จรัญ มะลูลีม : สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง ในซาอุดีอาระเบีย (1)

จรัญ มะลูลีม

การเปลี่ยนผ่านในซาอุดีอาระเบียโดยเฉพาะในราชวงศ์อับดุลอะซีส อิบนุ สะอูด ได้รับความสนใจจากทั่วโลกโดยเฉพาะชาวมุสลิมที่พวกเขาต้องเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ทุกปีเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าสองล้านคน

ความจริงซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งทั้งที่มาจากภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะความตึงเครียด เร่าร้อน เรื่อยมา

จนมาถึงการแต่งตั้งเจ้าชายมุฮัมมัด บินสัลมาน (Muhammad bin Sulman) ที่เรียกกันโดยย่อๆ ว่า MBS ขึ้นมาเป็นมกุฎราชกุมารที่ทรงพลังที่สุดในเวลานี้

ในฐานะประเทศร่ำรวยน้ำมันและมีความเคร่งครัดศาสนาอิสลาม และเป็นราชอาณาจักรสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีเหลือแค่กี่ไม่ประเทศ (ดั่งเช่น โอมาน กาตาร์ บรูไน ซาอุดีอาระเบีย)

ซาอุดีอาระเบียในเวลานี้ได้กลายมาเป็นประเทศที่ประชาคมโลกให้ความสนใจและเป็นพาดหัวของหนังสือพิมพ์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลาง

ภาพของโรงแรมริชช์ คาร์ตันในกรุงริยาด ที่ถูกปิดและเปลี่ยนเป็นที่คุมขังสำหรับเชื้อพระวงศ์ ข้าราชการหรือนักธุรกิจที่ต้องคดีคอรัปชั่น/เอเอฟพี

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะไม่ให้ซาอุดีอาระเบียต้องขึ้นอยู่กับน้ำมันเท่านั้น เจ้าชาย MBS จึงต้องการให้ซาอุดีอาระเบียหลุดพ้นจากความเป็นประเทศอนุรักษนิยมทางศาสนา มาเดินตามแนวทางอิสลามที่มีความเป็นประชาชาติสายกลาง (อุมมะตัน วะสะตัน) หรือ Peple of the Middle Path มากขึ้น

เวลานี้ MBS แทบจะทำหน้าที่แทนพระราชบิดาอยู่แล้ว ด้วยการเร่งปฏิรูปประเทศอนุรักษนิยมอย่างซาอุดีอาระเบียให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น

ผลงานล่าสุดของเจ้าชายผู้ขึ้นมาเป็นมกุฎราชกุมารในวัย 32 พรรษาผู้นี้ ที่น่าสนใจก็คือการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจของซาอุดีครั้งสำคัญ และนับเป็นประวัติศาสตร์ที่จะต้องจารึกเอาไว้ในซาอุดีอาระเบียที่ไม่เคยมีกษัตริย์พระองค์ใดหรือมกุฎราชกุมารพระองค์ใดเคยทำมาก่อน

เจ้าชายในราชวงศ์ถูกจับกุม 11 พระองค์พร้อมๆ ไปกับเจ้าหน้าที่และนักธุรกิจอีก 38 คน

 

การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากราชอาณาจักรที่เคร่งครัดนี้ประกาศให้สตรีในประเทศขับรถได้ นับจากปี 2018 เป็นต้นไป นอกจากนี้สตรียังได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมดูกีฬาพร้อมๆ ไปกับบุรุษในสนามกีฬาได้

การเคลื่อนไหวของเจ้าชาย MBS ถูกมองด้วยมุมมองของผู้คนที่แตกต่างกันไป เช่นมองว่าพระองค์มีความพยายามสถาปนาอำนาจที่มีฐานอยู่ในครอบครัวกษัตริย์และอำนาจที่มาจากต่างประเทศ

ไปจนถึงการวิเคราะห์ว่าพระองค์กำลังใช้ความพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจโดยเลือกเอาแนวทางที่เป็นกลางตามคำสอนของศาสนาอิสลามมากขึ้น

สำหรับประเทศที่ถือกำเนิดมาจากความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและศาสนา การก้าวกระโดดทางนโยบายที่เจ้าชาย MBS นำมาใช้ ได้ส่งผลสะเทือนมาสู่ประเทศมุสลิมทั่วโลก

เป็นที่รับทราบกันดีอยู่แล้วว่า อำนาจของราชวงศ์ได้ถูกเก็บรักษาไว้ในครอบครัวของกษัตริย์มาอย่างเหนียวแน่นยาวนาน และอำนาจนี้ก็ได้รับการจัดสรรออกไปตามเครือข่ายของราชวงศ์เอง

ศตวรรษที่ 18 บรรพบุรุษจากครอบครัวอัล-สะอูด (Al-Saud) ได้วางรากฐานของสิ่งที่เรียกว่าซาอุดีอาระเบียสมัยใหม่ขึ้นมา

แผ่นดินซาอุดีอาระเบียประกอบขึ้นจากเผ่าพันธุ์ของชาวบะดาวี (Badawi) หรือเบดุอิน (Bedouin) หรือ Nomad จากหลายเผ่าพันธุ์ ซึ่งแสวงหาทุ่งหญ้าให้กับสัตว์เลี้ยงเพื่อการดำรงชีวิต

นอกเหนือไปจากการแสวงหาการมีอิทธิพลโดยทั่วไปแล้ว เป็นที่ประจักษ์ว่าครอบครัวอัล-สะอูด สามารถเข้าสู่อำนาจได้สำเร็จจากการร่วมเป็นพันธมิตรกับสานุศิษย์ของสำนักคิดวะฮาบีย์อิสลาม (Wahhabi school of Islam)

โดยภาพรวมแล้วระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของซาอุดีอาระเบียมีอำนาจอยู่เหนือประชาชนของตนเองมากกว่าที่อาณาจักรในสมัยกลางของยุโรปเคยมีเสียอีก

 

การเปลี่ยนผ่านทางอำนาจในเวลานี้ของซาอุดีอาระเบีย เริ่มจากกษัตริย์ สัลมาน บินอับดุลอะซีส (Salman bin Abd al-Aziz) ได้เปลี่ยนเอามกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่คือมุฮัมมัด บินสัลมาน โอรสของพระองค์เองเข้ามาแทนเจ้าชายมุฮัมมัดอิบนุ นายีฟ อัล-สะอูด (Muhammad ibn Nayef al-Saud)

สองสามศตวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ซาอุดีอาระเบียถือกำเนิดขึ้น ประเทศนี้ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสี่ช่วงด้วยกัน และต้องต่อสู้ดิ้นรนจากแรงกดดันทั้งจากภายนอก ซึ่งมาจากอำนาจต่างประเทศและความขัดแย้งภายในประเทศ อันเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาจารีตของแนวคิดวาฮาบีย์ อันเป็นอุดมการณ์ที่มาพร้อมกับการจัดตั้งประเทศเอาไว้

ช่วงแรก (ระหว่างปี 1744-1902) ช่วงนี้เริ่มต้นจากหัวหน้าเผ่าคือ มุฮัมมัด บิน สะอูด (Muhammad bin Saud) ได้ตกลงกับมุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ้าบ (Muhammad bin Abdul Wahhab) ซึ่งต่อมาชื่อของเขากลายเป็นชื่อสำนักคิดวะฮาบีย์ ซึ่งเรียกตามชื่อหลังของเขา (Wahhab) แต่ชื่อที่ถูกต้องของแนวคิดนี้เรียกกันว่ามุวาฮิดูนหรือการเน้นในเอกภาพของพระเจ้า แนวคิดดังกล่าวยึดถือแนวทางของอิมามมุฮัมมัด อิบนุ ฮัมบัลหรือสำนักคิดฮัมบะลี ซึ่งเป็นสำนักคิดหนึ่งของซุนนี

ทั้งนี้ นักการศาสนาอย่างอับดุลวะฮ้าบจะให้การสนับสนุนเผ่าพันธุ์อัล-สะอูด เพื่อแลกเปลี่ยนกับฝ่ายหลังที่จะต้องมุ่งมั่นผูกพันอยู่กับสำนักคิดฮัมบะลีผ่านคำสอนของอับดุลวะฮ้าบ (วะฮาบีย์)

สำนักคิดฮัมบาลีที่อับดุลวาฮ้าบยึดถือได้ชื่อว่ามีความเคร่งครัดกว่าสำนักคิดใดๆ ของซุนนีอิสลาม อับดุลวะฮ้าบ มีความมุ่งมั่นในการทำให้ซาอุดีอาระเบียมีกลิ่นอายทางศาสนาที่เริ่มมีการเผยแผ่ในศตวรรษที่ 17

โดยอับดุลวะฮ้าบได้มอบอำนาจอันชอบธรรมทางศาสนาให้ครอบครัวอัล-สะอูด และมุฮัมมัด บินสะอูด ก็สามารถทำให้ดินแดนที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของแนวคิดที่เรียกกันว่าวะฮาบีย์ได้รับความสำเร็จจากฐานกำลังที่ตั้งอยู่ในเมืองดีริยะฮ์ (Diriyah) ซึ่งพันธมิตรของอัล-สะอูด ได้กระจายออกไปทั่วทิศทาง

ในขณะที่เผ่าพันธุ์ของชาวเบดุอินที่เข้าร่วมสนับสนุนภารกิจของซาอุดี-วะฮาบีย์ ก็มีอีกหลายกลุ่มก้อนที่ออกมาต่อต้านอย่างรุนแรงเช่นกัน

พอถึงปี 1790 ครอบครัวนี้ก็สามารถสร้างตนเองขึ้นมาได้ในฐานะ ฐานที่มั่นทางเศรษฐกิจการเมืองและการทหารที่เข้มแข็ง

ที่ใดที่พวกเขาผ่านเข้าไปพวกเขาก็สามารถใช้แนวทางวะฮาบีย์ได้อย่างประสบความสำเร็จในฐานะของแนวคิดที่ได้รับการรับรองจากประชาชน

 

ในขณะที่อำนาจจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอาณาจักรออตโตมานมีอำนาจอยู่จนกว่าจะถึงศตวรรษที่ 19 นั้น กลุ่มก้อนของอัล-สะอูด ทำหน้าที่ได้แค่การปกครองของเผ่าพันธุ์เท่านั้น แต่ยังคงได้รับการภักดีจากเผ่าส่วนใหญ่และกลับมาสถาปนาอำนาจได้อีกครั้งในเวลาต่อมา โดยได้ขยายอำนาจของพวกเขาไปจนถึงนครริยาฏ (Riyadh)

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาส่วนใหญ่ของศตวรรษที่ 19 ครอบครัวของอัล-สะอูด ต้องเผชิญกับความเป็นปรปักษ์จากอาณาจักรออตโตมาน

ในท้ายที่สุดในทศวรรษ 1890 ก็ต้องสูญเสียการครอบครองเหนือริยาฏไป

ครอบครัวของอัล-สะอูด ที่ในเวลานั้นนำโดยอับดุรเราะห์มาน บิน ฟัยซ็อล (Abdul Rahman bin Faisal) จึงต้องหลบหนีไปคูเวต

เนื่องจากคูเวตในเวลานั้นอยู่ในอารักขาของอังกฤษ คูเวตจึงเป็นดินแดนที่ปลอดภัยสำหรับการลี้ภัยทางการเมืองของบินฟัยซ้อล จนกว่าพระองค์จะได้กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้งที่กรุงริยาฏในเวลาต่อมา

โอรสของพระองค์คืออิบนุสะอูด กลายเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการนำพาเอาครอบครัวอัล-สะอูด กลับสู่อำนาจในกรุงริยาฏอีกครั้งและกลายเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในปี 1902