สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/กระเฉด เหมือนธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย
www.thaihof.org

กระเฉด
เหมือนธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา

พูดถึงกระเฉด น้อยคนที่ไม่รู้จักเพราะจัดเป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันทั่วไป หากินกันได้ทุกภูมิภาคในประเทศไทย
ผักกระเฉดจัดเป็นไม้น้ำชนิดหนึ่ง มีชื่อสามัญว่า Water mimosa
ใครที่สนใจพฤกษศาสตร์ก็จะพบคำว่า มิโมซา (mimosa) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของต้นไมยราบ (Mimosa pudica L.) เนื่องจากลักษณะของกระเฉดคล้ายกับไมยราบมาก แต่เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในน้ำ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่าไมยราบน้ำ (Water mimosa) นั่นเอง
ในความเป็นจริงแล้วกระเฉดเป็นพืชคนละสกุลกับไมยราบ
กระเฉด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Neptunia oleracea Lour. มีชื่อท้องถิ่นว่า ผักกระเฉด (ทั่วไป) ผักรู้นอน (ภาคกลาง) ผักหนอง (ภาคเหนือ) ผักกระเฉด ผักรู้นอน (ภาคกลาง) ผักหละหนอง (แม่ฮ่องสอน) ผักฉีด (ใต้) ผักกระเสดน้ำ (อีสาน-อุดรธานี-ยโสธร)
ลักษณะการเติบโตนั้นผักกระเฉดจะขึ้นและเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีน้ำขัง
หลายคนอาจไม่เคยเห็นต้นจริงๆ เห็นแต่ตอนผัดผักกระเฉดน้ำมันหอยใส่จานมากิน มารู้จักธรรมชาติกระเฉดกันนิด เป็นพืชเติบโตเลื้อยยาวลอยบนน้ำ ลำต้นมีลักษณะกลม และเรียวยาว เป็นปล้อง ภายในตัน ไม่เป็นรูกลวง
แต่ละปล้องมีนวมหุ้มสีขาว ที่เรียกว่า “นม” โดยหุ้มส่วนที่เป็นปล้องเว้นช่วงที่เป็นข้อของปล้อง นมสีขาวนี้ทำหน้าที่ช่วยพยุงลำต้นผักกระเฉดให้ลอยน้ำได้นั่นเอง
กระเฉดมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขตร้อนในทวีปแอฟริกา ออสเตรเลียและอเมริกาใต้ พบขึ้นอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย
มีทั้งที่ปลูกเพื่อขายและขึ้นเป็นวัชพืชอยู่ในน้ำ
สามารถขึ้นได้ในน้ำหรือบนดินที่ชุ่มน้ำก็ขึ้นได้
ใครที่ชอบกินผักหรือนักเลงผักจะสังเกตได้ว่าผักกระเฉดจะมีกลิ่นเฉพาะตัว
หลายคนชอบมากเพราะเวลาเคี้ยวกินแล้วได้กลิ่นผักเพิ่มความโอชะในอาหารด้วย

กระเฉดมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ใช้ลำต้น ใบ และยอดอ่อน นำมาประกอบอาหารเมนูต่างๆ หรือรับประทานเป็นผักสด ซึ่งเป็นแหล่งของแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินซีและไนอะซิน
สรรพคุณทางยา กระเฉดมีรสจืดเย็น เป็นผักที่เหมาะรับประทานหน้าร้อน เพราะช่วยบรรเทาความร้อน ในช่วงนี้ที่อากาศหนาวมาๆ หายๆ วันละ 3 ฤดู ใครจะกินผัดผักกระเฉดก็ไม่เสียหายอะไร ได้วิตามิน กากใยอาหารดีแน่
สำหรับสรรพคุณยาไทย ใบ ใช้แก้ไข้ ดับพิษปวดแสบปวดร้อน ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน ด้วยการนำผักกระเฉดมาตำผสมกับเหล้า แล้วหยอดในบริเวณฟันที่มีอาการปวด
ส่วนของรากใช้เป็นยาทาภายนอกบริเวณที่มีอาการเนื้อตาย
นอกจากนี้ ยังใช้รักษาแผล
น้ำคั้นจากลำต้นหยอดใส่หูแก้อาการปวดหู ใช้เป็นยาสมานแผลและห้ามเลือดได้อีกด้วย
ในต่างประเทศมีรายงานการใช้ประโยชน์ทางยาจากผักกระเฉด เช่น น้ำคั้นจากผักกระเฉดใช้รักษาดีซ่าน รักษาการเจ็บปวดที่ลิ้น รักษาอาการท้องเสียแบบติดเชื้อที่ถ่ายออกมาเป็นมูกเลือด รักษาโรคลมชัก ใช้ลดไข้ โดยเอาส่วนรากของผักกระเฉดไปแช่น้ำนำมาละลายกับแป้งข้าวเจ้า แล้วทาลงบนลำตัวจะช่วยลดอาการไข้ได้
ส่วนของรากใช้เป็นยาสมานแผลที่เกิดจากเชื้อซิฟิลิสที่อยู่ในระยะรุนแรง
รากแห้งที่นำมาบดให้เป็นผง นำไปโรยแผลที่เกิดจากเชื้อซิฟิลิสที่จมูก

เมื่อหลายสิบปีก่อน นักวิชาการที่ทางมูลนิธิสุขภาพไทยคุ้นเคยได้ลงชุมชน ในโอกาสไปสำรวจผักพื้นบ้านที่จังหวัดเลย พบว่าในสวนครัวบางบ้านมีการปลูกพืชชนิดหนึ่งเพื่อรับประทานเป็นผักพื้นบ้านที่หน้าตาเหมือนกระเฉด แต่มีลำต้นชูตั้งเหมือนพืชบกทั่วไป
ชาวบ้านเรียกว่ากระเฉดต้น มีการนำมารับประทานเหมือนผักกระเฉด แต่มีลักษณะเหนียวกว่าผักกระเฉดทั่วไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเจริญเติบโตในที่แห้งกว่ากระเฉดน้ำ
แต่ราว 10 กว่าปีผ่านมา พบว่าพืชชนิดนี้กลายเป็นวัชพืชที่ขึ้นตามที่รกร้างไปทั่วภาคอีสาน จึงได้ทำการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า สกุลผักกระเฉด มีสมาชิกประมาณ 10 ชนิด เขตการกระจายพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อน ในไทยพบ 2 ชนิด คือ ผักกระเฉด (ที่เรากินกันทั่วไป) ชื่อวิทยาศาสตร์ Neptunia oleracea Lour. และ กระเฉดโคก Neptunia javanica Miq.
ซึ่งกระเฉดโคกมีถิ่นกำเนิดในพม่า ภูมิภาคอินโดจีน ชวา และติมอร์
ในไทยก็พบได้ทุกภาค ขึ้นได้ทั้งตามที่โล่ง แห้งแล้งหรือชื้นแฉะ ความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล
กระเฉดโคกนี้บางที่ก็เรียกผักกระเฉดบก และยังมีชื่อเรียกตามพื้นเมืองอีกหลายชื่อ เช่น ผักกระฉูด (ภาคกลาง) กาเสดโคก (อุดรธานี) แห้วระบาด (ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี) เป็นต้น

ดูจากชื่อวิทยาศาสตร์แล้ว ผักกระเฉดโคก (Neptunia javanica Miq.) และกระเฉด (Neptunia oleracea Lour.) เห็นว่ากระเฉดน้ำและกระเฉดบกเป็นสายญาติเครือเดียวกัน เพราะอยู่ในสกุล Neptunia เดียวกัน กระเฉดบกเป็นไม้ทอดเลื้อยยาวได้ 1 เมตร ใบเป็นใบประกอบ ใบย่อย ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด
ดอกเป็นดอกสมบูรณ์ มีสีเหลืองลักษณะเหมือนดอกกระเฉดน้ำ
แม้ว่านักพฤกษศาสตร์จะอธิบายว่ากระเฉดบกมีลักษณะทอดเลื้อย แต่ส่วนใหญ่ที่พบเห็นในธรรมชาติมีลักษณะตั้งตรง
ในงานวิจัยต่างๆ พบว่ากระเฉดบกสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ถั่วจึงเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก
ปัจจุบันเริ่มมีผู้นิยมกินกระเฉดโคกหรือกระเฉดบกกันมากขึ้น
สังเกตจากมีผู้นำมาจำหน่ายตามตลาดสดในจังหวัดต่างๆ
เมนูสุขภาพส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ แทนที่จะแสวงหาอาหารราคาแพง ลองเมนูกระเฉดน้ำประชันกระเฉดบกดีไหม?