ศัลยา ประชาชาติ : “สมคิด” คุมเบ็ดเสร็จ จับตาเกษตร พลังงาน อุตฯ หัวหอกดันเศรษฐกิจ ปี 2561

เอฟเฟ็กต์จากการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.ประยุทธ์ 5) สะท้านไปทั่วทั้งองคาพยพและถูกฝาก “ความหวัง” ไว้ว่าจะเป็น “ดรีมทีม” เศรษฐกิจ เพราะ “ไร้ข้อกังขา” ว่ามี “เส้นสาย-โยงใย” มาจากบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

8 กระทรวงเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ต่างประเทศ พาณิชย์ อุตสาหกรรม คมนาคม เกษตรและสหกรณ์ การท่องเที่ยวและกีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3 หน่วยงานมันสมอง-เครื่องมือทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

ถูกรวบมาไว้หน้าตัก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี “แม่ทัพเศรษฐกิจ” ให้เป็น “ตัวจริง-เสียงจริง” (เสียที) ในการถือธงนำทั้งระบบเศรษฐกิจได้อย่าง “เบ็ดเสร็จ-เด็ดขาด” แบบไร้รอยต่อ

 

และในปี 2561 กระทรวงหลัก 3 กระทรวง จะเป็น “หัวหอก” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ เกษตรและสหกรณ์ พลังงาน และอุตสาหกรรม

เริ่มจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจาก “เปลี่ยนหัว” ให้ “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” ออกนอกระบบแล้ว ยังเสริมแกร่งด้วย 1 รัฐมนตรีว่าการ “สายปกครอง” กับอีก 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการ “มืออาชีพ” ถูกฝาถูกตัว ทั้ง “กฤษฎา บุญราช” รมว.เกษตรและสหกรณ์ “ลักษณ์ วจนานวัช” และ “อาจารย์ยักษ์” วิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์

ทั้งหมดต่างประสานเสียง-คำรามดังลั่นว่า “ราคาสินค้าเกษตร” โดยเฉพาะ “ราคายางพารา” จะ “ดีดตัว” “สูงกว่าทุน”

ภายใน 3 เดือน และเกษตรกรจะ “ลืมตาอ้าปาก” ได้ภายใน 1 ปี นับเวลาเท่าอายุรัฐบาลที่เหลืออยู่ก่อนเข้าสู่โรดแม็ป “เลือกตั้ง” ในเดือนพฤศจิกายน 2561

ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบประกาศิตให้ “กฤษฎา” ในการแก้ไขปัญหายางพาราอย่างเด็ดขาด

ประกอบการประชุม “ครม.สัญจร” ที่จังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งการเฉียบ “มาตรการเชิงรุก” ให้หน่วยงานราชการทุกกระทรวงเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราอีก 1 แสนตัน

นอกจากนี้ ต้องผลักดันให้การใช้งานภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 50% จากปริมาณการใช้เดิม 8 แสนตัน รวมทั้งสิ้น 1.3 ล้านตัน เพื่อให้ปริมาณการใช้งานยางพาราในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ “มาตรการเชิงลด” ลดพื้นที่การปลูกยางพาราในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือการ “บุกรุก” ปลูก จำนวน 8.5 ล้านไร่ พบว่าจำนวน 1.3 ล้านไร่ เป็นการปลูกโดยมี “นายทุน” อยู่เบื้องหลัง

สำหรับการ “แก้หนี้” เกษตรกร “ลักษณ์” ในฐานะอดีตผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมหาช่องประสานกับกระทรวงการคลังออก “แพ็กเกจ” แก้หนี้ให้กับเกษตรกร พร้อมกับการฟื้นฟูอาชีพเป็นรายหัว-ตัวต่อตัว

 

กระทรวงพลังงาน มีภารกิจเรื่อง “ความมั่นคงทางพลังงาน” ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” หมายมั่นที่จะ “เผด็จศึก” ให้ได้ตั้งแต่ในยุค นายณรงค์ชัย อัครเศรณี และนายพล “สายตรง” ตึกไทยคู่ฟ้า-พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ทว่ากลับ “คว้าน้ำเหลว” ไม่มีอะไรจับต้องได้

“โปรเจ็กต์” พลังงานจึงเป็น “เผือกร้อน” ในมือเสนาบดี เช่น การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ในแหล่งเอราวัณ-บงกช ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างร่างเงื่อนไขการประมูลเพื่อเสนอคณะกรรมการปิโตรเลียมและ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบให้ทันเปิดประมูลในปีหน้า

ขณะเดียวกัน ร่างกฎกระทรวง กำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. … 1 ใน 4 กฎหมายลูก ซึ่งเป็น “ฉบับสุดท้าย” กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของกฤษฎีกาเพื่อรอบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ต่อไปเร็วๆ นี้

สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา จ.สงขลา ภายหลังเกิดเหตุการณ์ชุลมุน-ประท้วงจนเกือบกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้โจทย์ใหม่ “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” รมว.พลังงาน “ป้ายแดง” หาข้อยุติโดยปราศจากความขัดแย้ง

“วันนี้ยังอยู่ในขั้นการศึกษา EIA + HEIA ยังไม่ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ถ้าผ่านและเข้า ครม. แล้ว ถึงจะไปเริ่มต้น ก็ต้องไปดูเรื่องการเยียวยา การดูแลที่อยู่อาศัย ค่าเยียวยาต่างๆ ให้เหมาะสม สิ่งสำคัญคือเวลาไม่คอยท่า ฉะนั้น ต้องเอาให้แน่ว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง ไม่สร้างจะเอาที่ไหน ไฟฟ้าจะมายังไง ต้นทุนค่าไฟฟ้ามันจะสูงขึ้นทั้งประเทศหรือเปล่า ช่วยกันดู”

เลวร้ายที่สุดหากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องพับโครงการไป “โจทย์ต่อไป” คือ การเตรียมแหล่งพลังงาน (สำรอง) สำหรับปั่นกระแสไฟในพื้นที่ภาคใต้ให้ได้ ไม่มีปัญหาไฟฟ้าดับจนกระทบกับประชาชน-ผู้ประกอบการจนทั้งเมืองต้องเป็นอัมพาต

 

“อภิมหาโปรเจ็กต์” ของกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” เป็นอีกหนึ่งเป้าหมาย ซึ่งกำลังใจจดจ่ออยู่กับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในชั้นกรรมาธิการ ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาในขั้นสุดท้ายในวาระ 2-3

ภายหลังการประชุม “บอร์ดอีอีซี” ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะ-ทุบเสียงดัง “ขีดเส้นตาย” ส่งสัญญาณไปยัง “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประมุข สนช. ร่าง “พ.ร.บ.อีอีซี” จะต้องคลอดออกมาภายในธันวาคมปีนี้ให้ได้ หรืออย่างช้าที่สุดภายในมกราคมปีหน้า

“พล.อ.ประยุทธ์” ให้ความสำคัญกับร่าง พ.ร.บ.อีอีซีฉบับนี้ระดับเต็มสิบ โดยส่ง “มือกฎหมาย” มือหนึ่งของรัฐบาล อย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี “คุมเกม” ทุกบัญญัติ ทุกมาตรา ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 “พล.อ.ประยุทธ์” ยังออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 47/2560 เรื่อง ข้อกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่อีอีซี

โดยกำหนดให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) จัดทํานโยบายและแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซีเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน

เมื่อคณะกรรมการนโยบายเห็นชอบแผนแล้ว ให้สํานักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทํารายละเอียดของแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน-โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนและเสนอ ครม. อนุมัติ

และให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดําเนินการจัดทําผังเมืองขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับแผนผังดังกล่าว โดยถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

 

เมื่อทุกอย่างถูก “ปลดล็อก” ทั้งข้อกฎหมาย-ผังเมือง “เมกะโปรเจ็กต์” โครงสร้างพื้นฐานจะถูกปูพรมเต็มพื้นที่ภาคตะวันออก ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้หันมามอง

ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในกุมภาพันธ์ 2561 โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในเดือนพฤษภาคม 2561 โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เป็นการร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ-บริษัทการบินไทย-บริษัทแอร์บัส คาดว่าจะจัดทำรายละเอียดร่วมทุนกับภาคเอกชนได้ในเดือนมีนาคม 2561

โครงการท่าเรือแหลมฉบัง คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนมิถุนายน 2561 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนมิถุนายน 2561

 

นอกจาก “สมคิด” จะคุมเบ็ดเสร็จ 8 กระทรวงเศรษฐกิจ 3 หน่วยงานวางแผน-ขับเคลื่อนโครงการยักษ์แล้ว ยังได้รับมอบหมาย-มอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการ (บอร์ด) แห่งชาติแบบ “ม้วนเดียวจบ” 19 คณะ อาทิ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก คณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ คณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เป็นต้น

รวมถึงรองประธานกรรมการ 6 คณะ อาทิ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

นี่คืออำนาจเต็มมือที่เกิดขึ้นหลังการปรับ ครม. ครั้งล่าสุด และเป็นเดิมพันสำคัญที่ “สมคิด” จะต้องพลิกเศรษฐกิจไทยให้พุ่งทะยานได้สำเร็จเสียที