เมนูข้อมูล : ทิศทางของอำนาจ

แม้ทุกครั้งที่คนในรัฐบาลมีโอกาสสื่อสารกับประชาชนจะยืนยันว่าเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น สวนทางกับนักเศรษฐศาสตร์นอกรัฐบาลที่มองว่าปัญหาของประเทศคือเศรษฐกิจระดับปากท้องของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข

อาจจะเป็นเพราะมุมมองต่างกัน เหมือนใช้ข้อมูลคนละชุดมาวิเคราะห์นี่เอง ที่ทำให้มีการสรุปว่า “นโยบายที่เอื้อทุนใหญ่ ทำให้ธุรกิจที่มีเครือข่ายกว้างขวางและได้เปรียบได้รับประโยชน์สามารถทำกำไรได้มากขึ้น ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถูกแย่งชิงตลาดจนอยู่ไม่ได้”

ดังนั้น “ภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้นตามที่คนจากรัฐบาลพยายามบอกกล่าวนั้นมาจากอัตราความเติบโตและเจริญรุ่งเรืองของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีมากขึ้น ขณะที่ความย่ำแย่ที่นักเศรษฐศาสตร์นอกรัฐบาลมองเห็นนั้นมาจากการล่มสลายธุรกิจนอกเครือข่ายทุนใหญ่ซึ่งเป็นภาพสะท้อนปัญหาปากท้องของประชาชนส่วนใหญ่”

เพราะมองความเป็นจริงจากคนละมุม การบอกกล่าวกับประชาชนในเรื่องเดียวกันจึงแตกต่างกันอย่างหน้ามือเป็นหลังเท้า

และด้วยความคาดหวังต่อการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มที่แตกต่างกันนี้เอง ทำให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล กับนักเศรษศาสตร์นอกเครือข่ายอำนาจรัฐนับวันจะเห็นไปคนละทางมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

นโยบายของรัฐที่คนจากรัฐบาลประกาศว่าทำให้ประชาชน กลับถูกมองว่าเบื้องหลังอยู่ที่การเอื้ออำนาจทุนใหญ่

“บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย” หรือ “บัตรคน” ที่รัฐบาลเติมเงินให้คนละ 300-500 บาทต่อเดือนไปจับจ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็นนั้น

เพราะต้องซื้อผ่านร้านค้าที่มีเครื่องรูดบัตรนี้โดยเฉพาะ ทำให้ถูกมองว่าสินค้าทั่วไปไม่มีโอกาสขาย สินค้าที่จะซื้อได้จากบัตรนี้เป็นจากบริษัทผู้ผลิตที่เป็นทุนใหญ่เสียมากกว่า

ความตั้งใจที่จะช่วยประชาชน กลับกลายเป็นถูกตีความว่า “เอื้อทุนใหญ่” ไม่ต่างกับเรื่องอื่น

ล่าสุด “โครงการช้อปช่วยชาติ” ก็เช่นกัน

เพราะกำหนดว่าการซื้อของแล้วนำมาเป็นค่าลดหย่อนในการเสียภาษีได้ไม่เกินคนละ 15,000 บาท จะต้องมีใบเสร็จและใบกำกับภาษีที่ชัดเจน

ซึ่งไม่ใช่ความเคยชินของร้านค้าทั่วไป

แม้รัฐบาลจะยืนยันในเจตนาดี กลับกลายเป็นว่าประชาชนส่วนใหญไม่ให้ความสนใจนัก

ผลสำรวจของ “กรุงเทพโพลล์” สำรวจความคิดเห็นต่อ “โครงการช้อปช่วยชาติ” นี้

ผลออกมาว่าประชาชนร้อยละ 64.5 ตอบว่าซื้อเหมือนช่วงปกติ ซื้อเท่าเดิมไม่เปลี่ยน ร้อยละ 14.7 ตอบว่าซื้อมากกว่าช่วงปกติ และร้อยละ 10.3 ตอบว่าทำให้ตัดสินใจซื้อของราคาสูงง่ายขึ้น

แปลว่าไม่ได้มีผลอะไรต่อการตัดสินใจซื้อของประชาชนมากนัก

ที่น่าสนใจอยู่ที่เมื่อถามว่า “การออกมาตรการช้อปช่วยชาติ 2560 ใครได้ประโยชน์ที่สุด” ร้อยละ 48.3 ตอบว่าเอกชน ห้างร้าน ร้อยละ 27.6 ตอบว่าประชาชน และร้อยละ 20.1 ตอบว่ารัฐบาล

ประชาชนยังไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้มากนัก ทั้งที่รัฐบาลคาดหวังไว้สูงยิ่งว่าจะเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างกำลังซื้อเพื่อไปหนุนให้เกิดการผลิตและการจ้างงาน

ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะว่ากระแส “นโยบายเอื้อทุนใหญ่” ยังเป็นแก่นแกนทางความคิดของประชาชน

และประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าสนใจยิ่งหากผู้มีอำนาจปัจจุบันต้องการวางรากฐานเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไปในอนาคต

อนาคตที่ถึงอย่างไรประชาชนก็จะมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจมากขึ้น

แต่ว่าสิทธินั้นจะถูกทอนลงจากกติกาใหม่ที่กำหนดให้โครงสร้างอำนาจขึ้นตรงต่อคนบางกลุ่มมากขึ้น และลดบทบาทของประชาชนส่วนใหญ่ไปก็ตาม