ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 กรกฎาคม 2566 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ |
เผยแพร่ |
ในที่สุด การกระโดดร่มครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก็มาถึง
แม้ลมค่อนข้างแรงมาก เมื่อเท้าผมแตะพื้นและล้มตัวตามแบบฝึกทุกอย่าง ความรู้สึกโล่งอก และดีใจที่ไม่ได้เป็นอะไร และสำเร็จตามหลักสูตร
แต่หลังจากนั้น เที่ยวบินต่อจากผม เพื่อนที่กระโดดทีหลัง คือ นรต.สมพงษ์ คะหาวงษ์ เมื่อโดดลงมาแล้ว ศีรษะกลับฟาดพื้น เกิดอาการน็อกพื้นทันที และ นรต.สมพงษ์ ก็เคยน็อกมาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อมาน็อกอีกครั้ง อาการจึงหนักมาก ต้องรีบนำตัวส่งไปโรงพยาบาลหัวหิน แต่แพทย์พิจารณาแล้วอาการยังหนัก และส่งต่อไปโรงพยาบาลราชบุรี ทำการเช็กสมองอีกครั้ง เพราะมีเลือดไปครั่งที่สมองมาก
เมื่อสอบถามเหตุการณ์จึงทราบว่า ขณะที่ นรต.สมพงษ์ลงถึงพื้น ใบหน้าแตกเพราะถูกหมวกเหล็กที่สวมอยู่ตี และทันทีศีรษะก็ฟาดพื้น จนหน้าตาเหยเก บูดเบี้ยวไปหมด ขากรรไกรค้าง เมื่อลงมาแล้ว ลมแรงยังลากร่มไปอีก ทำให้ นรต.สมพงษ์มีอาการหนักกว่าใครเพื่อน เพราะช่วงระยะเวลานี้ เป็นลมหนาว ลมจึงพัดแรง และพัดตลอดทั้งวัน
มีเพื่อนอีกคนหนึ่ง เมื่อกระโดดลงมาแล้ว ร่มช่วย (reserve) ไปอัดหน้าอกถึงกับจุกหายใจไม่ออก ตัวบิดไปมา แพทย์ต้องให้ออกซิเจนช่วย แต่เมื่อได้พักก็หายเป็นปกติ
และเพื่อนผมอีกคนที่ผมเห็นกับตาตัวเอง พอร่มถึงพื้น ไปดึงสายร่มผิด แล้วปล่อยทำให้เสียหลัก พอเท้าถึงพื้น ลมก็พัดแล้วศีรษะฟาดพื้นทันที แล้วยังตีลังกาอีกสองตลบ ร่มลากไปอีก 10 กว่าเมตร สลบคาที่ทันทีเลย มีอาการปากแตกแล้วมีดินทรายเข้าไปเต็มปาก ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลอีกคน
เพื่อนอีกคนบังคับร่มไม่ดี ร่มพาไปลงที่ต้นกระบองเพชร ซึ่งที่หัวหินจะเป็นกระบองเพชรที่กอใหญ่มาก สูงกว่าหัวคนเสียอีก และเพื่อนผมคนนี้ลงตรงกลางต้นกระบองเพชรพอดีเลย
เมื่อมองเข้าไปไม่เห็นเพื่อนผมเลย เห็นแต่ร่ม ต้องร้องให้คนช่วย ดังระงมไปหมด จนเพื่อนๆ ต้องเอามีดถากเข้าไปหา กว่าจะเอาเพื่อนคนนี้ออกมาได้หมดเรี่ยวหมดแรงเลย และหนามของต้นกระบองเพชรมันใหญ่ขนาดเข็มเย็บผ้า เวลามันตำเข้าไปในเนื้อ มันตำจนมิดเลย โผล่ออกมาให้เห็นนิดหน่อยเอง แล้วมันตำไม่ใช่แค่อันสองอัน แต่มันตำไปหมดทั้งตัว เวลาถอนต้องใช้น้ำมันหมูทา แล้วค่อยๆ ถอน พอถอนเนื้อก็นูนออกมา กว่าจะถอนออกหมด ก็ระบมไปทั้งตัว
ที่ขำไม่ออก เพื่อนคนนี้เป็นมุสลิม และเป็นเพียงคนเดียวในรุ่นด้วย นรต.สุวิชา ถมยาบัตร ผมเห็นแล้วสงสารเพื่อนเลย
คนอื่นๆ ที่กระโดดร่มจนได้รับบาดเจ็บ มีฟันหัก คนสองคน น็อกพื้นนิดหน่อยหลายคน แต่มีบางคนกระดูกเคลื่อน เพราะเวลาลงเอาข้อศอกไปยันพื้นไว้
หลักสูตรกระโดดร่มครั้งนี้ แรกๆ ค่อนข้างน่าเบื่อกับการฝึก แต่เมื่อถึงเวลากระโดด ทุกวินาทีเริ่มตั้งแต่กระโดดครั้งแรกจนถึงครั้งสุดท้าย ชวนให้ระทึกใจตลอดเวลา
ทั้งเสียวทั้งกลัวว่าลงพื้นจะได้รับบาดเจ็บไหม
และเมื่อลงมาแล้ว ยังต้องลุ้นต่อไปอีก ว่ากระโดดครั้งหน้าจะเจ็บหรือไม่ เพราะเห็นเพื่อนๆ เจ็บ มันก็ชักจะปอด และเกิดอาการแหยง
เพราะยิ่งกระโดดมาก ยิ่งรู้มาก มันเลยรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ บอกไม่ถูก พอแต่งเครื่องร่มเสร็จ สวมหมวกเหล็กเรียบร้อย ก้าวขึ้นเครื่องบิน มือที่ถือฮุก มันเย็นไปหมด แล้วมีเหงื่อซึมๆ ออกมาอีก ไม่รู้มาจากไหน เกิดอาการคอแห้งผาก เมื่อกระโดดออกมาจากเครื่องบิน ตัวเหมือนปลิวกลางอากาศ พอร่มกางก็กระตุกเงยหน้าขึ้นดูร่ม (check canopy) พอรู้ว่าร่มกาง ก็โล่งอก กูรอดตายแล้ว
แล้วก็ลุ้นกันต่อไป ตอนลงพื้นว่ากูจะเจ็บหรือไม่เจ็บ
สำหรับคนที่เคยเจ็บมาแล้ว เมื่อถึงเวลาลงพื้น มันจะมีความรู้สึกแหยงๆ ขยาดๆ กลัวพื้น พอถึงพื้น แทนที่จะเหยียดเท้าชิดติดกันเพื่อเอาส่วนหนาล้ม กับหดเท้าชักกลับ ถ้าเป็นเช่นนี้ เสร็จทุกราย ไม่เจ็บมากก็เจ็บน้อย
เรียกว่ายิ่งแหยงยิ่งเจ็บ
ผมกระโดดร่มครบ 6 ครั้งแล้ว วันรุ่งขึ้นครูฝึกจึงสั่งให้ไปช่วยเพื่อนๆ ที่เหลือที่ยังต้องโดดต่อ ไปช่วยขณะที่กำลังลงพื้น
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ลมเท่านั้น ถ้าลมแรงจะอันตรายมากและบาดเจ็บได้
แต่ถ้าลมเบาๆ เวลากระโดดลงมาจะนิ่มมาก นิ่มเหมือนนั่งรถเบนซ์เลยจริงๆ
วันสุดท้ายเป็นวันสำหรับพวกที่น็อกพื้นและยังกระโดดไม่ครบ จะต้องกระโดดวันนี้ เมื่อกระโดดครบทุกคน จะมีงานเลี้ยงฉลอง ซึ่งได้จัดเตรียมการออกร้านไว้เรียบร้อยแล้ว ทุกคนควรจะยินดีและดีใจในความสำเร็จ ที่ผ่านความเสี่ยงกันมา
แต่ทุกอย่างกลับพลิกผันและถูกยกเลิกทันทีทันใด เมื่อทราบข่าวว่า เพื่อนของพวกเรา นรต.สมพงษ์ คะหาวงษ์ มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะหนักมาก จนแพทย์ไม่สามารถจะยื้อชีวิตไว้ได้
นรต.สมพงษ์ ได้จากพวกเราไป งานเลี้ยงจึงกลายเป็นงานรดน้ำศพให้กับเพื่อนแทน
สำหรับ นรต.สมพงษ์ ผมมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก เป็นคนสุภาพ เรียบร้อยมากๆ ระหว่างการฝึก จะเดินเที่ยวชายหาดกับเพื่อนๆ เสมอ และ นรต.สมพงษ์จะนอนตึกเดียวกับผม เมื่อเพื่อนต้องมาจากกันไป จึงมีความรู้สึกเสียใจ อาลัยอาวรณ์เพื่อนมากๆ และรวมทั้งเพื่อนร่วมรุ่นทุกคนก็คงมีความรู้สึกไม่ต่างกัน เพราะพวกเราฝึกด้วยกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน เหนื่อยด้วยกัน
ผมนึกถึง นรต.สมพงษ์อยู่นานมากทีเดียว และทุกครั้งที่ประดับปีกร่มที่หน้าอกของเครื่องแบบ ก็จะเห็น นรต.สมพงษ์อยู่ตลอด
นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2 เดินทางกลับสู่สามพรานด้วยความเศร้า จนกระทั่งพิธีศพได้ผ่านพ้นไป นรต.สมพงษ์เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจคนแรกของรุ่นที่ 35 ที่เสียชีวิตและอยู่ในระหว่างขณะทำการฝึกกระโดดร่ม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับนักเรียนนายร้อยตำรวจมาก่อนเลย
ผมทราบว่า การฝึกการกระโดดร่มของรุ่นน้องๆ ได้เปลี่ยนจากการสวมหมวกเหล็กในขณะกระโดดร่มเป็นการสวมหมวกกันน็อกแทน
เครื่องหมายปีกร่มที่ประดับอยู่ที่อกเสื้อของเครื่องแบบนักเรียนนายร้อยตำรวจ จึงแลกมาด้วยชีวิต หยาดเหงื่อ ความเหนื่อยยาก มันจึงเป็นคุณค่าที่ต้องจดจำไปทั้งชีวิต แต่ละหลักสูตรที่ผ่านการเคี่ยวกรำ จึงสร้างความเข้มแข็งทั้งกำลังกายและกำลังใจ เพื่อให้พร้อมสมบูรณ์อย่างเต็มที่เมื่อออกไปรับใช้ประชาชนและประเทศชาติ
เมื่อนักเรียนพลร่มผ่านการกระโดดร่มครบตามจำนวนครั้ง จะมีสิทธิ์ประดับเครื่องหมายที่อกเสื้อได้ สำหรับปีกร่มของตำรวจพลร่มมี 4 ชั้นด้วยกัน คือ
1. ปีกร่มชั้นที่ 3 กระโดดครบ 6 ครั้งจนถึง 29 ครั้ง
2. ปีกร่มชั้นที่ 2 กระโดดครบ 30 ครั้งจนถึง 64 ครั้ง
3. ปีกร่มชั้นที่ 1 กระโดดครบ 65 ครั้งขึ้นไป
4. ปีกชั้นพิเศษ กระโดดครบ 65 ครั้งขึ้นไปและสามารถกระโดดร่มแบบกระตุกเองได้ หรือเรียกว่า ดิ่งพสุธา
กลับมาถึงกองร้อยที่ 2 ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ความเศร้าโศกเสียใจยังคงปกคลุมไปทั่ว แม้กระทั่งเตียงนอนของ นรต.สมพงษ์ คะหาวงษ์ ขณะนี้ว่างเปล่า เจ้าของไม่อยู่แล้ว เมื่อเข้าตอนเรียนที่นั่งยังคงอยู่แต่ตัวตนนั้นได้สูญหายไป
วันคืนเวียนผ่านไป ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป การเรียนการฝึกของนักเรียนนายร้อยตำรวจจึงดำเนินต่อไป
ตารางการเรียนในเทอมที่ 2 ของชั้นปีที่ 2 ชั่วโมงประมวลกฎหมายอาญา มีถึง 4 ชั่วโมง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 ชั่วโมง และเรียนระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี เป็นวิชาที่นายตำรวจทุกคนจะต้องรู้และปฏิบัติให้ถูกต้องทั้งกฎหมายและระเบียบ เพื่อความยุติธรรมของการบังคับใช้กฎหมาย เรียนมากถึง 4 ชั่วโมง
และนอกจากนั้น ในเทอมนี้ยังเรียนกฎหมายธรรมนูญศาล วิชากฎหมายปกครอง วิชาหลักรัฐศาสตร์
วิชาที่สำคัญมากอีกวิชาหนึ่งที่นายตำรวจทุกคนต้องรู้ คือ วิชาจิตวิทยา สอนโดยอาจารย์ ช.กีรติ ศิริปุณย์ จากโรงพยาบาลนิติจิตเวช
นอกจากอาจารย์จะสอนพวกผมเมื่อเรียนชั้นปีที่ 1 แล้ว อาจารย์ยังได้ศึกษาวิจัยบุคลิกภาพบางประการของ นรต. รุ่น 34, 35 และ 36 จำนวน 520 นาย อายุระหว่าง 17-25 ปี โดยอาจารย์ได้ใช้แบบทดสอบ The Maudsley Personality Inventory [MPI] ซึ่งสร้างโดย Eysenck ใช้ประเมินบุคลิกภาพที่แสดงออก 2 ลักษณะ คือ Extraversion-Introversion [E] และ Neuroticism-Stability [N]
โดย Eysenck ให้คำจำกัดความว่า Extraversion หมายถึง บุคคลที่ชอบเข้าสังคมทำอะไรไม่ใคร่ระมัดระวัง ชอบกิจกรรมที่ให้ความตื่นเต้น สนุกสนานร่าเริง มองโลกในแง่ดี แสดงอารมณ์และความรู้สึกอย่างเปิดเผย
Introversion เป็นลักษณะบุคคลที่ชอบเก็บตัว ทำอะไรด้วยความระมัดระวังตัว และมักมีแผนการล่วงหน้า อาจเป็นคนเอาจริงเอาจัง เจ้าระเบียบ ไม่ใคร่แสดงอารมณ์วู่วาม และอาจมองโลกในแง่ร้าย
Neuroticism เป็นลักษณะของบุคคลที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย คิดมาก และมีความโน้มเอียงที่จะเป็นโรคประสาท [Neuroses] ได้ง่าย เมื่อมีปัญหาสะเทือนอารมณ์ และจะมีอาการของโรคทางกาย เช่น มึนศีรษะ ปวดศีรษะ ใจสั่น นอนไม่หลับ จุกเสียด แน่นในท้อง
ส่วน Stability คือ ลักษณะที่แสดงถึงการมีสุขภาพจิตที่ดี สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้
ในการศึกษา ได้ผลดังนี้
ในลักษณะ E มี นรต.ที่มีบุคลิกภาพแบบคนปกติ [Normal] อยู่กว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง และที่เหลือมีทั้ง Extraversion และ Introversion จำนวนไล่เลี่ยกัน
ส่วนในลักษณะ N ก็เช่นกัน กว่าครึ่งที่มีบุคลิกภาพแบบคนปกติ และมีจำนวนหนึ่งที่แสดงพฤติกรรมในรูปของ Neuroticism
ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ใน นรต.ที่มีบุคลิกภาพแบบ Neuroticism นี้เป็นบุคลิกภาพเดิมของเขาเหล่านั้น หรือว่าเป็นอาการที่เพิ่งเกิดใหม่ เมื่อเป็น นรต.ปีที่ 1 ทั้งนี้ เนื่องจากการเป็น นรต.นั้นต้องการปรับตัวอย่างมาก มีภาวะกดดันทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น การเรียน การฝึกระเบียบวินัย การอยู่ร่วมกัน ฯลฯ
นรต.เหล่านี้ยังไม่สามารถปรับตัวได้ จึงแสดงบุคลิกภาพแบบ Neuroticism ออกมา ถ้าเป็นเพราะภาวะกดดัน [stress] จริง สามารถจะพิสูจน์ได้ เมื่อ นรต.กลุ่มนั้นเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 แล้ว ทำการทดสอบซ้ำอีก ถ้าผลการทดสอบมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนน้อยลงหรือไม่มีเลย ก็แสดงว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ เป็นผลจากภาวะกดดันของการเป็นนักเรียนใหม่จริงๆ
และเมื่อเรียนชั้นปีที่ 4 นรต.สามารถปรับตัวได้ ผลจึงเปลี่ยนไป
แต่ถ้าผลการศึกษาไม่เปลี่ยน แสดงว่าเป็นบุคลิกภาพของ นรต.กลุ่มนั้น
แต่อาจารย์ ช.กีรติ ท่านออกตัวว่า การศึกษาครั้งนี้ เป็น pilot project มีข้อบกพร่องหลายประการด้วยกัน ทั้งข้อบกพร่องจากแบบทดสอบที่ดัดแปลงมาจากต่างประเทศและนำมาใช้บางอย่างอาจไม่เหมาะสมกับคนไทย
อีกประการ การใช้แบบทดสอบเพียงอย่างเดียวไม่อาจตัดสินว่าบุคคลไหนมีบุคลิกภาพอย่างไร ต้องมี factor อื่นๆ มาประกอบด้วย เช่น การสัมภาษณ์ หรือใช้แบบทดสอบอื่นยืนยันว่าเหมือนกัน
และประการสุดท้าย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้จำนวนไม่มากพอที่จะเป็นตัวแทนของคะแนนมาตรฐานของ นรต.ทั้งหมดได้
ทำไมผมถึงพูดวิชาจิตวิทยาค่อนข้างมาก เพราะนักเรียนนายร้อยตำรวจทั้ง 3 ชั้นที่อาจารย์ได้ศึกษา ได้กลายมาเป็นผู้นำตำรวจในเวลาต่อมา ล้วนมีบุคลิกที่ชวนให้ศึกษาเป็นอย่างมาก
เพราะเติบโตในแบบเทาๆ ทั้งนั้น และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศจนสุดคณานับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022