การ์ตูนที่รัก/Maus (3)

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Maus (3)

เล่ม 1 My Father Bleeds History บทที่ 4-5

เนื้อเรื่องแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์ปัจจุบัน อีกส่วนหนึ่งเล่าเรื่องที่เกิดแก่ชาวยิวโปแลนด์ในตอนกลางสงครามโลกครั้งที่สอง

วันหนึ่ง มาลา เมียใหม่ของพ่อบอกแก่อาร์ตี้ว่าพ่อไม่พอใจมาก เพราะพ่อไปเห็นและอ่านการ์ตูนที่อาร์ตี้เคยเขียนและตีพิมพ์

คือการ์ตูนช่องเรื่อง Prisoner on the Hell Planet นักโทษบนดาวนรก การ์ตูนเรื่องนี้อาร์ตี้เล่าเหตุการณ์ผู้หญิงคนหนึ่งฆ่าตัวตายด้วยการกรีดข้อมือในอ่างน้ำ เมื่อสามีมาเห็นเข้าก็ร้องห่มร้องไห้ ทันใดนั้นลูกชายซึ่งเพิ่งจะออกจากโรงพยาบาลโรคจิตกลับมาบ้าน

ลูกชายตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชาวบ้านมามุงดู ญาติๆ มางานศพ พิธีกรรมพิธีการผ่านไปอย่างเชื่องช้า “แม่จะลงโทษผมไปถึงไหน” คือคำพูดของลูกชาย

แทนที่จะเห็นใจแม่ หรือพยายามเข้าใจแม่ กลับกล่าวโทษแม่ซ้ำ

อารมณ์เศร้าที่แม่มี ความทุกข์ที่พ่อแบกรับ ทั้งสองอย่างถ่ายทอดสู่ลูกผ่านทางพันธุกรรม เท่านั้นยังไม่พอ มีเรื่องชีวิตที่กดทับลูกชายจนต้องเข้าโรงพยาบาลจิตเวช อาร์ตี้สารภาพว่าเขาต้องเขียนเรื่องที่เกิดขึ้น และพร้อมรับคำตำหนิจากพ่อ ที่เขียนไปนั้นเป็นแค่ระดับปรากฏการณ์ เขายังไม่รู้สาเหตุว่าทำไมพ่อถึง “เยอะ” ขนาดนี้ และวันนี้เขาพยายามจะเข้าใจเรื่องที่แม่ฆ่าตัวตาย

ดังนั้น เขาจะยังคงให้พ่อเล่าเหตุการณ์ในโปแลนด์ต่อ

เมื่อพ่อ วลาเด็ก โผล่มา พ่อไม่เพียงหายโกรธแล้ว เขาเล่าเรื่องราวครั้งอดีตต่อ

หลังจากที่ครอบครัวใหญ่ของวลาเด็กและอันจากลับมาอยู่พร้อมหน้ากันในเกตโตที่ซอสโนวิค นาซีก็เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างชาวยิวเป็นขั้นเป็นตอน

พ่อเล่ารายละเอียดที่เกิดแก่ทุกคน ทั้งพ่อแม่ของตัว และพ่อตาแม่ยาย ญาติๆ และเด็กๆ รวมทั้งเรื่องลูกชายของตนเองและอันยา คือพี่ชายที่อาร์ตี้ไม่เคยได้พบ

ทุกๆ ครั้งที่มีคำสั่งมาให้ย้ายที่อยู่ หนูชาวยิวอยู่กับปัจจุบันเสมอ “เราก็ยังดีกว่าอีกหลายครอบครัว” “นี่คงแย่ที่สุดแล้ว” “ต่อไปอะไรจะดีขึ้น” แต่ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ดูเหมือนหนูชาวยิวจะไม่เคยได้บทเรียน พวกเขาพลัดพรากจากกัน ตายทีละคน ตายทีละครอบครัว รวมทั้งเด็กๆ แม้แต่พี่ชายของอาร์ตี้ก็ไม่รอด

ภาพวาดในหนังสือการ์ตูนช่วงนี้เต็มไปด้วยรูปหนูพูดคุยกัน ปลอบใจกัน เจรจาต่อรองให้เหตุผลเข้าข้างตัวเอง หนูทุกตัวเหมือนๆ กันไปหมด ไม่มีความแตกต่างทางกายภาพ ไม่มีความแตกต่างทางความคิด อ่านไปเรื่อยๆ นักอ่านก็แยกได้ยากว่าตัวไหนคือพ่อ วลาเด็ก และตัวไหนคือแม่ อันจา

เมื่อทุกคนตายหมด วลาเด็กกลัวมาก แต่อันจากลัวที่สุด เธอตกอยู่ในสภาพอกสั่นขวัญแขวนบ่อยครั้ง ชีวิตที่อยู่บนเส้นด้ายระหว่างความเป็นและความตาย คือสาเหตุที่ทำให้เธอจะเป็นโรคซึมเศร้าสมบูรณ์แบบในเวลาต่อมา

คือความเครียดในระดับที่รุนแรงเกินกว่ามนุษย์จะทนได้ไปทำลาย (distupt) สมดุลของสารเคมีในระบบประสาทส่วนกลาง

พ่อพาแม่ปลอมตัวเป็นหมูชาวโปลหนีออกจากสถานกักกันที่พรากทุกคนไปจากสองสามีภรรยา วลาเด็กซ่อนหางไว้แนบเนียนแต่อันจาโผล่หางให้เห็นชัดเจน อาจจะเพราะความตระหนกและความเศร้าที่เกาะกุมทำให้เธอเป็นที่สังเกตได้ง่าย

สองสามีภรรยาไปอาศัยอยู่ที่ฟาร์มของคุณนายคอว์คา สตรีชาวโปลคนหนึ่ง โดยจ่ายค่าตอบแทนสำหรับที่พักและอาหารจากตลาดมืด วลาเด็กต้องเดินทางไปมาระหว่างฟาร์มและตลาดมืดอยู่เสมอ

ต่อมาคุณนายโมโตโนวา ซึ่งทำการค้าตลาดมืดเสนอที่อยู่แก่สองสามีภรรยา เพื่อมิให้วลาเด็กต้องลำบากเดินทางไปมาระหว่างฟาร์มกับตลาด อันจาจึงสบายใจขึ้นเพราะไม่ต้องอยู่คนเดียวบ่อยๆ อีกเวลาที่วลาเด็กออกไปหาอาหาร เธอถึงกับติวภาษาเยอรมันให้แก่ลูกชายของคุณนายโมโตโนวา

แต่แล้ววันหนึ่ง เกสตาโปก็บุกจับตลาดมืด คุณนายโมโตโนวากรีดร้องโวยวายให้วลาเด็กและอันจารีบหนีออกจากบ้านทันที ทั้งสองจึงกลับมาอยู่ฟาร์มของคุณนายคอว์คาอีกครั้งหนึ่ง

“เธอต้องจ่ายเงินกับความกรุณาเหล่านี้มั้ย” อันจาถาม

“แน่นอน พวกเขาเป็นชาวโปล แต่ก็ดีกว่าอีกหลายๆ คน” วลาเด็กอธิบาย

เป็นเวลาหลายเดือนที่พ่อวิ่งวุ่นกับการหาอาหาร นั่นคือสาเหตุที่พ่อเป็นอย่างที่เป็นวันนี้ คือตระหนี่ถี่เหนียว เห็นแก่ตัว ร้ายกาจไม่ต่างอะไรจากพวกเหยียดผิว เป็นคนยิวแก่ๆ ที่มองเห็นแต่ตัวเอง คือคำบรรยายที่มาลาบอกแก่อาร์ตี้

บางครั้งที่วลาเด็กและอันจาต้องคอยหลบหนีสายตาผู้คนจนถึงกับนอนหนาวทั้งคืนกลางแจ้ง เป็นวลาเด็กที่ดูแลอันจาด้วยความรักและห่วงใยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย คือคู่ผัวตัวเมียที่แนบแน่นจนกระทั่งเชื่อได้ว่าเมื่อคนหนึ่งตาย อีกคนหนึ่งจะต้องลำบากอย่างแสนสาหัส คือชีวิตของวลาเด็กทุกวันนี้

ชีวิตของพ่อและแม่วิ่งไปมาระหว่างบ้านคุณนายโมโตโนวาและคุณนายคอว์คา โดยมีชีวิตที่ระแวดระวัง ยามสงบก็อาจจะออกมานั่งพักผ่อนได้ ยามที่นาซีหรือสามีของเจ้าของบ้านมาก็ต้องหลบซ่อน มีครั้งหนึ่งที่พวกเขาต้องซ่อนตัวโดยไม่มีอาหารถึงสามวันกับพวกหนูจริงๆ ความเครียดเหล่านี้ไม่สิ้นสุดเสียที

ในที่สุดวลาเด็กทนไม่ไหว เขาวางแผนติดต่อชาวโปลเพื่อพาเขาและอันจาหลบหนีไปฮังการี วลาเด็กในเวลานั้นยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรแก่ชาวยิวฮังการี เขาเชื่อว่ายิวที่นั่นปลอดภัยกว่าที่นี่ อันจาคัดค้านด้วยความกลัวอย่างถึงที่สุด แต่วลาเด็กให้เธอดูจดหมายของหลานที่หนีไปฮังการีสำเร็จ

คือกลลวงของนาซี พ่อและแม่ไปไม่ถึงฮังการี สองคนไปถึงค่ายกักกันเอาซต์วิชต์ในเวลาต่อมา

คือปี 1944