ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : อิสลามทำไมถึงมีข้อห้ามไม่ให้กินหมู? : แรกเกิดในศาสนาของชาวยิว

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในโลกนี้ไม่ได้มีเฉพาะพี่น้องชาวมุสลิมเท่านั้นนะครับ ที่มีข้อห้าม (taboo) ไม่ให้บริโภค “เนื้อหมู” เป็นอาหาร

อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีชนกลุ่มใหญ่อีกหนึ่งชนชาติ (ควบพ่วงด้วยหนึ่งศาสนา) ที่ไม่กินเนื้อหมูเหมือนกัน นั่นก็คือพวกยิว หรือชนชาวอิสราเอล ซึ่งก็มักจะนับถือศาสนายิว หรือยูดาย ของชนชาติตนเองเป็นการเฉพาะ

ที่สำคัญก็คือ ในทางประวัติศาสตร์แล้ว ศาสนาอิสลามพัฒนาต่อมาจากศาสนาของพวกยิว (โดยมีศาสนาคริสต์ขั้นอยู่ตรงกลาง) ดังนั้น หากจะทำความเข้าใจว่าทำไมศาสนาอิสลามจึงมีกฎที่ห้ามไม่ให้บริโภคเนื้อหมูนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจจุดตั้งต้นของข้อห้ามในศาสนาของชาวยิวเสียก่อน

พระคัมภีร์ส่วนพันธสัญญาเดิม (Old Testament) ของคริสต์ศาสนา ซึ่งก็คือไบเบิลของพวกยิว (ก็อย่างที่บอกว่า ศาสนาคริสต์พัฒนาและต่อยอดมาจากศาสนายูดาย) มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติของชนชาติยิวอย่างเก่าแก่

แต่ถ้าจะนับเฉพาะที่พอจะใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ เราคงจะต้องเริ่มตั้งแต่สิ่งที่ถูกบันทึกไว้บท “พระธรรมอพยพ” (Exodus) ซึ่งก็คือการที่ “โมเสส” นำชนชาติยิวปลดแอกมาจากการเป็นทาสในอียิปต์

ผมไม่ได้หมายความว่า การแหวกทะเลแดง ไปจนกระทั่งแม้แต่ระบบสังคมทาสของอียิปต์ ในพระคัมภีร์บทดังกล่าว สามารถใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ โดยไม่ต้องถูกตรวจสอบ (โดยเฉพาะเมื่อผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีในรอบสหัสวรรษใหม่เป็นต้นมานี้ ทำให้เราต้องหันมาทบทวนถึงความเชื่อเกี่ยวกับสังคมทาส และการสร้างพีระมิด ที่ก็ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดในเรื่องราวของโมเสสในพระธรรมอพยพเป็นอย่างมากนี่แหละ)

แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็สามารถจะเห็นได้ถึงกลวิธิในการสร้างประวัติศาสตร์ของ “ชนชาติยิว” ที่มี “พวกอียิปต์” เป็นศัตรูร่วมในประวัติศาสตร์

และที่สำคัญก็คือ หลักฐานทั้งจากการขุดค้นทางโบราณคดี และจารึกโบราณหลายหลักนั้นต่างก็ทำให้ระบุไว้ว่า เนื้อหมูเป็นอาหารหลักชนิดหนึ่งในสังคมอียิปต์มาตั้งแต่ยุคก่อนจะมีฟาโรห์ และพีระมิดเลยทีเดียว

 

หมูเป็นสัตว์พื้นเมืองที่ถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในอียิปต์ โดยมักจะเจอชิ้นส่วนกระดูกของหมูอยู่ใกล้หลุมฝังศพของชนชั้นล่าง (ในขณะที่มักจะพบชิ้นส่วนกระดูกของวัวควายใกล้หลุมศพของชนชั้นสูง) แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีพัฒนาการของการเลี้ยงหมูต่อเนื่องมาในยุคของพวกฟาโรห์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน และจะขยายเติบโตเป็นอย่างมากในช่วง “ราชอาณาจักรใหม่” หรือ “จักรวรรดิอียิปต์” ที่นับเริ่มตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 18 (3,550-3,295 ปีที่แล้ว)

จารึกบางหลักในช่วงราชวงศ์ที่ 18 ระบุเอาไว้ว่า นายกเทศมนตรี (คำนี้ผมขออนุญาตแปลตรงตัวมาจากข้อมูลภาษาอังกฤษที่ใช้ว่า mayor ส่วนในเอกสารต้นฉบับของอียิปต์โบราณเอง จะเรียกว่าตำแหน่งอะไรนั้น ผมไม่ทราบชัด?) แห่งเมืองเอล กาบ (El Kab) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์นั้น เป็นเจ้าของหมูถึง 15,000 ตัว

ในขณะที่มีการอุทิศถวายหมู และลูกหมู จำนวนอย่างละ 1,000 ตัวให้กับวิหารของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III, ครองราชย์ 3,386-3,349 ปีที่แล้ว) ที่เมืองเมมฟิส ก็น่าจะระบุถึงความสำคัญของหมูในสังคมได้เป็นอย่างดี

และก็คงจะสังเกตได้นะครับว่า การถวายหมูให้กับวิหารในศาสนานั้น ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่าง “หมู” กับ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ของชาวอียิปต์โบราณอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อชนชาวอียิปต์คือพวกที่นิยมนับถือเทพเจ้าในรูปของ “สัตว์” ประเภทต่างๆ อยู่แล้ว

เทพเจ้าเซ็ธ ตามที่บันทึกไว้ในจารึกปาแลร์โม จากสมัยราชวงศ์ที่ 5 (4,465-4,323 ปีมาแล้ว) จะปรากฏกายในรูปของหมู ในขณะที่บางตำนาน เทพเจ้ามิน เมื่อแรกเกิดนั้นอยู่ในรูปของหมูน้อยสีขาว เพศเมียที่ดูน่ารักน่าชัง และนี่ยังไม่ได้นับรวมถึงอีกเพียบเทพเจ้าในร่างของหมู ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดที่เราจะพบวัตถุเนื่องในศาสนาของชาวอียิปต์ ที่ทำขึ้นเป็นรูปหมู มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ที่ 1 (4,920-4,770 ปีมาแล้ว) เลยทีเดียว

 

ถ้าเราเชื่อข้อมูลในพระธรรมอพยพ “โมเสส” ก็เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้เอง เพราะตามข้อมูลที่นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ที่สนใจทางด้านอียิปต์วิทยาท่านได้ศึกษาออกมาในช่วงหลังนี้ โมเสสท่านเติบโตในราชสำนักของอียิปต์ ช่วงราชวงศ์ที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงที่การเลี้ยงหมูในอียิปต์นั้นเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก และถูกใช้เป็นเครื่องเซ่นสังเวยให้กับเทพเจ้าอย่างในสมัยของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 นี่แหละครับ

โมเสสนั้นอาจจะเป็นศาสดาพยากรณ์ (Prophet) คนสำคัญ คนที่สองของศาสนายูดาย ถัดมาจากอับราฮัม ที่พยายามจะให้ชาวยิวหันมานับถือศาสนาแบบเอกเทวนิยม หรือความเชื่อว่าพระเจ้าที่จริงแท้อยู่เพียงองค์เดียว (ในขณะที่ชาวอียิปต์นับถือเทพเจ้าหลายองค์ หรือที่เรียกว่าศาสนาแบบพหุเทวนิยม แถมเทพเจ้าเหล่านั้นยังมีเศียรเป็นรูปสัตว์อีกด้วย) แต่ในแง่ของประวัติศาสตร์ชนชาติยิวแล้ว ท่านสำคัญกว่าอับราฮัมเป็นอย่างมาก

ระหว่างที่ท่านอพยพชาวยิวกลับมาที่ดินแดนแห่งพันธสัญญาหรือ “คานาอัน” (Canaan) ซึ่งก็คือเขตปาเลสไตน์ในปัจจุบัน ท่านได้แวะไปรับอะไรที่เรียกกันในภายหลังว่า “บัญญัติสิบประการ” ที่อาจจะนับได้ว่าเป็น “กฎ” หรือ “ระเบียบ” ชุดแรกจากดำรัสของพระเป็นเจ้าบนเขาไซนาย

แน่นอนว่าในบัญญัติทั้ง 10 ข้อนี้ ไม่มีข้อห้ามไม่ให้บริโภคหมูรวมอยู่ด้วย และถึงแม้ว่าโมเสสจะพาชาวยิวไปไม่ถึงดินแดนแห่งพันธสัญญาที่ว่า แต่สุดท้ายพวกยิวก็ได้ครอบครองดินแดนแห่งนั้น ภายหลังการนำทัพของ “แม่ทัพโยชูอา” (Joshua) ในช่วงสมัยของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 พระองค์เดิมนี่แหละครับ

และแม้ว่าพวกยิวจะสร้างบ้านเมือง จนปกครองโดยระบบกษัตริย์ได้ที่ดินแดนแห่งพันธสัญญาแห่งนั้น แต่ภายหลังจากการดินแดนภายใต้อาณานิคมทางวัฒนธรรมของพวกอียิปต์เบาบางลงไปแล้ว อิทธิพลของวัฒนธรรมแบบไมนวน (Minoan) ในลุ่มทะเลอีเจียน และอิทธิพลวัฒนธรรมของพวกฮิตไทต์ (Hittite) ก็เข้ามามีบทบาทในดินแดนคานาอันอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะในวัฒนธรรมของพวกฮิตไทต์นี่แหละครับ ที่มีความนิยมในการใช้ “หมู” เป็นเครื่องเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพวกเทพีต่างๆ กันให้เต็มไปหมด

เช่น การถวายลูกหมูให้แก่เทพีฮันนาฮันนา (Hannahanna) เทพีแห่งการให้กำเนิดบุตร, การถวายลูกหมู พร้อมเบียร์และไวน์ ให้แก่เทพีกุลเสส (Gulses) เทพีแห่งโชคชะตา

หรือแม้กระทั่งการเฉลิมฉลองเทศกาลนานตาร์ริยะศา (Nantarriyasha festival) ด้วยเนื้อหมู อันเป็นเทศกาลฉลองเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ที่จัดขึ้นทุกวันที่ 35 ของปี โดยพระราชินีของอาณาจักร เป็นต้น

 

แล้วลองคิดดูนะครับว่า ในขณะที่ศาสนาของพวกยิวเป็นศาสนาของผู้ชายแน่ (อย่างน้อยพระเจ้าของพวกเขาก็เป็นผู้ชาย แถมพระองค์ยังสร้างอีวา ขึ้นมาจากกระดูกซี่โครงของอดัมอีกต่างหาก) ผนวกกับการที่บัญญัติข้อที่ 2 ในบัญญัติสิบประการที่โมเสสรับมาจากพระเจ้าที่เขาไซนาย ก็ว่าด้วยการห้ามบูชารูปเคารพ (การถวายหมูให้แก่เทพเจ้าผ่านรูปเคารพของพวกฮิตไทต์ ผิดบัญญัติข้อนี้แน่ และนี่ยังไม่นับว่า ศาสดาพยากรณ์คนแรกของพวกเขาอย่างอับราฮัม ก็เริ่มต้นนับถือพระเจ้าองค์เดียว จากการประณามธุรกิจการค้ารูปเคารพเทพเจ้าในครอบครัวของตนเอง) จะมีมุมมองอย่างไรกับพิธีกรรมเหล่านี้?

กฎหรือข้อห้ามการกินเนื้อหมูในศาสนายูดายก็เริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เอง ดังปรากฏในบทที่เรียกว่า “เลวีนิติ” (Book of Leviticus) ซึ่งได้ขยาย และตราข้อห้ามต่างๆ เพิ่มเติมจากบัญญัติสิบประการ เป็น 76 ข้อ

แน่นอนว่า ในบรรดา 76 ข้อนี้ก็ไม่ได้ห้ามบริโภคเฉพาะเนื้อหมู เนื้อสัตว์อื่นๆ ที่ห้ามอยู่ด้วย เช่น อูฐ นกบางชนิด แมลง ปลาที่ไม่มีครีบ ฯลฯ แต่ก็ควรจะสังเกตด้วยว่า มีการห้ามเผาน้ำผึ้ง หรือยีสต์ เพื่อถวายเทพเจ้า เช่นเดียวกับที่ห้ามเผาเกลืออุทิศแก่เทพ ห้ามกินเลือด หรือไขมัน และก็แน่นอนว่าทั้งพวกฮิตไทต์ และอียิปต์ ไม่ได้ถวายเฉพาะแต่เนื้อหมูให้กับเทพเจ้าของพวกเขาแน่

ข้ออ้างในเลวีนิติที่ว่า เนื้อหมูเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด จึงไม่ควรที่จะบริโภคนั้น จึงน่าสงสัยอยู่ว่า ที่ไม่ “สะอาด” นั้นเป็นเพราะหมูเป็นสัตว์ที่สกปรกอย่างที่มักจะอ้างตามๆ กันมา หรือ “สกปรก” เพราะเป็นเครื่องเซ่นสังเวยต่อเทพเจ้าที่ชาวยิวตั้งข้อรังเกียจแน่?

อย่าลืมนะครับว่า “ยูดาย” เป็นศาสนาที่ผูกอยู่เฉพาะกับชนชาติยิวเท่านั้น พระเจ้าของศาสนายูดายไม่ทรงตอบรับกับใครอื่นนอกจากชาวยิว ระเบียบข้อห้ามต่างๆ ในศาสนาของพวกเขา จึงเป็นการสร้างอัตลักษณ์เป็นยิว พร้อมๆ กับที่สร้างความเป็นคนนอกให้กับชนชาติอื่นไปพร้อมๆ กันด้วย

และไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่นี่ก็คือต้นกำเนิดของข้อห้ามไม่ให้บริโภคเนื้อหมู ซึ่งจะส่งทอดต่อไปให้กับศาสนาอิสลามในภายภาคหน้า