ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 สิงหาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ
พระใหม่ กับ อดีตพระใหม่
บ้านของผมกับบ้านของน้องชายปลูกอยู่ในที่ดินแปลงต่อเนื่องกันโดยไม่มีรั้วกั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผมจะพบหน้ากับหลานสาวที่เป็นลูกของน้องชายได้บ่อยครั้ง แต่ไม่ถึงขนาดพบกันทุกวันนะครับ ถ้าพบกันตอนเช้าหน่อย หลานสาวก็จะถามพลางยิ้มพลางว่า “วันนี้ลุงหน่าจะไปวัดไหน” ลุงหน่านั้นไม่ใช่ใครอื่น ผมเองนี่แหละครับ
สาเหตุที่หลานถามอย่างนั้น คดีก็มีมูลอยู่ เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ผมมีโอกาสวาสนาเข้านอกออกในวัดวาอารามต่างๆ อยู่มากพอสมควร ทั้งที่เป็นเรื่องการไปบำเพ็ญบุญกุศลส่วนตัวของตัวเองตามวาระโอกาสต่างๆ ซึ่งก็มีหลายวาระพอสมควร
รวมตลอดถึงการไปทำหน้าที่ไวยาวัจกรผู้สนองงานคณะสงฆ์ในพระอารามต่างๆ ตามที่ท่านเจ้าอาวาสมอบหมาย
แถมบางคราวยังเป็นเรื่องของการพาทัวร์ นำบุคคลคณะนี้เข้าชมวัดวาอารามในฐานะที่เป็นบุณยสถานสำคัญสมบัติของชาติด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคนเห็นหน้าผมอยู่ตามวัดต่างๆ อยู่เป็นประจำ
ล่าสุดเมื่อวันวานนี้ก่อนที่จะเขียนบทความในวันนี้ ผมเพิ่งไปวัดเสนาสนาราม ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามาหยกๆ
ในฐานะที่เป็นคนสนใจในทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและโบราณคดี วัดนี้ไม่มีทางจะรอดสายตาของผมไปได้ เพราะเป็นวัดที่มีประวัติเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นพระมหานครราชธานี วัดนี้อยู่ท้ายพระราชวังจันทรเกษมซึ่งเป็นวังหน้าหรือพระราชวังบวรสถานมงคลในครั้งนั้น มีชื่อแต่เดิมมาว่า วัดเสื่อ
ผมเข้าใจว่าเมื่อเสียกรุงแล้ววัดนี้ตกเป็นวัดร้างไปตามสภาพ จนมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมกุฏวิทยามหาราช ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระราชวังจันทร์เกษมขึ้นมาใหม่ คราวเดียวกันนั้นก็ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดเสื่อนี้ด้วย พระราชทานนามใหม่ว่า วัดเสนาสนาราม กลายเป็นพระอารามหลวงสำคัญชั้นเอกขึ้นมาเลยทีเดียว
ผมไปทำบุญที่วัดนี้บ่อยครั้ง และได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระเทพมงคลโสภณ ผู้เป็นเจ้าอาวาสอยู่เนืองนิตย์
ไม่กี่วันมานี้ มีผู้ที่ติดตามเรื่องที่ผมพูดและเขียนเรื่องราวทางวัฒนธรรมเรื่องเก่าแก่ทั้งหลายไว้ที่โน่นที่นี่มานานปี และถือตนว่าเป็นลูกศิษย์ของผมผู้หนึ่ง แจ้งข่าวว่าจะบวชที่วัดเสนาสน์ แถมเป็นการบวชแบบเต็มพรรษาเสียด้วย ขอให้ผมไปร่วมในพิธีปลงผมเถิด พ่อนาคจะดีใจมาก
แต่น่าเสียดายที่ในวันดังกล่าวผมติดธุระประชุมมากมายจึงได้แต่รับปากท่านว่าจะไปถวายเพลท่านในภายหลัง
นี่แหละครับคือมูลเหตุที่ผมไปวัดเสนาสน์มาเมื่อวานนี้
ตามธรรมเนียมไทยเราสมัยก่อน ลูกผู้ชายเมื่อมีอายุครบบวชแล้วก็ต้องบวชให้ได้สักพรรษาหนึ่ง จากนั้นจะไปมีเหย้ามีเรือนก็ไม่ห้ามกัน เหมือนอย่างที่พูดกันเสมอมาว่า บวชเสียก่อนแล้วจึงเบียด
การได้ทั้งบวชและทั้งเรียนอยู่ในวัดเป็นเวลานานนานสามเดือนนี้ ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับวัดเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ทั้งสองฝ่ายสนิทสนมกัน พูดภาษาเดียวกัน เข้าใจกัน
ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ เมื่อลูกชายบวชเสียคนหนึ่ง ช่วงเวลาสามเดือนที่พระลูกชายอยู่ในวัด โยมพ่อโยมแม่ไปจนถึงญาติพี่น้องทั้งหลายก็ต้องวนเวียนกันเข้าวัดไปตักบาตร ถวายเช้าถวายเพลเป็นประจำ พระใหม่ที่บวชเองก็เข้าใจแบบธรรมเนียมของคณะสงฆ์ได้ถ่องแท้ ถ้าเป็นวัดที่จัดให้มีสำนักเรียน พระใหม่ก็ได้เรียนหนังสือ แม้สึกหาลาเพศไปแล้วก็ยังได้คำสอนในทางพระพุทธศาสนาติดตัวไปบ้างไม่มากก็น้อย
แต่น่าเสียดายที่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป การบวชนานถึงสามเดือนให้ได้พรรษานั้นกลายเป็นของยากขึ้นมาเสียแล้ว
ถ้าเป็นข้าราชการก็ยังพอไหว เพราะทางราชการท่านมีระเบียบให้ลาบวชได้สามเดือน
แต่ถ้าเป็นคนทำงานเอกชนหรือทำการงานของตัวเองโดยลำพัง ถ้าไปบอกนายว่าขอลาบวชสามเดือน ผู้บังคับบัญชาคงส่งใบลาออกให้เซ็นเสียมากกว่า
ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ ผมเองเมื่อบวชคราวแรกในพุทธศักราช 2538 ด้วยความตั้งใจจะบวชให้ได้พรรษาคือสามเดือน ยังต้องวางแผนล่วงหน้าถึงหนึ่งปี เพราะเวลาสามเดือนในพรรษานั้นตรงกับภาคการศึกษาภาคแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งผมเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่เต็มๆ พอดีเลย จึงต้องมีการประกาศโยกย้ายวิชาที่ผมรับผิดชอบเป็นผู้สอนอยู่ให้นิสิตได้ทราบล่วงหน้าและวางแผนการเรียนได้ถูกต้อง ทุกอย่างจึงลงตัวและเป็นไปได้
ด้วยสาเหตุอย่างนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ที่มีศรัทธาจะบวชเป็นพระส่วนใหญ่จึงบวชได้เพียงแค่สิบห้าวันเป็นค่าเฉลี่ย ข้างฝ่ายวัดจะยึดมั่นถือมั่นแบบเดิมว่าต้องบวชให้ได้สามเดือนถึงจะบวชให้ เช่นนั้นก็ไปไม่รอด
คณะสงฆ์ทุกวันนี้จึงต้องยอมรับความเป็นไปของโลกส่วนนี้ และจัดหลักสูตรให้มีการจัดการเรียนการสอนระยะสั้นตามวัดต่างๆ ให้สามารถขึ้นต้นลงท้ายได้แบบสังเขปภายใน 15 วัน
ต่างฝ่ายต่างต้องปรับตัวกันไปนะครับ
ด้วยเหตุนี้เมื่อผมได้ยินว่ามีผู้มีจิตศรัทธาจะบวชให้ได้ถึงพรรษาคือสามเดือนเช่นนี้ ผมจึงถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นพิเศษ แม้ไปร่วมงานบวชของท่านไม่ได้ ได้ไปถวายเพลก็ยังดี
เนื่องจากท่านยังเป็นพระใหม่ บวชมาได้เพียงไม่กี่วัน ผมในฐานะ “อดีตพระใหม่” จึงมีเรื่องชวนท่านคุยได้พอสมควร ส่วนมากก็เป็นไปด้วยความตั้งใจที่จะเสริมศรัทธาในพระศาสนาของท่านที่มีอยู่มั่นคงแล้วให้เพิ่มพูนขึ้นอีก
ตัวอย่างเช่น ท่านเล่าว่าวันแรกที่บวชเป็นพระสำเร็จแล้ว ท่านเผลอหรือเกือบเผลอรับไหว้หรือไหว้ใครต่อใครเข้าไปหลายหน ต้องตั้งสติและเตือนตัวเองอยู่บ่อยครั้ง
ผมเลยเล่าถวายท่านบ้างว่าผมก็มีประสบการณ์แบบเดียวกัน ในการอุปสมบทของผมเมื่อพรรษากาลพุทธศักราช 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินก่อนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผมเป็นพระภิกษุนาคหลวง ได้บวชในพระอุโบสถวัดพระแก้ว คราวเดียวกันนั้น หม่อมราชวงศ์นันทวัฒน์ ยุคล ซึ่งบัดนี้เป็นเจ้าคุณ พระราชวชิราภินันท์ ท่านบวชเป็นนาคหลวงด้วย
แน่นอนว่าในวันนั้นหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล ผู้เป็นบิดาของคุณชายต้องอยู่ในพระอุโบสถวัดพระแก้วด้วย ท่านชายองค์นี้ทรงรู้จักกับผมเป็นอย่างดี เมื่อเสร็จพิธีบวชแล้วจึงเสด็จมาทรงทักทายพร้อมกับทรงคม (ราชาศัพท์แปลว่าไหว้)
ผมซึ่งเกิดมาไม่เคยมีหม่อมเจ้ามายกหัตถ์ขึ้นทรงคมมาก่อน จะทำอะไรได้นอกจากสัญชาตญาณบอกว่าให้ยกมือขึ้นบังคมท่าน เป็นเหตุให้ท่านชายต้องเตือนว่า “อาจารย์เป็นพระแล้วนะ” นั่นแหละผมจึงได้สติ
เมื่อเล่าเรื่องแลกเปลี่ยนกันอย่างนี้แล้ว ทั้งผมและพระใหม่รูปที่ผมไปถวายเพลเมื่อวานนี้ จึงคุยกันสืบเนื่องไปว่า เห็นได้ทีเดียวว่าผ้าเหลืองและสมณวิสัยนี้เป็นของวิเศษนัก เพียงแค่คนเห็นผ้าเหลือง เขาก็ยกมือขึ้นไหว้เสียแล้ว
ตัวเราผู้เป็นพระครองผ้าเหลือง นอกจากต้องระมัดระวังกิริยาไม่ให้ยกมือขึ้นกราบไหว้หรือรับไหว้ฆราวาสแล้ว การที่มีคนอื่นมาไหว้เรา ทั้งๆ ที่หลายท่านอยู่ในฐานะที่เราเคยกราบเคยไหว้มาก่อน จึงทำให้เราต้องถามตัวเองว่าเรามีดีพอให้ท่านไหว้เราแล้วหรือยัง
นั่นหมายความว่าเราต้องตั้งใจที่จะเป็นพระที่อยู่ในพระธรรมวินัย ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ประพฤติตนให้อยู่ในความเหมาะสมความพอดีที่ผู้คนทั้งหลายจะไหว้ได้อย่างสนิทมือ
เวลาสามเดือนหรือหนึ่งพรรษาเต็มนี่แหละครับ ที่เราจะได้ตั้งอกตั้งใจทำหน้าที่ “พระ” ของเราให้ดีที่สุด
เมื่อครั้งที่ผมบวชนั้น ผมรู้ตัวดีว่าผมไม่มีวาสนาจะไปบรรลุมรรคผลนิพพานอะไรได้ เพราะกิเลสยังหนา ปัญญายังหยาบ แต่ผมก็ไม่ควรให้สามเดือนของผมภายในกำแพงวัดเสียเปล่า ได้เรียนหนังสือบ้าง ได้ตั้งคำถามกับตัวเองบ้างว่าชีวิตตัวเองควรเป็นอย่างไร ได้สังเกตเห็นความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างวัดกับบ้านว่ามีอยู่เช่นไร ได้เป็นเนื้อนาบุญให้ญาติมิตรได้ทำบุญในพระศาสนา ได้ประพฤติตนให้เป็นที่ไว้ใจของครูบาอาจารย์คือพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย เพียงแค่นี้ผมก็เห็นว่าคุ้มเวลาคุ้มกับความตั้งใจแล้ว
ประสบการณ์เรื่องนี้ของผมผ่านมานานเกือบสามสิบปีแล้ว แต่น่ายินดีและน่าปีติที่ในแต่ละปีก่อนถึงวันเข้าพรรษาก็จะมีผู้ที่ตัดสินใจเดินเข้ามาผ่านพบประสบการณ์แบบเดียวกันกับผมอีก รุ่นต่อรุ่น สืบต่อกันไปไม่สิ้นสุด
เข้าพรรษาปีนี้มีพระใหม่อยู่ที่วัดต่างๆ มากน้อยแค่ไหนก็ตาม ขอชักชวนกันเข้าไปทำบุญอย่าให้ขาดตกบกพร่องนะครับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022