ตะวันออกกลาง ตะวันออกกลางใหม่ และเอเชียตะวันตก (1)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

ตะวันออกกลาง

ตะวันออกกลางใหม่

และเอเชียตะวันตก (1)

 

ตะวันออกกลางตั้งอยู่ระหว่างตรงกลางของทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ครั้งหนึ่งรู้จักกันในชื่อว่าตะวันออกใกล้ หรือเรียกง่ายๆ ว่าตะวันออก คำนี้ถูกนำมาใช้ในตอนต้นศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการประชุมเวียนนา เมื่อปี 1815 ปัญหาเกี่ยวกับตะวันออกได้เริ่มเกิดขึ้นมาเมื่อครั้งนโปเลียน โบนาปาร์ต เข้าครองอียิปต์แล้ว

คำว่าตะวันออกกลางนั้นมีการกำหนดบริเวณกันอย่างไม่แน่นอน บางสถาบันหมายถึงประเทศอิสลามทั้งหมดคือจากโมร็อกโกถึงอินโดนีเซีย และจากซูดานถึงอุซเบกิสถาน ในขณะที่นักรัฐศาสตร์บางคนหมายถึงดินแดนวงจันทร์สมบูรณ์ (The Fertile Crescent) คือบริเวณอิรัก ซีเรีย เลบานอน ซีเรีย และอียิปต์

ครั้งหนึ่งอาณาจักรของตุรกี ได้ขยายจากฮังการีถึงเมโสโปเตเมีย (อิรัก) และจากไครเมียถึงอียิปต์ ความเสื่อมถอยของอาณาจักรนี้ในศตวรรษที่ 18 และ 19 ก่อให้เกิดปัญหาตะวันออกขึ้น ชัยชนะของลัทธิชาตินิยม ความเหนือกว่าของชาติยุโรปทางการทหาร และความเสื่อมโทรมของออตโตมานเติร์ก

ก่อให้เกิดวิกฤตการทางการทูตและการเมืองตามมา

 

ควรจะบันทึกไว้ด้วยว่าปัญหาตะวันออก (Eastern Question) นี้มีผลต่อยุโรปและเอเชียมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีบันทึกทางประวัติศาสตร์มาแล้ว เช่น เปอร์เซียรุกรานยุโรป ตามมาด้วยการรุกรานของกรีกนำโดยอเล็กซานเดอร์แห่งเมซีโดเนีย จากนั้นโรมันเข้ายึดครองปาเลสไตน์ อนาโตเลีย และอียิปต์ นำไปสู่การก่อตั้งอาณาจักรโรมันและไบแซนทีน

ในเวลาต่อมา การเกิดมาของอิสลาม และการใช้กำลังทางทหารของอาหรับและเติร์กอย่างขาดไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาตะวันออกขึ้นมาในรูปแบบใหม่ ประเทศอาหรับเข้าพิชิตสเปนและเติร์กผ่านเข้าไปถึงเวียนนา

การเข้าโอบล้อมเวียนนาในปี 1683 โดยเติร์กตามมาด้วยความพ่ายแพ้ของกองทหารอิสลามอันเกรียงไกรด้วยการช่วยเหลืออย่างทันเวลาของกษัตริย์จอห์น โซเบียสกี้ (John Sobieski) แห่งโปแลนด์ เป็นชัยชนะของคริสเตียนยุโรปที่มีเหนืออิสลาม

ปัญหาตะวันออกจึงเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จนการเข้ายึดครองของชาวมุสลิม เปลี่ยนเป็นการรุกรานของคริสเตียนต่ออิสลาม นโปเลียนเป็นแรงกระตุ้นที่นำไปสู่การหมดอำนาจของตุรกีอันกว้างใหญ่ไพศาล

ปัญหาของชาวตะวันออกในศตวรรษที่ 19 เกิดขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 20 ยุ่งเหยิงและวุ่นวายมาจนถึงทุกวันนี้

 

ตะวันออกกลางเป็นดินแดนที่กว้างใหญ่ (แม้แต่การจัดประเทศเข้าอยู่ในเขตนี้ก็มีการถกเถียงกันมากในการแบ่งเขตแดนทางภูมิศาสตร์) จากโมร็อกโกสู่ปากีสถานจากทางตะวันออกของเธรซ จนถึงซูดาน ในแผนที่ของโลก ตะวันออกกลางปรากฏตัวขึ้นมาเหมือนกับปลาที่ครีบบนของมันดันตัวเองตรงไปสู่ยุโรปส่วนครีบล่างวางอยู่บนเส้นศูนย์สูตร

ตะวันออกกลางครอบคลุมเนื้อที่มากว่า 5.5 ล้านตารางไมล์เล็กน้อย ประกอบไปด้วยทะเลทรายอันหว้าเหว่กระจัดกระจายออกไป แต่ก็มีเนินเขาสีเขียวขจีและหุบเขาอยู่ด้วย มีแม่น้ำใหญ่ๆ เช่น แม่น้ำไนล์ ยูเฟรตีส และอินดัส ในทางกายภาพแล้วการที่มีทั้งทะเลทราย มีที่ราบที่อุดมสมบูรณ์และที่ราบที่มีอากาศเย็นนั้นได้เพิ่มเสน่ห์ให้กับชนบท พันธุ์ไม้และสัตว์ต่างๆ ที่มีอยู่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่ซึ่งแตกต่างกันน้อยมาก อินทผลัมให้ผลดกและผลไม้ที่ให้น้ำก็มีอยู่ทุกหนทุกแห่งเช่นเดียวกับอูฐที่มีอยู่ทั่วไป

นอกจากตะวันออกกลางจะมีอินทผลัม ทับทิม และองุ่น ซึ่งออกดอกออกผลบนหน้าแผ่นดินแล้ว ตะวันออกกลางยังมีน้ำมันอยู่ใต้พื้นดินเดียวกันด้วย แม่น้ำทั้งสามดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้มีชื่อเสียงในด้านการเป็นคลองส่งน้ำ ซึ่งรับประกันได้ถึงพืชผลที่ดกดื่น การขุดคลองในพื้นดินทรายนั้นง่ายมากกว่าที่อื่นๆ และเป็นการง่ายที่จะสร้างทะเลสาบและเขื่อนชั่วคราวขึ้นมา

ในบรรดาสิ่งมีชีวิตนั้นมีทั้งสัตว์และมนุษย์ได้เติบโตรุ่งเรืองขึ้นในตะวันออกกลางมาตั้งแต่สมัยโบราณ อากาศนั้นมีตั้งแต่ร้อนและเย็นจนถึงร้อนชื้น โดยทั่วไปแล้วจัดอยู่ในอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน เพราะว่ามีฝนตกในหน้าหนาว

ส่วนด้านอาหารการกินนั้นตะวันออกกลางต้องสั่งอาหารเข้ามาเพราะมีอาหารไม่พอเลี้ยงตัวเอง

 

ภูมิรัฐศาสตร์ของตะวันออกกลางนั้นแตกต่างกันออกไปเช่นเดียวกับทางด้านกายภาพ อาร์โนลด์ ทอนบี (Arnold Toynbee) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ A Study of History ของเขาว่าอย่างน้อยห้าอารยธรรมมาจากดินแดนตะวันออกกลาง

ทางด้านภาษานั้นคนส่วนมากพูดภาษาอาหรับและเป็นชาวมุสลิมมีเพียงอิสราเอล ไซปรัส และเอธิโอเปียเท่านั้นที่ไม่ได้เป็นชาวมุสลิม ในช่วงระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง อังกฤษและฝรั่งเศสก็มีโอกาสได้ครอบครองตะวันออกกลาง ประเทศในตะวันออกกลางทั้งหมดเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ และส่วนมากเคยสังกัดอยู่ในกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดส่วนสันนิบาตอาหรับเป็นองค์กรที่แยกออกไป

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อประเทศตะวันออกกลางเป็นอิสระ แต่ละประเทศก็ได้รับการทดสอบระบบสถาบันผู้แทนเป็นระยะเวลาสั้นๆ ยกเว้นในตุรกีและอิหร่าน ซึ่งมีฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำงานเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่นกัน ระบอบประชาธิปไตยพบได้ในอิสราเอล แต่กลับมีการขับไล่ชาวอาหรับและมีตัวแทนของชาวอาหรับแยกออกไป ความเป็นอยู่ของชาวอาหรับเหล่านั้นก็ถูกปล่อยปละละเลย

ระบบคนที่ได้รับการคัดเลือกไปกันไม่ได้กับระบอบประชาธิปไตย บทบาทของพรรควัฟด์ (Wafd) ในฐานะพรรคของประชาชนอียิปต์ไม่อาจเปิดทางให้กับการปฏิวัติตามรูปแบบในตะวันออกกลางได้

อำนาจได้หลุดจากองค์กรตัวแทนไปอยู่ในมือสภาปฏิวัติ ในตุรกีรัฐบาลประชาชนเคยถูกสับเปลี่ยนด้วยการปกครองของทหาร อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน บทบาทของทหารในทางการเมืองได้ยุติลงอย่างค่อนข้างถาวร

ในขณะที่ระบบของอิหร่านได้เปิดทางให้นักการศาสนาเข้ามาปกครอง

 

ตะวันออกกลางไม่มีความเต็มใจต่อระบอบประชาธิปไตย มีระบอบสังคมนิยมมาร์กซิสต์ในตะวันออกกลาง แต่ทั้งอิสลามและแนวทางของมาร์กซิสต์ในทางทฤษฎีไม่อาจไปกันได้หรือยอมลงรอยกัน ดังนั้น เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้สำหรับชาวมุสลิมที่จะเป็นมาร์กซิสต์และเป็นมุสลิมในเวลาเดียวกัน กระนั้นลัทธิมาร์กซิสต์ก็มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อยในตะวันออกกลางอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งเช่นกัน

กับคริสเตียนนั้นอิสลามมีความไม่ลงรอยกับคริสเตียนมาช้านาน ความพยายามของชาวตะวันตก ซึ่งนำโดยสหรัฐหลังสงครามอ่าวเปอร์เซียที่จะให้มีสันติภาพในตะวันออกกลางนั้นดูเหมือนจะเป็นภาคใหม่ของเรื่องราวเก่าๆ เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแต่ละฝ่ายคือฝ่ายอาหรับเจ้าของดินแดน และอิสราเอลฝ่ายยึดครองดินแดนต่างก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้กัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำว่า ‘ตะวันออกกลาง’ ที่ใช้กันแพร่หลายได้รับการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น โดยนักวิจารณ์ชี้ให้เห็นอย่างถูกต้องว่า คำว่าตะวันออกกลางเป็นสิ่งปลูกสร้างในยุคอาณานิคมที่มีรากฐานมาจากมุมมองของชาวตะวันตก

บัญญัติโดยพลเรือเอก Alfred Thayer Mahan นักยุทธศาสตร์กองทัพเรืออังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คำนี้ใช้อธิบายความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของภูมิภาคที่มีต่อจักรวรรดิอังกฤษ

คำนี้พร้อมกับคำว่า ‘ตะวันออกใกล้’ ที่มีความโบร่ำโบราณพอๆ กัน จะรวบรวมวัฒนธรรม ภาษา และประวัติศาสตร์อันหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดเรื่องราวที่ดำเนินเรื่องโดยเน้นตะวันตกเป็นศูนย์กลางซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิด

 

สื่ออิหร่านและสื่อจากยูเรเชียอื่นๆ นิยมใช้คำว่า ‘เอเชียตะวันตก’ มาเป็นเวลานานในการอธิบายภูมิภาค ซึ่งมีการโต้เถียงกันว่ามีความถูกต้องทางภูมิศาสตร์มากกว่า ในขณะเดียวกันก็เน้นความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิศาสตร์ที่มีร่วมกันโดยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคโดยไม่จำเป็นต้องรวมเข้าด้วยกัน

สำนักข่าวแห่งหนึ่งในอิหร่านก็มีชื่อว่า West Asia News Agency (WANA)

ตัวอย่างเช่น สำนักข่าว Xinhua ที่บริหารโดยรัฐของจีน ใช้คำว่าเอเชียตะวันตก (West Asia) ในรายงาน ในขณะที่ผู้ออกอากาศ WION ของอินเดียมีรายการที่จัดโดย Ghadi Francis ที่เรียกว่า ‘The West Asia Post’ นอกจากนี้ ยังมีรายงานที่ได้รับการอ้างอิงมาโดยตลอดว่า คำว่าเอเชียตะวันตกนั้นได้รับการบัญญัติศัพท์มาจากเยาวหราล เนห์รู อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียที่มองว่าภูมิภาคนี้อยู่ทางตะวันตกหรือตะวันตกเฉียงใต้ของเอเชียนั่นเอง

Youtube Short ที่อัพโหลดโดย WION เมื่อต้นปีที่ผ่านมายืนยันว่า ‘เอเชียตะวันตก’ เป็นการใช้งานที่ถูกต้องเท่านั้น เนื่องจาก “ไม่มีอคติทางภูมิศาสตร์”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง The Cradle ซึ่งมีฐานอยู่ในเลบานอนได้กลายเป็นกระบอกเสียงที่ทรงพลังในการท้าทายเรื่องเล่าแบบดั้งเดิมของ ‘ตะวันออกกลาง’ โดยสนับสนุนคำว่า ‘เอเชียตะวันตก’

Sharmine Narwani คอลัมนิสต์ของ The Cradle กล่าวกับเว็บไซต์ Press TV ว่าเอเชียตะวันตกเป็น “จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ในหลายๆ ด้าน และเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมดั้งเดิม”

“ในขณะที่ ‘ตะวันออกกลาง’ เต็มไปด้วยสัมภาระจากอาณานิคม การพ่ายแพ้ และหายนะที่ไม่หยุดยั้ง ‘เอเชียตะวันตก’ เตือนเราว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 และเราเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญระหว่างเอเชียและยุโรป – หรือยูเรเซียเสียด้วยซ้ำ” เธอกล่าว

ตรงกันข้าม สื่ออาหรับมักทำให้สถานะที่เป็นอยู่คงอยู่ต่อไปด้วยการใช้คำว่า ‘ตะวันออกกลาง’ ต่อไป การเลือกใช้คำศัพท์นี้สะท้อนถึงอิทธิพลที่ยั่งยืนของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกในภูมิภาค