นิธิ เอียวศรีวงศ์ : วัฒนธรรมของอำนาจ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ข่าวในสื่อทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์บอกว่า คุณบัณฑูร ล่ำซำ ได้พูดในงานเปิดสาขาธนาคารกสิกรไทยในประเทศจีนว่า “การเลือกตั้งไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่อยากเห็น…รัฐบาลมาพร้อมด้วยความตั้งใจและความรู้ที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศไทย” ไม่ใช่เพียงมีอำนาจเพื่อเสวยอำนาจอย่างที่ผ่านมา

ผมไม่ทราบว่าเขาตั้งใจจะพูดกระทบนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารหรือไม่อย่างไร แต่ผมคิดว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งหลายคนทีเดียว นับตั้งแต่ คุณชาติชาย ชุณหะวัณ, คุณชวน หลีกภัย, คุณทักษิณ ชินวัตร ล้วนมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศไทย แต่แก้ได้หรือไม่ได้ แก้แล้วดีหรือไม่ดีคงเถียงกันได้ เพราะสิ่งที่คุณบัณฑูรเรียกว่า “ความรู้” นั้น ไม่ใช่สูตรตายตัวที่ลอยลงมาจากฟ้า หากเป็นความเห็นที่ประกอบด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลของแต่ละบุคคลเท่านั้น

แม้แต่เผด็จการทหารอย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผมก็ไม่ปฏิเสธว่ามีความตั้งใจจะแก้ปัญหาของประเทศไทยอย่างจริงใจอยู่ด้วย

ผมไม่คิดจะมาโต้เถียงกับคำกล่าวของคุณบัณฑูร แต่อยากให้ตั้งข้อสังเกตว่า มีสิ่งสำคัญทางการเมืองอย่างหนึ่งซึ่งเฮียแกคงลืมไป หรือมองไม่เห็นความสำคัญเลย นั่นคือความชอบธรรม

การเลือกตั้งนั้นไม่ใช่ประเด็นแก่การคัดสรรความตั้งใจและความรู้หรอก แต่การเลือกตั้งให้ความชอบธรรมแก่คนที่ตั้งใจดีและความรู้ดีในการทำอะไรที่ยากๆ อย่าลืมว่าการแก้ปัญหาประเทศไทยนั้นยากมาก เพราะอาจมีคนใหญ่คนโตมากบริวาร เช่นตัวเฮียเอง ขัดขวาง เมื่อพบว่าตัวเสียประโยชน์ ดังนั้น ความชอบธรรม หรือการยอมรับของคนส่วนใหญ่จึงสำคัญอย่างชนิดขาดไม่ได้ทีเดียว… และอาจสำคัญยิ่งกว่าความตั้งใจและความรู้เสียอีกก็ได้

แต่เฮียอาจเถียงว่า การเลือกตั้งไม่เคยเป็นความชอบธรรมที่แข็งแกร่งนักในการเมืองไทย ข้อนี้จริงเลยครับ แต่ในขณะเดียวกัน เฮียก็น่าจะยอมรับเหมือนกันว่า นับวันการเลือกตั้งในเมืองไทยก็กลายเป็นความชอบธรรมที่แข็งแกร่งมากขึ้น และคงจะมากขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย ในขณะที่ความชอบธรรมแบบเดิม เริ่มจะลดความสำคัญลงไปทีละน้อยเรื่อยๆ เหมือนกัน ด้วยเหตุผลที่การเมืองไทยขยายตัวไปรวมเอา “ผู้เล่น” ทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นเสียจนกระทั่ง ความชอบธรรมตามประเพณีเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสร้างความยอมรับอย่างพร้อมหน้าได้อีกต่อไป

ผมคิดว่าคนอย่างคุณบัณฑูรและคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งเกิดและโตมาในรัชกาลที่แล้ว อันเป็นรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่ได้รับความเคารพศรัทธาจากมหาชนกว้างใหญ่ไพศาล อย่างยากจะหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์เทียบได้ ย่อมลืมหรือไม่ใส่ใจกับการแสวงหาความชอบธรรมทางอำนาจหรือการเมืองด้วยวิธีอื่นใด จนพากันเข้าใจว่ากำลังคือที่มาของอำนาจ

ความจริงแล้ว สังคมไทยก็เหมือนสังคมอื่นๆ ทั่วโลก กล่าวคือ วัฒนธรรมที่ทำให้อำนาจไปตกอยู่ในมือผู้ใดหรือกลุ่มใด มีความสลับซับซ้อนกว่ากำลังมากนัก

ผมขอยกตัวอย่างจากเหตุการณ์แย่งอำนาจกันในประวัติศาสตร์สักสองสามเหตุการณ์ เพื่อชี้ให้เห็นว่านอกเหนือจากกำลังแล้ว ผู้ที่อยู่ในเกมการแย่งอำนาจ ต้องสร้างความชอบธรรมด้านอื่นๆ ขึ้นอีกมาก เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจอันเป็นที่ยอมรับของผู้คน

กว่าที่พระเจ้าปราสาททองจะแย่งอำนาจจากทายาทของพระเจ้าทรงธรรมได้ ก็ต้องรอเวลาถึง 2 รัชกาล เพื่อพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชนชั้นนำว่า ยุวกษัตริย์สองพระองค์ที่ครองราชสมบัติสืบเนื่องกันมานั้น ก่อให้เกิดความวุ่นวายไร้ระเบียบในบ้านเมืองอย่างไร ราชสำนักเต็มไปด้วยความหวาดระแวงต่อขุนนาง จนยากที่จะบริหารงานไปตามตำแหน่งหน้าที่ของตน

อำนาจอันมากล้นของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะแย่งราชสมบัติได้โดยสะดวก ต้องอาศัยเวลาและการสร้างภาพทางการเมืองเพื่อให้เกิดความชอบธรรมทางการเมืองต่างหาก จึงสามารถยกกำลังเข้าบุกยึดพระราชวังหลวงได้

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการผนวกเอากลุ่มอำนาจอื่นเข้ามาเป็นพวก และขจัดกลุ่มอำนาจอื่นที่อาจขัดขวางการแย่งอำนาจออกไป

เช่นเดียวกับเมื่อพระเพทราชาแย่งอำนาจจากพระนารายณ์ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททอง กลุ่มของพระเพทราชาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเหตุจลาจลขึ้นที่ลพบุรีและอยุธยา ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการตรึงกำลังทหารฝรั่งเศสที่เมืองธนบุรีไว้มิให้ยกขึ้นมาแทรกแซง หลักฐานฝรั่งเศสอ้างว่าที่นายพลฟอร์บังไม่ยกกำลังขึ้นมาเพราะเชื่อคำแนะนำของสังฆราชฝรั่งเศสที่ลพบุรี แต่ถึงยกขึ้นมาก็คงไม่ง่ายนักที่จะฟันฝ่าเหตุจลาจลจากอยุธยาขึ้นมาถึงลพบุรี อาจเสียกำลังทหารไปมากเกินกว่าจะแทรกแซงการเมืองได้

แต่ความชอบธรรมของพระเพทราชาก็ไม่ได้อยู่ที่เอาชนะด้วยกำลัง เท่ากับการสร้างบทบาทของผู้พิทักษ์ปกป้องพระพุทธศาสนา ซึ่งเหล่าเถรานุเถระเห็นว่ากำลังถูกคุกคามจากคาทอลิกของฝรั่งเศส และคงเป็นที่ถูกใจชาวบ้าน

เหตุใดสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในต้นรัชกาลที่ 5 จึงไม่แย่งราชสมบัติ สถาปนาราชวงศ์ใหม่ของตนเองขึ้น ทั้งๆ ที่มีอำนาจควบคุมกิจการแทบจะทุกอย่างในราชอาณาจักรอยู่แล้ว

นักประวัติศาสตร์มีคำตอบหลายอย่างเช่นท่านมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรี หรือท่านมีอำนาจเท่ากษัตริย์อยู่แล้ว จึงไม่เห็นประโยชน์ที่จะแย่งราชสมบัติ แต่ผมอยากตอบว่ากำลังและความชอบธรรมที่ท่านมีอยู่ ไม่พอที่จะทำให้ท่านแย่งราชสมบัติได้ เช่น ท่านเองก็มีศัตรูในหมู่ชนชั้นนำอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน หากแย่งราชสมบัติก็จะทำให้ศัตรูรวมตัวกันได้ง่าย สมเด็จเจ้าพระยาฯ รู้สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศดี ท่านคงรู้อยู่แล้วว่ามหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษไม่สนับสนุนให้ท่านแย่งราชสมบัติแน่ เพราะอังกฤษสนับสนุนฝ่ายวังหลวงเต็มที่ (ด้วยเหตุใดก็ตาม)

กำลังเพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะทำให้ใครได้อำนาจ ต้องมีความชอบธรรมซึ่งคนอื่นๆ ยอมรับด้วยเสมอ แน่นอนว่าความชอบธรรมในทัศนะของสังคมหนึ่งๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง

ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่เคยมีมาในเมืองไทยเลยจนเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว

ใครจะว่าการเลือกตั้งเป็นแค่พิธีกรรม หรือเต็มไปด้วยการทุจริตฉ้อโกงอย่างไรก็ตาม แต่ก่อน พ.ศ.2501 การเลือกตั้งของไทยก็ให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทางการเมืองอย่างขาดไม่ได้สืบเนื่องกันมาถึง 25 ปี แม้หลังจากนั้นจะมีการยึดอำนาจของกองทัพ และยับยั้งการเลือกตั้งต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปี แต่หลัง 14 ตุลา การเลือกตั้งก็กลับมาเป็นแกนหลักของความชอบธรรมทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง กองทัพต้องใช้วิธีอื่นๆ เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองร่วมไปกับยอมรับการเลือกตั้ง เช่น กำหนดให้มีวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจมาก แต่มาจากการแต่งตั้ง หรือกดดันพรรคการเมืองให้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีของกองทัพ

แม้แต่เมื่อทำรัฐประหารยึดอำนาจ ก็ต้องสัญญาว่าจะกลับสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว ดังเช่นการยึดอำนาจของ รสช. ใน 2534 และ คมช. ใน 2549

แม้ว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นที่มาของความชอบธรรมทางอำนาจเพียงแหล่งเดียว แต่สถานะของการเลือกตั้งกลับมีความสำคัญในฐานะที่มาของความชอบธรรมเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ

น่าสังเกตว่าในระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนในการทำลายอำนาจซึ่งมีฐานความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ต้องลงทุนสูงมากขึ้นทุกที จำเป็นต้องใช้องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ, องค์กรตามรัฐธรรมนูญ, การบิดเบือนกฎหมาย, การก่อจลาจลเป็นเวลานาน จนเศรษฐกิจชะงักงัน, ความรุนแรงที่ออกไปทางป่าเถื่อนด้วยการสังหารหมู่กลางถนน, ความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ

ชนชั้นนำไทยจะยอมจ่ายด้วยต้นทุนที่สูงขนาดนี้ทำไม ถ้าการเลือกตั้ง “ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ” (และต้นทุนนี้พวกเขาไม่ได้เป็นผู้จ่ายฝ่ายเดียว คนอื่นก็ต้องร่วมจ่ายไปด้วย)

ตรงกันข้ามกับที่เฮียแกพูดด้วยซ้ำ คิดถึงปัจจุบันและอนาคตให้ดี การเลือกตั้งจะเป็นที่มาของความชอบธรรมที่สูงเด่นเสียจน ไม่มีความชอบธรรมจากแหล่งอื่นทัดทานถ่วงดุลได้ ลองคิดดูเถิดครับ หากนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในวันหน้าทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง (รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึงฉบับปัจจุบัน) ศาลรัฐธรรมนูญจะยังเหลือความชอบธรรมพอที่จะระงับยับยั้งนายกฯ คนนั้นได้อยู่อีกหรือ

ที่น่าห่วงก็คือการเลือกตั้งจะเป็นประเด็นสำคัญเกินไปต่างหาก