จิตต์สุภา ฉิน : ฟองสบู่จักรยานหลากสีแดนมังกร

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

การเดินทางกลับมาปักกิ่งในรอบสิบปีครั้งนี้ ซู่ชิงค้นพบว่ามีหลายสิ่งที่เหมือนเดิม แต่ก็มีหลายอย่างที่เปลี่ยนไปจนแทบจะจำไม่ได้

ถนนเส้นที่เคยเต็มไปด้วยร้านรวงที่ขายของท้องถิ่นน่ารักๆ ตอนนี้กลับกลายเป็นร้านแฟรนไชส์ที่สว่างจ้าด้วยแสงไฟนีออน

สถานที่ที่เคยปล่อยให้คนเดินเข้าออกได้สบายๆ ตอนนี้กลับต้องมีเจ้าหน้าที่มาต้อนให้เข้าแถวเพื่อสแกนกระเป๋าอย่างเข้มงวด

ผู้คนที่เคยเบียดเสียดแออัดบนรถไฟใต้ดิน แม้ตอนนี้จะยังแออัดเหมือนเดิมแต่ทุกคนดูเหมือนจะเฉยชากับความแน่นขนัดนั้นเพราะต่างคนต่างก็ก้มหน้าฝังตัวเองอยู่กับสมาร์ตโฟนในมือจนไม่ได้ใส่ใจ

และการมีสมาร์ตโฟนใช้อย่างแพร่หลายควบคู่กับระบบการจ่ายเงินอีเพย์เมนต์ที่ครอบคลุมก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อยู่ปักกิ่งสี่วันซู่ชิงไม่ได้เห็นคนจีนหยิบเงินสดออกมาจ่ายค่าสินค้าเลยสักครั้งเดียว!

นอกจากความเปลี่ยนแปลงข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่น่าตกใจมากก็คือการเดินออกจากโรงแรมที่พักไปสถานีรถไฟใต้ดิน

ซู่ชิงจะต้องเดินไปบนทางเดินที่สองข้างทางเต็มไปด้วยรถจักรยานสีสันสดใสเรียงรายกันสุดลูกหูลูกตา และไม่ได้จอดแค่แถวเดียวด้วยนะคะ แต่ซ้อนแถวกันทั้งซ้ายและขวา

โดยหลักๆ แล้วจะมีสองสีสลับกันไป คือสีส้มและสีเหลือง

แม้จะเข้าใจว่าประเทศนี้มีประชากรจำนวนมหาศาล แต่พอเห็นจักรยานจำนวนมากขนาดนี้มาจอดอยู่ที่เดียวกันโดยแทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ก็อดนึกไม่ได้ว่าจำนวนจักรยานมันมากเกินความต้องการใช้หรือเปล่า

จักรยานที่ซู่ชิงพูดถึงนี่ไม่ใช่จักรยานส่วนตัวของคนที่นี่นะคะ แต่เป็นบริการจักรยานร่วม หรือ ไบก์ แชริ่ง ซึ่งเป็นกิจการที่ฮิตและบูมมากของจีนในช่วงปีหลังๆ มานี้

คอนเซ็ปต์ก็คือเราไม่ต้องเป็นเจ้าของจักรยานเองอีกต่อไป เพียงแค่วางเงินค่ามัดจำเอาไว้กับบริษัทเจ้าของจักรยาน จากนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องการใช้จักรยาน ก็เพียงแค่ไปเลือกคันใดคันหนึ่งมาจากที่จอดกันระเกะระกะนั่นแหละค่ะ สแกนคิวอาร์โค้ดแล้วก็ขี่ออกไปได้เลย

ค่าบริการก็อาจจะคิดเป็นรายครึ่งชั่วโมง ขี่ไปจุดมุ่งหมายแล้วก็จอดทิ้งเอาไว้ รอให้คนถัดไปมาสแกนโค้ดเพื่อเอาไปใช้ต่อ

ดูเป็นคอนเซ็ปต์ที่ไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาดได้ เพราะคนที่นี่ไปไหนมาไหนด้วยการขี่จักรยานกันอยู่แล้ว นอกจากจะไม่ต้องหยอดกระปุกเก็บเงินซื้อจักรยานเอง ก็จะมีจักรยานให้ขี่ไม่ขาดมือแถมยังไม่ต้องคอยนั่งดูแลซ่อมแซมจักรยานด้วยตัวเองอีกต่างหาก แสนจะสะดวกสบาย และดูรักษ์โลก ไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มมลพิษให้กับประเทศที่มีปัญหาเรื่องมลพิษมากล้นเกินจะรับไหวอยู่แล้ว ดูวิน-วินกันทุกฝ่าย

แต่แล้วทำไมเราถึงยังได้เห็นจักรยานจอดทิ้งจอดขว้างกันมากขนาดนี้ล่ะ

 

ลําพังถ้ามีแค่จักรยานที่จอดสองข้างทางเท่าที่เห็นในภาพประกอบก็อาจจะไม่น่าวิตกกังวลเท่าไหร่ แต่สำนักข่าวเทเลกราฟของอังกฤษเพิ่งจะแชร์ภาพล่าสุดที่ทำให้ซู่ชิงถึงกับต้องเอามือทาบอกด้วยความตกใจ

เพราะเป็นภาพของจักรยานสามสี เหลือง ส้ม และฟ้า กองสูงกันเท่าภูเขาในรัศมีความกว้างประมาณสนามฟุตบอลหนึ่งสนาม กองสูงกันขึ้นไปจนต้องใช้รถเครนมายก

ทั้งหมดนั้นคือรถจักรยานไบก์แชริ่งที่อยู่ในสภาพใช้การไม่ได้แล้ว โดยเจ้าของจักรยาน 3 สีมาจาก 3 ค่าย คือ Ofo Mobike และ Bluegogo นั่นเอง

สองเจ้าแรกคนไทยอาจจะคุ้นชื่อเพราะเข้ามาให้บริการในบ้านเราด้วย

แต่รายที่สามที่เป็นเจ้าของจักรยานสีฟ้าเพิ่งจะตกเป็นข่าวฉาวไปหยกๆ เพราะ Bluegogo เป็นผู้ให้บริการไบก์แชริ่งที่ใหญ่เป็นอันดับสามของจีนและเพิ่งจะล้มละลายไป

เฉพาะของ Bluegogo ค่ายเดียวที่ใหญ่เป็นอันดับสามก็เป็นเจ้าของจักรยานไปแล้วกว่า 700,000 คันทั่วประเทศ

ข่าวการล้มละลายของ Bluegogo ทำให้เกิดการถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับฟองสบู่ของไบก์แชริ่งที่บวมเป่ง

แม้ว่าซีอีโอของบริษัทจะยอมรับว่าสาเหตุที่ล้มละลายเป็นเพราะความผิดพลาดและความอหังการ์ของตัวเขาเอง (ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงกับการทำโปรโมชั่นที่เกี่ยวกับรถถังในช่วงเวลาครบ 28 ปีเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 จนทำให้คนไม่พอใจกันเป็นอย่างมาก)

แต่ก็ต้องยอมรับว่าอุปสงค์และอุปทานของจักรยานไบก์แชริ่งนั้นไม่สอดคล้องกันจริงๆ เฉพาะแค่เซี่ยงไฮ้เมืองเดียวก็มีจักรยานไบก์แชริ่งมากถึง 1.5 ล้านคันแล้ว

ไม่น่าแปลกใจเลยที่เราจะได้เห็นภาพภูเขาจักรยานในเซียะเหมินแบบนั้น

 

Bluegogo ไม่ใช่เจ้าแรกที่ต้องอำลาตลาดไบก์แชริ่งไป เพราะก่อนหน้านี้ก็มีบริษัทไบก์แชริ่งรายเล็กๆ ที่ปิดตัวลงไปก่อนแล้ว

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็คาดการณ์เอาไว้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะมีผู้เล่นที่เหลือรอดอยู่เพียงสองรายเท่านั้น นั่นก็คือ Mobike ที่มีผู้สนับสนุนหลักคือ Tencent Holdings และ Ofo ที่มีผู้สนับสนุนหลักคือ Alibaba Group ซึ่งก็เป็นรายใหญ่ยักษ์กันทั้งคู่

และทั้งสองเจ้าก็ได้เงินสนับสนุนกันมากถึงคนละราวพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แถมแผ่ขยายอาณาเขตออกไปนอกประเทศจีนแล้วเรียบร้อย

อันที่จริงตลาดไบก์แชริ่งในจีนก็ดูมีแนวโน้มที่จะฟองสบู่แตกตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว อันจะเห็นได้จากเงินลงทุนที่สูงลิ่วและคู่แข่งขันจำนวนมากที่ต่างวิ่งไล่ตามกำไรอันน้อยนิด

ซึ่งการที่จะทำให้จักรยานแต่ละคันที่ต้นทุนสูงตั้งหมื่นกว่าบาทสามารถทำกำไรได้ด้วยค่าบริการอันถูกแสนถูกที่หนึ่งหยวนต่อครึ่งชั่วโมง (อื้อหือ) ก็ต้องอาศัยการประหยัดต่อขนาด หรือ Economies of Scale เข้ามาช่วย จึงเป็นที่มาของจักรยานกองเท่าภูเขานั่นแหละค่ะ

เรื่องนี้ไม่รู้จะจบอย่างไรเหมือนกัน แต่หากไม่มีการจัดการที่ดีกว่านี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากไบก์แชริ่งไม่ว่าจะเป็นเมืองที่สวย สะอาด น่าอยู่ ประชากรที่แข็งแรงจากการปั่นจักรยานทุกวันก็อาจจะไม่เกิดขึ้น แต่กลับกลายเป็นปัญหาที่ทำให้เมืองรกรุกรังแทน

ซึ่งก็น่าเสียดายเพราะคอนเซ็ปต์ของไบก์แชริ่งนั้นนับว่าเป็นนวัตกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ใช้มาก

ตอนนี้หลายเมืองในจีนก็เริ่มร่อนจดหมายเตือนไปตามบริษัทต่างๆ แล้วว่าจะต้องไม่เพิ่มจำนวนจักรยานในเมืองอีกต่อไป

และจะต้องจัดการจักรยานที่มีอยู่ให้เป็นระเบียบกว่านี้ อย่างเช่น บังคับให้ผู้ใช้จอดจักรยานไว้ตามจุดที่กำหนดแทนที่จะจอดตรงไหนก็ได้เหมือนก่อน แต่ก็จะเป็นงูกินหางกลับมาที่ปัญหาเดิมคือหากไม่เพิ่มจำนวนจักรยานให้คนสามารถหยิบมาขี่ได้ง่ายๆ ทุกซอกทุกมุม ก็อาจจะทำให้จำนวนการใช้ไม่มากพอจะทำกำไรได้

เว้นเสียแต่ว่าสองบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดจะมารวมกันเป็นหนึ่งเหมือนที่หลายฝ่ายกำลังเชียร์ให้เกิดขึ้นเพราะว่านี่อาจเป็นทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ก็เป็นได้