เรื่องสั้น : เรื่องของวิมุติ

เขาเปลี่ยนคำนำหน้าจากเด็กชายมาเป็นนายได้สี่เดือนพอดี แต่สำหรับวิมุติแล้วมันก็เหมือนเขายังเป็นเด็กชายตัวน้อยของมารดาอยู่วันยันค่ำ แม่มักพูดเสมอว่าสิ่งที่แม่รู้สึกมันถูกถ่ายทอดมาจากที่แม่ได้รับจากคุณยายและคุณยายได้รับจากคุณยายทวด มันเป็นเรื่องที่ผู้หญิงผู้ได้สวมบทบาทความเป็นแม่จะรู้สึกแม้ว่าประเทศไทยจะเดินทางมาถึงปี พ.ศ.2569 แล้วก็ตาม

“ตื่นสายจริงๆ ลูกคนนี้” เสียงมารดาบ่นตั้งแต่รู้ว่าลูกชายคนเดียวเดินเข้าในห้องครัว ในปีที่ประชากรพลเมืองไทยมีมากกว่าร้อยล้านคน นั้นเป็นเหตุผลที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้กฎหมายการมีบุตรเพียงครอบครัวละหนึ่งมาใช้เพื่อจำกัดจำนวนประชากร

“ผมขอกินกาแฟเหมือนพ่อได้ไหมครับแม่” วิมุติถามแม่เหมือนเช้าของเมื่อวานและเมื่อวันก่อน เขาเริ่มถามตั้งแต่วันที่เขาได้เปลี่ยนจากเด็กชายมาเป็นนาย

“ลูกต้องรอให้อายุครบสิบแปดปีก่อนนะจ๊ะ” มารดาตอบเมื่อวานและเมื่อวันก่อนแล้วรินนมสดใส่แก้วให้ลูกชายเช่นที่เคยเป็นมาตลอดระยะเวลาสิบห้าปีสี่เดือน

“กาแฟเป็นของสิ้นเปลือง เราถูกจำกัดให้ครอบครัวละไม่เกินหนึ่งพันกรัมต่อเดือน ถ้าอยากลองชิม จิบแก้วของพ่อก็ได้”

บิดาของวิมุติเดินเข้ามาทันได้ยินบทสนทนาที่เป็นเช่นเดียวกับเมื่อวานและเมื่อวันก่อน วิมุติทำหน้าเบื่อหน่าย มันเป็นเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่เขาเฝ้ารอให้ตัวเองเติบโตมากพอที่จะทำอะไรๆ ด้วยตนเอง “ลูกชอบวิชาประวัติศาสตร์นี่ เรื่องแค่นี้ก็น่าจะเข้าใจ” บิดายื่นมือมาโยกศีรษะของบุตรชายพร้อมรอยยิ้มเอ็นดู ในขณะที่ภรรยาเริ่มยกจานข้าวและอาหารสามชนิดมาวางตรงหน้า

“ครับพ่อ” วิมุติช่วยมารดาจัดโต๊ะเพื่อเตรียมรับประทานอาหารเช้า ประกอบไปด้วยข้าวสวย ต้มจืดถั่วงอกหมูสับ ไข่เจียว และผักผัด

รายการอาหารเหล่านี้ถูกคำนวณจำนวนแคลอรี (Calorie) ไว้หมดเรียบร้อยแล้ว

ตั้งแต่วิกฤตภัยแล้งมาเยือนประเทศเมื่อปี พ.ศ.2559 นั้น ทำให้รัฐบาลตระหนักได้ว่าไม่สามารถควบคุมการบริหารจัดการน้ำได้อย่างที่ควรเป็น ประชาชนรอคอยฝนเทียมหรือที่เรียกว่าฝนหลวง ประชาชนบางกลุ่มไม่เข้าใจการทำงานของ “ฝนหลวง” ความชื้นสัมพัทธ์ไม่เหมาะสมทำให้การทำฝนเทียมไม่มีประสิทธิผลตามต้องการ มีการปล่อยข่าวลือว่ารัฐบาลยุคทหารปกครองไม่ยินยอมให้นำเครื่องบินของทหารอากาศขึ้นทำฝนหลวงเพื่อให้กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลต้องเผชิญกับภัยแล้ง ว่ากันว่า ยุคหนึ่งรัฐบาลบริหารให้น้ำท่วมประเทศเสียหายจนประเมินค่ามิได้ รัฐบาลยุคถัดมาเอาคืนโดยปล่อยให้เกิดภัยแล้งเดือดร้อนทั่วหน้า แต่ก็นั่นแหละ มันเป็นเรื่องเล่าขานนานมาแล้ว

ในปีถัดมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลกระทบไปทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกที่ทำให้ผู้คนล้มตายมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้ทั่วโลกประชุมเพื่อวางแผนรับมือภัยพิบัติธรรมชาตินี้โดยมีองค์การสหประชาชาติหรือ UN เป็นแกนนำในการประชุม โดยมีผู้นำจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม นับได้ว่าเป็นการประชุมครั้งใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งในขณะนั้นมีทั้งสิ้น 193 ประเทศ สหประชาชาติลงมติเห็นชอบให้มีการแบ่งโซนเพื่อผลิตอาหารให้เพียงพอสำหรับประชากรของโลก ประเทศไทยซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ มีภูมิประเทศเหมาะสมจึงได้รับเลือกให้เป็น “ครัว” ของโลก ส่วนประเทศอื่นๆ นั้นก็แบ่งไปตามลักษณะเด่นของภูมิประเทศ เช่น ประเทศในแทบตะวันออกกลางเน้นเรื่องการผลิตน้ำมันซึ่งในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมใช้กันแล้วเพราะมีพลังงานทดแทนจากสิ่งอื่น เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานความร้อนจากพระอาทิตย์

วิมุติสะดุ้งเมื่อสมาร์ตโฟนบางเฉียบของเขาส่งสัญญาณมีข้อความสื่อสารเข้ามา เขายกข้อมือขวาขึ้นแล้วใช้นิ้วมือข้างซ้ายลากปลายนิ้วที่แทบรัดข้อมือมันปรากฏจอโปร่งใส พร้อมข้อความสนทนา เด็กหนุ่มขมวดคิ้วในขณะที่มารดาส่ายหน้าระอาใจแล้วส่งสายตาไปตำหนิสามี

“ลูกควรจะฝึกใช้มือขวาเหมือนคนอื่นนะ”

“ก็ผมถนัดมือซ้ายนี่ครับแม่”

“เพราะคุณนั่นแหละที่ปล่อยให้ลูกถนัดซ้าย”

“ก็นึกว่าโตมาจะกลับไปถนัดขวาเหมือนคนอื่นนี่” คนเป็นพ่อได้แต่หัวเราะเก้อๆ แล้วจ้องหน้าลูกชาย “อย่าให้ใครรู้ว่าลูกถนัดซ้ายก็แล้วกัน”

ผู้หญิงคนเดียวของบ้านผู้เป็นทั้งมารดาของเด็กชายวัยสิบห้าและภรรยาของผู้ชายวัยสี่สิบสี่คนนั้นได้แต่ถอนหายใจแล้วหันไปจัดการรับประทานอาหารของตนเอง เธอเองก็มีหน้าที่ที่ต้องเข้าไปช่วยสามีดูแลเพาะปลูกในสวนซึ่งครอบครัวของเธอได้รับมอบหมายให้เพาะปลูกพืชจำพวกสมุนไพรทั้งเพื่อประกอบอาหารและรักษาโรค ชายวัยสี่สิบสี่ผู้เป็นทั้งสามีของผู้หญิงวัยสี่สิบปีและบิดาของเด็กชายวัยสิบห้าปีคนนั้น เขาเอื้อมมือไปหยิบรีโมตเปิดโทรทัศน์ที่ติดอยู่ผนังห้อง วิมุติอาศัยจังหวะที่ไม่มีใครสนใจเขาก้มอ่านข้อความที่มิตรสหายบน Social Network ส่งมา

สุชาดา : รู้ข่าว ดร.ควัมปติหรือยัง

วิมุติ : ข่าวอะไร

สุชาดา : เปิดโทรทัศน์ซิ แล้วออกมาพบกันที่เดิม

วิมุติเงยหน้าจากข้อมือขวาของตนเอง หันไปทางจอโทรทัศน์ที่บิดาเปิดไว้ บิดาเป็นผู้เสพติดข่าวสาร

รายการโปรดของบิดาคือรายการข่าว สรุปข่าวประจำวัน ข่าวด่วนต้นชั่วโมง วิเคราะห์เจาะลึกข่าว ข่าวและข่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่บิดาของเขาจะรับประทานอาหารเช้าไปพร้อมกับการดูข่าวซึ่งในขณะนี้ภาพที่ปรากฏในจอโทรทัศน์ขนาด 32 นิ้วคือภาพข่าวอัตวิบาตกรรมของ ดร.ควัมปติ

“ช่วงนี้มีแต่ข่าวฆ่าตัวตายบ่อยเหลือเกิน”

มารดาบ่นพลางตักอาหารเข้าปากไม่ได้สนใจอะไรนัก เว้นแต่ลูกชายของนางที่จ้องมองภาพข่าวจนลืมหายใจไปชั่วขณะ เมื่อได้สติวิมุติลุกขึ้นจากเก้าอี้ซึ่งทำให้บิดาและมารดาหันมามองด้วยสายตาตำหนิ ผู้ชายวัยสี่สิบห้าทำการอัตวิบาตกรรมด้วยการกรีดข้อมือขวาและตายในบ้านพักของตนเองหลังจากที่เขาเพิ่งลงคะแนนเสียงสนับสนุนการสร้างเขื่อนทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้าน

“ผม…ผมขอตัวก่อนนะครับ จะไปห้องสมุด พอดีมีรายงานที่ต้องทำส่งอาจารย์”

“ลูกยังทานข้าวไม่หมดจาน ลูกก็รู้ว่าเรามีกฎหมายต้องบริโภคอาหารให้หมด ไม่เช่นนั้นเราจะถูกตัดยอดเงินในคูปอง”

“ให้ลูกห่อข้าวใส่กล่องข้าวไปก็ได้นี่” ผู้เป็นพ่อเสนอทางออกซึ่งเขาทำเป็นปกติคือการห่ออาหารที่เหลือในแต่ละมื้อเพื่อนำไปรับประทานในมื้อถัดไป

“ครับพ่อ” วิมุติลุกจากโต๊ะอาหารแล้วยกจานข้าวของตนเองนำไปเทใส่กล่องอาหารแยกกับข้าวต่างหากเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารเสียเร็ว เขาทำด้วยความเร่งรีบจนมือไม้สั่น ใช้เวลาไม่กี่นาทีเขาก็จัดการเสร็จแล้วรีบเดินไปฉวยเป้สะพายหลังขึ้นคล้องไหล่ สวมรองเท้าแล้วเร่งก้าวออกจากบ้านไปอย่างรวดเร็วจนไม่ได้ยินประโยคสนทนาของมารดากับบิดาของตน

“คุณบอกลูกหรือยัง? เรื่องที่คนของทางการจะมารับตัววิมุติไปฉีดวัคซีน”

“ผมนึกว่าคุณบอกแล้ว”

“นั่นมันหน้าที่ของคุณ ไม่ใช่หน้าที่ของฉัน”

“กลับมาค่อยบอกก็ได้”

มารดาถอนหายใจอย่างเบื่อหน่าย “ฉันพอรู้แล้ว ลูกถนัดซ้ายเพราะใคร”

ห้องสมุดประชาชนซึ่งอยู่ถัดจากบ้านไปราวๆ สองกิโลเมตร เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนรถยนต์บนท้องถนนและการเกิดมลพิษในอากาศ รัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถสาธารณะ หลังจากรัฐบาลเข้าร่วมกับ UN ยอมรับบทบาทเป็น “ครัว” ของโลกนั้น รัฐบาลได้ทำการ “แจกคูปองแทนเงินสด” ซึ่งประชาชนผู้ถือสัญชาติไทยจะได้รับบัตรประชาชนรูปแบบใหม่การ์ดแข็งฝั่งชิพ (Chip) นอกจากจะมีข้อมูลพื้นฐานของผู้ถือบัตรแล้ว ยังมีวงเงินสดให้แต่ละคนเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางโดยรถสาธารณะ การรับการรักษาในโรงพยาบาล ฯลฯ มันเป็นเสมือน “เงินเดือน” ที่ทางรัฐจ่ายให้ประชาชนที่ทำงานนำผลผลิตส่งเข้าคลังของรัฐว่ากันว่าไม่มีใครต่อต้านระบบนี้ มันจึงเป็นที่ยอมรับในสังคมและเชื่อว่าทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในสังคม

“มันเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน” นับครั้งไม่ถ้วนที่วิมุติถามตัวเอง เขาชื่นชมการทำงานของ ดร.ควัมปติ สำหรับวิมุติแล้ว ดร.ควัมปติเป็นเสมือนไอดอล (idol) ของเขาเลยก็ว่าได้ ตลอดการทำงานเพื่อต่อต้านรัฐบาลมันแสนจะน่าทึ่ง ดร.ควัมปติเป็นบุคคลผู้ที่ไม่มีใครกล้าเอ่ยชื่อเขาในที่สาธารณะ เขาเป็นคนที่ยืนข้างประชาชนอย่างแท้จริงและค้านการทำงานของรัฐที่เอาเปรียบคนยากจนและด้อยโอกาส หลายโครงการที่ ดร.ควัมปติล้มล้างทำให้ประชาชนเริ่มตั้งข้อกังขากับข้อมูลที่รัฐบาลให้ เช่น การทำเหมืองทองคำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ล่าสุดการต่อกรคัดค้านการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่รัฐแจ้งว่าเป็นความจำเป็นต้องทำเพื่อกักเก็บน้ำในการเพาะปลูกมันเป็นเงินทุนจำนวนมหาศาลที่ทางสหประชาชาติลงมติมาว่าประเทศไทยต้องมีเขื่อนขนาดใหญ่นี้

เด็กสาวในชุดกระโปรงยาวลายสก็อตเดินมาแตะไหล่วิมุติ เด็กหนุ่มตื่นจากภวังค์เขาเพิ่งรู้ตัวว่าหยุดยืนอยู่หน้าห้องสมุดประชาชน เด็กสาวขยับแว่นสายตาพยักหน้าให้เล็กน้อยแล้วเดินนำไปก่อนที่ร่างสูงของวิมุติจะเดินตามไปราวกับทั้งสองไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน จนกระทั่งพวกเขาเดินไปยังร้านหนังสือมือสองแห่งหนึ่ง กลิ่นกระดาษเก่าคละคลุ้งทันทีที่บานประตูไม้ถูกผลักเข้าไป ร้านหนังสือกลายเป็นเรื่องราวในตำนานไปแล้วเมื่อปัจจุบันหนังสือส่วนใหญ่ถูกแปรสภาพเป็น E-book ในร้านหนังสือเก่านี้มีสมาชิกมารออยู่ก่อนแล้วราวๆ สิบกว่าคนแต่ละคนอายุแตกต่างกันไปแต่ล้วนเป็น “เยาวชน” อยู่ พวกเขานั่งล้อมวงดูภาพที่ปริ๊นต์ออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เด็กหนุ่มสาวเหล่านี้ยังยึดติดการใช้กระดาษในการสื่อสารเนื่องด้วยมันเป็นข้อมูลที่ทางการไม่สามารถ Hack เข้าระบบมาตรวจสอบได้

“ข้อมูลเชื่อถือได้หรือเปล่า” วิมุติถามเมื่อสายตาของเขามองภาพในกระดาษเหล่านั้น

“นี่มันเป็นข้อมูลจากกรมตำรวจ-ตำรวจไซเบอร์ด้วย” เด็กหนุ่มคนหนึ่งเอ่ยน้ำเสียงราบเรียบแล้วชี้ให้ดูรูป ดร.ควัมปติเสียชีวิตในท่านั่งเอนหลังพิงผนังที่มีรอยเลือดกระเซ็นสาด มือซ้ายทิ้งห้อยข้างลำตัวพร้อมกับเลื่อยขนาดเล็กที่ตัดแขนขวาของตนเอง ในรายการข่าวจากโทรทัศน์หรือสื่ออื่นให้รายละเอียดเพียงแค่ว่า ดร.ควัมปติเสียชีวิตด้วยอาการเสียเลือดมากจากการฆ่าตัวตาย แต่ไม่มีใครรู้วิธีการอันน่าสยดสยองเช่นนี้

“เราเชื่อว่าการตายของ ดร.ควัมปติ เชื่อมโยงกับการที่เมื่อสี่วันก่อนที่ ดร. ยกมือโหวตให้คะแนนเสียงสนับสนุนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่” สุชาดา-เด็กสาวที่เข้ามาพร้อมกับวิมุติเอ่ยขึ้น “มันเป็นไปไม่ได้เลยคนที่คัดค้านการสร้างเขื่อนจะจู่ๆ ก็ยกมือขวาสนับสนุนให้สร้างเขื่อน”

“พวกเรารวบรวมข้อมูลได้มาว่าเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ดร.ควัมปติถูกคนของทางการนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเห็นว่าในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ทางการได้สนับสนุนให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ เด็กอายุสิบห้าปีจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนตัวใหม่นี้”

“เธอสองคนน่าจะได้รับหมายเรียกเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วนะ”

เด็กหนุ่มวัยสิบแปดเอ่ยพูดขึ้น มองมาทางสุชาดาและวิมุติ เด็กหนุ่มขมวดคิ้วเขาไม่แน่ใจแต่เด็กสาวพยักหน้ารับด้วยสีหน้าเรียบเฉย เด็กสาวถอดเสื้อเชิ้ตแขนยาวของตัวเองออก เสื้อตัวในเป็นเสื้อยืดแขนสั้นสีชมพูหวานละมุน สุชาดาพับแขนเสื้อให้เห็นหัวไหล่ขวาเผยรอยฉีดวัคซีนที่เพิ่งไปรับมาเมื่อสองวันก่อน

“สิบปีที่รัฐบาลอนุมัติให้มีการทดลองฝังชิพในมนุษย์ อุปกรณ์นี้คือ “เวอริชิพ” (VeriChip) โดยชิพนี้จะมีขนาดเท่าเมล็ดข้าวและสามารถใส่รหัสเพื่อป้อนข้อมูลต่างๆ จากนั้นจึงทำการฝังไว้ภายใต้ชั้นผิวหนังของมนุษย์ เมื่อชิพที่ถูกฝังได้รับการตรวจจับจากเครื่องอ่านข้อมูลขนาดพกพา จะทำให้ทราบถึงหมายเลขส่วนบุคคล (ID) ซึ่งเชื่อมต่อกับไฟล์ฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บรรจุไปด้วยข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของเจ้าของหมายเลข เราเชื่อว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนพัฒนาชิพดังกล่าวจากที่วัตถุประสงค์เดิมคือการควบคุมการทำงานของร่างกายในส่วนของกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่นอกอำนาจจิตใจเช่นกัน แต่เป็นกล้ามเนื้อชนิดพิเศษที่พบเฉพาะในหัวใจ เป็นกล้ามเนื้อที่บีบตัวให้หัวใจเต้น” เด็กหนุ่มเชื้อสายจีนอธิบายแล้วเหลือบตามองไปทางวิมุติที่กลืนน้ำลายลงคออย่างยากลำบาก

“เราเชื่อว่าทางการเอาเรื่องการทำวัคซีนมาบังหน้า แต่แท้ที่จริงเป็นการฝังนาโนชิฟที่หัวไหล่ ซึ่งเทคโนโลยีระดับนาโนชนิดนี้สามารถควบคุมการทำงานของสมองซึ่งเราต่างก็รู้ว่าสมองมีหน้าที่ควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหว, พฤติกรรม และภาวะธำรงดุล (homeostasis) เช่น การเต้นของหัวใจ, ความดันโลหิต, สมดุลของเหลวในร่างกาย และอุณหภูมิ เป็นต้น หน้าที่ของสมองยังมีเกี่ยวข้องกับการรู้ (cognition) อารมณ์ ความจำ การเรียนรู้การเคลื่อนไหว (motor learning) และความสามารถอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ นั้นทำให้รัฐควบคุมพลเมืองได้ ไม่มีใครต่อต้านรัฐ ทุกคนสนับสนุนการทำงานของทางการ ประชากรเป็นหนึ่งเดียวนี่มันสุดยอดพลเมืองในฝันของทุกรัฐบาล”

“นี่มันเกี่ยวโยงการฆ่าตัวตายของพลเมืองเป็นข่าวรายวันหรือเปล่า” สุชาดาและถามเผลอกัดเล็บนิ้วมืออย่างไม่รู้ตัว

“เราเชื่อเช่นนั้น” ใครคนหนึ่งเอ่ยขึ้น “รัฐสามารถตรวจสอบความคิดของพลเมืองที่ฝังชิพได้และไม่น่าแปลกใจหากใครที่มีความคิดต่อต้านรัฐจะถูกกำจัดโดยวิธีที่ไม่มีใครคาดคิด”

“ถ้าเช่นนั้น ดร.ควัมปติทราบเรื่องนี้ ท่านควบคุมแขนขวาไม่ให้ยกมือลงคะแนนเสียงไม่ได้ เพราะเพียงเสียงเดียวของท่านที่สนับสนุนโครงการนี้ก็เท่ากับเสียงคนนับล้าน ทุกคนเชื่อท่านและยอมโหวตเสียงให้โดยไม่ต่อต้าน ท่านไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการลงมติครั้งนั้นได้ ท่านจึงใช้ความตายของท่านส่งสารให้พวกเราได้รับรู้ ท่านตัดแขนขวาของตนเอง แขนที่ยกมือโหวตให้รัฐบาล”

“ช่างน่าสรรเสริญสำหรับการเสียสละครั้งนี้นัก” หลายคนส่งเสียงชื่นชม “แล้วพวกเราจะทำอย่างไร อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีการเลือกตั้งเลือกนายกฯ คนใหม่สำหรับการปกครองประเทศแล้ว”

“ประชาธิปไตยจอมปลอม” สุชาดาพูดเหมือนประกาศจุดยืนของตนเอง “เราถูกควบคุมแม้กระทั่งความคิดแล้วเรียกสิ่งนั้นว่าประชาธิปไตยได้อย่างไรกัน”

“เหลือแต่เยาวชนอย่างเราๆ เท่านั้นที่ยังไม่ได้ฝังชิพ” เด็กหนุ่มเชื้อสายจีนเอ่ยขึ้นเรียกเสียงฮือฮาของเหล่าสมาชิกในกลุ่มที่นั่งล้อมวงกันอยู่ แม้จะมีเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่พวกเขารู้ว่าคนอย่างพวกเขาไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียว เพียงแค่พวกเขาไม่สามารถประกาศตัวได้ชัดเจนเพราะจะเสี่ยงต่อการถูกกวาดล้าง

“ฉันยอมเสียแขนแต่จะไม่ยอมเป็นทาสใคร”

สุชาดาพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและแววตามุ่งมั่น เสียงฮือฮาของเหล่าสมาชิกดังขึ้น ทันใดนั้นเองประตูไม้ถูกพังเข้ามาพร้อมตำรวจหลายนายที่จู่โจมเข้าจับกุม กลุ่มเยาวชนหนุ่มสาวต่างลุกขึ้นแตกฮืออย่างตกใจรวมทั้งวิมุติที่ลุกพรวดตามคนอื่น ตู้หนังสือล้มระเนระนาด หนังสือเก่ากระดาษหลุดเป็นแผ่นปลิวว่อนในอากาศท่ามกลางความโกลาหลราวกับบทเพลงแห่งศตวรรษที่ 21 สุชาดาดึงข้อมือของวิมุติให้วิ่งหนี แต่ร่างของทั้งสองก็ถูกตำรวจจับกุมได้ มือใหญ่กดศีรษะของคนทั้งสองให้แนบลงกับพื้น ร่างของเธอถูกกระชากให้ยืนขึ้นเพื่อจะนำตัวไปยัดใส่รถขนนักโทษ แว่นตาของสุชาดาตกและโดนเหยียบจนแตก ดวงตาของวิมุติเบิกกว้างอย่างตกใจเมื่อเห็นการดิ้นรนของสุชาดา เธอม้วนตัวไปคว้าปืนที่แหนบอยู่ที่เอวของตำรวจ สุชาดาหันมองทุกคนด้วยดวงตาที่เปล่งประกายมุ่งมั่นจ้องมองมาทางเขา ริมฝีปากบางซีดขยับพูดไร้เสียงแต่เขาเข้าใจในความหมายก่อนที่จะลั่นไก่ปืนใส่ขมับของตนเอง เลือดสีแดงสดกระเซ็นในอากาศราวกับศิลปินตวัดปลายพู่กัน งดงามและโศกเศร้า วิมุติจ้องมองด้วยใจสงบและเคารพในการตัดสินใจของสุชาดา

“เด็กคนนี้ยังไม่ได้ทำวัคซีน ถ้าได้ทำวัคซีนก่อนหน้านี้ เรื่องแบบนี้ก็ไม่เกิด” เสียงตำรวจนายหนึ่งพูดขึ้นราวกับเป็นเรื่องปกติ “นับวันคนฆ่าตัวตายจะมากขึ้นทุกที”

วิมุติถูกจับเอามือไพล่หลังแล้วพาตัวขึ้นรถไป เขาได้แต่มองร่างของสุชาดาที่จมกองเลือด ข้อมูลภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถูกบันทึกเป็นคลิปวิดีโอบนสมาร์ตโฟนที่ข้อมือขวาของเขา เขารู้แล้วว่าหน้าที่ของเขาคืออะไร เขาพร้อมที่จะบอกเล่าเรื่องราวของตนเองกับเสียงสุดท้ายของสุชาดายังดังก้องในโสตประสาทของเขา

“เราถูกควบคุมแม้กระทั่งความคิดแล้วเรียกสิ่งนั้นว่าประชาธิปไตยได้อย่างไรกัน”