นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สาธารณสมบัติกับความขัดแย้ง

นิธิ เอียวศรีวงศ์
Rohingya refugees head back to Myanmar as Bangladeshi border guards drive them away from Bangladeshi territory near Ukhiya on August 28, 2017. Rohingya refugees in Bangladesh told August 28 how they fled for their lives from Myanmar's army as the UN refugee agency said more than 3,000 had arrived in the past three days. / AFP PHOTO / Rehman Asad

ช้างปัจจัยนาเคนทร์เป็นสาธารณสมบัติอย่างแน่นอน เพราะช้างเป็นเหตุให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล จึงมีประโยชน์แก่ชาวนครสีพีทุกคน ถ้าเปรียบเป็นปัจจุบัน ช้างปัจจัยนาเคนทร์คือระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ

จู่ๆ พระเวสสันดรยกช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้ชาวกลิงค์ที่มาร้องขอ เพราะกลิงคราษฎร์เกิดความแห้งแล้ง ถ้าเปรียบกับปัจจุบันก็คือพระเวสสันดรสั่งเปิดระบบชลประทานให้น้ำไหลไปเลี้ยงกลิงคราษฎร์ น้ำที่ชาวสีพีจะใช้ก็ไม่พอ จึงพากันไม่พอใจไปฟ้องให้พระเจ้าสัญชัยขับไล่พระเวสสันดรเข้าป่าหิมพานต์ไป

ภาพช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์ในจิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์หิมพานต์
ขอบคุณ วิกิพีเดีย

คนไทยโบราณซึ่งไม่ได้มีความคิดแบ่งแยกระหว่างสาธารณสมบัติและสมบัติส่วนตัวชัดเจนนัก เห็นว่าพระเวสสันดรบำเพ็ญทานบารมีอันยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง คือยกช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้ชาวกลิงค์ เพราะช้างเชือกนี้เป็นช้างคู่บุญบารมีของพระเวสสันดร เทวดาเอามาส่งถึงโรงช้างเมื่อพระเวสสันดรจุติลงสู่ครรภ์พระมารดา

ดังนั้น จะว่าเป็นสมบัติส่วนตัวก็ได้ ซ้ำเป็นสมบัติวิเศษเสียด้วย เพราะให้ความชอบธรรมแห่งอำนาจอย่างมั่นคงแข็งแรงแก่พระเวสสันดร ทั้งในปัจจุบันและอนาคต แทบจะพูดได้ว่าช้างปัจจัยนาเคนทร์คือราชสมบัติ แม้กระนั้นพระเวสสันดรก็ยังอาจยกช้างซึ่งคืออำนาจและทรัพย์สมบัติมหาศาลนั้น แก่ชาวกลิงคราษฎร์ซึ่งทุกข์ร้อนอดอยากเนื่องจากความแห้งแล้ง

หากยกราชสมบัติให้แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากจำนวนมาก ไม่ใช่ทานบารมีแล้วอะไรจะเป็นล่ะครับ

นักปราชญ์ไทยรุ่นหลัง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “นักเรียนนอก”) มีสำนึกที่แยกระหว่างสมบัติสาธารณะและส่วนตัวชัดเจน จึงมีทัศนคติกำกวมเกี่ยวกับพระเวสสันดร บางคนรับไม่ได้เลย และมักใช้เรื่องพระมหาชาติเป็นความเปรียบเพื่อล้อเลียนหรือโจมตีนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น (คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม) บางคนหาทางอธิบายเรื่องมหาชาติใหม่ให้เป็นเพียงนิทานสอนศีลธรรมที่ตื้นเขิน คืออยากสอนศีลธรรมข้อไหนก็แต่งเรื่องไปเสียจนสุดโต่ง โดยไม่คำนึงถึงความนัยยะที่ส่อไปในทางตรงกันข้าม

อันที่จริง แนวทางอธิบายนิทานชาดก (หรืออภินิหารในพระไตรปิฎก) ให้เป็นคำสอนทางศีลธรรมเพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของคนที่ “ไม่มีการศึกษา” หรือสามัญชนที่ยังไม่รู้จักระบบเหตุผลสมัยใหม่ (เทียบได้กับภาพของ “เด็ก” ในทัศนะของคนผิวขาวในยุคล่าอาณานิคม ซึ่งประกอบด้วยคนที่อายุยังน้อย กับคนเอเชีย ต่างล้วนมีความเป็น “เด็ก” เหมือนกัน) เริ่มมีในหมู่ปัญญาชนไทยนับตั้งแต่ระบบคิดแบบเหตุผลนิยมของตะวันตกแพร่หลายในหมู่ชนชั้นนำใน ร.5 เป็นต้นมา

ผมขออนุญาตออกนอกเรื่องตรงนี้สองประเด็น เพราะมันเกี่ยวกับสิ่งที่จะพูดในบทความนี้

ประเด็นแรกก็คือ ความคิดว่ามีพุทธศาสนาสำหรับสามัญชน และพุทธศาสนาสำหรับคน “มีการศึกษา” ไม่ใช่ความคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนาไทยที่มีมาแต่โบราณ หากดูงานศึกษาของท่านอาจารย์กมลา ติยะวานิชย์ ในเรื่อง The Buddha in the Jungle ก็จะเห็นได้ถนัดว่า พุทธศาสนาในสังคมไทยแต่ก่อน แม้มีความเชื่อและแบบปฏิบัติที่หลากหลาย แต่ก็ไม่มีความคิดว่าความแตกต่างหลากหลายนั้นเกิดขึ้นจากชนชั้น

ความคิดในปัจจุบันที่ว่ามีพุทธศาสนาของชาวบ้านและเด็ก กับพุทธศาสนาของคน “มีการศึกษา” เป็นความคิดที่รับมาจากตะวันตกสมัยอาณานิคมโดยแท้

ประเด็นที่สองก็คือ “เด็ก” ในวัฒนธรรมตะวันตกสมัยนั้น มีสิทธิน้อยกว่าผู้ใหญ่อย่างมากทีเดียว มากกว่าเด็กในวัฒนธรรมไทย และวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ อีกมาก ซึ่งได้รับเสรีภาพอย่างน่าหวาดเสียว (เช่น บางชนเผ่าของปาปัวนิวกินีปล่อยให้เด็กเล่นของมีคมโดยพ่อแม่ไม่ห้ามปราม จนเกิดแผลจึงเข้ามาช่วยเหลือ) การแยกคนในอาณานิคมให้เป็น “เด็ก” ทำให้ประเทศแม่มีทั้งความรักความเอ็นดูต่อประชาชนในอาณานิคม และมีทั้งอำนาจในการตัดสินใจแทนคนที่ยังไม่เจริญเต็มวัยไปพร้อมกัน

ทัศนคติเช่นนี้คือทัศนคติที่ชนชั้นนำไทยรับมาเต็มๆ และสืบทอดในหมู่ชนชั้นนำและบริวารของตนมาจนถึงทุกวันนี้

กลับมาสู่เรื่องมหาเวสสันดรชาดกใหม่ แม้แต่ยอมรับว่าช้างปัจจัยนาเคนทร์เป็นสาธารณสมบัติ ก็ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าพระเวสสันดรไม่มีสิทธิ์จะตัดสินใจยกให้ใครเสียเลย ในฐานะผู้ปกครอง ถึงอย่างไรก็มีหน้าที่อย่างหนึ่งคือตัดสินใจใช้สมบัติสาธารณะไปในทางหนึ่งทางใด (ตัดสินใจว่าไม่ใช้คือการ “ใช้” อย่างหนึ่ง เช่น ปล่อยทองคำไว้ใต้ดินจนกว่าจะมีเทคโนโลยีที่ปลอดภัยกว่าปัจจุบัน) การตัดสินใจใช้ทรัพยากรสาธารณะไปช่วยเพื่อนบ้านที่กำลังอดอยากหิวโหยของพระเวสสันดร จะถูกหรือผิด คงเถียงกันได้ (แม้ว่าท้องเรื่องของชาดกจะบอกว่าตัดสินใจถูกก็ตาม) จะมีปัญหาก็ตรงความชอบธรรมของอำนาจในการตัดสินใจต่างหาก เพราะพระเวสสันดรตัดสินใจโดยไม่ผ่านการตรวจสอบของประชาชน หรือตัวแทนของประชาชน

ก็พระเวสสันดรเป็นผู้ปกครองในระบอบราชาธิปไตยนี่ครับ ความรับผิดชอบของท่านอยู่กับกษัตริย์ที่มอบอำนาจให้ท่าน ไม่ได้อยู่กับประชาชน และท่านก็รับผิดชอบเต็มที่ คือยอมเนรเทศตนเองไปดูไบหรือป่าหิมพานต์แต่โดยดี ไม่ได้รวบรวมกำลังคนมาก่อรัฐประหารล้มล้างพระราชบิดาหรือยึดราชบัลลังก์ไว้เอง

แม้แต่รัฐบาลที่ได้รับอำนาจจากประชาชนโดยตรงในระบอบประชาธิปไตย ก็อาจใช้สมบัติสาธารณะโดยไม่ได้ปรึกษาประชาชนหรือตัวแทนประชาชนในทุกเรื่อง อย่างน้อยในกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องใช้เวลาจำนวนหนึ่ง ก่อนที่รัฐบาลผู้ตัดสินใจต้องลงมารับผิดชอบกับประชาชนโดยตรง เมื่อถึงวาระการเลือกตั้งทั่วไป การตัดสินใจใช้ทรัพยากรสาธารณะที่ผ่านมาจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือไม่ ก็อยู่ที่คะแนนเสียงที่พรรครัฐบาลจะได้จากการเลือกตั้ง

จะให้ทำประชามติทุกครั้งก่อนใช้สมบัติสาธารณะในทางใดทางหนึ่ง ก็เป็นอันไม่ต้องทำอะไร นอกจากทำประชามติกันแทบทุกสัปดาห์ ดังนั้น รัฐบาลในระบบอะไรก็ต้องตัดสินใจใช้สมบัติสาธารณะ โดยไม่ได้ปรึกษาหรือไม่ถูกตรวจสอบจากประชาชนอย่างเต็มที่ทั้งนั้น จะผิดหรือถูก หากเป็นในระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง หากเป็นระบบอำนาจนิยม ก็แล้วแต่ผู้ถืออำนาจจริงจะตรวจสอบเอาเอง

การตัดสินใจรับผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศจำนวนมาก ก็เป็นการตัดสินใจใช้สมบัติสาธารณะเป็นปริมาณที่สูงมากทีเดียว ผู้นำประเทศที่ตัดสินใจเช่นนี้ ต่างก็ตัดสินใจด้วยความเชื่อมั่นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศคงเห็นพ้องกับการนำเอาสมบัติสาธารณะมาใช้เช่นนี้ ซึ่งบางครั้งก็เป็นการเก็งผิด เพราะเมื่อถึงคราวเลือกตั้งทั่วไป พรรครัฐบาลกลับได้คะแนนเสียงลดลง

แม้แต่ที่เก็งถูกว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน ก็ยังต้องเผชิญความรับผิดชอบทางการเมืองอีกอย่างหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง นั่นคือคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเช่นนี้ แม้เป็นคนส่วนน้อย แต่ว่าโดยจำนวนแล้วก็มีมากทีเดียว ก่อการประท้วงแต่ละครั้งก็เป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งกว่านี้คนที่เคยเห็นด้วยกับนโยบายรับผู้อพยพจำนวนมาก ต่อมาเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนอพยพซึ่งแปลกหน้าทั้งทางวัฒนธรรม, ภาษา และศาสนากับตน ก็อาจเปลี่ยนใจเลิกสนับสนุนด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งได้

ผมคิดว่าถ้าเข้าใจความกว้างใหญ่ไพศาลของสมบัติสาธารณะที่ถูกใช้ไป เพื่อรับคนอพยพ โดยเฉพาะคนที่มีความแตกต่างจากประชาชนพื้นถิ่นมากๆ นั้น บางทีอาจทำให้เราเห็นใจทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านนโยบายรับผู้อพยพได้ดีขึ้น

สมบัติสาธารณะที่ต้องถูกนำมาใช้ในกรณีนี้คือ “พื้นที่” ในทุกความหมายของคำนี้

คนไทยที่คัดค้านนโยบายรับผู้อพยพ (เช่น ชาวโรฮิงญา) มักห่วงแต่ “พื้นที่” ทางภูมิศาสตร์ เช่น ประชดประชันว่าหากบ้านของผู้ที่สนับสนุนพอว่าง ก็ให้เอาชาวโรฮิงญาไปอุปการะที่บ้าน

This August 30, 2017 photo shows Rohingya refugees reaching for food aid at Kutupalong refugee camp in Ukhiya near the Bangladesh-Myanmar border.
The International Organization for Migration said August 30 that at least 18,500 Rohingya had crossed into Bangladesh since fighting erupted in Myanmar’s neighbouring Rakhine state six days earlier.
/ AFP PHOTO / STR

อันที่จริง “พื้นที่” ทางภูมิศาสตร์ไม่สู้สำคัญนัก แม้แต่ในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นกว่าไทยหลายเท่า (เช่น บังกลาเทศ) ก็ยังจำเป็นต้องรับผู้อพยพจำนวนมาก แต่การรับผู้อพยพไม่ได้หมายความว่าเพียงให้ที่พักพิงชั่วคราว แต่มักหมายถึงการรับผู้อพยพเป็นพลเมืองในอนาคต เพราะในโลกปัจจุบัน ผู้อพยพมักไม่สามารถกลับบ้านได้ในเร็ววัน จำเป็นต้องมีชีวิตในต่างแดนเป็นเวลาหลายปี หากถูกกักไว้ในค่ายกักกันอย่างที่มักทำกันในเมืองไทย ก็หมายความว่าต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูผู้อพยพเป็นเวลานานๆ ด้วย จะเลี้ยงดูด้วยกำลังของตนเอง หรือวิ่งเต้นขอกำลังจากคนอื่นก็ตาม

นอกจากนี้ ยังต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการคอยป้องกันมิให้ผู้อพยพเล็ดลอดออกมาจากค่ายกักกันได้ ในขณะที่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อพยพก็น่าอเนจอนาถแก่ผู้พบเห็น จึงกลายเป็นภาระอีกอย่างหนึ่งที่ต้องคอยกีดกันมิให้คนอื่น โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวต่างชาติได้พบเห็นอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม การรับผู้อพยพและเตรียมให้เขาได้กลายเป็นพลเมืองในอนาคต กลับต้องเสีย “พื้นที่” ให้แก่ผู้อพยพนอกเหนือจาก “พื้นที่” ทางภูมิศาสตร์อีกมาก หากเขาได้รับอนุญาตให้ขายแรงงาน (ทั้งที่มีและไม่มีทักษะ) ก็เท่ากับต้องแบ่งปัน “พื้นที่” ทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้อพยพได้เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมด้วย ลูกหลานของผู้อพยพหรือแม้แต่ตัวผู้อพยพเอง ควรได้รับการศึกษาทั้งในแบบและนอกแบบ เพราะสักวันหนึ่งหากเขาเลือกจะเป็นพลเมือง ก็ควรเป็นพลเมืองที่พร้อมจะอยู่ร่วมกับคนอื่น และมีทักษะในการงานซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศ “พื้นที่” ทางสังคมเช่นนี้คือการเปิดให้ผู้อพยพได้ใช้ทรัพยากรทางการศึกษา, การสื่อสาร, การสาธารณสุข, วัฒนธรรม, ตลอดจนการเมืองในบางแง่มุมด้วย

ทั้งหมดนี้คือทรัพยากรกลาง หรือสมบัติสาธารณะที่ต้องใช้เพื่อรับผู้อพยพทั้งสิ้น คนที่ไม่อยากรับผู้อพยพ หากเข้าใจว่าต้องแบ่ง “พื้นที่” อะไรไปบ้าง ก็เข้าใจได้นะครับ คนที่สนับสนุนด้วยความเข้าใจว่าต้องเสีย “พื้นที่” อะไรไปบ้าง ก็น่าสรรเสริญ

ผมเข้าใจว่า ในโลกปัจจุบัน สมบัติสาธารณะที่ผู้ปกครองต้องตัดสินใจนำมาใช้ โดยไม่ได้ปรึกษาหรือเปิดให้ประชาชนได้ตรวจสอบ จะต้องอาศัยการอ้างเหตุผลที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ต้องมีองค์กรทางวิชาการหนุนหลัง อาจต้องใช้การตีความแบบไม่อิงหลักการของกระบวนการยุติธรรม และจนถึงที่สุดอาจต้องใช้อำนาจดิบขัดขวางความเห็นต่างมิให้ปรากฏแก่สังคมในวงกว้าง

TOPSHOT – A Bangladeshi man helps Rohingya Muslim refugees to disembark from a boat on the Bangladeshi shoreline of the Naf river after crossing the border from Myanmar in Teknaf on September 30, 2017.
More than 2,000 Rohingya have massed along Myanmar’s coast this week after trekking from inland villages in Rakhine state to join the refugee exodus to Bangladesh, state media reported September 30. They follow more than half a million fellow Rohingya who have emptied out of northern Rakhine in a single month, fleeing an army crackdown and communal violence the UN says amounts to “ethnic cleansing”.
/ AFP PHOTO / FRED DUFOUR

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องช้างปัจจัยนาเคนทร์ หรือระบบชลประทาน, เขตเศรษฐกิจพิเศษ, อาชีพสงวน, การประกันราคาพืชผลการเกษตร, หรือ “พื้นที่” ทางภูมิศาสตร์ ฯลฯ

และด้วยเหตุดังนั้น การแบ่งคนออกเป็น “เด็ก” ซึ่งยังคิดไม่เป็น ถูกหลอกง่าย กับ “ผู้ใหญ่” ซึ่งรู้เท่าทันโลกมากกว่า จึงจะกลายเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในรัฐต่างๆ อีกหลายแห่ง

นับเป็นมรดกจากยุคอาณานิคมซึ่งยังมีชีวิตกระปรี้กระเปร่าอยู่ในยุคสมัยที่ไม่มีอาณานิคมแบบนั้นเหลืออยู่แล้ว