เศรษฐกิจ / บิ๊กตู่เลือก ‘ศิริ’ ฝ่าวิกฤตพลังงาน แค่เริ่มเจอของแข็ง…ยุติม็อบต้านเทพา!!!

เศรษฐกิจ

บิ๊กตู่เลือก ‘ศิริ’ ฝ่าวิกฤตพลังงาน
แค่เริ่มเจอของแข็ง…ยุติม็อบต้านเทพา!!!

ช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ คือ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ประเด็นม็อบเทพาก็ได้รับการจุดขึ้นเช่นกัน โดยเป็นประเด็นช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเดิมลงพื้นที่เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ดังนั้น เมื่อนายศิริเข้ากระทรวงพลังงาน เพื่อทำงานวันแรก คือวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ประเด็นม็อบเทพา ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา 2,200 เมกะวัตต์ จึงกลายเป็นประเด็นรับน้องของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ไปโดยปริยาย
แต่ชื่อชั้นที่คร่ำหวอดในวงการพลังงานมานาน และบุคลิกที่ดูเป็นนักวิชาการใจดี พูดจาเรียบร้อย ข้อมูลแน่น หลายคนจึงจับตารัฐมนตรีคนนี้ว่าจะแก้ชนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่โดนต่อต้านอย่างรุนแรงในครั้งนี้อย่างไร
เป็นชนวนที่เริ่มจากการปะทะระหว่างแกนนำม็อบกับเจ้าหน้าที่รัฐ!!!

หลังเกิดการจับกุม 16 แกนนำ กลุ่มผู้ชุมนุมมีการเปิดบัญชีเพื่อระดมเงินประกันตัว มีอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รวมตัว 6 คนขอใช้ตำแหน่งประกันตัวทั้งหมด
ไม่ว่าข้อเท็จจริงของกลุ่มต่อต้านจะมีปฏิกิริยาต่อรัฐอย่างไร หรือรัฐทำเกินกว่าเหตุ ภาพที่ออกมาก็กลายเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ขย่มภาพลักษณ์รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างปฏิเสธไม่ได้…
แนวทางการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หากสำรวจเสียงจากพื้นที่ก็มีทั้งต่อต้านและสนับสนุน และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ มีการตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มแกนนำที่โดนจับกุมไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทั้งหมด ขณะเดียวกัน การเดินเท้าต่อต้านโรงไฟฟ้าเทพาครั้งนี้ก็มีการตระเตรียมอาหารการกินอย่างดี บรรจุหีบห่อเหมือนสั่งมาจากร้านอาหาร แต่ก็เป็นเพียงข้อสังเกต!!!
ประเด็นสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นลำดับแรกๆ ที่ชุมชนกังวล ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ชี้แจงผ่านเอกสาร สามารถหาดูได้จากเว็บไซต์ และการลงพื้นที่ชี้แจงจากเจ้าหน้าที่
กระนั้นก็ยังมีประเด็นความมั่นคงที่หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมต้องพึ่งโรงไฟฟ้าหลัก ทำไมไม่พึ่งพลังงานทดแทน และทำไมสำรองไฟฟ้าภาคใต้ที่มีอยู่กว่า 3,000 เมกะวัตต์จึงไม่เพียงพอ ทั้งที่ปริมาณการใช้จริงในพื้นที่ไม่ถึงด้วยซ้ำ

ประเด็นนี้ กฟผ. ชี้แจงว่า แม้ภาคใต้จะมีกำลังผลิต 3,089 เมกะวัตต์ แต่มีความต้องการไฟฟ้า 2,700 เมกะวัตต์ กำลังผลิตเหลือก็จริง แต่กำลังผลิตดังกล่าวเป็นการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ผลิตไม่ต่อเนื่อง โดยโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟได้ต่อเนื่องมีเพียง 2,406 เมกะวัตต์ มาจากโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา และโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช
ส่วนกำลังผลิตอีก 600 เมกะวัตต์ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเสริมได้เพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น เนื่องจากต้องระบายน้ำตามแผนบริหารจัดการน้ำที่ทางกรมชลประทานกำหนดและขึ้นกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (เอสพีพี) กำลังผลิตรวม 29 เมกะวัตต์ ที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ ทั้งพลังน้ำ ลม แดด หรือชีวมวล อาจจะเสริมระบบได้เป็นบางช่วงเวลา เพื่อช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ไม่สามารถจ่ายไฟได้ตลอด 24 ชั่วโมง
จากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้เกือบทุกวัน วันละ 200-600 เมกะวัตต์ ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ภาคใต้ควรมีกำลังผลิตสำรองมากกว่าความต้องการไฟฟ้า โดยสำรองโรงไฟฟ้าควรมีกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ต้องเดินเครื่องและพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่ปัจจุบันระบบไฟฟ้าในภาคใต้พึ่งพาไฟฟ้าจากสายส่งภาคกลางมาช่วยเสริมทั้งในเวลาปกติและเวลาฉุกเฉิน จึงมีเกณฑ์มาตรฐานความมั่นคงต่ำ โดยเฉพาะหากเกิดเหตุขัดข้องในระบบส่ง

อย่างไรก็ตาม ในมุมของกลุ่มต้านก็ยังไม่เพียงพอ นี่จึงเป็นโจทย์ที่ภาครัฐต้องหาคำตอบว่า หากโครงการดีจริงแต่เหตุใดจึงไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้แต่สิ่งที่ปรากฏกลับเป็นความรุนแรง…
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีเกิดคำถามถึงกระทรวงพลังงานว่าจะดำเนินการต่อเรื่องนี้อย่างไร…
นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน ชี้แจงหนักแน่นว่า กระทรวงจะวางตัวเป็นกลาง ไม่อยู่ข้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ผลักดันโครงการดังกล่าว หากกระบวนการรับฟังความเห็นในการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งนี้ สถานะโครงการโรงไฟฟ้าเทพาจะเดินหน้าต่อหรือไม่ จากปัจจุบันอีไอเออยู่ระหว่างส่งให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณา ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่
ขณะที่ กฟผ. ก็หวังพึ่งการตัดสินใจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่เช่นกัน โดย นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. ระบุ โครงการนี้จะเดินต่อหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ว่าจะมีนโยบายต่อโครงการนี้อย่างไร
โดยโครงการนี้จะเดินระยะแรกก่อน 1,100 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2564 แบ่งดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ตัวโรงไฟฟ้าจะต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) ซึ่งปัจจุบันผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) แล้ว และเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2.โครงการท่าเทียบเรือ ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 และจะเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เดือนธันวาคมนี้
เท่ากับว่าหากผ่านการพิจารณาภายในปีนี้ เฟสแรกก็จะเริ่มก่อสร้างปี 2561 และเสร็จปี 2564 ตามแผน ส่วนเฟสสองอีก 1,100 เมกะวัตต์ จะเข้าระบบปี 2567

โดยรายละเอียดของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,200 เมกะวัตต์ กำหนดตั้งอยู่ที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา พื้นที่ประมาณ 2,962 ไร่ มีอาณาเขตโดยรอบ ดังนี้ ทิศเหนือ จรดทะเลชายฝั่งอ่าวไทย
ทิศใต้ จรดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 ทิศตะวันออก จรดคลองตูหยง และป่าสงวนแห่งชาติ เกาะเหลาะหนัง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ทิศตะวันตก บ้านคลองประดู่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา
ลักษณะโรงไฟฟ้า เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนประเภทผลิตพลังงานไฟฟ้าฐาน ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก ขนาดกำลังผลิตสุทธิ 1,100 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวม 2,200 เมกะวัตต์ เชื้อเพลิง คือ ถ่านหินนำเข้าประเภท ซับ-บิทูมินัส/บิทูมินัส วันละประมาณ 22,000 ตัน กำหนดจ่ายไฟฟ้าปี 2564 และ 2567
จับอาการฝ่ายปฏิบัติการกระทรวงพลังงาน เห็นสัญญาณชัดว่าเป็นการถอยเพื่อลดทอนกระแส พร้อมกับโยนการตัดสินใจให้กับนายศิริ รัฐมนตรีม้ามืดที่บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ เฟ้นมากับมือกับภารกิจสานนโยบายพลังงาน เพราะไม่เพียงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่คั่งค้างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนโยบายเปิดประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียม คือ เอราวัณ-บงกช การทำกลไกแอลพีจีและก๊าซธรรมชาติให้มีความเสรีรับพลังงาน ฯลฯ
ส่วนจะสำเร็จตามใจหวังของบิ๊กตู่หรือไม่…น่าติดตาม