พุทธศาสนา ในฐานะหนทางสู่สันติภาพในสากล

บทความพิเศษ | พาราตีรีตีส

 

พุทธศาสนา

ในฐานะหนทางสู่สันติภาพในสากล

 

ความขัดแย้งและความทุกข์ยากถือเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่คู่กับอารยธรรมนุษย์มานาน

สังคมจะเติบโตหรือเสื่อมสลาย ความขัดแย้ง สงคราม ความทุกข์ยาก เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรนี้

มนุษย์ต่างแสวงหาวิธีที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมอย่างผาสุก

สันติภาพที่ไม่ต้องถูกสร้างด้วยการรบราฆ่าฟันหรือเอาชนะทางการเมือง

มีหลายเครื่องมือที่ถูกใช้ในฐานะวิธีการคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างสันติภาพให้กับสังคม

ศาสนาก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุกสามัญสำนึกของมนุษย์เพื่อนำไปสู่การยุติความตึงเครียด

แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็มีอีกด้านที่ถูกใช้เพื่อการปลุกระดมนำไปสู่ความรุนแรงจนลุกลามกลายเป็นสงคราม

แต่กระนั้น ด้านดีของศาสนาก็พยายามรักษาและเยียวยาบาดแผลความเลวร้าย พร้อมกับพยายามสร้างแนวทางเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือสงครามครั้งใหม่ขึ้น

กับสังคมและโลกใบนี้

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อินเดียได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน Global Buddha Summit 2023 จัดโดยสมาพันธ์พุทธศาสนานานาชาติและกระทรวงวัฒนธรรมอินเดีย โดยได้เชิญผู้นำทางจิตวิญญาณจากทั่วโลกมาชุมนุมรวมตัวกันเพื่อการสร้างคุณค่าทางสากลจากภายในและทำงานร่วมกันสร้างแบบแผนอย่างสมานฉันท์และสร้างตัวแบบอันยั่งยืนให้กับโลก

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้กล่าวตอนหนึ่งของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ว่า พุทธะคือความเข้าใจเหนือตัวบุคคล คือการคิดก้าวข้ามรูป การมีสติหยั่งรู้เหนือรูปลักษณ์และสติหยั่งรู้แห่งพุทธะเป็นนิรันดร์และมั่นคง ความคิดนี้ยืนยง ความเข้าใจนี้เป็นสิ่งหลงลืมไม่ได้

“อินเดียจะทำการเผยแพร่คุณค่าแห่งพุทธะขององค์ภควันอย่างต่อเนื่อง โดยหลักที่ว่าคือ ปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ โดยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา อินเดียได้ดำเนินการเผยแพร่หลักนี้อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง อนาคตจะต้องอัศจรรย์อย่างแน่นอน” โมดีกล่าว

นอกจากนี้ ในการประชุมสุดยอดนี้ ยังได้บรรลุคำประกาศนิวเดลี โดยจุดมุ่งหมายคือ มนุษย์ปรารถนาอย่างยิ่งในการปลอดจากความขัดแย้ง ความเลวร้าย ความโลภ ความเห็นแก่ตัว และชีวิตอันไม่แน่นอน จึงจำต้องสร้างสันติสุขและความผาสุกทั้งกับชีวิตเรา และโลกใบนี้

โดยมุ่งบรรลุตามคำประกาศดังนี้คือ

 

1.สันติภาพ

เรายอมรับสันติภาพเป็นจุดศูนย์รวมของความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ความขัดแย้งและความรุนแรงเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสันติภาพ

จึงขอเรียกร้องไปยังทุกชาติ ทุกองค์กรและทุกปัจเจก ทำงานเพื่อมุ่งไปสู่การสร้างโลกที่ปราศจากความขัดแย้ง ความรุนแรงและสงคราม

2. สิ่งแวดล้อมอันยั่งยืน

เรายอมรับว่าภาวะเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมเป็นความท้าทายอันใหญ่หลวงของมนุษย์ เราตั้งมั่นในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เราเรียกร้องให้ทุกรัฐบาล ทุกคนลงมือปฏิบัติในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและรักษาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อชนรุ่นหลัง

3. คุณภาพชีวิตที่ดี

เราพึงระลึกว่าความสุขที่แท้จริงเกิดขึ้นจากสันติสุขและความพึงพอใจจากภายใน

เราจะส่งเสริมบุคคลปลูกฝังสติ ความโอบอ้อมอารี และปัญญาอันเป็นหัวใจหลักของการสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี

4. การจาริกของพุทธศาสนิกชนถือเป็นมรดกที่มีชีวิต

เรายอมรับความสำคัญของการจาริกของชาวพุทธในฐานะมรดกมีชีวิตที่ช่วยส่งเสริมการงอกงามทางจิตวิญญาณ

ความเข้าใจของวัฒนธรรมและความผาสุกของสังคม จะต้องปกป้องและรักษาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุธและส่งเสริมการเข้าถึงทุกคนอย่างเสมอภาค

5. ข้อเสนอแนะ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของทัศนคติมนุษย์ไปสู่ธรรมชาติ ผ่านการสอนหลักพุทธะเพื่อสวัสดิภาพต่อทุกองคาพยพซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อการรับมือวิกฤตต่างๆ

 

การจัดการประชุมสุดยอดพุทธศาสนาโลกทุกปีอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นหนึ่งในก้าวย่างสำคัญต่อแนวทางนี้

นอกจากการจัดประชุมสุดยอดพุทธศาสนาสากลที่อินเดียประกาศเป็นผู้ผลักดันวาระระดับโลกแล้ว ในระดับชาติก็มีการจัดงานรำลึกชาตกาล 132 ปี ของ ดร.ภิมราว รามยี อัมเบดการ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรม และเป็นบุคคลสำคัญของอินเดีย ด้วยการจัดธรรมยาตราผ่านสถานที่สำคัญเกี่ยวกับ ดร.อัมเบดการ์ จากพิพิธภัณฑ์อัมเบดการ์ ไปสู่ทักษาภูมิ ศาสนาสถานสำคัญในเมืองนาคปุระ รัฐมหาราษฎระ ที่ซึ่ง ดร.อัมเบดการ์ ปวารณาเป็นพุทธมามกะ จากทักษาภูมิก็เดินทางต่อไปยังสถูปซานจี

ศาสนสถานที่เป็นมรดกโลกที่ถูกสร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช

ต่อจากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชมวัดกาสีวิศวะนาต วัดฮินดูที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับพระศิวะซึ่งเป็นศาสนสถานชื่อดังในเมืองพาราณสี

แล้วในช่วงสุดท้ายของการเดินทางก็ได้เยือนมหาวิทยาลัยนาลันทา ในตำบลคยา จังหวัดมคธ ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางสำคัญของพุทธศาสนาในยุคจักรวรรดิคุปตะ แต่ได้กลายเป็นโบราณสถานที่หลงเหลือเพียงฐานวิหารหลังจากถูกกองทัพมุสลิมของมูฮัมหมัด ภักติยะ คาลจีแห่งรัฐสุลต่านเดลฮีเข้าปล้นสะดมและทำลายในปี ค.ศ.1200

ทั้งหมดนี้เป็นสถานที่ที่ ดร.อัมเบดการ์เดินทางจาริกก่อนได้มีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งและวาระพุทธศาสนาได้กลายเป็นนโยบายซอฟต์เพาเวอร์สำคัญของอินเดียในฐานะประเทศศูนย์กลางของศาสนาหนึ่งของโลก

อินเดียเร่งผลักดันอย่างแข็งขันให้ศาสนาเป็นหนทางของสันติภาพอันยั่งยืน ท่ามกลางความขัดแย้งที่ทวีความตึงเครียดมากขึ้นทุกที