อดีตผู้พิพากษา เตือน คนที่ไม่รู้กฎหมายแต่ชี้นำสังคม ปมพิธา หุ้นสื่อ-112

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษา และอดีตกรรมการ ป.ป.ช. มองสภาวะบ้านเมืองภายหลังเลือกตั้งว่า ตอนแรกดูเหมือนน่าจะดี เพราะว่าผลการเลือกตั้งมีพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงสูง ดูแล้วไม่น่ามีปัญหาเลย ประชาชนเขาเลือกพรรคการเมืองไหนมา ตามครรลองระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องให้ผู้นำพรรคคนนั้นเป็นรัฐบาล ได้เป็นผู้บริหารสูงสุด เป็นนายกรัฐมนตรี มันก็จบแค่นั้น

พอเลือกตั้งเสร็จก็มีการรับรอง ส.ส. ต่อด้วยการประชุมเลือกประธานสภา จากนั้นก็ไปสู่กระบวนการเลือกนายกฯ ตั้ง ครม.ทำงาน ตามระบบปกติเป็นอย่างนั้น

ก็ปล่อยให้ทำงานไป แล้วถ้าเกิดว่า เขาทำงานไม่ดี หรือทำงานที่ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ หรือไม่ทำตามนโยบายที่ให้ไว้แก่ประชาชน อย่างที่ให้ไว้ตอนหาเสียง ฝ่ายนิติบัญญัติเขาก็มีกลไกการตรวจสอบควบคุมกันอยู่แล้ว สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

หรือที่มีการกล่าวอ้างว่ากระทำผิดกฎหมายถือหุ้นสื่อ ก็สามารถไปดำเนินการตอนนั้นได้ ไม่ควรที่จะมาทำอะไร ดิฉันไม่เข้าใจว่าพวกเขามีเจตนาอะไรในใจ

ขอใช้คำว่า เหมือนกับว่าไม่ประสงค์ที่จะให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมันดำเนินไปตามครรลองของมันที่ควรจะเป็น กีดกันคนที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ไม่ให้เขาเข้ามาดำรงตำแหน่ง ไม่ให้เข้ามาทำงาน พยายามดำเนินการทำให้การปกครองของประเทศ ไม่ให้มีผู้บริหารตามระบบ ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะมีเหตุหรือไม่สมควรที่จะมีเหตุอะไรที่จะทำแบบนี้

คนที่จะได้เข้าสภาบางคนถูกอ้างมีปัญหากรณีเรื่องหุ้นสื่อ จึงไม่สามารถรับรองโหวตให้ได้ ประกอบกับอีกประเด็นใหญ่ คือ เรื่องมาตรา 112 ที่พรรคนี้เขามีนโยบายจะแก้มาตรานี้ สำหรับเรื่องหุ้น ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ มันไม่ใช่ว่าประเด็นชัดเลย หรือความพยายามใช้มาตรา 151 กฎหมายอาญา ให้ศาลยุติธรรมวินิจฉัย

อีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามันวุ่นวาย เราก็เห็นใจว่าคนที่ไม่รู้กฎหมาย อยากให้ข้อสังเกตนิดหนึ่งว่า คุณไม่รู้เรื่องการวินิจฉัยคดีของศาล คุณอย่าพูด อย่าก้าวล่วง ว่าคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอน หรืออีกฝ่ายหนึ่งก็ไปหาหลักฐานมาโต้แย้ง

คุณไม่ใช่ศาล และศาลเวลาเขาจะลงโทษใครเขาจะมีหลักของผู้พิพากษา โดยเฉพาะศาลยุติธรรม ที่ดิฉันอยู่มา 36 ปี คุณจะต้องเขียนคำวินิจฉัยให้ละเอียดว่าจะลงโทษ อธิบายอย่างชัดเจน ไม่ใช่ว่าเขียนอะไรมาก็ไม่รู้ มันไม่ได้

ดังนั้น มองว่าบางเรื่องไม่น่าเป็นปัญหา แต่สังคมไปทำให้มันมีปัญหา เพราะฉะนั้น แนะนำว่าให้หยุดพูดกัน คนที่บอกว่าเป็นนักวิชาการหรือพิธีกร ที่ไม่รู้ข้อกฎหมาย อย่าไปพูด ก้าวล่วงว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไปพูดกันลึกมาก คือฟังแล้วก็สงสัยว่า ตกลงแล้วใครเป็นศาลกันแน่ ก็รู้สึกงงและทำให้เราหัวหมุน ทำให้สังคมสับสน คนที่ไม่รู้กฎหมาย จะยิ่งสับสนใหญ่ว่าอะไรกันแน่ ประชาชนก็ทำหน้าที่ของเขา เขาเลือกมา ทำไมถึงยังมีปัญหาขนาดนี้

ถึงกับจะไม่ได้เป็นอะไรเลยหรือ

ส่วนประเด็นมาตรา 112 อาจารย์สมลักษณ์บอกว่า มีแต่คนพูดว่าจะไม่สามารถรับรองคนที่ได้คะแนนเสียง ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนได้ ที่ไม่เอาเพราะว่าคนเหล่านี้จะแก้ไขมาตรฐาน 112 หรือจะยกเลิกมาตรานี้

การพูดแบบนี้คุณจะต้องดูให้ลึกซึ้ง ใครเอ่ยถึงสถาบันปุ๊บแล้ว ชี้นิ้วไปว่าเป็นคนหมิ่นสถาบัน ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บุคคลที่กระทำการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือกระทำผิดตามมาตรานี้จะได้รับโทษสูงมาก และเป็นเรื่องที่มีกันมานานแล้ว แต่ทำไมตอนนี้มีการพูดกันเยอะเหลือเกิน เราก็มาพิจารณาดูแล้ว รวมถึงที่ดิฉันได้เคยเขียนบทความมามาก อยากบอกว่า “อย่าทำแบบนี้” อย่าเอาสถาบันมาเป็นเครื่องมือในการทำร้ายกัน ทำลายคนอื่น มันเสียทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา

บางคนบอกว่าตัวรักสถาบันสุดชีวิตจิตใจ แต่ไปกล่าวหาคนอื่น ยิ่งถ้าเป็นคนที่อยู่ในแวดวงการเมือง แปลได้ว่าท่านเอาสถาบันมาใช้ในการกล่าวหาคนอื่น และเวลาเป็นคดีความจะต้องมีการสู้คดี มีการสืบกันไปสืบกันมา มีหลายขั้นตอน ทางที่ดีไม่ควรที่จะนำเอาสถาบันมาเป็นเครื่องมือในเรื่องนี้ แถมยังอ้างสถาบันมาเป็นเครื่องมืออีก หรือที่จะไม่ยอมรับกับเรื่องการเมืองการเลือกตั้ง

มันกลายเป็นว่าคนที่เขาเลือกมา เขาต้องการให้เป็นนายกฯ คุณแอบอ้างเรื่องสถาบัน แล้วจะไม่ให้เขาเป็น เพราะว่าคนพวกนี้หมิ่นสถาบัน เหมือนคุณไปเอาสถาบันมาเป็นอริ ทั้งที่ในความเป็นจริงคุณจะต้องยกสถาบันไว้

คนที่เขาเลือกมาก็ถามว่าทำไมเป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่สถาบันท่านไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรเลย ท่านอยู่ในสถานะอันสูงส่งเป็นที่เคารพรักของประชาชน คุณจะไปดึงท่านลงมาทำไมให้เป็นปฏิปักษ์กับประชาชนทำไม

เพราะฉะนั้น อย่าอ้างเรื่องสถาบัน และทำให้เป็นเหตุไม่ยอมรับมติของมหาชน นี่เป็นเรื่องสำคัญ

 

ดังนั้น ทั้งเรื่องหุ้น เรื่องมาตรา 151 ที่ กกต.จะใช้ อาจารย์สมลักษณ์ย้ำว่า ต้องมีการทำการไต่สวนและส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องและส่งศาล ไม่รู้ขั้นตอนทั้งหมดต้องอีกกี่ปี อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 29 ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ จึงต้องถือว่าเขายังบริสุทธิ์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลย ไม่มีความผิดก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด ไม่ว่าจะอ้างถึง 112 หรือมาตราใดก็ตาม โดยทำการกีดกันไม่ให้เขาเป็นนายกฯ แปลว่าท่านฝ่าฝืนมาตรา 29 นี้ด้วย จึงควรพูดว่า “เป็นข้อสงสัย” ส่วนจะผิดไม่ผิดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาล นักข่าวหรือพิธีกร อย่าไปก้าวล่วง ศาลว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะสังคมจะวุ่นวายไปหมด

บรรดานักการเมือง ส.ส.ด้วยกัน อย่าไปใช้วิธีการกีดกันใครไม่ให้เป็นนายกฯ การกีดกันแบบนี้เหมือนกับวางตัวเป็นศัตรูกับประชาชน ดิฉันเกิดมาจนตอนนี้อายุ 83 ปีแล้ว ผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง เกิดมาไม่เคยเห็นใครเป็นแบบนี้ คนมันจะอะไรกันขนาดนี้ เขาจะได้หรือไม่ เราก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเขา แต่มองว่าอย่าฝืนมติมหาชน

การฝืนครั้งนี้ ถ้าเป็น ส.ส. จะมีผลต่อตัวพวกท่านเอง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนเขาจะจดจำ ว่าพวกท่านไม่เคารพมติมหาชน ก็ไม่มีความไว้วางใจที่จะเลือกในสมัยต่อไป

ดังนั้น ก็ให้เขาเข้าไป ถ้ากระทำผิดตรงไหน ผิดมาตราไหนก็ตาม ก็ไปดำเนินการกันตอนหลัง มีกลไก เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือจะไปฟ้องดำเนินการใดๆ ส่งเรื่องไปศาลไหนก็แล้วแต่

ประเทศชาติบ้านเมืองจะปราศจากผู้นำไม่ได้ จำเป็นต้องมีผู้บริหาร ทั้งที่เลือกตั้งมาสักพักแล้วยังมีนายกฯ รักษาการอยู่ ควรให้เขาเข้าไปทำงาน ถ้าเขาไม่ดี หรือทำผิดแล้วไปจัดการกันทีหลังก็ไม่สายเกินไป

ต้องทำให้ประชาชนเห็นได้ว่า พวกท่านทำหน้าที่ถูกต้องและเคารพเจตนารมณ์ประชาชน