“เต้าหู้ไข่” สะท้อน “จรรยาบรรณ” ครู

เป็นข่าวฮือฮากับกรณีที่ครูวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนบ้านลำหาด ต.ทัพทัน อ.สังขะ จ.สุรินทร์ รับผิดชอบงานอนามัยนักเรียนและโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน เรียกนักเรียนหญิงชั้น ป.6 ออกมากราบขอขมาหน้าเสาธงต่อหน้าเพื่อนนักเรียนหลายร้อยคน

สาเหตุมาจากนักเรียนไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลสังขะ แพทย์วินิจฉัยว่าแพ้อาหาร

พอครูทราบว่าเด็กพูดเกี่ยวกับอาหารกลางวันให้เสียหาย จึงเรียกมาทดลองกินเต้าหู้ไข่ต่อหน้าพร้อมเชิญผู้ปกครองมารับรู้ด้วย

เมื่อปรากฏว่าไม่มีอาการผิดปกติ จึงเรียกให้เด็กมาก้มกราบขอขมา

ครูมองว่าคำพูดของเด็ก ทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง

ในหนังสือที่ครูทำถึงครูประจำชั้นอนุบาลปีที่ 1-ม.1 ระบุถึงเหตุผลที่ขอตรวจสอบว่า

“ได้ปรึกษาแม่ครัวเห็นว่าการให้นักเรียนรับประทานโปรตีนจากถั่วเหลืองแทนเนื้อสัตว์ในวันธรรมสวนะ ดีต่อสุขภาพนักเรียนและสนองนโยบายโรงเรียนวิถีพุทธ ต่อมาได้รับแจ้งจากแม่ครัวว่า จะเปลี่ยนรายการอาหารเนื่องจากแกงจืดเต้าหู้ไข่ เห็ด และโปรตีนเกษตร นักเรียนมีอาการแพ้เต้าหู้ไข่ แต่จากการตรวจสอบสมุดบันทึกการให้ยา ไม่พบว่ามีเด็กมาขอใช้ยาที่เกิดจากการแพ้อาหาร จึงขอให้สืบข้อมูลเพื่อพัฒนางานด้านโภชนาการตามโปรแกรม Thai School Lunch”


“นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา”
อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า วิธีทดสอบโดยให้เด็กกินซ้ำ เสี่ยงมาก ยิ่งในคนที่มีประวัติแพ้อาหาร สารเคมี หรือสิ่งใดก็ตามที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ไม่ควรให้มีการใช้ หรือทดลองกินซ้ำอีก เพราะจะเสี่ยงเกิดอาการช็อก และอาจเสียชีวิตได้ หรือแม้แต่ไม่มีประวัติว่าแพ้อาหารหรือสารเคมี แต่หากสงสัยก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เพราะหากมีอาการแพ้ แม้จะทดลองเพียงเล็กน้อยก็เกิดผลกระทบได้

“พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร”
กุมารแพทย์ด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า การสั่งให้เด็กกราบหน้าเสาธง เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง และการทดสอบการแพ้อาหารด้วยวิธีของครูคนดังกล่าว ก็อันตรายต่อชีวิตอย่างยิ่ง หลายครั้งสาเหตุของการแพ้ หมอยังทำได้แค่สงสัย เพราะสารต่างๆ บนโลกมีมากมาย ใครแพ้อะไรอาจจะได้จากประวัติและการคาดเดา ไม่มีประวัติแพ้ ไม่เคยขอยาแก้แพ้ ไม่ได้แปลว่าแพ้ไม่ได้ ข้อนี้สำคัญมาก การทดสอบการแพ้ ไม่ควรทำเองโดยพลการ บางคนแพ้รุนแรง หลอดลมบวม หายใจไม่ได้ ความดันตก เสียชีวิตได้ทันที นี่คือเรื่องที่อันตรายถึงชีวิต และไม่ควรใช้อำนาจบังคับใครให้ทำเพื่อเป็นการพิสูจน์สิ่งที่ตนสงสัย

“ถ้าคิดว่าเด็กโกหก สิ่งที่ครูควรทำ คือคุยกับเด็กเพื่อหาว่าอะไรคือสาเหตุ การบังคับกราบ ไม่ได้ช่วยปรับพฤติกรรมเด็ก เพราะตราบใดที่สาเหตุไม่ได้รับการมองหาหรือแก้ไข การกราบก็อาจเป็นเพียงสัญลักษณ์ว่าอีกฝ่ายยอมแพ้ และอีกฝ่ายได้ชัยชนะ การนำความผิดเด็กมาประจานด้วยการให้กราบกรานหน้าเสาธง ส่งผลกระทบกระเทือนกับจิตใจ ส่งผลให้อับอาย และส่งผลร้ายในการพัฒนาเด็ก หลายครั้งเด็กซึมซับความรุนแรง ความก้าวร้าว ความเอาชนะ ความสะใจ มาจากต้นแบบที่ได้เห็นในโรงเรียน” พญ.จิราภรณ์ กล่าว

“นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์” ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ระบุว่า ครูไม่มีอำนาจบังคับให้เด็กขอขมาหน้าเสาธง การกระทำของครูผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ความผิดฐานข่มขืนใจให้ผู้อื่นเสียเสรีภาพ พ่อแม่สามารถดำเนินคดีได้ แต่คดีนี้เป็นคดีที่ยอมความกันได้ ตนเสนอให้ไปแจ้งความดำเนินคดี

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มองว่าไม่เหมาะสมเช่นกัน แต่เชื่อว่าครูไม่มีเจตนาร้าย

ขณะที่ครูคนดังกล่าว ชี้แจงว่า ไม่ว่าจะเป็นคำชมหรือคำติ จะรับมา จะเอาครูไปวางไว้ด้านดำหรือด้านขาวก็แล้วแต่ใครจะคิด แต่จะขอใช้ทุกเวลาทุกนาทีให้มีค่า เราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยเด็กๆ จะเป็นคนที่สืบสานต่อจากเรา อนาคตเชื่อว่าถ้าเขาเป็นผู้นำ จะต้องเป็นผู้นำที่ดี

ล่าสุดได้มีการสร้างแคมเปญในเว็บไซต์ Change.org รณรงค์เรียกร้องให้คุรุสภาตั้งคณะกรรมการตรวจสอบครู และคุรุสภา โดย “นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ” รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจรรยาบรรณวิชาชีพเรียบร้อยแล้ว ประเด็นให้เด็กกินเต้าหู้ไข่เพื่อทดสอบและให้เด็กกราบขอโทษหน้าเสาธงนั้น นายชัยยศ มองว่าก้ำกึ่ง ต้องดูที่เจตนาว่าครูทำด้วยความเมตตาหรือตั้งใจประจานเด็ก ซึ่งต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนว่าจำเป็นต้องมีการระงับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไว้ชั่วคราวหรือไม่นั้น ยังไม่ถึงขั้นนั้น

อย่างไรก็ตาม เขตพื้นที่ฯ โดย “นายคำปุ่น บุญเชิญ” ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุรินทร์ เขต 3 ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลำหาด ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว

“จากการลงพื้นที่ได้สอบถามทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้อำนวยการโรงเรียน และครู แม่ของเด็กไม่ติดใจกล่าวโทษครู ผมมองว่าครูประมาทที่ให้เด็กกินเต้าหู้ซ้ำ ได้ตักเตือนว่าทีหลังอย่าทำอีก และผู้อำนวยการโรงเรียนได้ว่ากล่าวตักเตือนไปแล้ว ผมจะทำหนังสือสั่งการไปอีกครั้ง” นายคำปุ่น กล่าว

กรณีดังกล่าว ถือเป็นการประเดิมใช้ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสาระสำคัญ หากพบว่าครู ผู้บริหารสถานศึกษา มีพฤติกรรมที่ส่อไปทางในผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ คุรุสภาสามารถเสนอให้พักใบอนุญาตฯ ได้ทันที โดยไม่ต้องรอผลการสอบสวน ซึ่งจะทำให้กระบวนการสอบสวนการประพฤติผิดเกี่ยวกับจรรยาบรรณเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

“เต้าหู้ไข่” สะท้อนได้ดีถึงจรรยาบรรณวิชาชีพครู ที่ครูคนดังกล่าวกลัวว่าตนเองและโรงเรียนจะเสียชื่อเสียง มากกว่าจะห่วงเรื่องความปลอดภัยของลูกศิษย์

ยิ่งกว่านั้น ยังช่วยทดสอบความศักดิ์สิทธิ์ของคุรุสภาด้วยว่าเอาจริงเอาจังที่จะใช้เครื่องมือมาจัดการจรรยาบรรณวิชาชีพครูให้เข้ารูปเข้ารอยอย่างไรได้บ้าง