ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | อาชญากรรม |
เผยแพร่ |
นับเป็นคดีต่อเนื่องกับเหตุบึ้ม 7 จังหวัดภาคใต้ จนมีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 36 คน
เมื่อเจ้าหน้าที่ออกตระเวนควบคุมตัว 17 ผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ไปควบคุมที่ค่ายทหาร มทบ.11
ซึ่งแม้พยานหลักฐานจะบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มคนภาค 3 จังหวัดภาคใต้
ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานจากกล้องวงจรปิดเหตุไฟไหม้ที่เทสโก้ โลตัส นครศรีธรรมราช ที่จับภาพชายต้องสงสัยขึ้นรถทัวร์มุ่งหน้าไปยัง จ.นราธิวาส
หรือกระทั่งดีเอ็นเอที่พบในจุดวางระเบิดที่ภูเก็ต ที่ตรงกับหนุ่มชาวตากใบ ซึ่งมีหมายจับคดีความมั่นคงอยู่ด้วย
รวมทั้งอุปกรณ์จุดชนวนที่เป็นมือถือซัมซุง ฮีโร่ และเพาเวอร์แบงก์ สั่งซื้อจากมาเลเซีย
จนกระทั่ง ผบ.ตร. และรองนายกฯ ออกมาประสานเสียงว่าทั้ง 17 คนนี่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุบึ้ม
แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมปล่อยตัว แถมยังตั้งข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร พร้อมยื่นฝากขังศาลทหาร
ถือเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป
หมายจับอั้งยี่-17 นปป.
ภายหลังเหตุวินาศกรรมสะเทือนขวัญ เมื่อวันที่ 11-12 สิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและตำรวจทหาร ก็ลงพื้นที่เช็กข่าวถี่ยิบ พร้อมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย จากพื้นที่ต่างๆ ทั้งหมด 17 คน มาควบคุมตัวสอบสวนที่ มทบ.11 โดยมีอำนาจควบคุมตัวโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาได้ 7 วัน
ประกอบด้วย 1.ด.ต.ศิริรัตน์ มโนรัตน์ อายุ 71 ปี ชาว จ.พัทลุง 2.นายวีระชัฏฐ์ จันทร์สะอาด อายุ 62 ปี ชาว จ.นนทบุรี 3.นายประพาส โรจนพิทักษ์ อายุ 67 ปี ชาว จ.ตรัง 4.นายปราโมทย์ สังหาญ อายุ 63 ปี ชาว จ.สตูล 5.นายสรศักดิ์ ดิษปรีชา อายุ 49 ปี ชาว กทม. 6.น.ส.มีนา แสงศรี อายุ 39 ปี ชาว กทม. 7.นายศิริฐาโรจน์ จินดา อายุ 56 ปี ชาว จ.หนองคาย
8.ร.ต.ต.หญิง วิลัยวรรณ คูณสวัสดิ์ อายุ 54 ปี ชาว จ.หนองคาย 9.นายชินวร ทิพย์นวล อายุ 71 ปี ชาว จ.เชียงราย 10.นายณรงค์ ผดุงศักดิ์ อายุ 60 ปี ชาว จ.อ่างทอง 11.ร.ต.ท.สมัย คูณสวัสดิ์ อายุ 57 ปี ชาว จ.หนองคาย 12.นายศรวัชษ์ กุระจินดา อายุ 60 ปี ชาว จ.มหาสารคาม 13.นายเหนือไพร เซ็นกลาง อายุ 41 ปี ชาว จ.สกลนคร
14.นายวิเชียร เจียมสวัสดิ์ อายุ 59 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราช 15.นายบุญภพ เวียงสมุทร อายุ 61 ปี ชาว จ.เชียงราย 16.น.ส.รุจิยา เสาสมภพ อายุ 52 ปี ชาว จ.ร้อยเอ็ด 17.นายวิโรจน์ ยอดเจริญ อายุ 67 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราช
ก่อนที่ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. จะเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับทั้งหมด โดยระบุว่าหน่วยงานความมั่นคงพบหลักฐานเชื่อมโยงของทั้ง 17 คน โดยมี 6 คน เป็นแกนนำประสานงานติดต่อเคลื่อนไหว
ซึ่งแนวทางการสืบสวน เจ้าหน้าที่ระบุว่ากลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 17 คน เริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2558 โดยใช้บ้านพักแห่งหนึ่งย่านบางกรวยเป็นที่ประชุมวางแผน และระดมมวลชนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง กระจายตัว และแบ่งความรับผิดชอบ 11 เขตทั่วประเทศ ยกเว้นจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยขออนุมัติหมายจับจากศาลทหารในความผิดข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ในความผิดเข้าข่ายอั้งยี่
โดยนายสรศักดิ์ ที่มีอาชีพค้าของเก่า ถูกหมายจับเพิ่มอีกข้อหา คือมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่ได้รับอนุญาตไว้ในความครอบครอง เป็นปืนอาก้า 1 กระบอก แม็กกาซีน 2 อัน กระสุนอีก 31 นัด
พร้อมควบคุมตัว 15 คน เนื่องจากอีก 2 คนที่เหลือ ประกอบด้วย ร.ต.ต.หญิง วิลัยวรรณ และ ร.ต.ท.สมัย 2 สามีภรรยา ที่ถูกนำตัวมาสอบสวน แต่ปล่อยตัวไปก่อนหน้านี้ ฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพฯ เป็นเวลา 12 วัน
จนกระทั่งเมื่อทนายความยื่นประกันเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ศาลจึงอนุญาตให้ประกันตัว โดยตีหลักทรัพย์ประกันคนละ 1 แสนบาท โดยมีเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อีกทั้งยังถอนหมายจับ ร.ต.ต.หญิงวิลัยวรรณ และ ร.ต.ท.สมัย
ทำให้ทั้งหมดได้รับอิสรภาพ หลังถูกขังในค่ายทหารและเรือนจำมาร่วมครึ่งเดือน
ชี้หวังล้ม รบ.-นิยมคอมมิวนิสต์
สําหรับก่อนหน้านี้การเข้าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะแทบไม่มีหลักฐานเลยว่ากลุ่มคนเหล่านี้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุระเบิด หรือมีศักยภาพเพียงพอ
โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ก็ยืนยันว่ากลุ่มคนพวกนี้ไม่เกี่ยวกับเหตุระเบิดใน 7 จังหวัด
ทั้งนี้ พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.กองแผนงานอาชญากรรม ตร. ชี้แจงว่า ทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด และวางเพลิง แต่เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในนามพรรคแนวร่วมประชาธิปไตย หรือ นปป. มีแนวคิดทางการเมืองต่อต้านและล้มล้างการปกครองของรัฐบาล ใช้แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ ที่ผ่านมา มีการนัดหมายประชุมวางแผนแลกเปลี่ยนความเห็นตามสถานที่ต่างๆ ทั้งใน จ.นนทบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และพัทลุง
ขณะที่ นายธนเดช พ่วงพูล ทนายความสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ ระบุว่า การต้องติดคุกของผู้ต้องหาบางคนทำให้ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ เพราะหลายคนอยู่ในช่วงสูงวัย การพบปะก็เป็นในลักษณะสภากาแฟ ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนทางการเมือง
นอกจากนี้ ในรายของ นายชินวร ทิพย์นวล 1 ในผู้ต้องหา ปกติอาศัยอยู่กับหลานสาววัย 8 ขวบเพียง 2 คน ไม่มีใครดูแล ก็ต้องฝากไว้กับคนรู้จัก
ส่วนเรื่องประเด็นครอบครองอาวุธสงครามของนายสรศักดิ์ ก็เพราะนายสรศักดิ์เป็นพ่อค้ารับซื้อของเก่า เมื่อซื้อของมาตรวจสอบพบอาวุธสงคราม ก็แจ้งให้ตำรวจมาตรวจสอบ แต่กลับถูกแจ้งข้อหาครอบครองอาวุธสงคราม ซึ่งองค์กรต่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนสอบถามเรื่องนี้มามาก เพราะเห็นว่าไม่ควรแจ้งข้อกล่าวหา
ด้าน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า จากการตรวจร่างกายตามขั้นตอนรับเข้าเรือนจำ พบว่าส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ เช่น เกาต์ เบาหวาน ต่อมลูกหมากโต ซึ่งเรือนจำอนุญาตให้ใช้ยาประจำตัวรักษาได้
เป็นผู้สูงอายุที่ต้องรับการดูแลอย่างใกล้ชิด
ผู้ต้องขังเปิดใจขอความเป็นธรรม
ภายหลังได้รับการปล่อยตัว นายวิเชียร เจียมสวัสดิ์ 1 ในผู้ต้องขัง เผยว่า หากยังมีความเป็นธรรมอยู่ ก็จะไม่เกิดปัญหาใดๆ ส่วนตัวแล้วหากผิดจริงก็ให้ว่ากันตามกระบวนการ โดยวันที่ถูกจับ กำลังนอนดูทีวีอยู่ในบ้านพักใน จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นมีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งเข้าไปในบ้านและเชิญตน บอกว่าจะไปพบเจ้านาย โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44
ผมตกใจมาก ลูกสาวที่อยู่ในบ้านด้วยกันก็ถามทหารว่าจะเอาผมไปไหน เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าจะนำตัวไปค่ายทหาร ก่อนนำตัวไปโรงพัก เพื่อลงบันทึกประจำวันแล้วไปที่ค่ายทหาร จากนั้นก็สอบประวัติแล้วแจ้งข้อกล่าวหา
ที่หาว่าผมตั้งพรรคการเมืองนั้นไม่จริง เพราะเราไม่มีพรรค การจัดตั้งต้องมีขั้นตอนตามกฎหมาย แต่ของเราเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย หรือนัดพบปะกันบ้างในบางคน แล้วก็ไม่ได้รู้จักกันหมด บางคนเพิ่งมารู้จักกันในเรือนจำนี่เอง
ด้าน นายประพาส โรจน์พิทักษ์ อายุ 67 ปี เผยว่า วันที่ถูกจับ ตนนอนดูทีวีอยู่ในบ้านที่ จ.ตรัง เพราะป่วย รอไปหาหมอเพราะคลินิกปิด ช่วงสายมีทหารจากกองทัพภาคที่ 4 เข้ามาควบคุมตัว โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 เอาตัวไปสอบสวนที่ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
นอกจากนี้ ยังยึดหนังสือเกี่ยวกับการเมือง สมุดไดอารี บัตรประชาชน และเอกสารต่างๆ ไปตรวจสอบด้วย ยืนยันว่าที่ผ่านมาตนทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคพวกที่ไปมาหาสู่กัน แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับ นปช. เคยเป็น กมธ.วิสามัญร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
โดยประวัตินายประพาส เคยบวชเรียนที่วัดโคกหล่อ อ.เมือง จ.ตรัง หลังลาสิกขาก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นนักหนังสือพิมพ์ในทีมของ นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี และอดีตกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ภายหลังเข้ามาร่วมงานกับหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาล และมีส่วนกำหนดนโยบาย 66/2523 ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ต่อมานายประเสริฐเสียชีวิต จึงกลับมาบ้านเกิดที่ จ.ตรัง แล้วก็แต่งงาน ร่วมกิจกรรมทำงานภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง เมื่อพรรคพวกเปิดศูนย์พรรคความหวังใหม่ เป็นกรรมการบริหารพรรคสาขาตรัง ขอยุติบทบาท
ส่วนอีก 1 ผู้ต้องหาคือ นางมีนา แสงศรี แม่ค้าขายพริกแกงในตลาดย่านศรีนครินทร์ ที่ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบเอาตัวไปคุมขังที่ มทบ.11 จนต้องเขียนจดหมายถึงลูกวัย 12 ขวบขอให้เข้มแข็ง
ขณะที่แม่ของเธอก็เดินสายยื่นหนังสือกับองค์กรต่างๆ เพื่อขอให้ปล่อยลูกออกมา เพราะเป็นผู้บริสุทธิ์
นี่คือเหล่าผู้ต้องหาคดีอั้งยี่ของรัฐบาล