วงค์ ตาวัน : ช่างแอร์ไปเที่ยวกับผู้หญิงอื่น

วงค์ ตาวัน

การจัดประชุม ครม.สัญจรที่ภาคใต้ สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว น่าจะเป็นภาคที่ราบรื่น ปลอดภัยที่สุด เพราะที่มาของรัฐบาลทหาร คสช. ในวันนี้ ย่อมมาจากการเคลื่อนไหวชัตดาวน์ประเทศของม็อบ กปปส. อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

โดยฐานกำลังใหญ่สุดของม็อบนกหวีด ก็คือ มวลชนจากภาคใต้ ทั้งผู้สนับสนุนพรรคการเมืองที่เคียงคู่กับคนปักษ์ใต้ ทั้งแวดวงแพทย์ ทั้งเอ็นจีโอ นักกิจกรรมสังคม นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ล้วนเข้าร่วมสนับสนุนการเป่านกหวีดอย่างพร้อมหน้า

“แต่กลายเป็นว่า สิ่งที่รัฐบาลทหารเผชิญเมื่อล่องใต้ คือ สถานการณ์ความขัดแย้งกับมวลชนหลายกลุ่มในพื้นที่อย่างรุนแรง!”

มีทั้งการเคลื่อนไหวของชาวประมงปัตตานี เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล จนเกิดเหตุการณ์ใช้เสียงดังไปหน่อยของนายกฯ

รวมทั้งการเคลื่อนไหวของม็อบต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จนนำมาสู่การปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ และการจับกุมดำเนินคดีแกนนำนับสิบราย

กรณีม็อบต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินนี่เอง ทำให้นักวิชาการ เอ็นจีโอ ในพื้นที่ภาคใต้ออกโรงเคลื่อนไหวคัดค้านท่าทีของรัฐบาลอย่างเป็นกระแสใหญ่

“แถมเกิดความคุกรุ่นเพิ่มขึ้นมาอีก จากคำพูดจาของโฆษกรัฐบาล ที่กล่าวถึงนายมุสตาร์ซีดีน วาบา หรือ “แบมุส” แกนนำกลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยระบุว่าไม่ได้ถูกจับกุมตัวไป แต่ที่ไม่ได้กลับบ้านนั้น อาจจะเหมือนกรณีหนีไปเที่ยวกับผู้หญิงที่ไม่ใช่ครอบครัว!?”

ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์วิธีพูดจาเช่นนี้อย่างอื้ออึงว่า เป็นท่าทีที่ไม่ให้เกียรติกัน

“ขณะที่ภรรยาของผู้ถูกพาดพิง กล่าวตอบกลับไปว่า “เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนพูดให้ต่ำลงไปอย่างไร้ราคา”

เมื่อรวมเข้ากับปัญหาของชาวสวนยางพาราในภาคใต้ ที่ราคาตกต่ำดำดิ่งอย่างหนัก ตั้งแต่รัฐบาล คสช. เข้ามาปกครองประเทศ และแก้ไขแทบไม่ได้

เท่ากับว่า มีปฏิกิริยาในทางลบต่อรัฐบาลนี้จากมวลชนในพื้นที่ปักษ์ใต้อย่างต่อเนื่องตลอด

ไม่ว่าจะเสียงโอดครวญราคายางเหลือ 3 โลร้อยที่อยู่ในระดับนี้มา 3 ปีแล้ว ครั้นจะเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องก็ถูกเบรก กระทั่งถูกเชิญตัวเข้าค่ายทหาร

เทียบกับราคาที่ต่ำที่สุดในยุครัฐบาลที่แล้วยังอยู่ที่กิโลละ 80-90 บาท

รวมทั้งประมงที่ไม่พอใจต่อกฎกติกาที่ออกมาควบคุมมากมาย แต่ระหว่างแถลงข้อเรียกร้อง ก็โดนเสียงอันดังเล็กน้อยจากนายกฯ ตอบกลับ

“จนกระทั่งมาถึงกรณีม็อบต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ทั้งปะทะจนบาดเจ็บและทั้งถูกจับกุมดำเนินคดี”

เริ่มน่าสงสัยอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนชาวใต้ ที่มีต่อรัฐบาลทหาร รวมทั้งเกิดคำถามว่าอุตส่าห์ลงแรงชุมนุมโค่นล้มรัฐบาลทุนสามานย์ จนทำให้มีรัฐบาลประยุทธ์ในวันนี้

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนปักษ์ใต้!

พลังสำคัญของ กปปส. ในการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2557 และลงเอยด้วยการเปิดทางให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยสำเร็จ ด้วยการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้น

กำลังหลักก็คือมวลชนภาคใต้

ส่วนหนึ่งเข้าร่วมเป่านกหวีด ด้วยศรัทธาในแกนนำนกหวีด เชื่อในการนำของนักการเมืองใหญ่แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคหลักของคนทั่วภาคใต้

“อีกส่วน เป็นเอ็นจีโอ นักกิจกรรมสังคม นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเข้าร่วมเพราะพื้นฐานคือต่อต้านระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นแนวทางของพรรคทักษิณ”

หลังจากรัฐบาลทหารเข้ามาปกครองไม่นาน กระแสความไม่พอใจของชาวสวนยางภาคใต้ก็ปะทุขึ้น เพราะราคายางที่ตกฮวบ แต่กระแสส่วนนี้ อาจจะยังไม่ถึงขั้นลุกลามบานปลาย เพราะยังอยู่ภายใต้ความเชื่อมั่นในตัว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

เมื่อนายสุเทพยังยืนยันว่านี่คือรัฐบาลของเรา และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป อารมณ์ความไม่พอใจเรื่องราคายางก็ยังสามารถเก็บเอาไว้ได้

แต่ที่น่าสนใจก็คือ พลังสนับสนุนม็อบนกหวีด จากส่วนของเอ็นจีโอ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“เพราะคนส่วนนี้ ไม่ถึงกับอยู่ภายใต้การนำของนายสุเทพอย่างเต็มที่ แต่เข้าร่วมไล่รัฐบาลเพื่อไทย เพราะเกลียดชังทุนสามานย์เป็นสำคัญ!”

พลังส่วนนี้แหละ ที่อาจจะเริ่มมีคำถามว่ารัฐบาล คสช. รับฟังเสียงของคนในพื้นที่ภาคใต้มากน้อยแค่ไหน

อีกทั้งน่าจะมีใครในหมู่คนปักษ์ใต้เริ่มคิดถึง บรรยากาศของเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพในการเคลื่อนไหวประท้วง ซึ่งมีอยู่ในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยเท่านั้น

“ไม่ใช่ยุครัฐบาลทหาร!!”

แล้วก็อาจจะต้องถามตัวเองอีกด้วยว่า การมุ่งมั่นต่อต้านทุนสามานย์ ด้วยการล้มประชาธิปไตยทั้งระบบนั้น มันถูกต้องถูกแนวทางแล้วแน่หรือ

อาจจะไม่คาดหวังกับรัฐบาลนักการเมืองได้สักเท่าไร ว่าจะแก้ปัญหาที่มวลชนเหล่านี้ต่อสู้เรียกร้องได้มากน้อยแค่ไหน

แต่ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลนักการเมืองนั้น คือ ความมีเสรีภาพในการเรียกร้องต่อสู้ของประชาชน

รัฐบาลนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังหมายถึงอำนาจการเมืองยังอยู่ในมือประชาชน สามารถมีส่วนร่วมตัดสินได้ในวันเลือกตั้ง

อีกทั้งควรจะยึดหลักประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม แล้วค่อยๆ พัฒนาการเมืองไทย ด้วยการเติบโตร่วมกันทางความคิดของประชาชนทั้งหมด

เป็นวิถีทางที่ถูกต้องยั่งยืนกว่าการไปแอบอิงอำนาจทหาร และปล่อยให้คณะรัฐประหารริบอำนาจจากมือประชาชนไปหรือไม่!?!

ท่าทีที่ประดุจราดน้ำมันใส่กองเพลิง ไม่ว่าจะเป็นการพูดเสียงดังมากไปหน่อย หรือการยกเอาข้อมูลการไปเที่ยวกับผู้หญิงที่ไม่ใช่คนในครอบครัวขึ้นมาใช้เป็นอาวุธลับ ตรงกับหลักคิดทางการเมืองพื้นฐานที่ว่า รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ย่อมมีความเชื่อมั่นในอำนาจที่หนุนหลัง มากกว่าจะเชื่อในประชาชน

อีกทั้งไม่น่าแปลกใจกับวิธีการให้ข้อมูลเพื่อตอบโต้ข่าวของทีมงานรัฐบาลนี้

“มีให้เห็นอดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน”

ย้อนไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ในเหตุการณ์ชาวนาวังสำโรง อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ผูกคอตายใต้ต้นไม้กลางทุ่งนา

ครอบครัวของผู้ตายบอกกับนักข่าวว่า เพราะเครียดเรื่องราคาข้าวตกต่ำเหลือแค่เกวียนละ 5-6 พันบาท ทำให้กลุ้มอกกลุ้มใจที่ไม่มีเงินไปใช้หนี้เงินกู้สหกรณ์

“แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ปล่อยข้อมูลออกมาโต้ข่าวว่า ไม่ใช่ชาวนา แต่เป็นช่างแอร์!?”

วันนี้กรณีแกนนำม็อบ ก็ปล่อยข้อมูลเรื่องไปเที่ยวกับหญิงอื่น

ยิ่งหากย้อนไปถึงยุค ศอฉ. ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อปราบม็อบเสื้อแดงในเหตุการณ์ปี 2553 ที่เรียกกันว่า 99 ศพ

“ในวันนั้นก็มีผังล้มเจ้าออกมาจากทีมงานเดียวกันนี้แหละ”

จนสุดท้ายต้องยอมขอขมาและยอมรับถึงที่มาของผังนี้ในศาล

ปิดฉากผังล้มเจ้าไปเรียบร้อยแล้ว แต่ท่วงทำนองอย่างนี้ยังดำรงอยู่!