ในประเทศ : เพิ่ม***ล็อก

รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รู้ดีว่า สิ่งที่อยู่ในใจคนไทยส่วนใหญ่

คือ การไม่อยากให้ประเทศกลับไปสู่ความรุนแรง ความวุ่นวาย อย่างช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา

และนี่ก็เป็น “จุดแข็ง” อันสำคัญของ คสช. และรัฐบาล

เพราะโพลต่างๆ ชี้ไปในแนวเดียวกันว่า ความนิยมใน คสช. และรัฐบาล มาจากความสามารถคุมให้เกิดความสงบได้ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

จึงถือเป็น “จุดขาย” และเป็นท่าไม้ตาย ที่ คสช. และรัฐบาลจะหยิบฉวยประเด็นนี้มาใช้

หากรู้สึกว่าตนเองกำลังอยู่ในภาวะเพลี่ยงพล้ำ หรือขาลง

อย่างที่ทราบกัน ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ภาคใต้

รัฐบาล และ คสช. ตกอยู่ในภาวะเพลี่ยงพล้ำ ถึงขนาดมีคำถามว่า รัฐบาลเผชิญภาวะขาลงแล้วหรือไร

เมื่อผู้นำไปแสดงอาการกราดเกรี้ยวใส่ชาวประมง

ขณะที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้

ยิ่งไปกว่านั้น มีเหตุความไม่สงบ ระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เทพา จ.สงขลา

จนรัฐบาลถูกกล่าวหาว่ากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่ยอมฟังเสียงประชาชน

การเสียแต้มในภาคใต้ ทั้งที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ให้การสนับสนุน คสช. และรัฐบาลมากกว่าพื้นที่อื่น

แต่เอาเข้าจริง กลับกลายเป็นว่า ดินแดนแห่งมิตร กลายเป็นดินแดนแห่งคนอื่น หรือถึงขนาดบอกว่าเป็นดินแดนของศัตรูไป

นี่ย่อมสร้างความ “ตื่นตกใจ” ให้กับฝ่ายรัฐบาลไม่น้อย

เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยเผชิญแรงต่อต้านที่มากขนาดนี้ ทั้งในแง่บุคคลและทั้งในแง่หมู่คณะ

ทําให้สิ่งที่รัฐบาลขับเคลื่อนออกไป โดยเฉพาะอย่างการปรับคณะรัฐมนตรี ไม่อาจเป็นประเด็นนำของสังคมได้

ปัญหาภาคใต้และปัญหาการเมืองอื่นมาช่วงชิง “การนำกระแส” ไปได้อย่างไม่ยากเย็น

แถมการปรับคณะรัฐมนตรียังถูกท้าทาย และถูกประเมินว่าจะแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านได้จริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นทีมงานเศรษฐกิจ จะแก้ไขปัญหารวยกระจุก จนกระจายได้หรือไม่

และเมื่อแยกแยะเป็นกระทรวงลงไป

กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ ล้วนแต่กำลังถูกจับตามองว่า จะแก้ไขปัญหาที่ดูแลอยู่ได้จริงหรือไม่

การถูกตั้งความคาดหวังเอาไว้สูงเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลแทบจะไม่มีเวลาหายใจหายคอ ต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหากันอุตลุด

ทั้งที่เวลาที่เหลืออยู่ประมาณปีเศษ ก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น

รัฐบาลควรจะอยู่ในภาวะขาขึ้น สร้างผลงานให้ชาวบ้านประทับใจ

เพื่อที่จะให้มีผลต่อการ “สืบทอดอำนาจ” ต่อไป

แต่กลับเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ใช่ “ขาขึ้น”

ตรงกันข้ามกลับเป็นการเริ่มต้น “ขาลง” เสียมากกว่า

และน่าสังเกตว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังขึ้นเรื่อยๆ มิได้มาจากไหน หากแต่มาจากพรรคการเมือง ที่จะต้องร่วมมือกันทำงานต่อไป หาก คสช. ยังต้องการคงอยู่ในอำนาจต่อไป

ที่น่าสนใจ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย ที่ถือเป็นขั้วการเมืองตรงกันข้ามเท่านั้น

หากแต่ยังมาจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ที่เคยถูกมองว่าพร้อมจะเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับ คสช. ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการโยนหินถามทาง ถึงการร่วมมือกันของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ที่จะสกัดนายกรัฐมนตรีคนนอก และพรรคทหาร

แม้ว่าการโยนหินนี้จะยุติลงโดยไว เมื่อพรรคทั้งสองแสดงความไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกว่าไม่อาจจะทำงานกับพรรคที่ต่างอุดมการณ์ได้

แต่กระนั้น การแสวงหาทางออกการเมืองที่มิได้มีคำตอบเพียง คสช. หรือรัฐบาล ได้เริ่มเกิดขึ้นในฝ่ายการเมือง

อันสะท้อนว่า คสช. ไม่ใช่ทางเลือกเดียว และไม่สามารถ “กุม” ทิศทางการเมืองเอาไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

และความไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดนี้ ทำให้เป้าหมายที่จะอยู่ทำงานต่อไป ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ยากยิ่งขึ้น

การตกอยู่ในภาวะส่อ “ขาลง” ของ คสช. และรัฐบาล ที่แม้อาจจะไม่ “ลงลึก” ถึงขนาดเกิดวิกฤต

เป็นเพียงแค่สัญญาณบ่งชี้ หรือในระดับ “เตือน” เท่านั้น

แต่ คสช. และรัฐบาลคงประมาทไม่ได้ เพราะการลงไปต่อสู้ในสนามการเมือง ที่เป็น “พื้นที่อันชำนาญและเชี่ยวชาญ” ของพรรคการเมือง โดยไม่สมบูรณ์เต็มร้อย น่าเป็นห่วงยิ่ง

ซึ่ง คสช. และรัฐบาลก็คงรู้

เราจึงได้เห็นการขยับตัว ป้องกันและตอบโต้ ออกมาแล้วเป็นระลอก

เช่น หลังจากอยู่ในภาวะ “ตั้งรับ” และเสียเปรียบทางการเมือง จากการลงไปภาคใต้

เพจของคณะทำงานรัฐบาล “ไทยคู่ฟ้า” ได้ออกมานำเสนอผลการตอบคำถามของประชาชนใน 4 คำถามของนายกฯ ที่อ้างข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย ที่รวบรวมความคิดเห็นประชาชนตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน-27 ตุลาคม 2560

ตอบโต้กระแสขาลงของรัฐบาลทันที

โดยอ้างว่า ชาวบ้านได้ตอบคำถาม 4 คำถาม ยืนยัน 1) สนับสนุนให้มีการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จเป็นรูปธรรมในรัฐบาลชุดนี้ 2) สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อไปจนกว่าการปฏิรูปจะเสร็จ 3) หากยังมีนักการเมืองประเภทเดิมเข้ามาอีก ต้องการให้ใครเป็นผู้แก้ไข ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้เหมาะสมลำดับแรก และ 4) วิธีการแก้ไขกับ “นักการเมืองเดิม” ให้ใช้วิธีทางกฎหมายและปฏิรูป มีบทลงโทษที่รุนแรงและตัดสิทธินักการเมืองกระทำความผิดอีก โดยมอบภารกิจนี้ให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนจึงค่อยมีเลือกตั้ง

โดยเสียงของประชาชนหนุนรัฐบาล และต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำต่อไป

มิได้ “ขาลง” อย่างที่วิพากษ์วิจารณ์กัน

และในเวลาต่อมา จู่ๆ ก็เกิดกระแสข่าวการยึดอาวุธสงครามจำนวนมาก ที่ จ.ฉะเชิงเทรา

ซึ่งก็อย่างรวดเร็ว ฉับไว

พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการฝ่ายกฎหมาย คสช. ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เพื่อร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ 1.นายวัฒนา ทรัพย์วิเชียร 2.นายชัยวัฒน์ ผลโพธิ์ หรือเปี๊ยก กาละแม 3.นายสมเจตน์ หรือสน คงวัฒนะ

แฟ้มภาพ พล.ท.มนัส

4.นายมนัส หรือ พล.ท.มนัส หรือ เสธ.หยอย เปาริก อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 3 และ 5.นายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำกลุ่ม นปช. หรือคนเสื้อแดง

ในฐานความผิดร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะในการสงครามที่นายทะเบียนไม่สามารถออกให้ได้ไว้ในครอบครอง และความผิดฐานอั้งยี่ ซ่องโจร

โดยอ้างว่า จากการสืบสวนพบว่าเป็นอาวุธที่บุคคลเหล่านี้ส่งมอบให้กับผู้ก่อเหตุวุ่นวายในช่วงปี 2557

ซึ่งพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม ก็ตอบสนองแทบทันที ในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับ

หลังจากนั้น มีการรับลูกจาก คสช. และรัฐบาล อย่างเป็นขบวน

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่ชี้ว่านอกจากตรวจสอบอยู่ว่าเป็นกลุ่มไหนนำมาทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อไร สิ่งที่น่าจะกังวลมากกว่าคือ ยังมีที่อื่นอีกหรือไม่

เช่นเดียวกับ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. ที่ยืนยันว่า อาวุธที่ยึดได้ครั้งนี้มีหมายเลขประจำเครื่องที่ตรงกับการใช้ในปี 2557

“ขอย้ำว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มั่ว เรากวาดล้างอาวุธสงครามตลอดเวลาตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยเร่งรัดเพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์รุนแรง หรือนำอาวุธสงครามไปใช้ในอนาคต” ผบ.ทบ. ระบุ

ซึ่งน่าสังเกตว่า ประเด็นอาวุธนี้ไม่ได้มีขอบเขตเพียงแค่การตามล่า “แกนนำ นปช. และคนเสื้อแดง” เท่านั้น

แต่หากถูกต่อเชื่อมไปถึงการเรียกร้องของพรรคการเมือง ที่อยากจะให้ คสช. และรัฐบาลปลดล็อกทางการเมือง ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม และเตรียมตัวเพื่อการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกกำหนดด้วย

เมื่อมีมติของ คสช. ไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองตอนนี้

โดย พล.อ.เฉลิมชัย ชี้แจงว่า คสช. ได้พิจารณาร่วมกันในภาพรวมทุกประเด็น ไม่ใช่เฉพาะอาวุธสงคราม แต่ยังมีเรื่องกฎหมาย สถานการณ์และความเคลื่อนไหวต่างๆ ดังนั้น ข้อสรุปโดยรวมช่วงนี้ยังไม่เหมาะที่จะเคลื่อนไหวการเมือง เพราะอาจมีปัญหาอื่นตามมาได้

สอดคล้องกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่ย้อนถามว่า ขอให้ดูเอาเองว่าสมควรปลดล็อกหรือไม่

การขยายปมยึดอาวุธสงคราม ที่นอกเหนือจากไล่เบี้ยแกนนำ นปช. และคนเสื้อแดงแล้ว

ยังกินขอบเขตมาถึงข้อเรียกร้องปลดล็อกของพรรคการเมืองด้วย

ถูกตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายการเมือง เช่น นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย เรื่องไม่ปลดล็อก โดยอ้างพบอาวุธนั้นไม่มีความสัมพันธ์ของเหตุและผล

จึงขอตั้งคำถามว่า

1. ถ้าอ้างว่ายังมีปัญหาความไม่สงบ ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบและต้องรับผิดชอบอย่างไร

และ 2. การนำประเด็นนี้ไปอ้างเพื่อยังไม่ปลดล็อกนั้น ถามว่าควรใช้เหตุการณ์หนึ่งไปสร้างผลกระทบต่อพรรคและคนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนั้นหรือไม่ ตรรกะอยู่ตรงไหน

ขณะที่นายวัฒนา เมืองสุข ชี้ว่าการไม่ปลดล็อกจนกว่าใกล้เลือกตั้ง จะทำให้การเลือกตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ซึ่งตามกฎหมาย การปลดล็อกจนถึงวันเลือกตั้งเสร็จสิ้นสมบูรณ์ต้องใช้เวลา 330 วัน

ได้แก่ 180 วันสำหรับพรรคทำกิจกรรมตามมาตรา 141 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากไม่เสร็จ พรรคจะไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง

และอีก 150 วันเพื่อจัดการเลือกตั้งตามมาตรา 268 แห่งรัฐธรรมนูญ

“วันปลดล็อก คือปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องปลดล็อกทันที ไม่เช่นนั้นจะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปจนขัดต่อรัฐธรรมนูญ การยืดเวลาปลดล็อกคือการจงใจเลื่อนวันเลือกตั้ง หากการเลื่อนนั้นเป็นผลให้การเลือกตั้งไม่เสร็จใน 150 วัน จะทำให้พรรคที่หนุน คสช. ถือโอกาสร้องให้การเลือกตั้งสิ้นผล เพื่อให้ คสช. อยู่ในอำนาจต่อ ดังนั้น การไม่ปลดล็อก คือเจตนาที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป เพียงแต่ประชาชนไม่ได้ถูกซ่อมจนสมองส่วนหน้าขาดการพัฒนา เลยรู้เท่าทัน” นายวัฒนาระบุ

ฟังตามเสียงนักการเมือง ดังนี้แล้ว

นี่ไม่ใช่ความต้องการการเปิดล็อกทางการเมือง

แต่เป็นการหาเงื่อนไขและมูลเหตุเพื่อ “เพิ่มล็อก” ทางการเมืองมากกว่า