วันนี้ของ “บิ๊กป้อม” ทำไมยังยืนหยัดใน ครม. “ประยุทธ์ 5” ? อุปสรรคสำคัญคือ “สุขภาพ” ไม่ใช่ “การเมือง”

แม้จะดำรงตนอยู่ท่ามกลางข่าวลือต่างๆ นานา และบริบททางอำนาจที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไป แต่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตท.6 ก็ยังคงสถานะเป็นพี่ใหญ่แห่ง “บูรพาพยัคฆ์-คสช.” อยู่เสมอ

โดยมี “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นพี่รอง ตท.10 และ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นน้องเล็ก ตท.12 สายสัมพันธ์ 40 ปี ของ “3 ป. บูรพาพยัคฆ์” เริ่มต้นตั้งแต่เป็น “ร้อยเอก-ร้อยโท-ร้อยตรี” ในรั้ว ร.21 รอ. ทหารเสือฯ อยู่บ้านเดียวกัน (โดยมี พล.อ.พงษ์เทพ กนิษฐานนท์ เป็นสมาชิกร่วมบ้านด้วยอีกหนึ่งคน)

ใครจะคิดว่าผ่านมาอีก 30-40 ปี ทั้ง 3 ป. จะได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ทั้งหมด และมีน้องเล็กขึ้นเป็นนายกฯ จากการรัฐประหาร โดยมีพี่ๆ โดด “ขึ้นหลังเสือ” พร้อมกันถ้วนหน้า

“บิ๊กตู่” เคยลั่นในงานวันเกิดครบรอบ 72 ปีของ “บิ๊กป้อม” เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ว่าพี่คนนี้ “อยู่กับผมทั้งชาติ”

เป็นเครื่องประกันว่า “บิ๊กป้อม” จะอยู่คู่ “คสช.” ไปอีกนาน

มองอีกแง่หนึ่ง ตัว พล.อ.ประวิตร เอง ก็มีคอนเน็กชั่นกับพรรคการเมืองไม่น้อย

ผ่านการสร้างสายสัมพันธ์โดย “บิ๊กกี่” พล.อ.นพดล อินทปัญญา เพื่อน ตท.6 ที่แม้จะเติบโตต่างสายกัน เพราะ “บิ๊กกี่” เป็น “สายวงศ์เทวัญ” แต่ก็เคยทำหน้าที่เป็นอดีตเลขานุการ “บิ๊กป้อม” ช่วงดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์

ก่อนหน้านั้น ช่วง “ทักษิณ ชินวัตร” นำพรรคไทยรักไทยลงเลือกตั้งหนที่สอง พล.อ.ประวิตร ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ก็มอบหมายให้ “บิ๊กกี่” เป็นนายทหารประสานงานกับพรรครัฐบาลด้วย

อย่างไรก็ดี จุดกำเนิด “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” ในวันนี้ คือสมัย “บิ๊กเหวียง” พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อีกหนึ่งทหารสายบูรพาพยัคฆ์ ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ยุครัฐบาล “ทักษิณ 1” ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ “บิ๊กป้อม-บิ๊กกี่” ได้ขึ้นมามีบทบาท

ก่อนจะมีการหนุน “บิ๊กป้อม” ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แล้วให้ “บิ๊กตุ้ย” พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผบ.ทบ. ขณะนั้น ลูกพี่ลูกน้อง “ทักษิณ” โยกไปเป็น ผบ.สส. ส่วน พล.อ.นพดล ก็เป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม

อีกทั้ง “บิ๊กป้อม” มีสถานะ “โสด” จึงเป็นที่มาของ “บารมี” ในเหล่าทัพ เพราะมีเวลาดูแลน้องๆ อย่างทั่วถึง

หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พี่ป้อม” ช่วยเหลือน้องทหารทุกคนและมักจะให้น้องเต็มที่เสมอ รวมถึง “น้องตู่”

“ถ้าท่านไม่ดีจริง ผมก็ไม่เคารพ ขออนุญาตนะพี่ ผมจบมา ท่านสอนผมให้เป็นคนดี จนถึงวันนี้ ถ้าท่านไม่ดี เลิกคบนานแล้ว” นายกฯ เคยกล่าวเอาไว้

ความ “ใจป้ำ-ใจกว้าง” ของ “บิ๊กป้อม” มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนเตรียมทหาร และเป็นแกนนำ ตท.6 แต่ก็ถูกรุ่นพี่ “ซ่อม” หรือ “แดก” ในภาษาทหาร จนสลบ

“บิ๊กป้อม” เปิดเผยว่าคนสั่งซ่อมเป็น ตท.5 โดยได้รับการยืนยันว่าไม่ใช่ “บิ๊กตุ้ย” พล.อ.ชัยสิทธิ์ แต่ พล.อ.ประวิตร ไม่ขอเปิดเผยชื่อ มีเพียงรายงานว่าเป็นรุ่นพี่ร่วมสิบคน ที่สลับกันมาซ่อมน้องๆ ตท.6 อยู่แล้ว

เมื่อ “บิ๊กป้อม” เข้าสู่รั้วแดง-กำแพงเหลือง โรงเรียนนายร้อย จปร. เป็น จปร.17 ก็ได้ชื่อว่า “รุ่นฝนแรก” เพราะตั้งแต่เข้ารั้วนายร้อยฯ ฝนตกตลอด

อีกเหตุการณ์สำคัญคือ นักเรียนนายร้อย จปร. จะต้องผ่านการฝึกหลักสูตรจู่โจม-เสือคาบดาบ หรือ “Ranger” โดยครูฝึกสั่งทดสอบเพิ่มเติม แม้จะเป็นวันที่ต้องปล่อยตัวกลับบ้าน “บิ๊กป้อม” จึงร่วมกับเพื่อน จปร.17 ที่ส่วนใหญ่พากันไม่พอใจ ขัดขืนคำสั่งครูฝึก เกือบตกยกรุ่นมาแล้ว

สิ่งสำคัญคือ การสร้างฐาน “บารมี” พล.อ.ประวิตร ถูกจับตามองตั้งแต่ติดยศ “พันเอก” จนเติบโตขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. แล้วขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 แต่กลับถูกเด้งเข้ากรุเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. และผู้ช่วย เสธ.ทบ. ฝ่ายยุทธการ ในยุค “บิ๊กแอ้ด” พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็น ผบ.ทบ.

ก่อนจะได้กลับสู่เส้นทางหลักเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 สมัย พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. แล้วขยับขึ้นเป็น ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และ ผบ.ทบ. สมัยรัฐบาลทักษิณ

จึงมีการมองว่าจุดนี้เป็นอีกสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับอดีตนายกฯ ทักษิณ แถมต่อมาในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ พล.อ.ประวิตร ก็ได้ตำแหน่ง รมว.กลาโหม และได้กลับมานั่งเก้าอี้เดิมควบรองนายกฯ อีกครั้งในรัฐบาล คสช. ยาวนาน 3 ปีแล้ว

แม้จะมีกระแสข่าวว่าอาจ “ปิ๋ว” จาก ครม.ประยุทธ์ ทุกครั้งในการปรับคณะรัฐมนตรี แต่ พล.อ.ประวิตร ก็ยืนหยัดอยู่ได้ จนได้ชื่อว่าเป็น “รมว.กลาโหมตลอดกาล”

แม้วันนี้จะเป็นยุค ตท.16-17-20 ขึ้นเป็น ผบ.เหล่าทัพ ทั้ง “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. “บิ๊กจอม” พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. “บิ๊กนุ้ย” พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผบ.ทร. จาก ตท.16 และ ตท.17 อย่าง “บิ๊กต๊อกเล็ก” พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.สส. ร่วมด้วย ตท.20 “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.

แต่ว่ากันว่า ตท.6 อย่าง “บิ๊กป้อม” ยังคงมีอิทธิพลและบารมีในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร-ตำรวจ ด้วยตำแหน่งประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในฐานะรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ผู้มีอำนาจจัดเก้าอี้ในกองทัพ

ซึ่งการจัดเก้าอี้ในกองทัพได้มีการวางไลน์ไว้ เบื้องต้นยาวไปถึงราวปี 2565 ไม่นับเก้าอี้นายพันที่ต่อคิวเติบโตขึ้นมาอีก เท่ากับว่า พล.อ.ประวิตร ยังมีบทบาทในกองทัพ แม้เกษียณมาแล้วกว่า 20 ปี

แต่สิ่งที่ “บิ๊กป้อม” มีท่าทีเป็นกังวลไม่น้อย คือ “สุขภาพ” ของตัวเอง เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีข่าวรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เดินทางไปรักษาสุขภาพที่ต่างประเทศหลายครั้ง ตั้งแต่ออกกำลังกายแล้วล้มช่วงปี 2558 จนต้องใส่เฝือกอ่อน และพักงานไปเกือบเดือน

ตามมาด้วยการมีข่าวว่าเป็นลม จนทำให้ พล.อ.ประวิตร ฉุนไม่น้อยกับข่าวดังกล่าว เพราะมองว่าสื่อมาแช่งตน ทว่า นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งผลให้ “บิ๊กป้อม” เดินเหินไม่คล่องแคล่วเท่าแต่ก่อน

ล่าสุด พล.อ.ประวิตร หายตัวไป 14 วันช่วงปลายปี 2560 เพื่อไปทำ “บายพาสหัวใจ” เมื่อกลับมาหลายคนเห็นถึงความผิดปกติ คือ “บิ๊กป้อม” พูดจาและเคลื่อนไหวช้าลง

จนบางคนถึงกับกล่าวว่า “ไม่ใช่บิ๊กป้อมคนเดิม”

พอเวลาผ่านไป พล.อ.ประวิตร เหมือนจะมีอาการดีขึ้น แต่จู่ๆ ก็มาหายตัวไปอีก 4 วัน ช่วงก่อนปรับ “ครม.ประยุทธ์ 5” นำไปสู่การตีความต่างๆ นานา

ซึ่งก็ได้รับการคอนเฟิร์มว่าไปตรวจสุขภาพตามวงรอบที่ต่างประเทศ พร้อมรอยแดงที่หลังมือซ้าย จน “บิ๊กป้อม” ต้องออกมาชี้แจงว่านั่นเป็นรอยเส้นเลือดแตกเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประวิตร ยอมรับว่าเรื่องสุขภาพมีผลต่อการ “อยู่ต่อ” หรือไม่

“อยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ ไม่สำคัญเท่าสุขภาพผมรับได้รึเปล่า เรื่องงานผมไม่เกี่ยงหรอก ผมไม่มีเรื่องอะไรต่างๆ ตามที่สื่อว่าผมอย่างโน้นอย่างนี้” พล.อ.ประวิตร กล่าว

แม้ปัญหา “สุขภาพ” จะเป็นเรื่องเกินควบคุม แต่เชื่อกันว่า “ใจ” ของ พล.อ.ประวิตร ยังสู้อยู่ เมื่อได้รับกำลังใจจากน้องๆ ในกองทัพ โดยเฉพาะจาก “นายกฯ บิ๊กตู่ น้องเลิฟ” ที่ย้ำถึงสายสัมพันธ์แนบแน่นและออกมาปกป้อง “พี่ป้อม” เสมอ

เส้นทางจาก “นตท.ประวิตร” สู่ “ป๋าป้อม” จึงไม่ใช่เรื่องง่าย กับตลอด 50 ปีที่ผ่านมา และ “บารมี” ที่สั่งสม แต่ความเป็น “พี่ใหญ่” ก็ตกเป็นเป้าจากฝ่ายตรงข้ามไม่น้อย

โจทย์สำคัญของ “บิ๊กป้อม” จึงต้องระวังว่า “บารมี” ที่มี จะกลายเป็นดาบสองคม

เลยขอเป็นแค่ “พี่ป้อม” แทน “ป๋าป้อม” ของทุกคน