E-DUANG : เทคโนโลยี เปลี่ยน โฆษณา เปลี่ยน

จาก “สกุลไทย” มายัง “พลอยแกมเพชร” จากพลอยแกมเพชรมายัง “ดิฉัน”

เริ่มมี “บทสรุป” และ “คำตอบ”

การอำลาไปจากแผงของ “นิตยสาร” เหล่านี้พื้นฐานอย่างที่สุดมาจาก “เทคโนโลยี” แน่นอน

“เนื้อหา” ของหนังสือเป็นเพียง “ปัจจัย”ประกอบ

ขณะเดียวกัน ประเด็นก็มิได้เนื่องมาแต่ปัญหาในทางเศรษฐ กิจแต่อย่างใด

เพราะคนอ่านล้วนเป็น”ชนชั้นกลาง”ระดับ”บน”

1 เป็นคนเมืองในแบบ”มหานคร” 1 เป็นคนในแบบ”ไฮโซ”รายได้สูง ไม่เดือดร้อนในเรื่องค่าครองชีพ

แล้วอะไรเล่าทำให้ “นิตยสาร” เหล่านี้ต้อง “จร”

 

ที่ต้องยอมรับอย่างมิอาจปฏิเสธได้ก็คือ เทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนกำหนดรสนิยม

รสนิยมอย่างที่เรียกว่า “ไลฟ์ สไตล์”

ความสะดวกในการคลิกผ่านตัวหนังสือใน “สมาร์ทโฟน”ครองสถานะเหนือกว่าการกวาดสายตาไปในแต่ละบรรทัดของตัวหนังสือในแผ่นกระดาษ

ยิ่งกว่านั้น ก็คือ ความรวดเร็วของภาพ “แฟชั่น”

หากอยากรู้เรื่องของ “คนดัง” ในระดับโลกอย่างรวดเร็วและฉับไว “สมาร์ทโฟน” เปิดกว้างให้มากกว่า

แทนที่จะรอ “นิตยสาร” ออกมาจาก “แท่นพิมพ์”

 

อีกปัจจัย 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การเปลี่ยนอันเกิดขึ้นในธุรกิจและการโฆษณา

เมื่อ”สมาร์ทโฟน”มีความเหนือกว่า

เม็ดเงินจากธุรกิจการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ก็ค่อยๆเทลงไปสู่ “ออนไลน์”

โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ผ่าน”เฟซบุ๊ค ไลฟ์”

การแปรเปลี่ยนนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลสะเทือนต่อ”โทรทัศน์” หากแต่ยังส่งผลกระทบต่อ “สื่อกระดาษ”

ตรงนี้แหละคือการขยับอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะไม่เพียงแต่ประสานระหว่าง “เทคโนโลยี” หากแต่ยังประสานเข้ากับ “จำนวนเงิน” ที่จะต้องมีการไหลไปอีกพื้นที่

“เทคโนโลยี” เปลี่ยน “พื้นที่” ก็เปลี่ยน