อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ชาติ…หน้า ศิลปะเชิงทดลองที่ว่าด้วยแรงสั่นสะเทือน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะแนวทดลองที่แปลกใหม่และน่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันฟังตามเคย

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

ชาติ…หน้า

เป็นนิทรรศการของ อานนท์ นงค์เยาว์ ศิลปินหนุ่มชาวไทย ผู้มีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับสื่อภาพเคลื่อนไหวและเสียง

เขามักทำการทดลองเกี่ยวกับแรงสั่นสะเทือนที่มีแหล่งกำเนิดจากมนุษย์, สิ่งมีชีวิต และสรรพสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาทิ สังคม, เทคโนโลยี หรือสถานการณ์ทางการเมือง

การทดลองของเขามักจะแสดงผลลัพธ์ออกมาในศิลปะการแสดงสด หรือศิลปะจัดวางที่สัมพันธ์กับพื้นที่เฉพาะ (Site-specific art) หรือศิลปะในพื้นที่สาธารณะ (Public art)

ชาติ…หน้า เป็นนิทรรศการที่รวบรวมผลงานศิลปะทั้งเก่าและใหม่ของอานนท์ ซึ่งประกอบด้วยผลงานศิลปะจัดวางอันอาบเอิบไปด้วยแสง สี เสียง และภาพเคลื่อนไหว ที่ถูกหลอมรวมเข้าไว้ด้วยกันในพื้นที่แสดงงาน

ความยั่วเย้าขบขันที่ปรากฏในชื่อนิทรรศการ “ชาติ…หน้า” นี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของศิลปินต่อสภาวะที่ยังมาไม่ถึง

สภาวะของการเปลี่ยนแปลงและถูกเปลี่ยนแปลง ที่ครั้งหนึ่งมีความไม่มั่นคงและเปราะบาง หากแต่ก็เต็มไปด้วยศักยภาพอันเปี่ยมล้น

ซึ่งอานนท์เชื้อเชิญเราให้สัมผัสกับเขตแดนแห่งความเปลี่ยนผ่านและความเป็นไปได้ที่ว่านี้

ผลงานศิลปะของอานนท์ ทำการทดลองและเล่นกับแรงสั่นสะเทือน ซึ่งอยู่ในรูปแบบของคลื่นความถี่ที่ก่อให้เกิดแสงและเสียง โดยเป็นการกระตุ้นเร้า, ปลุกชีวิตชีวา และเชื่อมโยงความรู้สึกอันแตกต่างหลากหลายผ่านสื่อดังกล่าว สำหรับอานนท์ “แรงสั่นสะเทือน” เป็นอะไรที่สร้างลักษณะเฉพาะตัวให้กับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแรงสั่นสะเทือนของมนุษย์หรือวัตถุ ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เราแต่ละคนมีความพิเศษไม่เหมือนใคร

“แรงสั่นสะเทือนมีอยู่ในทุกหนแห่ง ท้ายที่สุด ถ้าเรามีความละเอียดอ่อนและพยายามรับรู้และทำความเข้าใจต่อแรงสั่นสะเทือนรอบๆ ตัวเรา เมื่อนั้น เราจะสามารถเข้าใจชีวิตได้”

อานนท์ใช้แสง, เสียง และภาพเคลื่อนไหว มากกว่าจะเป็นแค่เพียงคลื่นเสียงหรือสื่อทางภาพสำหรับการฟังและดูเท่านั้น หากแต่เขาใช้มันเป็นพลังงานที่ส่งความรู้สึกผ่านร่างกายของเราด้วย ในอีกแง่หนึ่งก็คือ เข้าสร้างคลื่นความถี่ให้แผ่กระจาย ปะทะกันและกัน ก่อนที่จะสัมผัสผิวหนัง ซึมซับเข้าไปภายในร่างกายของเรา และสั่นสะเทือนจากภายใน ไปพร้อมๆ กันกับที่ร่างกายเราสั่นสะเทือนกลับไปเช่นเดียวกัน

ด้วยผลงานศิลปะเชิงทดลองหลากหลายชิ้น อย่างเช่น ผลงาน ชาติ…หน้า 1 (2017) ที่ติดตั้งกลางห้องแสดงงาน โดมที่กะพริบแสงหลากเฉดสี โดยมีภาพจำลองขนาดใหญ่ของโดมแสงฉายบนผนังด้านตรงกันข้าม โดมในภาพสั่นสะเทือนเป็นจังหวะ อันเป็นผลมาจากมอเตอร์ที่ติดอยู่กับกล้องวงจรปิดที่ถ่ายทอดสัญญาณภาพสดของมันอยู่ เมื่อมอเตอร์สั่นไหวจุดแสงจากโดมก็จะสั่นไหวและแกว่งไกวอย่างฉับพลันจนดูราวกับเป็นสสารปรมาณูที่เคลื่อนไหวอย่างยุ่งเหยิงไปสู่สภาวะอันตื่นตระหนก

“ผมสนใจในเรื่องแรงสั่นสะเทือน ตอนแรกผมสนใจเรื่องเสียง แต่พอค้นคว้าไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามันเป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดภาพและเสียง ดังนั้น ต้นกำเนิดของภาพในงานของผมจึงเกิดจากการสั่นสะเทือนของกล้องจนเกิดมุมมองใหม่ขึ้นมา”

“การที่กล้องสั่นมันเกิดจากความบังเอิญที่ผมเอากล้องไปวางไว้บนเครื่องปรับอากาศแล้วถ่ายภาพ พอเราเอาภาพมาดู เราพบว่ามันสั่นแบบเสถียร ซึ่งทำให้เกิดสภาวะของความนิ่ง ทำให้เราดูภาพสั่นได้โดยไม่ปวดตา เพราะมันสั่นเป็นจังหวะที่สม่ำเสมอ”

“ในงานชุดนี้ กล้องแต่ละตัวจะถูกตั้งเวลาในการสั่นเอาไว้ตามลำดับ เพื่อให้เสียงและภาพสื่อสารกัน ทำให้คนดูเชื่อมโยงภาพและเสียงของแต่ละงานทั้งหมดเข้าด้วยกันได้”

หรือในผลงาน ชาติ…หน้า 2 (2017) ลูกบอลแสงระยิบระยับที่ติดอยู่ด้านบนของโทรทัศน์เก่า ที่มีกล้องวงจรปิดถ่ายทอดสัญญาณภาพสดของมันลงไปบนจอโทรทัศน์

ตัวกล้องติดมอเตอร์ให้สั่น ทำให้ภาพของลูกบอลแสงที่ปรากฏในจอสั่นไหวจนดูราวกับเป็นดวงอาทิตย์ที่กำลังจะระเบิด

การกะพริบของแสงเช่นนี้เป็นอะไรที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทยและที่อื่นๆ โดยใช้เพื่อการประดับตกแต่งและความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นในงานศพและศาลพระภูมิ มันถูกใช้เพื่อการเฉลิมฉลองในเทศกาลแห่งความสุขหรือโศกเศร้า มันให้ความบันเทิงเริงรมย์แก่มนุษย์เช่นเดียวกับการแสดงความเคารพให้แก่คนตายและภูตผีวิญญาณ

“งานชิ้นนี้มีที่มาจากไฟประดับในวันคริสต์มาส ซึ่งไฟแบบนี้ บ้านเราใช้ในสองวัตถุประสงค์ อย่างแรกก็คือ ใช้ในการตกแต่งศาลพระภูมิ หรือใช้ในพิธีศพ ซึ่งเป็นงานอัปมงคล อย่างที่สองคือ ใช้ในงานรื่นเริง เช่น ในวันคริสต์มาสหรือปีใหม่ ผมเกิดความคิดในการใช้ไฟแบบนี้เพื่อสร้างมิติอีกมิติหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ตรงกลางที่เราไม่สามารถตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี เช่นเดียวกับไฟประดับที่เราใช้ทั้งในงานรื่นเริงและงานอัปมงคล ภาพที่ได้ออกมามันก็จะดูเหมือนกับภาพของอะตอมหรือโลกในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการนี้”

และผลงาน ชาติ…หน้า 3 (2017) หลอดไฟที่จ้องมองภาพของตัวเองที่ถูกถ่ายทอดสดบนจอโทรทัศน์ ภาพสะท้อนของตัวมันที่ดูคล้ายกับเซลล์ เมื่อแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นก็ดูคล้ายกับเซลล์กำลังขยาย แตกตัว และสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมา แต่เมื่อกล้องหยุดสั่นไหว มันก็กลับคืนสู่สภาพเดิม

นอกจากภาพและแสงแล้ว เสียงที่ปรากฏในงานของอานนท์ก็เป็นองค์ประกอบอันสำคัญอย่างมากที่ผู้ชม (หรือผู้ฟัง) ผลงานสามารถสัมผัสกับประสบการณ์อันละเอียดอ่อนของบทสนทนาแห่งความสั่นสะเทือนเมื่อเข้าไปในพื้นที่แสดงงานได้อีกด้วย

นอกจากนั้น ผู้ชมยังสามารถชมหนังสั้นสามเรื่องของศิลปินอย่าง Drink Sky On Rabbit”s Field (Lost Control) (2014), Ghost Rabbit & The Casket Sales (2015) และ The Light of Happisadness (2016) ในโทรทัศน์เก่าตรงมุมห้องแสดงงาน

การใช้โทรทัศน์ระบบเก่าที่ให้ภาพในอัตราส่วน 4:3 รวมถึงขนาดของภาพบนกำแพงนั้น ศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงเวลาในวัยเด็กของเขาที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากภาพเคลื่อนไหวในจอโทรทัศน์ และจากการที่โทรทัศน์เป็นสื่อกระแสหลักที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในประเทศไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

“หนังสั้นสามเรื่องนี้ผมทำขึ้นตั้งแต่ตอนรัฐประหารที่ผ่านมา เรารู้สึกว่าเราอยากแสดงข้อคิดเห็นอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นเรื่องในเชิงการเมืองมาก แต่เรารู้สึกว่าเราสามารถแสดงความคิดเห็นของเราผ่านกระบวนการทำงานในแบบของเราออกมาได้ ก็ทำออกมาปีละเรื่อง 3 ปี 3 เรื่อง”

นอกจากนัยยะทางการเมืองของโทรทัศน์แล้ว แสงสีที่ถูกถ่ายทอดผ่านจอมอนิเตอร์ที่ผิดเพี้ยนไปจากภาพของวัตถุที่เราเห็นจริงๆ (ด้วยความที่มันเป็นระบบอะนาล็อก จึงทำให้มันไม่สามารถถ่ายทอดภาพที่ชัดเจนเหมือนจริงออกมาได้) ก็เป็นนัยยะอีกประการที่เปรียบเปรยถึงความบิดเบือนของสื่อในฐานะเครื่องมือทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน

นิทรรศการ ชาติ…หน้า จัดแสดงที่หอศิลป์ Cartel Art Space ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2560 ใครสนใจจะไปชมก็สอบถามข้อมูลกันก่อนได้ที่ facebook @Cartelartpace

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน และบทความประกอบนิทรรศการ ชาติ…หน้า โดย Vuth Lyno ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ