33 ปี ชีวิตสีกากี (24) | ขึ้นปี 2 หมวกสีดอกคูน

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

นักเรียนนายร้อยตำรวจยังเรียนเรื่องเครื่องกระสุนปืน (Ammunition) หมายถึง กระสุนโดด กระสุนปราย กระสุนแตก ลูกระเบิด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด จรวดทั้งที่มีหรือไม่มีกรดก๊าซ เชื้อเพลิง ไอพิษ หมอกหรือควัน หรือกระสุนลูกระเบิด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด และจรวดที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกันหรือเครื่องหรือสิ่งสำหรับอัดหรือทำหรือใช้ประกอบเครื่องกระสุนปืน

ลูกระเบิด มี

1. ลูกระเบิดขว้าง (Hand Grenade)

2. ลูกระเบิดยิง (Motor shell)

3. ลูกระเบิดปล่อย (Bomb) Topedo

วัตถุระเบิด (Explosive) คือ วัตถุที่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลันเมื่อเกิดระเบิดขึ้น โดยมีสิ่งเหมาะ (ชนวน Fuse) มาทำให้เกิดกำลังดันหรือโดยการสลายตัวของวัตถุระเบิดนั้น ทำให้มีแรงทำลายและแรงสังหาร

กับหมายความรวมตลอดถึงเชื้อปะทุต่างๆ หรือวัตถุอื่นใด อันมีสภาพคล้ายคลึงกัน ซึ่งใช้หรือทำขึ้นเพื่อให้เกิดการระเบิด

สำหรับสิ่งเหมาะในที่นี้ คือ ชนวน (Fuse หรือ Fuze)

สำหรับในทางวิชาการ วัตถุระเบิด (Explosive) หมายถึง สารประกอบ (Compound) หรือสารผสม (Mixture) เมื่อได้รับอิทธิพลของความร้อนหรือการกระทำทางแม็กคานิกซ์จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้เกิดระเบิดขึ้นโดยฉับพลันทันที พร้อมกับการระเบิดจะเกิดความร้อนและก๊าซจำนวนมาก

สภาพหรือภาวะของวัตถุระเบิด

1. ก๊าซ เช่น ไอระเหยของเบนซิน

2. ของเหลว เช่น ไนโตรเจน กลีเซอรีน

3. ของแข็ง เช่น TNT, C3, C4, C5

อาวุธปืนที่ห้ามจดทะเบียน ตามกฎกระทรวง คือ ปืนกลทุกชนิดและทุกขนาด

 

ผมพยายามติดตามเนื้อหาให้เข้าใจ นึกคิดระบบการทำงานของปืนสั้น กลไกต่างๆ รวมทั้งฟังเรื่องลูกกระสุน ลูกระเบิด และพยายามจดคำบรรยายของอาจารย์เพื่อมาทำความเข้าใจภายหลัง และอาจารย์ยังเอาตัวอย่างอาวุธปืนมาให้ดูในชั้นเรียน ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร แต่มันไม่ทั่วถึงเพราะมีจำนวนนักเรียนในชั้นเป็นจำนวนมาก

แต่เรื่องอาวุธปืนมันสำคัญ ต้องทราบหลักการทำงานของอาวุธปืนอย่างละเอียด รวมทั้งในทางวิชาการที่ตำรวจจะต้องเรียนรู้และนำไปใช้ในการสืบสวนสอบสวนเมื่อจบออกไปทำงานในพื้นที่แล้ว

อีกประการหนึ่ง เหตุที่ผมต้องพูดถึงอาวุธศึกษาอย่างละเอียด เพราะตำรวจจะต้องรู้และเข้าใจ เมื่อไปพบสิ่งของบางอย่าง บางชิ้น ในที่สถานที่เกิดเหตุ หรือเผชิญเหตุจะต้องพิจารณาว่าสิ่งนี้จะถือเป็นอาวุธ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน หรือไม่ ไม่ใช่ไม่มีความรู้แล้วจับชาวบ้านมั่วไปหมด

และต้องมีความรอบรู้อย่างละเอียด เวลาไปตรวจที่เกิดเหตุแล้วพบชิ้นส่วนของวัตถุระเบิด ที่แตกละเอียดตกอยู่ เบื้องต้นสามารถที่จะวินิจฉัยได้ว่า เป็นชิ้นส่วนของอาวุธหรือระเบิดชนิดใด เพื่อจะทำให้การสืบสวนมีแนวทางที่ถูกต้อง ไม่หลงทาง หลงประเด็น

อย่างน้อย ก็สามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแผนกพิสูจน์หลักฐาน หรือในสมัยต่อมาเรียกว่า ตำรวจวิทยาการได้

เพราะในยุคที่ผมเป็นตำรวจใหม่ๆ ผู้บังคับหมวดไปตรวจที่เกิดเหตุ จะต้องใช้ความรู้ของตนเองเกือบทั้งหมด

หากนักเรียนคนไหนที่ไม่สนใจวิชาการที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่มีคณาจารย์ที่ทรงความรู้มาสอนให้ จะทำให้ทำงานลำบาก

และโอกาสประสบความสำเร็จในการติดตามคนร้ายยากเย็นยิ่งขึ้น

รวมทั้งการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อจะมัดตัวคนร้ายก็จะยิ่งหละหลวม และเปิดโอกาสให้คนร้ายต่อสู้คดีจนหลุดได้

 

ในระหว่างที่มีการเรียนการสอนนั้น บางครั้งด้วยความอ่อนล้าจากการถูกทำโทษอย่างหนัก เมื่อมาเข้าเรียนอาจจะทำให้ง่วงนอน

และคณาจารย์แม้แต่ละท่าน ส่วนใหญ่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิชาการในแต่ละสาขาอันดับต้นๆ ของเมืองไทยในยุคนั้น

แต่การพูดในชั้นเรียน อาจจะเรียบๆ เป็นไปตามแนวทางของอาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิ

นักเรียนใหม่จำนวนมากจึงเผลอหลับไปในระหว่างเรียน บางครั้งเกือบครึ่งชั้นเรียนเลย จนผู้บังคับหมวดมาตรวจพบ อย่างกรณี ร.ต.ท.ชำนาญ เครือบัว ผู้บังคับหมวดกองร้อยที่ 1 มาตรวจพบเจอหลายครั้ง จนนำไปสู่การกักบริเวณไม่ได้ออกจากโรงเรียนในวันเสาร์อาทิตย์

ชีวิตการเรียนการศึกษาของนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1 ก็จะพบเจอเหตุการณ์ตามที่เล่ามา เป็นเช่นนี้ วันแล้ววันเล่า ผ่านพ้นไปเป็นเดือนแล้วเดือนเล่า

และที่สุด ต้นคูน หรือต้นราชพฤกษ์ ที่ปลูกเป็นแถวแนวยาวหน้าลานฝึกศรียานนท์ ก็ออกดอกเป็นรวงยาวเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งบริเวณถนน

นั่นเป็นการส่งสัญญาณให้ทราบว่า เวลาแห่งการสอบเทอมสุดท้ายของนักเรียนชั้นปีที่ 1 กำลังคืบใกล้เข้ามาแล้ว และจะต้องรีบอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบ เพื่อเลื่อนไปชั้นปีที่ 2 เปลี่ยนหมวกสีฟ้า เป็นหมวกสีเหลือง

เหมือนกับดอกคูน ที่งามเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งบริเวณของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

 

ทําการแทนผู้ช่วยผู้บังคับหมวด กองร้อยที่ 1 ก็ปล่อยให้นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1 อ่านตำรับตำราเพื่อเตรียมตัวสอบเทอมสุดท้าย และการทำโทษนั้นลดลงจนเห็นได้ชัดเจน เพราะในขณะเดียวกัน ทำการแทนผู้ช่วยผู้บังคับหมวด กองร้อยที่ 1 ทั้ง 6 คน ก็ต้องอ่านหนังสือเพื่อเลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นสูงสุด คือชั้นปีที่ 4 และเปลี่ยนจากสวมหมวกสีม่วง ไปสวมหมวกสีเขียวแทน จึงมีการหยุดดูหนังสือเตรียมสอบเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์

ในห้วงระยะเวลานั้น หลังจากที่นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 4 สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดของโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้ว ได้มีการเตรียมงานสำคัญคือ พิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตร ให้แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 32 จำนวน 158 นาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จมาพระราชทานที่หอประชุมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2522

วันนั้นพวกผมนักเรียนชั้นปีที่ 1 ได้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ สวมหมวกยอดแหลม ยืนยามรายทาง เป็นการถวายความปลอดภัย ประตูคิงส์ ได้เปิดในวันสำคัญเช่นนี้

ในตอนกลางคืนจะมีงานฉลองความสำเร็จของรุ่น 32 และมีการสร้างเวทีลีลาศ ณ ลานฝึกศรียานนท์ ซึ่งก่อนจะถึงวันงาน ผมและเพื่อนๆ ชั้นปีที่ 1 ได้ร่วมกันเดินทางไปขนฟลอร์เพื่อทำเป็นพื้นเวทีลีลาศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปที่กรมป่าไม้ หรือกรมชลประทาน ที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และที่กองพลาธิการ กรมตำรวจ ซึ่งฟลอร์ที่ขนมาเป็นไม้แผ่นสี่เหลี่ยมที่หนักมาก และสร้างพื้นลีลาศจนเสร็จเรียบร้อย และเมื่องานจบก็ต้องขนกลับ

และนั่นคือ พิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตร ที่มีขึ้นที่หอประชุมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพียงครั้งเดียวเท่านั้น รุ่นต่อๆ มา จะมีพิธีที่พระที่นั่งสวนอัมพร

พวกเราชั้นปีที่ 1 ได้แสดงความยินดีกับผู้ช่วยผู้บังคับหมวดที่ปกครองบังคับบัญชามาเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งรุ่นพี่ทุกคน และหลังจากจบการศึกษาออกไป บางคนก็ไม่เคยมีโอกาสได้พบกันอีกเลย

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2522 หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ได้เดินทางมายังโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อแสดงธรรมเทศนาให้นักเรียนนายร้อยตำรวจทุกชั้นได้ฟัง ซึ่งช่วยขัดเกลาจิตใจของนักเรียนนายร้อยตำรวจให้มีความอ่อนโยน และรู้จักสังคมที่จะต้องออกไปเผชิญข้างนอก

 

การสอบผ่านพ้นไปแล้ว และทางโรงเรียนนายร้อยตำรวจจะปิดเทอมเป็นระยะเวลาไม่นานนัก จะปล่อยนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1, 2 และ 3 เดินทางกลับไปเยี่ยมภูมิลำเนาของแต่ละคนที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ

แต่ในช่วงระยะเวลานี้ จะต้องมีการเข้าเวรยามในโรงเรียนด้วย ดังนั้น จึงต้องจัดการเข้าเวรเตรียมการแต่ละผลัดขึ้น แบ่งเป็น 4 ผลัด โดยเฉลี่ยแล้วจะกลับไปพักผ่อนได้ไม่นาน ทุกคนต้องสลับกันมาเข้าเวรยามในโรงเรียน

สำหรับนักเรียนนายร้อยตำรวจคนไหนที่บ้านอยู่ไกล เช่น อยู่ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็จะได้สิทธิพิเศษกว่าคนที่อยู่ใกล้ๆ โรงเรียน คือ สามารถเลือกที่จะเข้าเวรเตรียมการในผลัดแรกหรือผลัดสุดท้ายได้ เพราะจะได้เดินทางไปกลับเพียงเที่ยวเดียว

นั่นคือ บรรยากาศของการเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1

สำหรับพวกที่เป็นนักกีฬา จะต้องกลับเข้าโรงเรียนก่อนคนอื่น เพื่อทำการฝึกซ้อมกีฬาเตรียมแข่งกีฬาโรงเรียนทหาร-ตำรวจ หรือกีฬา 4 เหล่า ที่จัดในเทอมการศึกษาแรกของทุกปี

ผมซึ่งต้องร่วมทีมว่ายน้ำโปโลน้ำ มาทำการฝึกซ้อมในโรงเรียนก่อน รวมทั้งเพื่อนๆ ที่เล่นกีฬาชนิดต่างๆ

 

เปิดเทอมมา ปรากฏว่า ในรุ่นของผมไม่สามารถที่จะขึ้นไปเรียนชั้นปีที่ 2 หลายคน เพราะสอบตกต้องซ้ำชั้นปีที่ 1 อีก

ดังนั้น จำนวนนักเรียนในรุ่นที่ 35 จึงลดลง และเมื่อผมขึ้นไปเรียนชั้นปีที่ 2 ก็ปรากฏว่า มีนักเรียนรุ่นพี่สอบตกหลายคน และต้องเรียนซ้ำชั้นกับรุ่นน้องที่เลื่อนชั้นขึ้นมา

เมื่อขึ้นไปเรียนชั้นปีที่ 2 ได้สวมหมวกสีเหลือง และเปลี่ยนเลขไทยบนบ่าทั้ง 2 ข้าง และนักเรียนปกครองจากรุ่น 33 ที่ขึ้นไปเรียนชั้นปีที่ 4 แล้ว มาทำการปกครองนักเรียนชั้นปีที่ 2 มีจำนวน 6 คน คือ

1. นรต.พิพัฒน์ บุญเพชร

2. นรต.สุรศักดิ์ บุญกลาง

3. นรต.บรรหาญ สมเกียรติ

4. นรต.ปิยะ สุขประเสริฐ

5. นรต.สามารถ แก้วเนตร

6. นรต.อนุศักดิ์ พรหมมะ

ผมได้อยู่หมวดที่ 4 กองร้อยที่ 2 และมีเพื่อนที่เป็น Buddy คนใหม่ นอนเตียงติดกันทางซ้ายมือ ชื่อ นรต.วิทยา อุตบุรี เป็นชาวเหนือ เป็นคนเงียบๆ พูดน้อย อุปนิสัยสุภาพเรียบร้อยมาก

นรต.วิทยาเล่าให้ผมฟังว่า เขามีพี่ชายเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 31 และสำเร็จการศึกษาไปแล้ว

ส่วนเพื่อนเตียงข้างๆ ทางขวามือ คือ นรต.สมเกียรติ แสงสินศร เป็นชาวราชบุรีและเป็นนักกีฬาเช่นเดียวกับผม แต่ นรต.สมเกียรติเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน

การมีผู้ช่วยผู้บังคับหมวดคนใหม่ ย่อมต้องสร้างความคุ้นเคย ดังนั้น ชีวิตนักเรียนใหม่จึงกลับมาอีก ถึงแม้จะไม่เข้มข้นเท่าเมื่อตอนเรียนชั้นปีที่ 1 แต่ก็ไม่น้อยหน้ากว่ากันเลย

ยังต้องอุทิศเหงื่อและความเหนื่อยยากให้เป็นช่วง เป็นระยะ