การศึกษา/ถึงเวลา ‘บิ๊กตู่’ ผ่าตัดโครงสร้าง ศธจ. ก่อนเด็กไทยไร้อนาคต

การศึกษา

ถึงเวลา ‘บิ๊กตู่’ ผ่าตัดโครงสร้าง ศธจ.
ก่อนเด็กไทยไร้อนาคต

กําลังลุกลามบานปลายกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) กับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่เป็นผลพวงมาจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
โดยเฉพาะข้อที่ 13 ที่กำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
จากเดิมที่เป็นอำนาจของ ผอ.สพท. โดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา
มูลเหตุของคำสั่งหัวหน้า คสช. มาจากการที่ ศธ. พยายามหาแนวทางที่จะแก้ไขข้อกล่าวหาการเรียกรับผลประโยชน์จากการสอบบรรจุแต่งตั้ง การโยกย้ายและการลงโทษข้าราชการครูใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ที่บางเขตมีเสียงลือหนาหูว่าผู้บริหาร สพท. และ อ.ก.ค.ศ. รู้เห็นเป็นใจกัน
แต่ผู้บริหาร ศธ. ไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากได้โอนอำนาจจากส่วนกลางไปให้ อ.ก.ค.ศ. แล้ว
เป็นที่มาที่ทำให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. พร้อมด้วยปลัด ศธ. ในยุคนั้นทำเรื่องเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง คสช. ที่ 10/2559, 11/2559 ก่อนที่จะออกคำสั่ง คสช. ที่ 1/2560 ในเวลาต่อมาเพื่อมาอุดช่องโหว่ในแนวทางการปฏิบัติ
แล้วจึงออกคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 ให้ยกเลิกของเก่าทั้งหมด แล้วมาใช้คำสั่งใหม่นี้แทน

ผลจากคำสั่ง คสช. ครั้งนั้น ทำให้ต้องยุบ อ.ก.ค.ศ. 225 เขตทั่วประเทศ เกิดคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ขึ้นมาแทนโดยดึงผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธาน หวังให้เกิดการบูรณาการเชิงเอกภาพร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ภายในจังหวัด เกิดศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการศึกษาระดับภาคและจังหวัด
และเกิดศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการให้กับ กศจ. และริบอำนาจที่สำคัญๆ ของ ผอ.สพท. มาให้กับ ศธจ.
จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขณะนั้นว่า คสช. จะไปไกลถึงขั้นยุบเขตพื้นที่หรือไม่ เนื่องจากอำนาจสำคัญๆ ของ ผอ.สพท. แทบไม่เหลือ
นับแต่มีคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 เกิดคลื่นใต้น้ำมาโดยตลอด มีการงัดข้อระหว่าง ผอ.สพท. กับ ศธจ. และผู้อำนวยการโรงเรียนกับ ศธจ.
เนื่องด้วยตามกฎหมาย ผอ.สพท. ยังเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของข้าราชการครู แต่อำนาจในการให้คุณให้โทษกลับไปอยู่ที่ ศธจ. ทำให้เวลา ศธจ. สั่งการ ผอ.สพท. และโรงเรียน อาจจะถูกเพิกเฉยด้วยมองว่า ศธจ. ต่างกรม จึงไม่ได้รับการยอมรับ
ขณะเดียวกัน ผอ.สพท. ยังต้องรับผิดชอบงานการศึกษาแต่กลับไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษ ทำให้การบังคับบัญชาด้อยประสิทธิภาพ งานต่างๆ ล่าช้าซ้ำซ้อนเพราะมีการเพิ่มขั้นตอนที่ต้องส่งเรื่องให้ ศธจ. ลงนาม ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้งค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะ
อัตรากำลังของ สพท. ถูกตัดโอนไปให้สำนักงาน ศธจ. และสำนักงาน ศธภ.
ขณะที่งานของ ผอ.สพท. เหมือนเดิม ทำให้ต้องหางบประมาณมาจ้างบุคลากรทดแทนเพื่อมาทำงาน
การเลื่อนเงินเดือนครูและบุคลากรล่าช้าเพราะติดขัดการประชุม กศจ. ที่ล่าช้า
ขณะเดียวกัน กศจ. และ ศธจ. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังไม่มีงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด/ศธจ. เพราะมัวแต่มาวุ่นวายเรื่องบริหารงานบุคคล
ฉะนั้น เมื่อเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา ทางชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) จึงได้ล่ารายชื่อผู้บริหาร ครูและบุคลากร 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณายกเลิกข้อที่ 13 ของคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560

นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการ สพป.ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธาน ชร.ผอ.สพท. และรักษาการเลขาธิการสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย (ส.บ.พ.ท.) กล่าวว่า ก่อนนี้ ชร.ผอ.สพท. เคยยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาที่เกิดจากคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560
ต่อมามีหนังสือตอบกลับมาว่า มอบให้ ศธ. ดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่แนวทางแก้ไขของ นพ.ธีระเกียรติ คือ การตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างปลัด ศธ. เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ตัวแทนจาก ศธจ. 10 คน และตัวแทนจาก ผอ.สพท. 10 คนโดยมีตนร่วมด้วย เพื่อมาบูรณาการการทำงานภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องไม่แก้ไขคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560
“คณะทำงานลองมาแล้วทุกทาง ปรากฏว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 เนื่องจากติดขัดข้อที่ 13 ขณะนี้ ชร.ผอ.สพท. คิดทางออกให้ 3 แนวทาง ดังนี้ 1.ทำตามข้อเสนอของ ศธ. ที่ว่าเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) พิจารณาคืนอำนาจตามมาตรา 53 (3) และ (4) บางส่วนกลับมาเป็นของ ผอ.สพท. แต่แนวทางนี้เชื่อว่าจะไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะติดขัดมาตราอื่นและหมวดอื่นของกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ทำไม่ได้ แนวทางที่ 2.รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาคืนอำนาจการบรรจุและแต่งตั้งตามข้อที่ 13 กลับมาเป็นของ ผอ.สพท. โดย ชร.ผอ.สพท. จะรวบรวมรายชื่อ 50,000 ชื่อเพื่อเป็นฐานในการสนับสนุนให้ นพ.ธีระเกียรติ แต่แนวทางนี้เชื่อว่า นพ.ธีระเกียรติ ไม่กล้ารับ เพราะเจตนารมณ์ของคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 คือโยกอำนาจการบรรจุและแต่งตั้งตามมาตรา 53 (3) และ (4) ของ ผอ.สพท. ให้เป็นของ ศธจ. การเสนอคืนอำนาจเท่ากับไปขัดเจตนารมณ์ของคำสั่ง คสช. และ 3.เมื่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ไม่กล้าเสนอ ครม. ทาง ชร.ผอ.สพท. จึงได้เสนอทางเลือกที่ 3 คือ ขอเป็นผู้เสนอนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พิจารณายกเลิกข้อที่ 13 เอง”
ประธาน ชร.ผอ.สพท. กล่าว

ขณะที่ นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ จ.ราชบุรี ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวว่า คำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 ส่งผลกระทบต่อครู นักเรียนและโรงเรียน
อาทิ การจัดโครงสร้างใหม่ ห้ามเพิ่มอัตรากำลัง งบประมาณและบุคลากร ศธจ./ศธภ. จึงใช้วิธีตัดโอน/แบ่งอัตรากำลังบุคลากร งบประมาณ จาก สพท. และโรงเรียนไปหมด โดยเฉพาะอัตราครูเกษียณอายุราชการ 1,400 กว่าอัตราที่ควรจะต้องคืน 100% แก่โรงเรียน แต่กลับเอาไปเป็นอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ศธจ./สำนักงาน ศธภ.
นักเรียนและครูต้องเป็นกองกำลังให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเกิดขึ้นกับโรงเรียนตนมาแล้วโดย ศธจ. สั่งการให้โรงเรียนนำนักเรียนจำนวนเป็นร้อยคนและครูจำนวนหนึ่งไปจัดงานวิ่งการกุศลบนเขา
นักเรียนและครูต้องทำหน้าที่เสิร์ฟน้ำให้ผู้ไปร่วมกิจกรรม
เราหลุดจากการรับใช้งานของกระทรวงมหาดไทย (มท.) มา 30-40 ปีแล้ว แต่ตอนนี้กลับไปสู่บรรยากาศเก่าๆ
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้คืนอำนาจการบังคับบัญชาจาก ศธจ. ไปเป็นของ ผอ.สพท. โดยเร็ว

นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา ในฐานะอดีตประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7 กล่าวว่า รัฐบาลโดย คสช. จำเป็นต้องทบทวนคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 ก่อนที่ คสช. จะหมดอำนาจ ไม่เช่นนั้นจะทำได้ยาก และจะก่อปัญหาใหม่
โดยการแก้ไขคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 ให้อยู่บนหลักการที่ทำให้หน่วยเหนือโรงเรียนมีจำนวนและอำนาจน้อยที่สุด ให้โรงเรียนหรือกลุ่มโรงเรียนที่เป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาต้องอยู่ที่สนามรบคือโรงเรียน จึงจะแก้ปัญหาและตอบโจทย์ประเทศได้
“ต้องทบทวนระบบการบริหารระบบใหญ่ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องเขตพื้นที่ฯ และสำนักงาน ศธจ. ว่าจะเดินไปในทิศทางใด จะคงทั้ง 2 หน่วยงาน หรือจะยุบหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือจะยุบทิ้งทั้ง 2 หน่วยงาน” นายอดิศรกล่าว
ถึงเวลาที่รัฐบาลและเจ้ากระทรวงต้องตัดสินใจ ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายจนส่งผลกระทบคุณภาพการศึกษาซึ่งที่สุดคนที่เสียประโยชน์คือลูกหลานของเรา…