E-DUANG : เงาสะท้อน อันมากับคำว่า “ยื้อ”

การใช้คำว่า “ยื้อ” ไม่ว่าต่อกรณี “การปลดล็อก” ไม่ว่าต่อกรณี”การ เลือกตั้ง”

สะท้อนความยอดเยี่ยมในการเลือก”คำ”

ไม่เพียงเพราะว่า มาตรการ”ปลดล็อก”มีความสัมพันธ์อยู่กับ

“การเลือกตั้ง” อย่างแนบแน่น

หากสัมพันธ์กับ “พรรคการเมือง”

เหนือยิ่งกว่านั้นยังสัมพันธ์กับพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองอีกด้วย

เมื่อถึงเวลากลับไม่ยอมก็กลายเป็น “ยื้อ”

ความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งอยู่ตรงที่พรรคการเมืองจะปฏิบัติ ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็มีคนไม่ยอมให้ปฏิบัติ

คนที่ไม่ยอมนั่นแหละที่ “ยื้อ”

 

ถึงแม้ในห้วงก่อนหน้านี้จะมีคนออกมาเล่นบทในลักษณะเดียวกัน กับที่คสช.กำลังกระทำต่อพรรคการเมือง

เป็นการเล่นบทในแบบ”ไอ้ห้อย ไอ้โหน”

นั่นก็คือ เรียกร้องและชี้หนทางว่าคสช.ไม่สมควรปลดล็อกให้

พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรม เพราะว่าบ้านเมืองยังไม่เรียบร้อยยังไม่สงบ

เหมือนกับว่าการยืนยัน”ไม่ปลดล็อก”ของคสช.จะเป็นการทำตามเสียงเรียกร้องของบรรดา”ไอ้ห้อย ไอ้โหน”ซึ่งเป็นกองเชียร์และต้องการให้อำนาจยังอยู่ในมือคสช.

เป็นไปตามที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ สรุปว่า “เขาอยากอยู่ยาว”ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2558

การไม่ปลดล็อกจึงถือได้ว่าเป็น “ชัยชนะ”

 

กระนั้น พลันที่ชัยชนะนี้มาพร้อมกับคำว่า “ยื้อ” ไม่ว่าในเรื่องปลดล็อก ไม่ว่าในเรื่องเลือกตั้ง

ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าจะเป็น “ชัยชนะ”

คำถามที่ตามมาก็คือ หากเป็นชัยชนะแล้วเหตุใดจึงต้องอาศัยอาการ”ยื้อ”มาเป็นเครื่องมือ

เพราะคำว่า”ยื้อ” ให้ความรู้สึกที่ไม่ดี

กิริยาอันตามมากับคำว่ายื้อ ก็เห็นได้จากรูปศัพท์ที่ว่า”ยื้อแย่ง” หรือ “ยื้อยุด” ฉุดกระชาก ก่อให้เกิดความไม่เต็มใจ ก่อให้เกิดความเสียหาย

ทั้งในทาง”กิริยา มารยาท” ทั้งในทาง”การเมือง”

ชัยชนะ” จึงไม่ควรจะได้มาพร้อมกับ “การยื้อ”