ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
“ละคร” การเมืองเรื่องเลือกตั้งที่กำกับการแสดงโดยท่านอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีวัย 70 ปีของกัมพูชาเมื่อ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ลงเอยตามที่คาดหมาย พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) กวาดชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 120 ที่นั่ง
หลงเหลือที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรที่มีทั้งหมด 125 ที่นั่งให้กับพรรคฟุนซินเปก ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายค้าน” หรือ “ร่วมมือ” กับซีพีพีของฮุน เซน ดี เพียง 5 ทีนั่ง
นั่นคือผลลัพธ์จากการดำเนินการล่วงหน้าอย่างพิถีพิถัน ผ่านวิธีการหลากหลาย ตั้งแต่การใช้ความรุนแรง, ข่มขู่, คุกคาม, จับกุมคุมขัง, บีบจนต้องหลบหนีไปลี้ภัยอยู่ในต่างแดน รวมถึงการอาศัยอำนาจครอบงำและบิดเบือนการทำหน้าที่ของศาลสถิตยุติธรรม กำจัดผู้ที่ต่อต้าน คัดค้าน หรือแม้แต่เพียงแค่เห็นต่างในทางการเมืองออกไปจนหมดสิ้น
ตัวอย่างรูปธรรมหลังสุดก็คือ การตัดสิทธิพรรค “แสงเทียน” ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากส่อเค้าว่าพรรคแสงเทียน ซึ่งก่อตัวขึ้นจากส่วนที่หลงเหลือจากพรรคกู้ชาติกัมพูชา ของสม รังสี ที่ถูกคำสั่งศาลยุบพรรคไปเช่นกันเมื่อปี 2017 สามารถทำผลงานได้ดีในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่ผ่านมา
ผลการเลือกตั้งและตัวการเลือกตั้งที่ผ่านมาของกัมพูชาจึงแทบไม่หลงเหลือนัยสำคัญให้พูดถึง
สิ่งเดียวที่ทำให้การเลือกตั้งในกัมพูชาครั้งนี้เป็นที่จับตามองมากเป็นพิเศษ ก็คือการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง “ผู้นำ” ประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ฮุน เซน ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน
ในการประชุมพรรคซีพีพีเมื่อปีที่แล้ว ฮุน เซน ในฐานะประธานพรรคบอกกับที่ประชุมไว้ว่า
“ผมจะกลายเป็นพ่อของนายกรัฐมนตรีหลังปี 2023 แล้วจะเป็นปู่ของนายกรัฐมนตรีในทศวรรษ 2030”
ภายใต้การเมืองระบอบรัฐสภา ไม่เคยมีใครกล้าประกาศเช่นนั้น แต่ฮุน เซน กล้าประกาศอย่างมั่นใจในอำนาจเบ็ดเสร็จที่รวบอยู่ในมือตัวเองผ่านระบบที่วางเอาไว้อย่างถี่ถ้วน
คนกัมพูชารู้กันมานานแล้วว่า คนที่ฮุน เซน เลือกให้ “สืบทอด” ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็คือ ฮุน มาเนต ลูกชายคนโตวัย 45 ปี นายพลสี่ดาวที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบก, รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกัมพูชา ก่อนลาออกจากกองทัพมาลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วได้เป็น ส.ส.สมัยแรกในการเลือกตั้งครั้งนี้
เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สร้างความ “คาดหวัง” ลางๆ ให้กับหลายคนว่า อาจบางทีนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าของการเมืองในกัมพูชา อย่างน้อยที่สุด เขาก็ใช้เวลาอยู่นานกว่าสิบปีศึกษาอยู่ในบรรยากาศเสรีของโลกตะวันตก
ฮุน มาเนต สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันเตรียมหทารแห่งสหรัฐอเมริกา (หรือ เวสต์ปอยต์ ที่จนถึงขณะนี้มีชาวกัมพูชาเพียง 3 คนเท่านั้นได้เข้าศึกษา) เมื่อปี 1999 วิชาเอกคือเศรษฐศาสตร์ ต่อด้วยการศึกษาต่อทางด้านเศรษฐศาสตร์จนจบปริญาโทจาก มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก แล้วปิดท้ายด้วยปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกันจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2008
หลังจากนั้นก็กลับบ้านเกิดมาเข้าคอร์ส “ฝึกผู้นำ” สไตล์ฮุน เซน อย่างจริงจัง ทางหนึ่งไต่เต้าอย่างรวดเร็วในกองทัพ ในอีกทางหนึ่งก็แทรกตัวเข้าไปเป็นหนึ่งในคน “วงใน” ของพรรคซีพีพี รับตำแหน่งประธานยุวชนพรรค สั่งสมอำนาจและบารมีทางการเมือง สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ โดยเฉพาะกับกลุ่มนักธุรกิจที่อายุต่ำกว่า 50 ปี
ว่ากันว่า ฮุน มาเนต เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างฐานเสียงในกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่และสร้างสมาชิกใหม่ๆ ที่อายุยังน้อยให้กับพรรคซีพีพี จนสามารถขยายฐานของพรรคออกไปกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกบางคนรวมทั้ง โจชัว เคอร์แลนต์ซิก นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเคาน์ซิล ออน ฟอรีน รีเลชั่นส์ (ซีเอฟอาร์) องค์กรวิชาการอิสระในสหรัฐอเมริกา เชื่อว่า มาเนตยังไม่มีบารมีมากพอที่จะได้รับความ “ไว้วางใจ” และ “นับถือ” จากบรรดานักการเมืองและนักธุรกิจระดับ “เจ้าพ่อ” ทั้งหลายจนยินยอมเป็น “บริวารแวดล้อม” ได้เหมือนผู้เป็นพ่อ
นั่นหมายความว่า เมื่อใดก็ตามที่ฮุน มาเนต ขึ้นเป็นผู้นำ ก็อาจจำเป็นต้องพึ่งพากลยุทธ์กดขี่ คุกคามเด็ดขาดมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ต้องเผชิญกับแรงต้านที่จะรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งนำไปสู่คำถามที่ว่า ตัวมาเนตเองมีสัญชาตญาณทางการเมืองที่แหลมคม เฉียบขาดและเลือดเย็นจนแทบเป็นอำมหิตเหมือนฮุน เซน ผู้เป็นพ่อหรือไม่
จิม ลอรี อดีตผู้สื่อข่าวเก๋ากึ๊กตั้งแต่ยุคเวียดนามบุกยึดครองกัมพูชา ตอบคำถามนี้ด้วยการเล่าความที่เพื่อนสนิทซึ่งคบหากันมานานร่วม 20 ปีรายหนึ่งของมาเนต บอกกับตนเองไว้ว่า ถ้าไม่ใช่เพราะผู้เป็นพ่อแล้วละก็ สิ่งที่ฮุน มาเนต อยากเป็นก็คือครู เป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยระดับ “ท็อป” สักแห่งหนึ่งเท่านั้น
แต่ความเป็น “ฮุน มาเนต” อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับฮุน เซน ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการได้สืบทอดอำนาจและกำกัมพูชาทั้งประเทศไว้ในอุ้งมือต่อเนื่องต่อไป จนกว่าความ “อยาก” ส่วนตัวจะสิ้นสุดลง
เซธ มายแดนส์ อดีตผู้สื่อข่าวของนิวยอร์กไทม์สที่ปักหลักอยู่ในภูมิภาคนี้หลายทศวรรษ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง ฮุน เซน เคยประกาศไว้ชัดเจนว่า จะยังคงกุมอำนาจอยู่เงียบๆ ต่อไป
“ถึงแม้ผมจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็จะยังควบคุมการเมืองทั้งหมดต่อไปในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาล”
จิม ลอรี ชี้ว่า ในวัย 70 ปี ฮุน เซน ก็ยังเป็นฮุน เซน ที่สัญชาตญาณทางการเมืองแหลมคม เฉียบขาดและเล็งเห็นการณ์ไกลอยู่เสมอมา
ฮุน เซน ทิ้งตำแหน่งผู้บังคับการหน่วยทหาร ที่เป็นนายทหารระดับกลางของกองทัพเขมรแดง แปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับเวียดนาม เพราะเล็งเห็นว่าใครคือผู้ชนะในอนาคต
เขาหยิบเอารูปแบบของพรรคคอมมิวนิสต์ตามแบบฉบับของเลนินมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างพรรคซีพีพี คัดสรรเอากลไกและกลยุทธ์มาใช้จนเปล่งประสิทธิภาพเต็มที่มาจนถึงทุกวันนี้
แต่ฮุน เซน รู้ดีว่า กัมพูชากำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ ทุกวันนี้ประชากรที่มีอายุเกิน 50 ปีซึ่งมีความทรงจำถึงอดีตในยุคแห่งความแตกแยก การเข่นฆ่าและสงครามกลางเมือง หลงเหลือเพียงราว 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ เขาจำเป็นต้องหาโมเดลใหม่ในการกุมอำนาจ
ฮุน เซน มองไปที่ ลี กวน ยิว หนึ่งในนักการเมืองในภูมิภาคที่ตนเองชื่นชมและยกย่อง
จิม ลอรี บอกว่าเป็นไปได้สูงมากที่ฮุน เซน จะกลายเป็น “เมนเตอร์ มินิสเตอร์” หรือ “มนตรีที่ปรึกษา” เหมือนอย่างที่ลี กวน ยิว เคยเป็นในสิงคโปร์ หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
กุมทุกอย่างอยู่เบื้องหลังอย่างมั่นคง เฉียบขาดและอำมหิต
และทำให้ความคาดหวังที่ว่าการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีอาจนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่กัมพูชา กลายเป็นเพียง “ความฝัน” ชั่วตื่นหนึ่งก็มลายไปเท่านั้นเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022