยิบหนังสือ “วีรชนหาญกล้า” อัน “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” (ศนท.) ตีพิมพ์ขึ้นในยุค เกรียงกมล เลาหไพโรจน์

ก็จะสัมผัสได้อย่างมี “อารมณ์” และ “ความรู้สึก”

นั่นคือ การชุมนุมของประชาชนที่จัดขึ้นโดยนักการเมืองกลุ่มหนึ่งในลักษณะไฮด์ปาร์กที่ขาดหายไปตั้งแต่รัฐประหาร 2500 โดยมี “สนามหลวง” เป็น “จุดเริ่มต้น”

ยิ่งตำรวจเข้าจับกุมดาวไฮด์ปาร์กทั้ง 5 คน ยิ่งทำให้นักศึกษา ประชาชนไม่พอใจ พากันประท้วงโดยมีการชูคำขวัญบนป้ายผ้า

“จงทำดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์ พึงขจัด 75 เหลือ 50”

 

เดินขบวน ครั้งแรก

รับ “รัฐธรรมนูญ”

พลันที่มีการอภิปราย เนื้อหาการอภิปรายมากด้วยความเผ็ดร้อน จำนวนผู้เข้าร่วมฟังก็ทวีมากขึ้น

ตัดสินใจเคลื่อนจาก “สนามหลวง” ไปบน “ถนนราชดำเนิน”

ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สะพานผ่านฟ้า สะพานมัฆวาน ไปปักหลักที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ที่หัวขบวนแทนที่ “ดาวไฮด์ปาร์ก” โดย “นักศึกษา”

ไม่ว่าจะเป็น ประจวบ ไชยสาส์น จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น ทอง ดาวเรือง จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร

และมีคนเห็น อุดร ทองน้อย เจ้าของบทกวี “อีสานกู”

ยิ่งกว่านั้น ยังมีหนุ่มผมยาว ล้วน เขจรศาสตร์ จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ใกล้กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ยิ่งขึ้น

การเดินขบวนเพียง 1 วันภายหลังการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อเดือนมิถุนายน 2511

ย่อมเป็น “สัญญาณ” ย่อมเป็นเสียง “ระฆัง” ก้องกังวาน

ความรับรู้ที่ส่งผาน “หนังสือพิมพ์” ไม่ว่าจะเป็น “ไทยรัฐ” ไม่ว่าจะเป็น “เดลินิวส์” ไม่ว่าจะเป็น “สยามรัฐ” คือ การของ “การเลือกตั้ง” ในอีกไม่นาน

ความน่าสนใจอยู่ที่การเลือกตั้งระดับสภาเทศบาลของจังหวัดพระนครกำหนดขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม

ตามมาด้วยการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512

 

กูเป็นนิสิต นักศึกษา

กับ หนุ่มหน่ายคัมภีร์

การเคลื่อนไหวเหล่านี้จำเป็นต้องเน้นไปยังบทบาทและผลสะเทือนต่อนิสิตนักศึกษาอย่างเป็นพิเศษ

บนฐานแห่ง “หนุ่มหน่ายคัมภีร์” บนฐานแห่ง “กูเป็นนิสิตนักศึกษา”

เป็นพัฒนาการและความต่อเนื่องของ สุจิตต์ วงษ์เทศ จากที่สะท้อนผ่านเรื่องสั้น “คนบาป”

และบทความอันเกี่ยวกับ “โบราณสถาน” ของ ท.บ้านด่าน

ขณะเดียวกัน เมื่อมองผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลจังหวัดพระนครก็จะสัมผัสได้ใน “กลุ่มอาสาสมัคร สังเกตการณ์การเลือกตั้ง”

โดยมี “ธรรมศาสตร์” เป็นสารตั้งต้น แผ่กระจายออกไป

แม้จะเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่แรงสะเทือนก็กระจายไปยังมหาวิทยาลัยศิลปากร

ตกถึง สุจิตต์ วงษ์เทศ ตกถึง ขรรค์ชัย บุนปาน