มุกดา สุวรรณชาติ : ยุทธศาสตร์แท้จริง คือ…อยู่ยาว ปชป. ถอยได้…เพื่อไทย ถอยถูกซ้ำ

มุกดา สุวรรณชาติ

ความสนใจทางการเมืองของคนส่วนใหญ่ขณะนี้อยู่ที่การเลือกตั้ง

ซึ่งตามโรดแม็ปบอกว่าจะเป็นช่วงปลายปี 2561 พรรคการเมืองก็วางยุทธศาสตร์ไว้ที่การเลือกตั้ง 2561

ความขัดแย้งจึงไปปรากฏที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายพรรคการเมือง ฯลฯ

แต่ละพรรค แต่ละกลุ่ม มียุทธศาสตร์เพื่อการเลือกตั้ง ร่วมต้านนายกฯ คนนอกเป็นฉากย่อยของการต่อสู้ทางการเมืองที่มีความซับซ้อน หลอกลวง

 

ยุทธศาสตร์อยู่ยาวดีที่สุดสำหรับผู้มีอำนาจ

ย้อนดูตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน จะพบว่ากลุ่มผู้ที่ยึดอำนาจได้มียุทธศาสตร์ซ้อนไว้ 2 ชั้น

1. ยุทธศาสตร์การครองอำนาจแบบเด็ดขาดให้นานที่สุด…จะเพื่อความสงบเรียบร้อย เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง แก้ปัญหาทางกฎหมายหรือผลประโยชน์ใดๆ ก็ตาม อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสามารถเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยเฉพาะมาตรา 44 ซึ่งมีอำนาจเหนือทุกอำนาจตามกฎหมาย อำนาจแบบนี้จะอยู่นานเท่าที่จำเป็น นานเท่าที่ต้องการ หรือตามสถานการณ์ ยังไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อไรจะสิ้นสุด

2. ยุทธศาสตร์ชั้นที่สองคือ การครองอำนาจแบบมีการเลือกตั้งรับรองในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะต้องชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น

สถานะการณ์การเมืองจนถึงวันนี้ถือเป็นความสำเร็จของคณะผู้ยึดอำนาจปี 2557 ที่สามารถครองอำนาจมาอย่างต่อเนื่องถึง 3 ปีครึ่งและน่าจะอยู่เกิน 4 ปีนานกว่าการครองอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหนึ่งสมัยคือ 4 ปี

เป็นความสำเร็จที่สามารถทำให้นักการเมืองและประชาชนยอมอดทน รับแรงกดดันทางอำนาจทางกฎหมาย และความยุติธรรมที่บัญญัติขึ้นมาตาม รธน. 2557 อย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว มีเพียงส่วนน้อยนิดที่กล้าหือ

นอกจากนั้น ยังมีความสำเร็จในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญใหม่ 2560 ซึ่งมีผลให้การปกครองหลังการเลือกตั้งจะเป็นประชาธิปไตยเพียงแค่ครึ่งใบและจะไม่มีรัฐบาลใดมีเสถียรภาพแม้ประชาชนจะเลือกมาเกินครึ่งประเทศ

ใน 2 ยุทธศาสตร์นี้…การครองอำนาจแบบเด็ดขาดมีความสำคัญที่สุด ต้องการให้ยาวนานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ที่มีความสำคัญเพราะว่า

1. การมีอำนาจแบบเด็ดขาดตาม รธน. 2557 เหนือกว่าการปกครองตามรัฐธรรมนูญตามปกติ…ไม่มีฝ่ายค้าน มีอำนาจที่เหนือกว่า ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ

2. เป็นโอกาสในการกำจัดและจำกัดอำนาจของฝ่ายอื่นให้หมดไป หรือให้เหลือน้อยที่สุด โดยใช้อำนาจทางการเมืองและอำนาจตามระบบกฎหมายที่มีอยู่ กำจัดได้ทั้งองค์กรและบุคคล

3. ถ้าทำงานเป็น บริหารเป็น จะสามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนได้ ถ้าทำไม่เป็นก็จะถูกด่า แต่ไม่มีใครสามารถมาไล่ออกไปได้ การทำงาน ถูกตรวจสอบน้อยมากโอกาสที่จะถูกลงโทษเพราะทำผิดมีน้อยมาก

4. สามารถใช้ช่วงเวลาที่มีอำนาจอยู่ เพาะสร้างกำลังทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ จัดวางบุคลากรในตำแหน่งที่สำคัญในขณะที่ฝ่ายอื่นทำไม่ได้

 

วิธีต้มกบ

1.ต้มไฟอ่อนๆ…ผู้มีอำนาจยุคนี้ไม่โง่เหมือนคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 2519 ที่ประกาศว่าจะอยู่ 12 ปี อยู่จริง 1 ปีก็โดนรัฐประหารซ้อน แต่ชุด 2557 ขอเวลาไม่นาน…ปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง และเลื่อนไปทีละปี จาก 2559…ไป 2560…ไป…2561

2. ไม่ใส่เกลือมากเกินไป…นี่ไม่ใช่ยุคสมัยแบบ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่จะอยู่แบบบุรุษเหล็กใช้กำปั้นเหล็กทุบเอาอย่างเดียว ยุคนี้ใช้ทั้งไม้อ่อนไม้แข็ง ไม่จับไปขังลืม แต่ก็เรียกไปปรับทัศนคติ ต่อต้านก็จับ ปล่อย…จับ…ดำเนินคดี โดยกำลังที่หนุนหลังมีความเข้มแข็ง และในเชิงเหตุผลก็สามารถอ้างเพื่อความสงบ ร่างกฎหมายมาคุม ใครขัดกฎหมายก็ต้องถูกจับ

3. ใช้เครื่องปรุงหลากหลายเพื่อเพิ่มรสชาติ โดยร่างรัฐธรรมนูญ การร่างกฎหมายเป็นตัวกำหนดเวลา ซึ่งเมื่อร่างไม่เสร็จก็ไม่สามารถทำการเลือกตั้งได้ จึงมีการร่างแล้วล้มร่างใหม่ มีการโหวตรับรอง

ซึ่งพิธีการเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าจะเอาอย่างไร

ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ร่างรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จยาวต่อมาถึงยุคจอมพลถนอมใช้เวลาถึง 9 ปี 4 เดือนเมื่อประกาศใช้มีการเลือกตั้งรัฐบาลก็อยู่ได้ 2 ปีกว่าแล้วก็ปฏิวัติตัวเองฉีก รธน. ทิ้ง ปกครองแบบเด็ดขาดต่อไป

…ส่วนในสมัยที่มีรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 พอเห็นว่าประชาชนและนานาชาติไม่ยอมรับก็มีการปฏิวัติซ้อนในปี 2520 และก็รีบร่างรัฐธรรมนูญ สามารถร่างเสร็จภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี เป็นแบบครึ่งใบเหมือนกับปี 2560 นี่แหละ

4. ใช้ผักชี การปรองดอง…โรยหน้า นี่เป็นทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี… คือทำแต่เพียงในกระดาษ ในคำพูดไม่มีการปรองดองจริง เพราะยิ่งแตกแยก ผู้ปกครองที่มีอำนาจย่อมสามารถทำงานได้สะดวก

วิธีการคือตั้งคนชุดหนึ่งที่คิดว่ากลุ่มตนเก่งและฉลาด เป็นที่ยอมรับ มาเสนอหน้ากับสังคม ซึ่งนอกจากจะได้เงินเดือนแล้ว จะไม่มีผลงานอะไรเลย เหมือนกับรัฐธรรมนูญ ยิ่งร่างหลายครั้ง ประชาชนยิ่งมีสิทธิ์เลือกน้อยลง

ไม่ต้องมาเสียเวลาจดจำว่ามีกรรมการปรองดองกี่ชุด คนกลุ่มนี้ จะเป็นแค่ผักชีโรยหน้า ทำให้ผู้ปกครองอยู่ยาวในความแตกแยก โดยขอให้รอคอย ความปรองดอง แต่ในความเป็นจริง ระบบยุติธรรมและกฎหมาย ยิ่งทำให้แตกแยก กรรมการปรองดอง และ กสม. จะไม่กล้าพูดถึงความอยุติธรรมแม้แต่คดีเดียว

 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพื่อมีอำนาจหลังเลือกตั้ง
ไม่จำเป็นต้องชนะเลือกตั้งได้ที่ 1

เมื่อมีการไม่ยอมรับการรัฐประหาร ทั้งประชาชนในประเทศและสังคมนานาชาติ การดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง จึงจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นแม้ไม่เป็นแบบสากล จะเป็นแบบครึ่งใบก็ได้

การเลือกตั้งในปี 2522 การเลือกตั้งทำเร็วมาก กฎหมายพรรคการเมืองยังไม่มีใช้ชื่อว่ากลุ่มการเมือง มี ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งถึง 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง พรรคการเมืองเป็นเพียงตัวประกอบของระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ ได้นายกรัฐมนตรีเป็นทหารซึ่งทั้งพรรคการเมืองและ ส.ว. เชิญเข้ามาบริหารประเทศ เป็นคนนอกซึ่งไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ระบบนี้ยืนยาวจากปี 2522 ไปถึงปี 2531

ยุคนี้ก็ทำแบบเดียวกัน กฎหมายพรรคการเมืองกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งการได้มาของ ส.ว. และ ส.ส. เป็นส่วนสำคัญที่สุด อำนาจ ส.ว. และ ส.ส. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี อำนาจขององค์กรอิสระศาลรัฐธรรมนูญ มีความเข้มข้นทางการเมืองกว่าสมัย 30 ปีที่แล้วซึ่งขณะนี้กฎหมายที่จะปูทางเข้าสู่อำนาจที่เป็นการชิงความได้เปรียบเสียเปรียบทำไว้หมดแล้ว

แม้กระนั้นก็ตามก็ยังไม่มีใครแน่ใจว่าการมีอำนาจโดยระบบการเลือกตั้งรับรองจะทำได้สำเร็จราบรื่นเพราะถ้าย้อนหลังไปดูการเมืองในอดีตการรัฐประหารของคณะ รสช. ปี 2534 ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จอย่างรวดเร็วเลือกตั้งปี 2535 อยู่ได้ 2 เดือนก็ถูกต่อต้านจนเกิดพฤษภาทมิฬรัฐบาลก็ล้ม

หลังการรัฐประหารปี 2549 ฉีก รธน. 2540 ทิ้ง ร่างฉบับ 2550 ที่คิดว่าได้เปรียบแล้วก็ล็อกคู่แข่งด้วยการยุบพรรคตัดสิทธิ์แกนนำทางการเมือง แต่ผลการเลือกตั้งก็ยังแพ้อีกจำเป็นต้องล้มรัฐบาลพอเลือกตั้งในปี 2554 แม้กุมอำนาจรัฐแต่ประชาชนยังเลือกฝ่ายตรงข้าม รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่สามารถช่วยให้ชนะเลือกตั้งได้

หลังการรัฐประหาร 2557 ฉีก รธน. 2550 ไป มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แต่อะไรจะเป็นหลักประกันว่าจะทำให้ชนะเลือกตั้ง

ยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง จึงไม่ใช่การได้ที่ 1… ได้ที่เท่าไร ก็เป็นนายกฯ ได้ เพราะมีคนมาเชิญไป แบบปี 2522

ส่วนการวางยุทธศาสตร์ของพรรคการเมืองต่างๆ มุ่งไปเพื่อการเลือกตั้ง 2561 มองในแง่หนึ่งก็เป็นการที่ต้องเตรียมพร้อมในการสู้ในเกมการเมืองที่ไม่มีทางเลือกมากนัก

 

เกมแตะมือของจาตุรนต์ กับนิพิฏฐ์
เป็นแค่หมัดแย็บเบาๆ

การเลือกตั้งจะมี ส.ส. ของทั้ง 2 พรรคการเมืองเป็นส่วนสำคัญในการชี้ขาดการปกครองตามรัฐธรรมนูญแม้นายกฯ จะมี ส.ว. มาช่วยตอนคัดเลือกนายกฯ แต่จะบริหารงานจะอยู่ได้โดยไม่ถูกล้ม จะผ่านกฎหมายได้ ก็ต้องมี ส.ส. จากการเลือกตั้งสนับสนุนเกินครึ่งสภา ถ้าจะให้ปลอดภัยก็ต้องเกือบ 280 คน

แต่มองแนวโน้มทางการเมืองแล้ว ส.ส.เพื่อไทยก็น่าจะได้ประมาณ 200 คน ประชาธิปัตย์ก็น่าจะอยู่ที่ 120 คน

การรวมตัวต่อต้านนายกฯ คนนอก จึงมีความหมายเป็นอย่างยิ่งถ้าหาก 2 พรรคนี้ประกาศไม่รับนายกฯ คนนอก รัฐบาลนายกฯ คนนอกก็มีสิทธิ์ถูกล้มได้ไม่ยาก

ในเชิงอุดมการณ์เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์คงไม่สามารถตั้งรัฐบาลร่วมกันได้ ในวันนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่การเดินแต้มการเมืองแบบปกป้องประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องเสียหาย ดีกว่านั่งอยู่เฉยๆ ให้แต่ละพรรคถูกเหยียบถูกย่ำจนอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ผู้ที่ไม่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอกจะมีความมุ่งหวังอยู่ในใจว่าจะร่วมรัฐบาลกับนายกฯ คนนอกนั่นแหละ

หลังการเลือกตั้งพวกเขาก็จะมีเหตุผลมีข้ออ้างว่าเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยและแบบครึ่งใบเดินหน้า เพื่อให้บ้านเมืองจะเดินต่อไป เพื่อให้การบริหารประเทศมีความเป็นไปได้คงจะต้องสนับสนุนนายกฯ คนนอก ฯลฯ

เกมนี้ ปชป. ได้เปรียบกว่า เพราะพลิกไปเข้ากับนายกฯ คนนอกไม่ยาก แต่เพื่อไทยพลิกเกมไม่ได้ ถอยหลังก็หกล้ม การต่อรองไม่ให้ถูกเหยียบซ้ำ มีแต่ต้องทำให้ได้ ส.ส. มากที่สุด ถึง 230 ก็ยิ่งดี

เพื่อไทยอย่าคิดว่าถอยได้ง่ายๆ ถ้าถอยจะเหมือนการถอยทัพในสงคราม จะถูกกระหน่ำซ้ำเติม ทำลายล้าง กวาดต้อนมาเป็นเชลย ความแข็งแกร่งเท่านั้นที่จะทำให้อยู่รอดได้

 

เรื่องจริงวันนี้
ถ้ายังมีการ…เลื่อน…เลือกตั้งต่อไป จะทำอย่างไร

สภาพขั้วทางการเมืองปัจจุบันที่ทุกคนรู้ว่ามีลักษณะเป็นสามก๊ก แต่เป็นสามก๊กที่เป็นรูปสามเหลี่ยมแบบไม่มีความสมดุลเพราะอำนาจเกือบทั้งหมดไปตกอยู่กับคณะผู้ยึดอำนาจมาตั้งแต่ปี 2557 และเพิ่มมากขึ้นในปี 2558 จนถึง 2560 ถือว่ามีอำนาจสูงสุดเป็นการสะสมอำนาจบารมี กำลังคน ทรัพยากรทุกอย่าง

วันนี้ขั้วหนึ่งครองอำนาจเด็ดขาดอยู่แล้ว อีก 2 ขั้วอำนาจคือพรรคเพื่อไทยและ ปชป. จะต้องถูกบีบให้แบนติดดิน ปชป. ถอยได้แต่ทรุด เพื่อไทยถอยก็ถูกเหยียบซ้ำ

ถ้าการครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังมีต่อไป การเลือกตั้งก็เป็นเป้าหมายต่อไป เป็นแค่โรดแม็ป เหมือนกับที่ไปประกาศไว้ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปี 2559 หรือ 2560 และความจำเป็นของสถานการณ์ทำให้เลื่อนไปได้เสมอ

ยุทธศาสตร์รอการเลือกตั้งหมายถึง การทำงานการเมือง ไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ รอให้การเลือกตั้งหล่นลงมาจากฟ้า

เวลานี้ นายกฯ คนนอกมีอยู่จริงๆ และทำงานการเมืองทุกวัน พรรคการเมืองจะทำอย่างไร?