เรื่องสั้น : คำอวยพร

“คันแม่นเจ้าเฮ็ดไฮ่ให้ได้แตงหน่วยหนา

คันแม่นเจ้าเฮ็ดนาขอให้ได้เข่า

ค้าขายหงายมือขอให้กำไรไหลหลั่ง

เฮ็ดอีหยังให้เจ้าเจริญก้าวหน้าสูแนว”

เสียงอวยพรของยายเหลืองลอยแทรกผ่านถ้อยสนทนาของเหล่านักศึกษา ที่ต่างพากันก้มหน้าก้มตาน้อมรับพร บางคนกระซิบกระซาบกันด้วยความตื่นเต้นในพิธีการที่ชุมชนบ้านกระสังร่วมใจ ได้จัดการต้อนรับกลุ่มนักศึกษาที่เดินทางมาเรียนรู้วิถีชุมชน

หลังพิธีผูกข้อมือบายศรีสู่ขวัญให้กับนักศึกษาเสร็จสรรพ เที่ยงก็ได้รับหน้าที่อีกอย่างคือ การพานักศึกษาไปดูบ่อน้ำกลางหมู่บ้านที่มีอายุเกือบสองร้อยปี อันเป็นบ่อน้ำเก่าแก่ ว่ากันว่าน้ำในบ่อไม่เคยเหือดแห้ง บ้างก็ว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีเทพเทวาปกปักรักษา ชาวบ้านทุกคนต่างรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ดี เพราะทุกปีชาวบ้านจะจัดพิธีขอขมาขอบคุณบ่อน้ำแห่งนี้ โดยทุกคนจะต้องบอกกล่าวลูกหลานที่ไปรับจ้าง ไปทำมาหากินที่อื่น ให้กลับมาร่วมพิธีดังกล่าว อันเป็นเสมือนสัญญาประชาคม หรือสัญญาใจที่คนในชุมชนต่างรับรู้ร่วมกัน โดยวันและเวลาจะเป็นวันเสาร์แรกของเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกันมานาน และการจัดพิธีขอขมาขอบคุณบ่อน้ำ ก็มักจะจัดควบคู่ไปกับการทำบุญหมู่บ้านด้วย

เที่ยงละมือจากการเด็ดใบขี้เหล็กที่ตนและเพื่อนๆ ในหมู่บ้านได้รับหน้าที่จากผู้ใหญ่บ้านคราประชุมเมื่ออาทิตย์ก่อน ว่าจะมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งเดินทางมาศึกษาวิถีชุมชน ผู้ใหญ่บ้านเห็นว่าเที่ยงมีหน่วยก้านดีกว่าเด็กเยาวชนคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน จึงบอกให้เที่ยงรับหน้าที่เป็นผู้นำเพื่อนๆ และเยาวชนไปเก็บขี้เหล็กทั้งในหมู่บ้าน และที่อยู่สองข้างทางที่ชาวบ้านได้ปลูกไว้เพื่อสนองแนวนโยบายหลักเศรษฐกิจพอเพียง และนอกจากขี้เหล็กแล้วก็ยังมีไม้ยืนต้นอื่นๆ ด้วย เช่น สะเดา เพกา เสม็ดชุน และต้นไม้อีกหลายต้นที่เป็นไม้พื้นถิ่น ชาวบ้านสามารถเก็บกินกันได้ทุกฤดู ถือเป็นสมบัติสาธารณะอย่างหนึ่งที่ทุกคนรับรู้กันดี

นักศึกษาต่างพากันตื่นเต้นที่ข้อมือของตนเต็มไปด้วยด้ายสายสิญจน์ บางคนหัวเราะชอบใจเพื่อนๆ ขณะก้มดูหน้าจอมือถือที่ตนไลฟ์สด ต่างชูไม้ชูมือ ทำท่าต่างๆ นานา บางคนโพสต์รูปผ่านเฟซบุ๊กและไอจีส่วนตัว “พิธีบายศรีสู่ขวัญ ณ บ้านกระสังร่วมใจ” พร้อมติดแฮชแท็ก #เด็กบ้านบ้าน# เพื่อบอกเล่าเรื่องราวผ่านโลกไซเบอร์ ให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้มาและบรรดาญาติๆ ได้สัมผัสถึงบรรยากาศการมาในครั้งนี้

ก่อนจะพากันเดินตามเที่ยงไปยังบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอยู่ห่างจากศาลากลางหมู่บ้านประมาณเจ็ดร้อยกว่าเมตร

แดดเช้าเดือนเมษายนยังคงทำหน้าที่ไม่ต่างจากลมหายใจของสรรพชีวิต ที่ขึ้น-ลง เข้า-ออก เป็นท่วงทำนองจังหวะอย่างที่ควรเป็น เที่ยงชี้มือไปยังบ่อน้ำ เมื่อนักศึกษาบางคนในกลุ่มถามว่า อีกไกลไหม?

แต่ที่พอจะมองเห็นคือ ต้นจบกใหญ่ ที่ยืนต้นตระหง่าน อยู่ถัดจากบ่อน้ำไปประมาณยี่สิบเมตร ซึ่งต้นจบกต้นนี้เล่ากันว่าน่าจะมีอายุอานามเท่าๆ กันกับบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เที่ยงยังจำได้ คราที่ตักน้ำใส่ครุนำมาให้ควายสองตัวที่ตนเลี้ยงเมื่อปีก่อน ขณะปล่อยควายให้และเล็มหญ้า ตนก็เผลอหลับ ตื่นขึ้นมาอีกทีก็มืดแล้ว เมื่อกลับไปยังบ้านก็พบว่าควายสองตัวเข้าไปอยู่ในคอกแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้มัด และประตูคอกก็ยังไม่ได้ถูกตอกสลักปิด ก่อนที่ตนจะรีบตอกสลักปิดคอก เพราะไม่อยากให้ยายรับรู้เรื่องที่ตนหลับลึกจนลืมเอาควายเข้าคอก เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ตนรับรู้ว่าใต้ร่มจบกนั้นเย็นสบาย มิต่างห้องแอร์ในห้างหรือในธนาคารที่ตนเคยพายายไปเบิกเงินที่แม่และพ่อส่งมาให้ แต่สิ่งหนึ่งที่ตนรู้สึกได้คือ ความอบอุ่น มิต่างอ้อมกอดของแม่ บางทีความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้น เพราะการขาดความรักความอบอุ่นแบบเด็กคนอื่นๆ ก็เป็นได้ เมื่อคิดได้เช่นนั้นเที่ยงจึงหยุดคิด

“เที่ยงๆ เขาเรียกว่าต้นอะไร?” ใครคนหนึ่งในกลุ่มถามขึ้น ขณะในมือขวายกมือถือเล็งมายังตน

“ต้นจบกครับ” เที่ยงตอบแบบอายเขินๆ ด้วยความไม่คุ้นชิน ที่มีกล้องประจันหน้า ก่อนเจ้าของคำถามจะหันกล้องไปยังบรรดาเพื่อนๆ ที่หัวเราะกันคิกคักสนุกสนานชอบใจ

ไม่นานนัก เที่ยงก็พานักศึกษาไปถึงบ่อน้ำกลางหมู่บ้าน เสียงเห่าของไอ้ดำหมาหลังอานลุงพจน์ดังมาแต่ไกลเมื่อมันเห็นกลุ่มนักศึกษา นักศึกษาบางคนต่างตกใจ บางคนพูดคุยถึงความสวยงามของมัน เที่ยงจึงเป่าปากเรียกไอ้ดำ เพื่อสร้างความคุ้นเคย และปล่อยให้ลุงพจน์ได้บอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาเรื่องราวของบ่อน้ำ ตามที่ผู้ใหญ่บ้านได้นัดแนะไว้ตามที่ประชุมกันวันก่อน

ลุงพจน์ขยับปีกหมวกใบตาลขึ้น พร้อมมัดผ้าขาวม้าที่เอวอีกครั้ง ทั้งที่แกมัดแน่นอยู่แล้ว บางทีแกคงแก้เขินนักศึกษา ก่อนจะเริ่มเล่าเรื่องราวความเป็นมาของบ่อน้ำที่ชาวบ้านต่างพากันเคารพนับถือแห่งนี้ เที่ยงปล่อยไอ้ดำเมื่อรู้ว่ามันคุ้นกับนักศึกษาและหยุดเห่าแล้ว ก่อนคิดค้อนไอ้ดำอยู่ในใจ (เสียหมาเลยมึง) เมื่อเห็นนักศึกษาบางคนโยนขนมให้ เที่ยงฟังลุงพจน์บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับหมู่บ้านกระสังร่วมใจ ที่ว่า

ชาวบ้านกลุ่มแรกที่เดินทางมาตั้งรกรากนั้น ได้ยึดโคนต้นกระสังเป็นที่พัก และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านของตนว่าบ้านกระสังร่วมใจ อันหมายถึงบ้านที่ทุกคนต่างมีความสมัครสมานสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน จนกลายมาเป็นหมู่บ้านใหญ่ในปัจจุบันนี้

เมื่อนักศึกษาได้ฟังเรื่องราวดังกล่าว จึงเกิดคำถามว่า แล้วหมู่บ้านกระสังร่วมใจแห่งนี้ ทำไมชาวบ้านถึงอยู่กันอย่างครอบครัว อันเป็นคำถามที่ดูจะสะกิดเที่ยงให้คิดตามและใคร่รู้ในคำตอบของลุงพจน์ ว่าแกจะตอบคำถามนักศึกษาอย่างไร เพราะตั้งแต่เกิดมาเที่ยงก็เข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้ราวกับเป็นบ้านของตัวเอง เวลาเที่ยงไปหว่านแห หรือได้สายบัว ผักหวาน เที่ยงก็จะแบ่งปันแก่ชาวบ้านที่ผ่านพบระหว่างทาง ทำให้ตนไม่เคยคิดถึงเรื่องอื่นๆ หรือคิดถึงเรื่องของการซื้อขาย เพราะที่ผ่านมาจะมีก็แต่การแลกเปลี่ยนกันเท่านั้น

ครั้งหนึ่งญาติยายเดินทางมาจากบ้านหนองไม้งาม ซึ่งเป็นหมู่บ้านติดเขตชายแดนกัมพูชา ได้พากันทั้งแบก ทั้งหาม ทั้งหาบ หน่อไม้ยักษ์ หมูป่า พืชผักนานาชนิดมาหายาย เพื่อนำมาแลกข้าวแลกเกลือ เพราะที่บ้านขาดแคลน ยายบอกให้เที่ยงไปแจ้งผู้ใหญ่บ้านให้ประกาศผ่านหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านว่า ใครอยากกินหน่อไม้ยักษ์ หมูป่า ให้นำข้าวสารมาแลกเอาที่บ้านของยาย และทุกคนในหมู่บ้านก็พากันมาบ้านยาย พร้อมกับข้าวสาร เกลือ ปลาร้า ยายให้ตาแบ่งสันปันส่วน หรือที่ตาเรียกว่า “การแบ่งพูด” “การปันพูด” คือการแบ่งปันกันในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน หน่อไม้ยักษ์ หมูป่า แบ่งปันกันอย่างทั่วถึง และเท่าๆ กัน

“แล้วหมู่บ้านกระสังร่วมใจแห่งนี้ ทำไมชาวบ้านถึงอยู่กันอย่างครอบครัว?”

ลุงพจน์คิดอยู่นานก่อนจะตอบนักศึกษากลับไปเป็นเรื่องเล่าว่า…

มหาเศรษฐีคนหนึ่งมีลูกสาวหนึ่งคน ด้วยความรักและความเป็นห่วงลูกสาวคนเดียวของตน จึงคิดกุศโลบายการเลือกคู่ครองให้แก่ลูกสาวของตน โดยป่าวประกาศไปว่า ชายคนใดที่ต้องการจะแต่งงานกับลูกของตน ให้มาลงชื่อและรับการทดสอบเชาวน์ปัญญา หากใครตอบได้ และคำตอบนั้นเป็นที่พอใจ ตนจะยกลูกสาวและทรัพย์สมบัติให้

เมื่อข่าวคราวลอยไปถึงหูของชายหาปลาคนหนึ่ง ชายหาปลาจึงได้เดินทางมายังบ้านของมหาเศรษฐี พร้อมกับชายหนุ่มคนอื่นๆ ที่ได้ยินข่าว และเมื่อถึงเวลานัดหมาย มหาเศรษฐีได้ประกาศต่อหน้าชายหนุ่มที่ต่างพากันมาทดสอบเชาวน์ปัญญา ถึงกฎกติกาต่างๆ ซึ่งชายหนุ่มที่มาแต่ละคนต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอยคำถามจากมหาเศรษฐี

แล้วมหาเศรษฐีก็ถามขึ้นว่า “เรามีปลาช่อนตัวใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง แต่เราอับจนปัญญาเหลือเกิน จะทำอย่างไรให้ปลาช่อนตัวใหญ่ตัวนี้กินกันไม่หมด เราจึงอยากถามพวกท่านที่เป็นผู้รู้ทุกท่านว่า พวกท่านจะทำอย่างไรให้ปลาช่อนตัวใหญ่ตัวนี้กินกันไม่หมด” ?

เมื่อชายหนุ่มได้ฟังคำถามจากมหาเศรษฐี ต่างคนต่างพูดคุยเอะอะเสียงดังโวยวาย บางคนถึงกับท้อใจ ก่อนที่จะมีชายหนุ่มในกลุ่มตะโกนตอบมหาเศรษฐีไปว่า

“ข้าจะนำปลาช่อนตัวนี้ไปต้มยำ”

“บางคนตอบว่าจะนำปลาช่อนตัวใหญ่ไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ”

“ข้าจะเอาไปทำปลาแดดเดียว”

มหาเศรษฐียังคงนิ่งเงียบ เพราะคำตอบที่ชายหนุ่มแต่ละคนตอบมานั้นยังไม่เป็นที่พอใจเท่าไหร่นัก ชายหนุ่มบางคนถึงกับท้อแท้ พร้อมหันหลังกลับ

ขณะที่ชายหาปลายังคงเงียบฟังถ้อยสนทนาของบรรดาชายหนุ่ม ก่อนจะตอบมหาเศรษฐีไปว่า ข้าเป็นชายหาปลา ปลาทุกตัวที่ข้าจับได้ ข้าจะเอาไปให้แม่ข้า แล้วแต่แกจะทำอะไรกับมัน แต่คำถามที่ท่านมหาเศรษฐีถามมา ข้าขอตอบท่านว่า ก่อนที่แม่ข้าจะหมดบุญ ท่านได้ให้ข้านำปลาที่แกขังไว้ไปทำเป็นอาหารเพื่อแบ่งปันแก่ชาวบ้านคนอื่นๆ แกบอกว่า ปลาของเราจะไม่มีวันกินหมด เพราะสิ่งที่เราแบ่งปันจะหวนกลับมาสู่เรา ฉะนั้น ปลาช่อนตัวใหญ่ตัวนี้ของท่าน ข้าจะนำมันไปปรุงอาหารและแจกจ่ายแก่ทุกคนที่มา ณ ที่นี้ และถ้าเหลือข้าก็จะแจกจ่ายไปยังคนอื่นๆ คำตอบของข้ามีเพียงเท่านี้ครับท่านมหาเศรษฐี

เมื่อมหาเศรษฐีได้ฟังคำตอบจากชายหาปลาก็รู้สึกถูกอกถูกใจมาก จึงบอกแก่ชายหาปลาว่า ตนพร้อมจะยกลูกสาวและทรัพย์สมบัติให้ ชายหาปลาจึงได้ครองรักกับลูกสาวของมหาเศรษฐี และสร้างบ้านเมืองขึ้นมา และปกครองอย่างสงบสุข

หลังจากนักศึกษาได้ฟังเรื่องราวจากลุงพจน์ ทุกคนต่างรู้สึกถึงความอบอุ่นของคนในชุมชน ก่อนที่ลุงพจน์จะบอกเล่าเรื่องราวของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้นักศึกษาได้ฟังต่อ

เที่ยงเองก็อดภาคภูมิใจในหมู่บ้านของตนไม่ได้ ภูมิใจที่หมู่บ้านกระสังร่วมใจอยู่กันอย่างครอบครัว ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เที่ยงนึกไปถึงหน้าเกี่ยวข้าวที่ชาวบ้านลงแรงแข็งขัน โดยการลงแขกเกี่ยวข้าว ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ก่อนจะอดกลืนน้ำลายไม่ได้เมื่อนึกไปถึงหม้อแกงขี้เหล็กฝีมือป้าอาย ที่ตนและเพื่อนๆ ต่างพากันขึ้นเก็บและลงมือขูดมะพร้าวเองด้วย เพื่อต้อนรับนักศึกษาที่เดินทางมาจากเมืองหลวง

ลมหลงฤดูพัดกิ่งจบกไหววู่ ใบเหลืองอ่อนของจบกร่อนลงตามแรงลม ขณะลุงพจน์ยังคงบอกเล่าเรื่องราวของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และประวัติศาสตร์หมู่บ้าน ลมหัวกุดขนาดเล็กได้หอบตอซัง พร้อมก่อตัวขึ้นเล็กๆ ลุงพจน์ชี้มือให้นักศึกษาดู บางคนถึงกับตื่นเต้นด้วยความที่ไม่เคยเห็น บางคนรีบใช้มือถือบันทึกภาพกันอย่างสนุกสนาน ทันใดนั้นเสียงประกาศจากหอกระจายข่าวของผู้ใหญ่บ้านแจ้งมาว่า ตอนนี้แม่บ้านชุมชนกระสังร่วมใจของเราได้เตรียมอาหารไว้พร้อมแล้ว จึงอยากให้ลุงพจน์พาเด็กนักศึกษามารับประทานอาหารร่วมกัน นักศึกษาต่างพากันยกมือไหว้ขอบคุณลุงพจน์ หลังสิ้นเสียงประกาศจากหอกระจายข่าวของผู้ใหญ่บ้าน ลุงพจน์รับไหว้ก่อนอวยพรแก่เด็กนักศึกษาว่า “ขอให้นักศึกษาทุกท่านได้เป็นเจ้าคนนายคน”

เที่ยงกล่าวลาลุงพจน์ เพราะเที่ยงแล้ว ลุงพจน์ต้องไปให้น้ำวัวก่อน ก่อนที่จะตามไปร่วมกินข้าวกับนักศึกษาและชาวบ้าน

หลังจากที่เที่ยงพานักศึกษามาถึงศาลากลางหมู่บ้าน และทุกคนได้นั่งล้อมวงกับข้าวที่ชาวบ้านได้เตรียมไว้ ในใจเที่ยงก็คิดถึงประโยคของลุงพจน์ที่อวยพรแก่นักศึกษาว่า “ขอให้นักศึกษาทุกท่านได้เป็นเจ้าคนนายคน” ทำไมลุงพจน์ถึงได้อวยพรแบบนั้น? ก่อนจะอดคิดไปถึงคำอวยพรของยายเหลืองไม่ได้

“คันแม่นเจ้าเฮ็ดไฮ่ให้ได้แตงหน่วยหนา

คันแม่นเจ้าเฮ็ดนาขอให้ได้เข่า

ค้าขายหงายมือขอให้กำไรไหลหลั่ง

เฮ็ดอีหยังให้เจ้าเจริญก้าวหน้าสูแนว”