คณะทหารหนุ่ม (45) | การขยายตัวของกลุ่ม “ทหารหนุ่ม”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

คณะทหารหนุ่มพัฒนาจากกลุ่มขนาดเล็กที่มีแกนหลักเพียง 6 คน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นหลังจากนั้นโดยเกือบทั้งหมดยังเป็น จปร.7

แต่หลังจากการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คณะทหารหนุ่มจึงเริ่มขยายกลุ่มให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และนำไปสู่การจัดทำเอกสารเพื่อแจกจ่ายแก่สมาชิกซึ่งมีจำนวนมากขึ้นจนไม่สามารถใช้วิธีพูดคุยกันแบบปากต่อปากได้เหมือนก่อนหน้านี้

เอกสารฉบับนี้จัดทำและแจกจ่ายเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ.2523 หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ.2523

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของกลุ่มก็ยังมีขอบเขตจำกัดโดยอาศัยความสัมพันธ์แบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่ใกล้ชิดกันเป็นการส่วนตัว นอกเหนือจากการเป็นผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อให้ง่ายต่อการรักษาความลับซึ่งยังจำเป็น

เอกสารฉบับนี้ระบุว่าคณะทหารหนุ่มมีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ “การสร้างกองทัพที่มีเอกภาพ” กับ “การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติ”

 

ในการสร้างกองทัพที่มีเอกภาพ คณะทหารหนุ่มซึ่งบัดนี้กลาง พ.ศ.2523 แกนนำหลักส่วนใหญ่กำลังดำรงตำแหน่ง “ผู้บังคับการกรม” จึงเห็นว่านายทหาร “ระดับกลาง” และ “ระดับล่าง” รองลงไป ได้แก่ “ผู้บังคับกองพัน” และ “ผู้บังคับกองร้อย” ในกรุงเทพฯ คือทหารกลุ่มที่เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการสร้างเอกภาพของกองทัพได้ดีที่สุด

วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2523 สามวันหลังเหตุการณ์ที่โนนหมากมุ่น ที่กรุงเทพฯ ได้มีการประชุมคณะทหารหนุ่มและมีการแจกจ่ายเอกสารลับ “สรุปสถานการณ์” ต่อสมาชิกใหม่ของกลุ่ม เพื่อแนะนำและอธิบายลักษณะของคณะทหารหนุ่มในหลายด้านด้วยกัน ซึ่ง “ยังเติร์กกับทหารประชาธิปไตย” ของชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้บันทึกไว้อย่างละเอียด โดยมี 8 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. “คณะทหารหนุ่มยังคงเห็นว่ากลุ่มของตนเป็น ‘ทหารอาชีพ’ มีคำอธิบายเพิ่มเติมจากหัวหน้าคณะทหารหนุ่ม พ.อ.มนูญ รูปขจร ดังนี้…

“แต่ก่อนอื่น ผมขอทำความเข้าใจพวกเราก่อนว่า ทำไมเราจึงต้องมามีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งๆ ที่มันไม่ใช่หน้าที่ของเราโดยตรง”

“อย่างไรก็ดี เราก็สำนึกตัวเองอยู่เสมอว่า เรามีอาชีพเป็นทหาร ไม่ใช่นักการเมือง เราต้องไม่บ้าการเมืองจนลืมภารกิจทหาร เพียงแต่แบ่งเวลาและแบ่งแยกหน้าที่บทบาทของพวกเราเพื่อภารกิจทางการเมืองเหล่านั้น”

“ในทางทหารบรรดาสมาชิกของเรายิ่งต้องพยายามทำหน้าที่ของเราในกองทัพบกอย่างทุ่มเทและยิ่งต้องพยายามทำให้ดีกว่าคนอื่นเพื่อมิให้เขาโจมตีว่าเราเป็นทหารการเมืองไม่ใช่ทหารอาชีพ”

“ถ้าท่านตอบคำถามนี้ในทางที่เป็นบวกก็ขอให้เชื่อเถอะว่า พวกเราสมาชิกทุกคนในกลุ่มต่างก็กำลังพยายามและได้รับความสำเร็จเช่นกัน นั่นคือติดตามและมีบทบาททางการเมืองโดยไม่ให้เสียภารกิจทางทหารอันเป็นหน้าที่โดยตรงของเรา”

2. “คณะทหารหนุ่มมองบทบาทของกลุ่มว่าไม่ใช่กลุ่มที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรงทางการเมือง แต่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะสถานการณ์ทางการเมืองและสภาพการณ์ภายในกองทัพผลักดันให้กลุ่มต้องเข้าไปมีบทบาท” มีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้…

“การเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมืองเพราะสถานการณ์ทางการเมืองและในทางกองทัพเป็นปัจจัยหลักผลักดัน และเข้าไปเพราะความจำเป็นบีบบังคับ เราจำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเพราะเราไม่อาจฝากความมั่นคงของชาติไว้กับนักการเมืองโสโครกเหล่านั้น”

“หรือแม้แต่กับผู้ใหญ่ในกองทัพที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ยอมตัวอยู่ภายใต้ระบบการเมืองอันเน่าเฟะเหล่านั้นเพียงเพื่อเสวยสุขกับผลประโยชน์ที่นักการเมืองเหล่านั้นหยิบยื่นให้ นี่เองที่คนของเราจำเป็นต้องเข้าไปพัวพันกับการเมืองอยู่เสมอ”

 

3.”การแสดงบทบาททางการเมืองของกลุ่มกระทำในหลายระดับคือการติดตามเฝ้าดูการเคลื่อนไหวทางการเมือง การเลือกเข้าไปมีบทบาทในปัญหาสำคัญสำคัญที่มีลักษณะวิกฤตเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางการเมืองและการทหาร และการเข้าไปแทรกแซงด้วยการยึดอำนาจ” มีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้…

“ผมขอชี้แจงถึงสถานการณ์ทางการเมืองและการทหารในปัจจุบันซึ่งเราเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดมา ถ้าบ้านเมืองพัฒนาไปได้อย่างราบรื่นเราก็เฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยอาการอย่างสงบ ถ้าบ้านเมืองมีทีท่าว่าจะยุ่งเหยิง การเลือกเข้าไปมีบทบาทในปัญหาสำคัญๆ ที่มีลักษณะวิกฤตเราก็เลือกเกี่ยวข้องเฉพาะกรณีที่เกิดปัญหาวิกฤตจริงๆ เท่านั้น”

“การเข้าไปแทรกแซงด้วยการยึดอำนาจ บางครั้งเมื่อเราเข็น (ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อปัญหา) ไม่ขึ้นจริงๆ เราต้องถึงกับลงทุนกระทำการแบบรับผิดชอบตนเองไปก่อน แล้วจึงเชิญผู้ใหญ่มาเป็นประธานงานที่เราทำเสร็จไปแล้ว”

4. “คณะทหารหนุ่มต้องการดำรงความเป็นกลุ่มไว้อย่างเหนียวแน่น ต้องการมีความเป็นอิสระ ไม่ยึดเหนี่ยวตัวบุคคล ทั้งนี้ เพื่อทำให้กลุ่มมีอิสระเป็นกลาง และสามารถมีอำนาจต่อรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ” มีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้…

“สถานการณ์ที่ทุกวงการสนใจกันก็คือตำแหน่ง ผบ.ทบ. ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเราไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาระดับสูง สิ่งที่เราน่าจะกระทำที่สุดก็คือดำรงความเป็นกลุ่มไว้อย่างเหนียวแน่น”

“ดังนั้น ผมขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า ในท่ามกลางข่าวการต่อสู้แย่งชิงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ดังปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์และที่ได้ยินได้เห็นกันอยู่ กลุ่มทหารหนุ่มของเราควรจะเฝ้าดูพฤติกรรมเหล่านี้อย่างใกล้ชิดและแสดงท่าทีเป็นกลางที่สุด ในขณะที่เราจะต้องกระชับกลุ่มของเราให้เหนียวแน่นที่สุด”

(ขณะที่แจกจ่ายเอกสารลับนี้ ใกล้เวลาที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะต้องเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และเริ่มปรากฏกระแสการต่ออายุราชการ ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองในเวลาต่อมา/บัญชร)

 

5.”คณะทหารหนุ่มพร้อมที่จะประเมินและทบทวนการให้ความสนับสนุนแก่ผู้นำทหารที่เข้าไปมีบทบาททางการเมืองระดับสูง (เป็นนายกรัฐมนตรี) อยู่ตลอดเวลา” มีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้…

“ท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์/บัญชร) ซึ่งทุกวงการกล่าวยอมรับในคุณธรรมความดีเฉพาะตัวของท่านก็เข้ามารับหน้าที่บริหารประเทศ ท่านจะทำได้เพียงใดก็อยู่ที่ขีดความสามารถของท่านและรัฐมนตรีร่วมคณะ เรามีหน้าที่เพียงติดตามสถานการณ์บ้าง ส่งคนไปช่วยท่านบ้าง ตามที่ท่านต้องการ”

“ให้ความเท็จจริงและข้อคิดเห็นกับท่านบ้างตามโอกาส ท่านจะรับฟังหรือรับไปพิจารณาเพียงใดก็แล้วแต่ท่าน เรามีหน้าที่สนับสนุนท่านเท่าที่เราจะทำได้”

“หากท่านไม่สามารถสนองความต้องการของประชาชนได้ดี ประชาชนไม่ต้องการ เราก็ไปอุ้มท่านไว้ไม่ได้ และเราก็จะทำตามอุดมการณ์ของเราคือ ยึดถือหลักการมากกว่าตัวบุคคล”

“ขออย่างเดียวอย่าให้เกิดการต่อสู้ช่วงชิงกันอย่างไร้กติกา หรือเกิดความวุ่นวายจากการแก่งแย่งอำนาจกันจนบ้านเมืองเสียความมั่นคง หรือคนเลวจะขึ้นมาครองอำนาจ อย่างนี้เราก็ทนอยู่ไม่ได้เพราะบ้านเมืองนี้ก็ของเราเหมือนกัน”

6. “ในการแสดงบทบาททั้งภายในกองทัพและในทางการเมือง คณะทหารหนุ่มยึดถือหลักความรับผิดชอบร่วม ยึดความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็น แต่เมื่อมีมติใดๆ ออกมาแล้วจะยึดเอกภาพในการแสดงบทบาทเพื่อให้มตินั้นได้นำไปปฏิบัติให้สำเร็จลุล่วง” มีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้…

“ให้เฝ้ามองพฤติกรรมของนายทหารระดับล่างบางคนที่ยอมวิ่งเข้าไปเป็นฐานการต่อสู้เหล่านั้นแต่ลำพังซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่กลุ่มทหารหนุ่มต้องถือเป็นศัตรู เพราะเท่ากับกำลังทำลายเอกภาพของกองทัพลง”

“สำหรับพวกเรานั้นถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะผู้ใหญ่เหล่านั้นเรียกพบก็ขอให้แจ้งข่าวสารให้พวกเรารับรู้กันด้วย แจ้งผ่านศูนย์ปฏิบัติการของพวกเราที่นี่ก็ได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างเดินเข้าไปสัมผัส”

“ผมขอเรียนย้ำว่า ที่นี่ เราเสมอภาคกันในเรื่องความคิดความเห็นเป็น One Man One Vote เพื่อเอามติเป็นเครื่องประกอบการตัดสินใจแต่ไม่ใช่ One Man One Direction หรือ One Man One Operation”

“คือใครจะเดินอย่างไร จะมีพฤติกรรมอย่างไรก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว เราจะรวมกลุ่มกันอยู่ได้อย่างไร ก็ต่างคนต่างเดิน ต่างคนต่างปฏิบัติ ต่างคนต่างวิ่งเข้าหาผู้ใหญ่ ต่างคนต่างแสวงหาผลประโยชน์ ต่างคนต่างสร้างบารมี ถ้าเช่นนั้นที่เรานั่งกันอยู่ที่นี่ก็เป็นเพียงภาพลวง และถ้าไม่จริงใจต่อกัน ไม่มัดกันแน่นแฟ้นจริงๆแล้ว เป้าหมายและอุดมการณ์ของเราจะบรรลุได้อย่างไร”

(ยังมีต่อ)