ล้านนา-คำเมือง : ไทเขินฯ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ไตเขิน”

“ไทขึน” หรือ “ไทเขิน” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มไต ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า

ไทเขินเรียกตัวเองว่า “ขึน” ซึ่งมาจากชื่อแม่น้ำในเมืองเชียงตุง แม่น้ำเดียวที่ไหลขึ้นไปทางเหนือ

ภาษาพูดและเขียนของไทเขินมีความคล้ายคลึงกันกับไทยองและไทลื้อมาก

นับเป็นกลุ่มภาษาย่อยของไทพายัพ ในกลุ่มภาษาคำ-ไต ตระกูลภาษาไท-กะได

ในล้านนา ชาวไทเขิน ถูกกวาดต้อนมาจากเชียงตุงตั้งแต่ พ.ศ.2347 ในสมัยพระยากาวิละ เพื่อให้มาช่วยกันสร้างบ้านเมือง คือ บูรณะเมืองเชียงใหม่ ขึ้นใหม่ เรียกว่ายุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”

โดยไทยเขินกลุ่มใหญ่มีเจ้านายมาด้วยหลายองค์คือ เจ้ากระหม่อม (ต้นสกุลพรหมศรี) เจ้าแสนเมือง เจ้าฟ้าสารัมพะยะ หรือเจ้ากองไต อดีตเจ้าหอคำเชียงตุง เจ้าเมืองเหล็ก เจ้ามหาพรหม เป็นต้น

โดยมาตั้งคุ้มหลวงอยู่บ้านนันทาราม อยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นในและกำแพงเมืองชั้นนอกด้านใต้ของเมืองเชียงใหม่

กลุ่มนี้เป็นช่างฝีมือเชี่ยวชาญในการทำเครื่องเขิน

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นไพร่ไร้ฝีมือ ไปตั้งถิ่นฐานที่นอกเมืองเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ที่อำเภอสันทราย สันป่าตอง สันกำแพงและดอยสะเก็ด

การแต่งกายของหญิงชาวไทเขิน นิยมเสื้อที่ตัดมาจากผ้าสีขาว หรือสีชมพู สำหรับผู้มีฐานะดีนิยมใช้ผ้าแพรที่นำเข้าจากประเทศจีน

ลักษณะเสื้อจะเป็นลักษณะเดียวกันกับเสื้อปั๊ด เอวกระดกเล็กน้อย นิยมเคียนหัวด้วยผ้าสีอ่อนเช่นเดียวกับไทลื้อ

เครื่องประดับที่ใช้ทำมาจากเครื่องเงิน ผ้าซิ่นส่วนบนเป็นลายริ้ว หรือที่เรียกกันว่า “ซิ่นก่าน” ส่วนตีนจะต่อด้วยผ้าสีเขียว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อีกประการหนี่งของชาวไทเขิน

ส่วนการแต่งกายของชายชาวไทเขิน นิยมเสื้อคอกลมผ่าหน้า กระดุมผ้าแบบจีน นุ่งเตี่ยวโย้เหมือนกางเกงแบบจีน ในโอกาสที่สำคัญบุรุษชาวไทเขินจะนิยมสวมเสื้อคอปกไว้ภายในอีกชั้น เพื่อความเรียบร้อย นิยมเคียนหัว สำหรับผู้มีฐานะดีนิยมมัดเอวด้วยผ้าแพรพรรณสีอ่อน

วัฒนธรรมของชาวไทเขินมีความคล้ายคลึงกับล้านนามากที่สุด คือมีขนบ ประเพณี ภาษา และตัวอักษรอย่างเดียวกับชาวล้านนา แตกต่างบ้างเล็กๆ น้อยๆ

ในอดีตชาวไทเขินนับถือผีและวิญญาณ แม้หลังจากการรับเอาศาสนาพุทธนิกายเถรวาทมานับถือแล้ว ความเชื่อดังกล่าวก็ยังคงอยู่

ที่เป็นเอกลักษณ์คือ การนับถือกบและนาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ดังปรากฏในพิธีปั้นกบเรียกฝนในช่วงสงกรานต์ และมีระบำนางนาค เป็นต้น

เมืองเชียงตุงมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรล้านนาแนบแน่นมาช้านาน อนุมานเอาจากการที่พระสงฆ์เขินจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับพระสงฆ์พม่าและไทใหญ่ แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคณะไทยใหญ่ก็ตาม แต่คณะสงฆ์เขินกลับสนิทสนมกับคณะสงฆ์ไทยเสียมากกว่า โดยคณะสงฆ์เขินมี สมเด็จอาชญาธรรม เป็นประมุขสงฆ์แห่งเมืองเชียงตุง และหัวเมืองทางฟากตะวันออกของลุ่มน้ำสาละวิน

ครั้นรัฐบาลพม่าได้จัดประชุมตัวแทนพระสงฆ์ทั่วประเทศ โดยให้ตัวแทนของพระสงฆ์แต่ละนิกายแสดงสถานภาพตนเองว่าจะสังกัดนิกายใด หรือจะใช้นิกายเดิม หรือรวมกับนิกายอื่น ปรากฏว่าพระสงฆ์เขินได้มีเจตจำนงรวมเข้ากับนิกายสุธรรมาซึ่งเป็นนิกายที่ใหญ่ที่สุดของพม่า

หลังจากนั้นเป็นต้นมา สมเด็จอาชญาธรรม ประมุขของคณะสงฆ์เขินจึงถูกลดฐานะลงเทียบเจ้าคณะอำเภอเชียงตุงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ล้านนาจะถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยแล้ว การจัดระเบียบปกครองสงฆ์ล้วนทำเป็นอย่างสงฆ์ในกรุงเทพมหานคร และได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธแบบกรุงเทพฯ

ในยุคหลังมานี้ แม้คณะสงฆ์เขินจะคงจารีตสมณะศักดิ์แบบล้านนาเดิมไว้ แต่ในด้านการศึกษาของพระสงฆ์เขินเชียงตุงได้พยายามอิงหลักสูตรนักธรรมและบาลีของคณะสงฆ์ไทย ทำให้มีความแตกต่างจากศาสนาพุทธแบบพม่า และแบบไทใหญ่

ทั้งนี้ ศาสนิกชนไทเขินยังนิยมพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์แบบไทย มากกว่าพระพุทธรูปพุทธศิลป์แบบพม่าอีกด้วย