ความทรงจำราชดำเนินก่อนรัชกาลที่ 5 (จบ) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

ถนนราชดำเนินถูกตัดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่เป็นเส้นทางเชื่อมตัวระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังสวนดุสิต

มิได้มีเป้าหมายพียงแค่เปิดพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ที่ยังไม่ค่อยเจริญ และแน่นอน มิได้มีเป้าหมายเพียงแค่สร้างถนนขนาดใหญ่ตามแบบ boulevard ของเมืองใหญ่ๆ ในยุโรป เพื่อประกาศว่าสยามมีความศิวิไลซ์ไม่แพ้ยุโรป ตามที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักมักเน้นย้ำให้เรามองเห็นเพียงแค่นี้

สำคัญที่สุด ถนนราชดำเนินไม่ได้ตัดเข้าไปในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่ไร้ประวัติศาสตร์และความทรงจำ

ในความเป็นจริง ถนนราชดำเนินคือโครงการพัฒนาเมืองที่มาพร้อมกับการทำลายโครงสร้างเมืองที่มีอยู่เดิม ตลอดจนประวัติศาสตร์และความทรงจำในพื้นที่อีกมากมาย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างระบบ “เมืองแบบวังหลวง-วังหน้า” และระบบการปกครองแบบที่ขุนนางมีอำนาจมากตามแบบจารีต ผ่านรูปธรรมของการสูญหายไปของเครือข่ายวัง ของเจ้านายฝ่ายวังหน้า และการตัดถนนราชดำเนินผ่านวัดขนาดใหญ่ของขุนนางคนสำคัญในยุคต้นรัตนโกสินทร์

กรุงเทพฯ หลังมีถนนราชดำเนิน เราจะมองเห็นเครือข่ายของพระราชวัง วัง และตำหนัก ของเจ้านายฝ่ายวังหลวงกระจายตัวแทนที่เครือข่ายของเจ้านายวังหน้า สิ่งนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญหนึ่ง (ในหลายๆ เครื่องมือ) ที่อาจทำให้ความทรงจำวังหน้า หรือถ้าพูดให้ชัดคือความทรงจำเกี่ยวกับ “ระบบกษัตริย์คนที่สอง” สูญหายไป

แม้ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยวัดที่มีศิลปะแบบวังหน้าอยู่หลายแห่ง เช่น วัดมหาธาตุฯ วัดบวรนิเวศฯ และวัดชนะสงคราม เป็นต้น แต่เรื่องเล่าและความทรงจำก็ถูกสวมทับด้วยเรื่องราวของเจ้านายฝ่ายวังหลวงในภายหลัง แม้ว่าจะไม่สามารถสวมทับได้ทั้งหมดก็ตาม

เช่น วัดมหาธาตุฯ อันเป็นวัดสำคัญที่สุดของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ 1) ซึ่งเปรียบได้กับเป็นวัดประจำพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ปรากฏเรื่องเล่าและความทรงจำของ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (มกุฎราชกุมารพระองค์แรกหลังจากยกเลิกระบบวังหน้า) แทรกเข้ามาภายหลังในหลายส่วน

วัดบวรนิเวศฯ ปัจจุบันเรื่องเล่าและความทรงจำกระแสหลักล้วนเริ่มต้นโดยผูกโยงเข้ากับรัชกาลที่ 4 เป็นสำคัญ

ในส่วนพระราชวังบวรสถานมงคล แม้จะหลงเหลืองานศิลปะและสถาปัตยกรรมของวังหน้าเป็นจำนวนมาก แต่การใช้งานก็ถูกเปลี่ยนกลายเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ซึ่งทำให้ลักษณะทางกายภาพและความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการปกครองในพื้นที่ครึ่งพระนครตอนเหนือ ไม่เหลือร่องรอยมากนัก

ถนนราชดำเนินนอก บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์

คงไม่เกินไปนัก หากจะกล่าวว่า ความทรงจำเกี่ยวกับวังหน้าในความเข้าใจส่วนใหญ่ของคนทั่วไป (ถ้าหากจะพอมีอยู่บ้าง) ก็คงเข้าใจ “ระบบวังหน้า” หรือ “ระบบกษัตริย์คนที่สอง” ว่าไม่ต่างอะไรมากนักจาก “ระบบมกุฎราชกุมาร” แบบปัจจุบัน

ความแตกต่างเดียวที่คนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจ ก็คงคิดว่าเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่งใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้น

ผลสัมฤทธิ์ของการสร้างความทรงจำเช่นนี้ ในทัศนะผม ไม่อาจมองแยกได้เลยจากโครงการตัดถนนราชดำเนิน รวมถึงการสร้างพระราชวังดุสิตด้วย ที่ได้ทำให้ความทรงจำของพื้นที่วังหน้าค่อยๆ ลดน้อยลง และหลายส่วนสูญหายไป

 

ความทรงจำของชุมชนและผู้คนดั้งเดิมในบริเวณถนนราชดำเนินและพื้นที่โดยรอบยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยนะครับ เพราะขนาดความทรงจำของวังหน้ายังแทบจะสูญหายไป นับประสาอะไรกับความทรงจำของชาวบ้านธรรมดา

คลองรอบกรุงบริเวณสามแยกปากคลองมหานาค เป็นคลองขุดใหม่เมื่อคราวสร้างกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 โดยการขุดคลองได้เกณฑ์แรงงานเขมรเข้ามาขุด พร้อมทั้งในส่วนคลองใหญ่เหนือวัดสะเกศด้วย (คลองมหานาค) เพื่อใช้เป็นทางสัญจรและเป็นที่สําหรับประชาชนลงเรือประชุมเล่นเพลงสักวาในเทศกาลฤดูน้ำ เหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา

เขมรที่ถูกเกณฑ์มาในครั้งนั้นมีหลายพวก แต่พวกหนึ่งเป็นจามที่เข้ารีตอิสลามอยู่ในเมืองเขมร โดยเมื่อทำการขุดคลองคูเมืองและคลองมหานาคแล้ว รัชกาลที่ 1 ก็โปรดให้ตั้งบ้านสองฝั่งคลองสืบมาถึงทุกวันนี้ เรียกว่า “บ้านครัว” ที่หมายถึงถูกกวาดต้อนมาทั้งครอบครัว และกลายเป็นชุมชนบ้านครัวในปัจจุบัน

ความทรงจำชุดนี้ แม้ไม่ถึงกับสูญหายแต่ก็แทบไม่ได้รับความสนใจจากความทรงจำชุดหลักของพื้นที่บริเวณนี้

วิกลิเกพระยาเพชรปาณี บริเวณป้อมมหากาฬ

นอกจากนี้ ในบริเวณต้นคลองมหานาคคือพื้นที่ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนและการค้าการสัญจร หากให้เปรียบก็คงเป็นดั่งย่าน CBD ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ต้นรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคมทางน้ำจากนอกพระนครและจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่ภายในตัวเมืองชั้นใน

ความคึกคักของผู้คนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าว จึงไม่ต้องแปลกที่พื้นที่ที่รู้จักกันต่อมาในชื่อ “ตรอกพระยาเพชรฯ” ภายในบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ จะกลายมาเป็นแหล่งกำเนิด “วิกลิเก” แห่งแรกของไทย ในราวปี พ.ศ.2440 ก่อนที่จะมีการตัดถนนราชดำเนินราว 2 ปี

หลายคนคงไม่ทราบว่า ลิเกที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ มีต้นกำเนิดมาจากลิเกทรงเครื่องของพระยาเพชรปาณี ที่ทำการแสดงอยู่เป็นประจำในโรงลิเกภายในชุมชนป้อมมหากาฬ

จากจดหมายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อ 9 เมษายน พ.ศ.2483 ได้เขียนอธิบายว่า พระองค์เคยเสด็จไปดูลิเกพระยาเพชรด้วยพระองค์เองและได้พูดคุยกับตัวพระยาเพชรฯ ด้วย โดยมีรายละเอียดบางส่วนดังนี้

“…เมื่อพระยาเพชรปาณี (ตรี) ตั้งโรงเล่นยี่เกให้คนดูอยู่ที่บ้านหน้าวัดราชนัดดา แกเชิญหม่อมฉันไปดูครั้ง 1 และมานั่งอยู่ด้วยตลอดเวลาเล่น หม่อมฉันมีโอกาสจึงถามความสงสัยบางอย่างในกระบวนเล่นยี่เก ว่าเหตุไฉนจึงคิดทำเครื่องเล่นยี่เกหรูหรานอกรีตต่างๆ เช่น ใส่ปันจุเหร็จยอด ใส่สังวาลแพรสายตะพาย และโบว์แพรที่บ่า เป็นต้น

แกบอกอธิบายว่าแต่งอย่างนั้นผู้หญิงเห็นว่าสวย มักติดใจชอบไปดู มีผู้หญิงไปดูมาก พวกผู้ชายก็มักพากันไปดูพวกผู้หญิง ก็การตั้งโรงยี่เกเป็นข้อสำคัญ อยู่ที่อยากให้มีคนชอบไปดูให้มากจึงต้องคิดแต่งตัวยี่เกไปทางอย่างนั้น

ถามต่อไปว่าหน้าพาทย์เล่นยี่เก เหตุใดจึงใช้แต่เพลงเชิดเป็นพื้น ทั้งบทร้องและกระบวนฟ้อนรำดูก็ไม่เอาใจใส่ให้เป็นอย่างประณีต แกตอบว่าคนที่ชอบดูยี่เกไม่เอาใจใส่ในการขับร้องฟ้อนรำหรือเพลงปี่พาทย์ ชอบแต่ 3 อย่าง คือ ให้แต่งตัวสวย อย่าง 1 ให้เล่นขบขัน อย่าง 1 กับเล่นให้เร็วทันใจ อย่าง 1 ถ้าฝืนความนิยมคนก็ไม่ชอบดู…”

ถามว่ามีใครสักกี่คนที่ทราบบ้างในปัจจุบันว่า ต้นกำเนิดลิเก การละเล่นที่เป็นที่นิยมไปทั่วประเทศไทยอยู่ที่บริเวณป้อมมหากาฬ ริมถนนราชดำเนินกลาง

ผมคิดว่าคงมีไม่มากนัก

 

ทําไมความทรงจำที่สำคัญมากชุดนี้ ถึงไม่เป็นที่รับรู้ (แถมยังถูกทำลายอีกด้วย) คงมีเหตุปัจจัยหลายประการ

แต่สิ่งหนึ่งที่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งแน่ๆ ก็คือ การมุ่งเน้นที่มากจนล้นเกินต่อประวัติศาสตร์และความทรงจำว่าด้วยการตัดถนนราชดำเนินในสมัยรัชกาลที่ 5 จนแทบไม่เหลือพื้นที่ความทรงจำใดๆ ให้กับประวัติศาสตร์ชุดสำคัญชุดอื่นๆ เลย

ความล้นเกินนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ความทรงจำชุดอื่นที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าสูญหายไป (ดั่งที่ผมได้อธิบายไปในหลายสัปดาห์ก่อนแล้ว) แต่ยังทำให้ความเข้าใจของเราที่มีต่ออดีตบกพร่องและขาดวิ่น

ความล้นเกินนี้ ยังส่งผลให้การพัฒนาพื้นที่นี้ทั้งหมดที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ถูกยึดโยงอยู่เพียงแค่ความทรงจำถนนราชดำเนินในสมัยรัชกาลที่ 5

สำหรับผู้มีอำนาจ ความล้นเกินนี้ คงไม่ใช่เรื่องเสียหายแถมเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการต่ออย่างเข้มงวด แต่สำหรับผม นี่คือปัญหาที่ใหญ่มาก

เพราะหากสังคมขาดความเข้าใจอดีตที่หลากหลายในมิติที่ซับซ้อน ย่อมไม่มีทางที่สังคมจะสามารถเดินหน้าสู่อนาคตได้อย่างมีวุฒิภาวะที่ดีมากพอได้อย่างแน่นอน