กรองกระแส / ทิศทางเศรษฐกิจ ในมือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แนวทางประชารัฐ

กรองกระแส

ทิศทางเศรษฐกิจ
ในมือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
แนวทางประชารัฐ

การมอบหมายและมอบอำนาจให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรีใน
1 กระทรวงการคลัง
1 กระทรวงการต่างประเทศ 1 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1 กระทรวงคมนาคม 1 กระทรวงพาณิชย์ 1 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 กระทรวงอุตสาหกรรม 1 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และ 1 สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
รวม 8 กระทรวง 3 สำนักงานสำคัญอันอยู่ในกรอบและขอบข่ายอันเรียกว่ากระทรวงและหน่วยงานทางเศรษฐกิจ
ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งทั้งในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจ
ไม่เพียงแต่สะท้อนทิศทาง “ใหม่” ของรัฐบาล หากแต่ที่สำคัญเป็นอย่างมากยังสะท้อนถึงการยอมรับความเป็นจริงในเชิงการบริหารจัดการอันทรงความหมายยิ่ง
โดยเฉพาะจาก “คสช.” และจาก “ทหาร”

บทบาท ความหมาย
แนวทางเศรษฐกิจ

แม้ว่าการปรับ ครม. จะมีจุดเริ่มมาจากกระทรวงแรงงานอันถือว่าเป็นกระทรวงในทางสังคม แต่การปรับ ครม. ก็สะท้อนให้เห็นจุดเด่นเป็นอย่างมากที่เน้นไปยังกระทรวงในทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะกระทรวงในทางเศรษฐกิจอันถือว่าเป็น “ปัญหา”
นั่นก็คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่นก็คือ กระทรวงพาณิชย์ และนั่นก็คือ กระทรวงพลังงาน ที่มีส่วนฉุดดึงและทำให้การขับเคลื่อนในทางเศรษฐกิจของประเทศต้องสะดุดหยุดลง
สะท้อนให้เห็นว่า คสช. และรัฐบาลยอมรับความเป็นจริง
นั่นก็คือ ความเป็นจริงที่แม้รัฐบาลจาก “ประยุทธ์ 1” มายัง “ประยุทธ์ 4” จะสามารถก่อให้เกิดความสงบอย่างชนิดที่เรียกว่า “ราบคาบ” ได้ในขอบเขตทั่วประเทศ แต่จุดอ่อนอย่างสำคัญที่ไม่สามารถอวดอ้างได้ด้วยความภาคภูมิยังเป็นเรื่องในทางเศรษฐกิจ
แม้จะทุ่มเม็ดเงินไปจำนวนหลายแสนล้านบาท ใช้มาตรการภาษีครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งลดแลก แจกแถม แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาได้
เสียงสะท้อนอันเป็นความเรียกร้องร่วมก็คือ อยากให้ปรับ ครม. เน้นทางด้าน “เศรษฐกิจ”
การที่ ครม. “ประยุทธ์ 5” พุ่งความใส่ใจไปในทางเศรษฐกิจและมอบหมายความรับผิดชอบให้อยู่บนบ่าของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จึงเท่ากับยอมรับความเป็นจริง
1 ยอมรับในทิศทางของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 1 ยอมรับในความผิดพลาดของตนเอง

บริหาร จัดการ
แบ่งแยก ปกครอง

บทเรียนไม่ว่าจะจาก ครม. “ประยุทธ์ 1” มายัง ครม. “ประยุทธ์ 4” แม้จะมีการเปลี่ยนตัวรองนายกรัฐมนตรีจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มาเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
แต่ก็ต้องยอมรับว่าข้อสังเกตจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก็ยังดำรงอยู่
นั่นก็คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจก็จริง แต่ไม่ได้รับการมอบหมายให้กำกับดูแลบางกระทรวง อย่างเช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม
นั่นก็คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจก็จริง แต่ไม่ได้รับการมอบหมายให้กำกับดูแลบางกระทรวง อย่างเช่น กระทรวงเกษตรและสหกณ์ กระทรวงคมนาคม
ตรงกันข้าม มีรองนายกรัฐมนตรีอื่นไปกำกับดูแล หรือไม่ก็เป็นหน่วยงานในลักษณะ “หน่วยขึ้นตรง” ต่อนายกรัฐมนตรี
ตรงนี้แหละที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล สรุปว่าเป็น “แบ่งแยกแล้วปกครอง”
ซึ่งไม่เพียงแต่เกิดการลักลั่นในการบริหารจัดการระหว่างรองนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีขาใหญ่ในบางกระทรวงเท่านั้น หากแต่ยังทำให้ทิศทางการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจไม่ดำเนินไปอย่างเป็นเอกภาพและมีพลังอย่างแท้จริง
ผลก็คือ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจมิได้อยู่ในฐานะกำกับงานทางด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นจริง

ครม.ประยุทธ์ 5
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

การแบ่งงานให้รองนายกรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรีต่อ ครม. “ประยุทธ์ 5” จึงเท่ากับเป็นการเริ่มมิติใหม่ที่งานทางด้านเศรษฐกิจอยู่ในความรับผิดชอบของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อย่างแท้จริง
รูปธรรมก็คือ รัฐมนตรีสาย “ทหาร” ถอยออก
ไม่เพียงแต่ถอยออกจากกระทรวงเศรษฐกิจไปอยู่กับกระทรวงทางด้านสังคม หากแต่ที่เคยมอบหมายงานในลักษณะแบ่งแยกแล้วปกครองก็เปลี่ยน สะท้อนให้เห็นความไว้วางใจต่อแนวทางของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นอย่างสูง
เพราะแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็น “หัวหน้ารัฐบาล” ก็เปิดทางให้แนวทางเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เบ่งบานอย่างเต็มที่
นั่นก็คือ ต้องการให้แนวทาง “ประชารัฐ” ไปเอาชนะแนวทาง “ประชานิยม” เดิม
นี่ก็คือการนำเอาจุดแข็งของพรรคไทยรักไทยมาปรับประสานให้เป็นประโยชน์ในทางเป็นจริง โดยการบริหารผ่าน “นโยบาย” แปรนามธรรมแห่งความคิดให้เป็นรูปธรรมทางการปฏิบัติ