วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : โหมโรง (12) ชนชาติที่มิใช่ฮั่น (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ชนชาติลว่อปา

ทั้งสองกลุ่มนี้ยังสามารถแยกประเพณีที่ยึดถือได้อีกสองสาย สายหนึ่ง มีประเพณีสักลาย อีกสายหนึ่ง มีประเพณีกินเนื้อมนุษย์ ทั้งสองสายนี้ยังแยกย่อยไปอีกหลายกลุ่มที่แตกต่างกันในรายละเอียด

กลุ่มที่มีชื่อในจีนคือกลุ่มที่ใช้กลองมโหระทึกสำริดประกอบประเพณีของตน หากกล่าวในทางชาติพันธุ์แล้วปัจจุบันก็คือชนชาติมาเลย์ โดยที่ในอดีตก็คือ เย่ว์

ถึงตรงนี้ก็คงเห็นได้ว่า ชนชาติเย่ว์สามารถแยกเป็นอนุชนชาติได้อีกมากมายเพียงใด

โดยที่หากกล่าวเฉพาะจีนแล้ว อนุชนชาติสายหนึ่งก็คือ เย่ว์ ที่มีตัวเขียนคนละตัวกับเย่ว์ที่กำลังกล่าวถึง คือเป็นเย่ว์ที่เป็นคำเดียวกับเย่ว์หนานที่เป็นชื่อของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน ถ้าเป็นเย่ว์นี้ในอดีตจะเรียกว่า ตงอี๋ (อี๋ตะวันออก)

ในกรณีนี้จีนจะนับเป็นชนชาติหนึ่งในรัฐของตน

แต่ถ้าเรียกว่า หนานหมาน (หมานใต้) จีนจะไม่นับเป็นชนชาติของตน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะชนชาติหลีที่เป็นต้นธารของเย่ว์มิได้เป็นส่วนหนึ่งของอี๋ หมาน หญง ตี๋ ทั้งสี่ชนชาติที่มีความใกล้ชิดกับชนชาติฮั่นมาช้านานจนทำให้จีนนับเป็นชนชาติ

ผิดกับหลีที่ไม่มีความใกล้ชิดเช่นที่ว่า จีนจึงไม่นับหนานหมานเป็นชนชาติของตน

เหตุดังนั้น หลีที่เป็นหนานหมานนั้นแท้ที่จริงแล้วก็คือชนชาติที่มีถิ่นฐานแถบมณฑลอวิ๋นหนาน ไล่ลงมาจนถึงภาคพื้นทวีปที่เป็นแผ่นดินใหญ่ตอนบนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน

 

สุดท้ายคือชนชาติ ผู

สำหรับจีนแล้ว ผูในปัจจุบันคือ ลว่อลว๋อ ส่วนในอดีตคือ ผู่ ป๋อ อูไป๋หมาน ชื่อหลังนี้เป็นการเรียกรวมผูสองกลุ่มโดยดูจากประเพณีการแต่งกายของหญิงที่มีสามี ว่าหากแต่งดำก็จะเรียกว่า อูหมาน (หมานดำ) ถ้าแต่งขาวก็จะเรียกว่า ไป๋หมาน (หมานขาว)

ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ชนชาติผูมีรัฐของตนคือ เย่หลาง เตียน และเฉียงตู ซึ่งตั้งอยู่ตรงที่มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านสามสายคือ แม่น้ำเฉียน (เฉียนเจียง) แม่น้ำจินซา (จินซาเจียง) และแม่น้ำต้าตู้ (ต้าตู้เหอ)

ที่ล้วนอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้บริเวณมณฑลซื่อชวน กุ้ยโจว อวิ๋นหนาน และเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซีในปัจจุบัน

ในบันทึกโบราณเคยเรียกรวมชนชาติผูว่า ไป่ผูอี๋ แปลว่า ผูอี๋ร้อยเผ่า เพื่อสื่อว่าชนชาตินี้มีอนุชนชาติอยู่มากมาย

และว่าชนชาตินี้อยู่กันโดยไร้ผู้นำปกครอง แต่รวมอยู่กันเป็นชุมชน ต่อมาจึงตกเป็นของรัฐฉู่ ที่ในเวลานั้นยังตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่าภาคเฉียนจง (เฉียนจงปู้) ซึ่งคือบริเวณมณฑลซื่อชวน กุ้ยโจว และหูหนานในปัจจุบัน

ในแง่นี้ผูจึงเป็นชนชาติที่มีปฏิสัมพันธ์ผ่านการเจรจาต่อรองกับจีนเช่นกัน

 

จะเห็นได้ว่า ชนชาติหลักทั้งหกจากที่กล่าวมานี้มีชื่อชนชาติที่ซับซ้อนจนชวนให้สับสนอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญ พอเวลาผ่านไปนานนับพันปี ชนชาติเหล่านี้ก็มีการคลี่คลายไปในทิศทางที่ต่างกัน

บางชนชาติอาจไม่ปรากฏให้เห็นหรือหายไป บางชนชาติก็อาจปรากฏขึ้นมาใหม่เหมือนจะเป็นชนชาติใหม่ ทั้งที่จริงแล้วที่ดูเหมือนหายไปอาจไม่ได้หาย แต่อาจมีชื่อเรียกขานขึ้นมาใหม่แทน

ส่วนที่ดูเหมือนเป็นชนชาติใหม่ก็อาจไม่ได้ใหม่ แต่อาจมาจากถิ่นฐานอื่นที่อยู่นอกแผ่นดินจีนออกไป

ตัวอย่างเช่น ชนชาติซย์งหนีว์ที่เคยทรงอิทธิพลจนตั้งจักรวรรดิของตนขึ้นมาท้าทายจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นนั้น พอหมดอิทธิพลแล้วก็ไม่ปรากฏบทบาทอีกเลย และทำให้ดูเหมือนว่าหายไป เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เรื่อยมา ทางการจีน (คอมมิวนิสต์) ได้ทำการศึกษาชนชาติที่มิใช่ฮั่นในแผ่นดินใหญ่ของตนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

การศึกษาครั้งนี้เป็นไปในขณะที่จีนมีเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้นแล้ว ผลที่ได้มาจึงค่อนข้างเป็นระบบมากกว่าก่อนหน้านี้ แต่ก็ทำให้เราเห็นเช่นกันว่า ชื่อของหลายชนชาติในหกชนชาติหลักที่กล่าวไปข้างต้นนั้นกลับไม่ปรากฏในสารบบที่ว่า ดังจะเห็นได้จากชนชาติซย์งหนีว์ เป็นต้น

ผลการศึกษาที่ว่านี้มีการเผยแพร่ใน ค.ศ.1985 และที่ว่าเป็นระบบมากขึ้นนั้นหมายความว่า สามารถแยกแต่ละชนชาติได้ชัดเจนขึ้นว่ามีชนชาติใดบ้าง แต่ละชนชาติเรียกตนเองด้วยชื่อใด และผู้อื่นเรียกตนด้วยชื่อใด

แต่ละราชวงศ์หรือยุคสมัยเรียกขานชนชาติเหล่านี้ด้วยชื่อที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร แต่ละชนชาติมีภาษาของตนหรือไม่ และในปัจจุบันมีถิ่นฐานอยู่ ณ ที่ใดในจีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ก็ยอมรับด้วยว่า ผลที่ได้มานี้แม้จะผ่านการถกเถียงโต้แย้งกันมาก็จริง แต่ก็มีหลายชนชาติที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ และสาเหตุสำคัญก็มาจากพัฒนาการที่สลับซับซ้อนของชนชาติเหล่านี้เอง

จากเหตุนี้ ผลที่ได้มาจึงมิได้กล่าวถึงชนชาติทั้งหมดในจีน แต่กล่าวเฉพาะบางชนชาติที่ได้ผ่านการถกเถียงตรวจสอบที่มีหลักฐานรองรับแล้ว

ผลการศึกษาข้างต้นจึงมีชนชาติที่ถูกกล่าวถึง 28 ชนชาติจากที่มีอยู่ 56 ชนชาติในจีนปัจจุบัน โดยพบว่าใน 28 ชนชาตินี้บางชนชาติมีชื่อเรียกตนเองหลายสิบชื่อ และมีชื่อที่ผู้อื่นเรียกอีกนับสิบชื่อ เช่น ชนชาติลว่อปาและชนชาติอี๋ เป็นต้น

บางชนชาติถูกจีนเรียกในแต่ละยุคแต่ละราชวงศ์แตกต่างกันไปนับสิบชื่อ เช่น ชนชาติหม่าน (หม่านจู๋หรือแมนจู) แต่บางชนชาติกลับถูกเรียกด้วยชื่อเพียงชื่อเดียว เช่น ชนชาติเชียง เป็นต้น

และที่ชวนสับสนจนต้องระวังเป็นอย่างยิ่งก็คือ กรณีที่เป็นคนละชนชาติ แต่กลับมีชื่อเรียกที่เหมือนกัน ดังกรณีชนชาติแมนจูนั้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง เหลียว จิน หยวน และหมิง จะเรียกว่า หนี่ว์เจิน

แต่ชื่อเดียวกันนี้กลับถูกนำมาเรียกชนชาติเฮ่อเจ๋อในสมัยราชวงศ์ซ่ง หยวน และหมิง ด้วยเช่นกัน เป็นต้น

 

ตัวอย่างที่ยกมากล่าวถึงนี้ทำให้พอมองเห็นภาพได้ว่า หากแจกแจงลงไปในรายละเอียดแล้ว ชนชาติที่มิใช่ฮั่นในจีนจะมีมากมายเพียงใด โดยที่ตลอดช่วงประวัติศาสตร์จีนนั้น ชนชาติเหล่านี้บ้างก็อ่อนแอ บ้างก็เข้มแข็ง และต่างก็อยู่ร่วมกับจีนหรือชนชาติฮั่นทั้งในทางที่เป็นมิตรและศัตรูมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่ในปัจจุบัน

แต่หากกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ชนชาติที่มิใช่ฮั่นเหล่านี้มักจะตกเป็นรองให้แก่ชนชาติฮั่นอยู่เสมอ ที่เมื่อทำศึกกันแล้วมักจะแพ้เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อแพ้แล้วก็ถูกชนชาติฮั่นหรือจีนรวมมาอยู่กับตน พอนานเข้าก็กลืนกลายไปกับชนชาติจีน เรียกว่าอีกอย่างคือ ถูกจีนผนวกจนกลายเป็นจีนไป

จะมีเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่ชนชาติที่มิใช่ฮั่นจะมีอำนาจเหนือจีน แต่เมื่อมีแล้วก็มิอาจกลืนกลายชนชาติจีนให้เป็นชนชาติตนได้ ซ้ำในหลายกรณีก็ยังรับเอาวัฒนธรรมจีนมาไว้กับตัวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พึงตระหนักและขอย้ำในที่นี้อีกครั้งหนึ่งก็คือ การที่ต้องระลึกอยู่เสมอว่าชนชาติที่มิใช่ฮั่นนี้ต่างมีเรื่องราวของตนเอง เรื่องราวในด้านนี้ถูกเล่าน้อยมาก โดยที่เล่ากันมามักจะถูกเล่าโดยชนชาติฮั่นแทบทั้งสิ้น การเข้าถึงเรื่องราวของชนชาติที่มิใช่ฮั่นเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

เพราะบางทีเราอาจได้พบเห็นกับเรื่องเดียวกันแต่ถูกเล่าไปคนละทางก็ได้