ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 8-14 ธันวาคม 2560

ขอแสดงความนับถือ

เรียนบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์
พ.ศ.2500
25 พุทธศตวรรษ มีการให้อภัยโทษครั้งยิ่งใหญ่
ข้าราชการที่มีโทษก็ออก พ.ร.บ. ล้างมลทินให้
และงานต่างๆ ก็จะมีการนิรโทษกรรม
ที่ฮือฮาที่สุดก็คือ คำสั่งที่ 66/23
ซึ่งได้สร้างความปรองดองในประเทศอย่างมหาศาล
และคนทำเรื่องนี้ก็ได้ผลบุญอย่างใหญ่หลวง
ลองคิดดู
การให้อภัย เป็นจุดสุดยอดที่สุด
เรียกว่าให้อะไรก็ไม่มีอานิสงส์เท่าการให้อภัย
ตะวันรอน
อ.ลอง จ.แพร่

ถูกต้องอย่างที่ ตะวันรอน อ.ลอง จ.แพร่ ว่า
การให้อภัย เป็นสุดยอดที่สุด และไม่มีอานิสงส์ใดเท่าการให้อภัย
แต่ ณ เวลานี้
การกล่าวถึงการให้อภัยหรือการนิรโทษกรรมแล้ว
ยังเป็นเรื่อง “ไม่ถูกใจ” ของหลายคน
เมื่อไม่ถูกใจ ก็ยากยิ่งที่จะแสวงหาจุดแห่งสมานฉันท์ได้
จึงต้องชะเง้อรอกันต่อไป
ว่าไปทำไมมี แค่จะปลดล็อก เพื่อจะนำไปสู่เลือกตั้ง
เขายังไม่ยอมเล้ย พี่ตะวันรอน

เช่นเดียวกับคำว่า “เลือกตั้ง”
แม้จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย
แต่หลายคนก็ยัง “ไม่ถูกใจ”
ทำให้เราต้องมานั่งถกเถียงกับเรื่องควรจะเลือกตั้ง หรือไม่เลือกตั้ง กันอยู่ตอนนี้
และยังไม่รู้ว่าจะได้ข้อยุติเมื่อใด
แต่กระนั้น หากมองในเชิงบวก
การถกเถียงและอภิปราย แลกเปลี่ยนกันจนกว่าจะได้ข้อยุตินั้น
แม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย อย่างน้อยที่สุดก็คือ “เวลา” ที่ยืดเยื้อ เยิ่นเย้อออกไป
แต่นั่นก็เป็นหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง
เราไม่อาจใช้อำนาจหรือกำลังหักหาญเพื่อที่จะเอาชนะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างเบ็ดเสร็จและถาวร (แม้ตอนนี้ จะมีบางกลุ่มใช้อำนาจหรือกำลังแล้ว แต่คำถามก็คือ เขาสามารถยืนยันถึงชัยชนะอันเบ็ดเสร็จได้หรือไม่)
นอกจากจะเจรจา ต่อรอง จนกว่าจะได้จุดสมดุลเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
ซึ่งก็คงอีกนานและต้องอดทน
ดังนั้น โปรดอย่าได้รังเกียจ การ “อภิปรายถกเถียง” เลย

นายบัณฑูร ล่ำซำ ได้พูดในงานเปิดสาขาธนาคารกสิกรไทยในประเทศจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า
“การเลือกตั้งไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
แต่อยากเห็น…รัฐบาลมาพร้อมด้วยความตั้งใจและความรู้ที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศไทย
ไม่ใช่เพียงมีอำนาจเพื่อเสวยอำนาจอย่างที่ผ่านมา”
คำพูดดังกล่าว อาจถูกใจหลายคน
และอาจไม่ถูกใจหลายคนเช่นกัน
รวมถึง อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ยืนยันว่า “การเลือกตั้งเป็นประเด็นสำคัญ” (ของระบอบประชาธิปไตย)
นำมาสู่บทความเรื่อง “วัฒนธรรมของอำนาจ” (หน้า 30)
โดยชี้ว่า ในระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
ต้นทุนในการทำลายอำนาจซึ่งมีฐานความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ต้องลงทุนสูงมากขึ้นทุกที
จำเป็นต้องใช้องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ, องค์กรตามรัฐธรรมนูญ, การบิดเบือนกฎหมาย, การก่อจลาจลเป็นเวลานาน จนเศรษฐกิจชะงักงัน, ความรุนแรงที่ออกไปทางป่าเถื่อนด้วยการสังหารหมู่กลางถนน, ความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ
ชนชั้นนำไทยจะยอมจ่ายด้วยต้นทุนที่สูงขนาดนี้ทำไม
ถ้าการเลือกตั้ง “ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ”
นี่คือ ข้อสังเกตอันน่าคิด
คิดในช่วงบรรยากาศวันหยุดยาว
–วันรัฐธรรมนูญ